ชีวิตที่พอเพียง : 86-3. เรียนภาษาคนกรุง


ภาษาคนกรุงมันโดนคนบ้านนอกทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

ชีวิตที่พอเพียง  : 86-3. เรียนภาษาคนกรุง

         พศ. ๒๕๐๐ ผมเข้ากรุงมาเรียนชั้น ม. ๖ (เทียบเท่า ม. ๔ สมัยนี้) ที่โรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ที่ลาดพร้าว บริเวณที่ตอนนี้เป็นศูนย์การค้า --      ตอนนั้นถือว่าอยู่ไกลลิบ     โรงเรียนตั้งอยู่กลางทุ่ง     ผมมาเรียนภาษาคนกรุงที่นี่     เพราะตอนอยู่ที่พักที่ร้านแพทยาศรม เจริญผล เยื้องสนามกีฬาแห่งชาติพูดภาษาปักษ์ใต้กันเป็นประจำ     เพราะคนที่มาอาศัยเพื่อเรียนหนังสือเป็นญาติๆ กันมาจากชุมพรทั้งนั้น

         คำหนึ่งที่ผมไม่คุ้นเลย และจนเดี๋ยวนี้ก็ยังพูดไม่เป็นคือ "ยื้ม"     พอเรียนไปได้สักไม่กี่เดือนเพื่อนๆ ก็รู้แล้วว่าผมขยันเรียนและสมุดจด     หรือสมุดแบบฝึกหัดเรียบร้อยมาก     เพื่อนจะ ขอยื้มลอกหน่อย     ผมโดนขอยื้มบ่อยมาก     เพื่อนขอยื้ม แต่ผมให้ยืม

         อีกคำหนึ่งที่ผมพูดไม่เป็นเหมือนกัน คือ "นาย"     เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สอง     ที่ภาษาบ้านผมใช้คำว่า "สู"      เดี๋ยวนี้ผมคุยกับน้องก็ยังเรียกน้องว่า สู     ในขณะที่พ่อพูดกับลูกทุกคนว่า มึง     พ่อใช้คำเรียกตัวเองว่า กู หรือบางทีก็ เตี่ย    ปู่ก็พูด มึง กู หรือบางทีก็ ก๋ง (สำเนียงใต้)    แต่แม่จะพูดคำว่ากูไม่เป็น (อ้อ! เพิ่งนึกขึ้นได้ แม่พูดเป็นเวลาโกรธ ก็ขึ้นมึงกู)    กับลูกๆ แม่แทนตัวเองว่า แม่ และเรียกลูกแต่ละคนด้วยชื่อเล่น     แต่กับคนอื่นแม่แทนตัวว่า ชั้น (แม่พูดภาษากลาง สำเนียงปักษ์ใต้  เพราะเป็นคนเพชรบุรีที่ไปอยู่ปักษ์ใต้ตอนรุ่นสาว)    พ่อก็ใช้ ฉัน (สำเนียงใต้)      ผมพูดคำว่ากูไม่เป็น  ใช้คำว่า เรา แทนตัวเอง    กับเพื่อนๆ ที่ปักษ์ใต้ ใช้คำว่า สู     กับเพื่อนๆ ที่กรุงเทพใช้วิธีเรียกชื่อ     ตอนอยู่ที่ปานะพันธุ์เคยใช้ "นาย" ตามเพื่อนๆ บ้าง  แต่ไม่ติดปาก  

         เพื่อนๆ มักใช้คำว่า อั๊ว  ลื๊อ แก  แต่ผมพูดไม่เป็น     พอสนิทกันมากๆ ก็หัดใช้คำ  กู  มึง  ผมอยู่ปานะพันธุ์ปีเดียวยังไม่ทันสนิทกันมาก จึงไม่เคยใช้คำพวกนี้

         คนปักษ์ใต้ส่วนใหญ่พูดตัว ร เรือชัด    ไม่พูดเป็นเสียง ล ลิง อย่างคนกรุงทั่วไป    ทีนี้ผมเป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุง    อยากพูดชัดแบบคนกรุง    กลัวเพื่อนดูถูกว่าเป็นบ้านนอก ก็หัดพูดให้เหมือนเพื่อนๆ ที่เป็นคนกรุง    แต่สมัยนั้นคนยังพูดเสียงควบกล้ำชัด เช่น กลัว ก็ยังพูดเสียงกล้ำ ล ลิงชัด     ไม่พูดว่า กัว อย่างสมัยนี้     และสมัยนั้นยังมีการอ่านออกเสียง ครูจะคอยแก้คนที่อ่านออกเสียงควบกล้ำผิด     ให้อ่านใหม่ให้ถูกต้อง

        เช่นนักเรียนคนไหนอ่านว่า "ลดลางชนกัน คนตายกาดเกื่อน"   ก็จะถูกแก้ให้อ่านให้ถูกต้องเป็น "รถรางชนกัน คนตายกลาดเกลื่อน"

        แต่ในภาษาพูดเราก็จะพูดตัว ร เรือ เป็นเสียง ล ลิง     และเสียงควบกล้ำก็พูดให้ไม่ลงเสียงกล้ำหนักมากนัก จะได้ไม่เป็นเสียงบ้านนอก     เช่นพูดว่า "คอบคัวเลาเป็นคนจน ไม่ใช่คนลวย"  "ขนมอะหล่อยดี" เป็นต้น      ตอนช่วง ๒ - ๓ ปีแรกที่มาอยู่กรุงเทพ ต้องหัดพูดเสียงเหล่านี้     ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยกล้าพูด     และเวลาพูดก็จะเหนื่อย  แบบเดียวกับเราเหนื่อยเวลาพูดภาษาต่างประเทศนั่นแหละครับ     แต่พอเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ เขาถือว่าคนที่มีการศึกษาต้องพูดตัวกล้ำถูกต้อง  พูดตัว ร เรือ  ล ลิง ถูกต้อง ก็สบายหนุ่มปักษ์ใต้ซีครับ

        ตอนสอบข้ามฟากเพื่อเรียนแพทย์     กรรมการสัมภาษณ์ให้พูดคำว่า "เรือรบหลวงปล่องเหลือง"     อย่างนี้สบายโก๋สำหรับผม     พวกพูดติดไม่มีกล้ำก็จะต้องฝึกกันอุตลุด     เพราะมีคนจำนวนมากพูดพยางค์นี้ว่า "เลือลบหลวงป่องเหลือง"     ถ้าพูดอย่างนี้ก็สอบตกในคำถามนี้     แต่ก็จะมีคนที่สอบตกเลย ไม่ใช่ตกเฉพาะคำถามนี้     คือคนที่อ่านว่า "เลือลบเหลืองป่องหลวง"     หรือจะอ่านควบกล้ำถูกแต่สับคำเช่นนี้     เขาว่าเป็นคนที่สมองผิดปกติ    

        ตอนเรียนปี ๑ โรงเรียนเตรียม ห้อง ๒๒    มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งมาจากเมืองกาญจน์     ชื่อนิคม เอียงเทศ เป็นคนบู๊ และกล้าหาญ คือพูดอะไรตรงๆ     และพูดสำเนียงกาญจนบุรี (คือเสียงเหน่อ) อย่างหนักแน่น     จึงเป็นที่ล้อเลียนของเพื่อนๆ      ผมไม่ใช่คนกล้าหาญแบบนิคม     จึงเฝ้าหัดพูดให้ไม่ทองแดง  ผมกลัวโดนเพื่อนล้อ     ที่จริงเรายังมีเพื่อนอีกคน ชื่ออนงค์ คัจฉวารี มาจากเมืองกาญจน์เหมือนกัน     แต่ไม่โดนเพื่อนล้อว่าพูดเหน่อ     อนงค์คงจะเป็นพวกเดียวกับผม คือพยายามดัดเสียงให้เป็นเสียงชาวกรุง  

         นอกจากเสียง ร เรือ ล ลิง  เสียงควบกล้ำ  เสียงวรรณยุกต์แล้ว  คนปักษ์ใต้ต้องระวังเรื่องคำเรียกชื่อสิ่งต่างๆ ด้วย     เช่นฝรั่งที่เป็นผลไม้ ก่อนมาอยู่กรุงเทพผมเรียก "ย่าหมู" จนชิน     สัปปะรด เรียก "สับรด"    มะม่วงหิมพานต์ เรียก "ม่วงเล็ดล่อ" เป็นต้น     ผมต้องมาเรียนภาษาไทยใหม่ให้เป็นการ "พูดใน" ที่ถูกต้อง ไม่ทองแดงให้อายเขา      ที่บ้านผมคนพูดภาษากลางเขาเรียกว่า "พูดใน"     อย่างแม่ผมก็พูดใน พูดปักษ์ใต้ไม่เป็น     คนที่มาจากสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี พูดใน คนบ้านผมเรียกคนเหล่านี้ว่า "คนใน"     น่าจะย่อมาจาก "คนในกรุง"     อย่างคำว่า "เมล็ด" บ้านผมเรียก "เม็ด" หรือ "เล็ด" ผมก็ต้องฝึกพูดว่า "เมล็ด"     ลักษณะนามของผลไม้บ้านผมเรียกเป็น "ลูก" หมด     มาอยู่กรุงเทพต้องหัดเรียกว่า "ผล"  เช่นมะม่วงสองผล    สมัยก่อนเขาพิถีพิถันนะครับ ใครเรียกผิดจะดูเป็นคนบ้านนอก    แต่เดี๋ยวนี้จะพูดว่าลูกก็ได้ ดูจะใช้กันมากกว่าผลด้วยซ้ำไป     คือภาษาคนกรุงมันโดนคนบ้านนอกทำให้ยืดหยุ่นมากขึ้น

วิจารณ์ พานิช
๑๓ สค. ๔๙
แก้ไขเพิ่มเติม ๑๔ สค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 44640เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2006 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   อ่านแล้ว มัน ครับ
   เรื่องการ พูดเพี้ยน หรือ ทองแดง เชื่อว่าหนุ่มสาว ลูก "ทักษิณ" (เป็น มงคลนาม  หมายถึงปักษ์ใต้เท่านั้น) ต่างก็มีประสบการณ์เด็ดและหลากหลายมากเป็นแน่ สมัยหนึ่งผมเคยจดบันทึกทั้งที่ พลาดเอง  ได้ยินจากเพื่อนๆ และ จากบรรดา มโนราห์ และ หนังตะลุง คล้ายๆ จะทำสารานุกรมภาษาทองแดง อะไรทำนองนั้น แม้ไม่ได้ทำจริงจัง แต่ที่จำได้ก็เหลือมากพอประมาณ  ตั้งใจว่าจะเปิดบันทึกสักครั้งใน Blog ตัวเองว่าด้วยเรื่องนี้
   ขอบพระคุณครับที่จุดประกายให้ ด้วยบันทึกนี้...

  • พ่อก็ใช้ "กู" "มึง" กับผมครับ แต่ฟังนุ่มนวลไม่เคยรู้สึกว่าหยาบกระด้างเลย ด้วยสำเนียงไชยาที่ออกจะเป็นเสียงดนตรีไม่น้อย เป็น "กู-อู้" และ "หมึ้ง"
  • ในหมู่เพื่อนสนิทผมก็ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "เรา" แต่บุรุษที่สองแทนตัวเพื่อนจะใช้ "มัน" แต่ออกเสียง "หมั้น" ครับ
  • อ่านแล้วทำให้นึกถึงว่ายังไม่ทันเข้ากรุงเทพฯหรอกครับ แค่จาก ไชยา ไปอยู่สงขลา 6 ปี ผมก็ต้องปรับตัวเรื่องภาษาแบบเดียวกันกับที่อาจารย์เล่า เพียงแต่เป็นการปรับแก้ความ "เพี้ยน" ใน ระดับภูมิภาค เท่านั้นเอง แต่ผมก็สู้เขาด้วยหลักการนะครับ .. ยอมปรับตามเมื่อเห็นว่าของเรา(สุราษฎร์ฯ)ผิด แต่ที่ถูกอยู่แล้วก็จะไม่ยอมปรับตามเขา(สงขลา) เช่น..
       ผมเปลี่ยนจาก "เดาะไม้ 2 เดาะ" เป็น "ดอกไม้ 2 ดอก" แต่ยังใช้ "กลับบ้าน" โดยไม่ยอม "หลบเริน" ตามเขาครับ

นิคม เอียงเทศ พ่อผมเองครับ..ดีใจครับที่มีคนพูดถึงพ่อ..ขอบคุณครับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท