Love Ocean: Branding with Love


การตลาดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การใช้ความรักในการทำตลาด และการใช้ความจริงในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งค้นหาความจริงที่มนุษย์มีความต้องการให้พบ และดำเนินทุกสิ่งด้วยความรัก

Love Ocean: Branding with Love

 

ในการดำเนินธุรกิจนั้น หากพิจารณาจาก SWOT หรือการวิเคราะห์ “จุดอ่อน – จุดแข็ง – โอกาส – อุปสรรค” แล้ว แน่นอนว่า เราจะต้องพบทั้งจุดอ่อน – จุดแข็งของตนเอง เพียงแต่ให้เราใช้ความกล้าหาญที่จะยอมรับจุดอ่อนและใช้การยอมรับนั้นปรับเลี่ยนให้เป็นจุดแข็ง เนื่องจากสิ่งที่ดีที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุดนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ การใช้ความรัก ความจริงใจ และการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งการยอมรับกับลูกค้าอย่างจริงใจว่าสิ่งใดที่เราทำได้ หรือสิ่งใดที่ทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่การเปิดเผยความจริงเพียงแค่บางส่วน (Half Truth) เพื่อสร้างความศรัทธา และสร้างความไว้วางใจกับผู้บริโภค ซึ่งการนำเสนอความจริงเพียงครึ่งเดียวนี้ ก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างจีรัง แต่การสร้างความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ตลอดจนการสร้างความศรัทธานั้นจะนำไปสู่การการจดจำ ความภักดี และสามารถสร้าง Branding ได้ในที่สุด

Love Ocean นั้นสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ได้ เนื่องจากความเป็นแบรนด์นั้นเป็นการสะท้อนตัวตนของเจ้าของแบรนด์ ถ้าพื้นฐานของเจ้าของแบรนด์เป็นคนที่รักคนอื่น ห่วงใยและเอาใจใส่คนอื่นๆ แบรนด์นั้นก็จะถูกสื่อสารออกไปและก็จะได้รับความมั่นคง การใช้ความรักสร้างแบรนด์นั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะสื่อสารความรักผ่านแบรนด์ออกไป แต่ถ้าหากเราใช้กลยุทธ์ที่เป็นลักษณะฉาบฉวยนี่ต่างหากที่จะทำให้แบรนด์เกิดความไม่ยั่งยืน เพียงแต่ในการสร้างแบรนด์ของเรานั้น เราควรต้องยอมรับในจุดแข็งและกล้าที่จะเปิดเผยจุดอ่อน ที่สำคัญ เราจะต้องพยายามพัฒนาจุดอ่อนให้ดียิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดธุรกิจวันนี้คือ ส่วนใหญ่มักจะพูดแต่เฉพาะข้อดีของตนเอง โดยไม่บอกถึงจุดอ่อน (Half Truth)

ถ้าเราสังเกตดูดีๆ ในท้องตลาด เราจะเห็นว่า แบรนด์ที่เข้มแข็งและแบรนด์ที่มีความมั่นคงก็ยังมีจุดอ่อนอยู่เช่นกัน ในขณะเดียวกัน แบรนด์ที่มีจุดอ่อนก็ยังสามารถมีความเข้มแข็งและมั่นคงได้ ถ้าลูกค้ายอมรับในจุดอ่อนตรงนั้นได้ และการยอมรับตรงนี้ก็หมายรวมไปถึงเรื่องของราคาสินค้าด้วย

Love Ocean มองทะลุว่า การตลาดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด การใช้ความรักในการทำตลาด และการใช้ความจริงในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งค้นหาความจริงที่มนุษย์มีความต้องการให้พบ และดำเนินทุกสิ่งด้วยความรัก ส่วน “กำไร” นั้นแน่นอนว่าคือ “ลมหายใจของธุรกิจ” ซึ่งกำไรที่ได้มานั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจบนความสมเหตุสมผล ไม่ใช่กำไรที่เกิดจากการใช้กลยุทธ์เพื่อช่วงชิงให้ได้มา แต่เราจะต้องมองว่า สิ่งที่ลูกค้าซื้อไปนั้นเขาได้รับอะไรเกิดประโยชน์อะไรจากการซื้อสิ่งนั้น

ในส่วนของการตลาดที่มักกล่าวกันว่า คนไทยมีหัวคิดในการผลิตสินค้า แต่ขายไม่เป็นนั้น หากมองในมุมของการขายสินค้าที่มีความหลากหลาย การดำเนินกลไกทางการตลาดนั้น ในบางครั้งอาจกระทำได้ยาก แต่บางทีก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเข้าใจตลาดนั้นจริงหรือเปล่า ซึ่งใน Love Ocean ก็มีการพูดถึงความเข้าใจลูกค้าอยู่ด้วย ซึ่งเรามักจะเห็นหลายๆ บริษัทไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการสื่อสารด้วย เช่น สื่อสารไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หรือสื่อสารแล้วไม่เกิดความเข้าใจ ไม่เกิดแรงซื้อ เราจึงควรที่จะให้ความรักเป็นการตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะลำพังแค่กลยุทธ์การตลาดที่แฝงไว้ด้วยเล่ห์เหลี่ยม ไม่สามารถทำให้ธุรกิจมีอายุยืนยาวได้ แต่ธุรกิจจะสำเร็จได้ด้วยการเข้าใจถึงปัญหาและเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ขณะที่การสร้างแบรนด์ก็ต้องเริ่มต้นจากความรักที่มีอยู่ภายในใจเจ้าของสินค้า ด้วยการเอาใจใส่ต่อผู้อื่น หรือที่เรียกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ การรักผู้อื่นให้เหมือนกับที่เราอยากให้ผู้อื่นมารักและทำดีกับเรานั่นเอง

 

ที่มา: "น่าน้ำแห่งความรัก (Principles of Love Ocean)" ผู้เขียน ประเสริฐ เพชรชื่นสกุล ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และดร.รังสรรค์ สุกันทา สำนักพิมพ์ เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า ISBN: 9786165590105 (พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553)

คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 446391เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท