วิจัย : ทักษะชีวิตและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเรื่องโรคเอดส์สำหรับนักศึกษาอาชีวเกษตร


ทักษะชีวิตและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โรคเอดส์ นักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อเรื่องงานวิจัย : ทักษะชีวิตและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเรื่องโรคเอดส์สำหรับนักศึกษาอาชีวเกษตร

ชื่อผู้วิจัย : นายบรรชร  กล้าหาญ  นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ

ปีที่ทำการวิจัยเสร็จ : 2545

แหล่งทุนอุดหนุนการวิจัย : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ผ่านกองแผนงาน  กรมอาชีวศึกษา

บทคัดย่อ

             การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Action  Research)โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. รูปแบบ วิธีการและเทคนิคในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเรื่องโรคเอดส์สำหรับนักศึกษาอาชีวเกษตร 2. ปัจจัยและเงื่อนไขที่มีผลต่อการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม  3. รูปแบบ  วิธีการและเทคนิคการสร้างเครือข่ายความรู้ 4.ผลของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ  นักศึกษาที่กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่   จำนวน  30  คน สำหรับกระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูลกระทำโดย  การสังเกตพฤติกรรม  การระดมความคิดเห็น การสนทนากลุ่ม  และการสัมภาษณ์เชิงลึก

            ผลการวิจัยพบว่า  รูปแบบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมประกอบด้วย การเรียนรู้แบบเป็นทางการ  การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  โดยผ่านวิธีการเรียนรู้ 4 ขั้นตอนคือ ขั้นการสร้างประสบการณ์  ขั้นการสะท้อนความคิดและอภิปรายข้อคิดเห็น  ขั้นสร้างความเข้าใจและสรุปรวบยอด  และขั้นการทดลองประยุกต์ใช้ความรู้  ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้จะต้องมีการประสานสอดคล้องทั้ง   4  ขั้นตอน  โดยอาจจะเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง   และเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ แต่จะต้องให้ครบทุกขั้นตอน และต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมสูงสุด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นจากการออกแบบกระบวนการกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อร้อยรัดกระตุ้นให้เกิดพลวัตรของการเรียนรู้  เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนในการสร้างความรู้  มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง  เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปและการสร้างระบบความคิดความเชื่อร่วมกัน ซึ่งการออกแบบกลุ่มประกอบด้วย กลุ่มคู่  กลุ่มย่อย  กลุ่มเล็ก  กลุ่มไขว้  กลุ่มปิรามิด และกลุ่มขนาดใหญ่  สำหรับวิธีการในการเรียนรู้ประกอบด้วย เทคนิค PRA   โปรแกรมสร้างเสริมทักษะชีวิต  AIC  เทคนิคการให้คำปรึกษา  การสนทนากลุ่มและการศึกษาดูงาน

            ในส่วนของรูปแบบการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้พบว่า รูปแบบของการเรียนรู้ที่ดีต้องกลมกลืนกับวิถีชีวิต มีการบูรณาการแนวคิดเรื่องโรคเอดส์อย่างเหมาะสม และใช้กลไกระบบความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสื่อประสาน  เช่น กลุ่มเพื่อนสนิท  หรือกลุ่มเครือญาติ  ให้การสนับสนุนด้านกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงบทบาทในการดำเนินการ รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานเพื่อขยายเครือข่ายการเรียนรู้ ทั้งนี้วิธีการและเทคนิคในการสร้างเครือข่ายประกอบด้วย  การทดลองปฏิบัติและการศึกษาจากสถานการณ์   การวางแผนดำเนินการ  การนำไปปฏิบัติ  การติดตามประเมินผล  การสนับสนุน และการสรุปบทเรียน

            ผลจากการเรียนรู้ทำให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาที่บูรณาการระหว่างพัฒนาการด้านอารมณ์ สังคมและสติปัญญา กล่าวคือ นักศึกษาได้เกิดความตระหนักรู้ในตนเอง เข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล  สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และคิดสร้างสรรค์  สามารถพัฒนาทักษะในการสื่อสาร เกิดความเห็นใจและเห็นคุณค่าของคนอื่น เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

            สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ประกอบด้วย การออกแบบกิจกรรมที่หลากหลายสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมและความสนใจในการเรียนรู้  ด้วยการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมสูงสุด เปิดโอกาสให้ได้คิดได้แสดงออกอย่างอิสระ และมีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนรู้ ในลักษณะเช่นนี้จึงต้องมีการออกแบบกลุ่มในหลายลักษณะ และมีการกำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มอย่างชัดเจน คำนึงถึงการใช้อิทธิพลของกลุ่มในการโน้มน้าวระหว่างกันเพื่อให้เกิดการคล้อยตาม เช่นเดียวกับการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งควรมีการบูรณาการให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวางเชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม  สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ การเลือกใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม

            ในส่วนของเงื่อนไขที่มีผลต่อการเรียนรู้ประกอบด้วย คุณลักษณะส่วนตัวของนักศึกษาซึ่งมีภาวะของการเป็นผู้นำ  เป็นที่ยอมรับศรัทธาจากกลุ่มเพื่อน  สามารถชักนำให้เพื่อนเกิดการคล้อยตาม มีความสามารถในการควบคุมตนเองและมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์  เช่นเดียวกับครูหรือผู้สอนซึ่งต้องมีใจเปิดกว้าง ยอมรับว่า เจตคติที่เหมาะสม มิได้มีเพียงเจตคติที่ครูคาดหวังประการเดียว และต้องวางใจในนักศึกษา พยายามส่งเสริมให้เกิดการคิดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน  ภายใต้บริบทของสถานศึกษา ซึ่งมีการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสังคม รวมทั้งวัฒนธรรมขององค์กรให้เอื้อต่อการเรียนรู้       

 

หมายเลขบันทึก: 446415เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท