Love Ocean: Loving Competitors & Suppliers


มุมมองผ่านเลนส์สีชมพูแห่งความรักที่มีต่อลูกค้า ว่าเป็น “ลูก” ขณะที่มอง “คู่ค้า” เป็น “เพื่อนบ้าน” หรือ “พี่น้องร่วมทาง” และมอง “คู่แข่งขัน” ในอุตสาหกรรมให้เป็น “เพื่อนคู่คิด” หรือ “พี่น้องร่วมชะตาชีวิต” และมอง “ลูกน้อง” หรือ “ลูกจ้าง” ว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน” หรือ “พี่น้องร่วมสร้างชีวิต”

Love Ocean: Loving Competitors & Suppliers

 

การใช้ความรักกับบริบทของการปรับโลกทัศน์ที่มีต่อคู่แข่งและคู่ค้า นั้นเป็นเรื่องที่มองดูแล้วสามารถทำได้ยาก ยิ่งการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันด้วยแล้ว การให้ความรักต่อคู่แข่งขัน อาจมองดูแล้วมันคงเป็นไปไม่ได้เลย แต่การให้ความรักต่อคู่ค้านั้นอาจเป็นไปได้บ้าง

การปรับโลกทัศน์ที่มีต่อบุคลากร คู่แข่งและคู่ค้าในแพลตฟอร์มของ Love Ocean นั้นหากจะเทียบกับแนวคิดของการบริหารจัดการที่คุ้นๆ กันดี ก็น่าจะเป็นเนื้อหาในส่วนที่เป็น “ความคิดเชิงบวก” (Positive Thinking) บวกกับการบริหารจัดการความสัมพันธ์ (Relationship Management) และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมแบบ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่กำลังฮิตกันในทุกวันนี้

มุมมองผ่านเลนส์สีชมพูแห่งความรักที่มีต่อลูกค้า ว่าเป็น “ลูก” ขณะที่มอง “คู่ค้า” เป็น “เพื่อนบ้าน” หรือ “พี่น้องร่วมทาง” และมอง “คู่แข่งขัน” ในอุตสาหกรรมให้เป็น “เพื่อนคู่คิด” หรือ “พี่น้องร่วมชะตาชีวิต” และมอง “ลูกน้อง” หรือ “ลูกจ้าง” ว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน” หรือ “พี่น้องร่วมสร้างชีวิต” ความคิดแบบนี้จะถือได้ว่าเป็นความคิดเชิงบวกที่อยู่บนฐานคิดแห่งความรักและก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในองค์กรและในอุตสาหกรรม ตลอดจนสังคมภายนอก

                ทั้งนี้ การมองคู่แข่งขันเป็นเพื่อนคู่คิดนั้น อย่างน้อยก็ลดการเกิดสงครามราคา หรือสภาพการแข่งเดือด (Red Ocean) ในอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ Sam Walton ผู้ก่อตั้ง Wal-Mart ยักษ์ใหญ่ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ที่มีกำเนิดจากครอบครัวเกษตรกรที่ยากจนก็เรียนรู้การทำธุรกิจค้าปลีกจากคู่แข่งขัน การขับรถออกไปดูคู่แข่งขันในตลาดจัดเรียงสินค้า เลือกสินค้ามาขาย ทำโปรโมชั่น การเลือกทำเลที่ตั้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือ “ครู” ที่ติดปีกให้ Sam Walton นำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง และที่สำคัญ เขามองพนักงานในองค์กรของตนเองว่าเป็น “เพื่อนร่วมงาน” (Partner) อีกทั้งยังแบ่งปันผลกำไรให้กับพนักงาน แต่ไม่ยอมลดคุณภาพของการให้การบริการและการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจลงไป แม้ในขณะนั้น Wal-Mart จะยังเป็นเพียงธุรกิจค้าปลีกรายเล็กๆ ของอุตสาหกรรมก็ตาม ความรักและความมุ่งมั่นที่มีต่อธุรกิจและพนักงาน อีกทั้งมุมมองเชิงบวกที่มีต่อคู่แข่งทำให้ Wal-Mart กลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกในยุคก่อนหน้าล้มหายตายจาก

                หากเราไม่มอง “คู่แข่ง” เป็น “เพื่อนคู่คิด” สิ่งที่จะตามมาก็คือ การทำ “สงครามราคา” และสุดท้ายตัวผู้เป็นเจ้าของธุรกิจก็จะมีกำไรน้อย หรืออาจจำเป็นต้องเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าให้ถูกลง หรือนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าจากประเทศผู้ผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค และอาจเป็นอันตรายต่อการใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กรณีที่เกิดสงครามราคาและการแข่งขัน ณ จุดนี้ก็จะผลักให้ต้องวัดกันตรงที่ว่า ใครมีสายป่านยาวกว่ากัน แต่สุดท้ายแล้วการแข่งขันกันแบบนี้ก็อาจทำให้ธุรกิจทั้งระบบไปไม่รอด แตกต่างไปจากการที่เรามองคู่แข่งเป็นเพื่อนคู่คิด โดยเราจะเห็นได้จากธุรกิจอะไหล่รถยนต์ในย่านค้าขายอะไหล่รถยนต์ ในสมัยก่อน เขาจะใช้วิธีการยืมสินค้ากัน ( เรียกกันในวงการค้าคนจีนว่า “โป๊ว” สินค้า) เช่น ร้านนี้ขาดสินค้าอะไร เขาก็จะยืมสินค้ากันและเขาทำธุรกิจแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ทำให้ราคาอะไหล่รถยนต์ไม่ตก แตกต่างไปจากสมัยนี้การขายอะไหล่รถยนต์มีการหั่นราคากันแบบดุเดือด จนปัจจุบันร้านค้าอะไหล่รถยนต์หลายๆ รายค่อยๆ ปิดตัวกันไปเป็นจำนวนมาก

ธุรกิจขายอะไหล่รถยนต์ที่แข่งขันกันดุเดือดในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรุ่นลูกๆ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจมักจะจบการศึกษากันมาในระดับสูง จึงมีความคิดที่ต้องการเอาชนะคู่แข่งขันมากกว่าจะใช้วิธีการทำธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเหมือนในอดีต ดังนั้น เราจึงเห็นภาพร้านขายอะไหล่รถยนต์จำนวนมากต้องปิดกิจการไป

ถ้าหากว่า เราหันกลับไปใช้วิธีการค้าแบบเดิมๆ โดยใช้คู่แข่งเป็นคู่คิด

บางทีเราอาจจะได้นวัตกรรมใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย

ถ้าถามว่า แนวคิดที่เอาคู่แข่งมาเป็นคู่คิดนั้นอาจทำให้มีการ “ฮั้ว” ราคาขายและอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น ผู้ค้าเหล่านี้คงไม่สามารถกำหนดราคาให้สูงเกินกว่าเอเย่นต์ที่เป็นบริษัทใหญ่ไปได้ และด้วยกลไกลของการตลาดเสรีนั้นคงไม่มีใครที่จะขายสินค้าได้ในราคาแพงๆ เพราะถ้าเราขายสินค้าแพงก็จะมีผู้ค้าอื่นไปนำเข้าสินค้ามาขายแข่งกันอยู่ดี ดังนั้น จึงต้องขายสินค้าในระดับราคาที่สมเหตุสมผล เพราะตลาดมีกลไกลของตัวเองค่อยดูแลอยู่แล้ว

ที่มา: "น่าน้ำแห่งความรัก (Principles of Love Ocean)" ผู้เขียน ประเสริฐ เพชรชื่นสกุล ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และดร.รังสรรค์ สุกันทา สำนักพิมพ์ เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า ISBN: 9786165590105 (พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553)


คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 446392เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท