Love Ocean, Love Investment


ทางรอดของธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้แต่เงินลงทุน ขอเพียงแต่ให้บริหารธุรกิจด้วยความรักและเอาใจใส่ เหมือนพ่อแม่เลี้ยงดูลูก จะทำให้เราเข้าใจสภาพแวดล้อมของธุรกิจนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

Love Ocean, Love Investment

 

แนวคิด Love Ocean กับบริบทของการลงทุนนั้นใช้แนวคิดเชิงสัจธรรมที่เริ่มด้วยวรรคทองที่ว่า “เริ่มต้นจากเงินบาท มุ่งไปสู่เงินล้าน” ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วพึงเป็นเช่นนี้ นั่นคือ การค่อยๆ ก้าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง ทว่า ปรากฏการณ์ที่พบจากนักธุรกิจในปัจจุบันก็คือ การลงทุนแบบเกินตัว หรือลงทุนโดยอาศัยการขอสินเชื่อสถาบันการเงิน ซึ่งหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหมายก็อาจมีผลให้กิจการต้องเกิดปัญหาสภาพคล่องหรือถึงกับต้องเลิกกิจการไปในที่สุด และส่วนใหญ่กิจการที่มีความคิดที่ริเริ่มแบบนี้มักจะมุ่งเน้นในบริบทของการใช้เงิน มากกว่าการใช้ความคิด หากเงินสามารถนำไปต่อเงินได้จริงก็คงดี แต่เงินนั้นมีไม่สามารถนำเอาไปต่อเงินได้โดยไร้ซึ่งความคิดที่ริเริ่มในการทำธุรกิจ

การเริ่มจากกิจการขนาดเล็กเกี่ยวข้องกับความรักอย่างไรนั้น ดังตัวอย่างแบบ “Extreme” ยกมาเพื่อฉายภาพกันให้เห็นกันชัดๆ ถึงนักธุรกิจระดับโลกอย่าง Bill Gates แห่ง Microsoft และ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook สังคมออนไลน์ที่มีคนทั่วโลกเข้ามาชุมนุมกันมากที่สุดในโลก กล่าวได้ว่า บุคคลทั้งสองท่านมีวิธีการในการเริ่มต้นธุรกิจ โดยเริ่มต้นจาก “ศูนย์” ทำธุรกิจจากสองมือเปล่าจนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก แม้จะเป็นตัวอย่างแบบสุดโต่งที่อาจจะมีเพียงใน 1 ในล้านคน แต่สิ่งที่สะท้อนจากตัวอย่างดังกล่าว คือ การมีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะฟูมฟักของตนเองอย่างตั้งใจ นั้นสำคัญยิ่งกว่าการใช้เงินจำนวนมหาศาลลงทุนเข้าไป

การใช้ความรักในการทำธุรกิจสามารถเริ่มใช้ได้ตลอดในทุกเวลา ไม่มีช่วงซบเซา (Low season) หรือเฉพาะช่วงคึกคัก (High season) แม้ในช่วงเศรษฐกิจหรือไม่ดี ความรักนั้นก็ไม่เคยไม่ดีสักวัน เพราะคนเราเคยชินกับความรักมาตั้งแต่แรกเริ่มเกิดออกมามีชีวิต เราก็รู้จักกับคำว่าความรักที่มีจากพ่อและแม่ และความรักนั้นเอง ก็เป็นคำที่มีมาก่อนคำว่า “กลยุทธ์” และ “ยุทธศาสตร์” ที่เรามักจะนิยามใช้กันในการประกอบธุรกิจในสมัยใหม่นี้เหลือเกิน

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมักจะนิยมใช้ความว่า “กลยุทธ์” ในการดำเนินธุรกิจ และหน่วยงานของรัฐก็จะนิยมใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์” ในการดำเนินการตามแผนงานต่างๆ มันมีความจำเป็นขนาดนั้นจริงหรือที่ ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องห่ำหั่นกันในธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกับการห่ำหั่นกันในสนามรบ คำว่ากลยุทธ์ หรือยุทธศาสตร์นั้นเหมาะสำหรับการใช้ กลอุบาย และเล่ห์เหลี่ยมกันในสนามรบ แต่การดำเนินธุรกิจ หรือการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ จำเป็นที่จะต้องดำเนินงานกันอย่างมียุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ จริงหรือ

ด้วยฐานคิดที่เปรียบธุรกิจเสมือน “สิ่งมีชีวิต” ที่ต้องการรักฟูมฟักให้เติบโตเช่นเดียวกับมนุษย์ ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องใช้ “ความรัก” ในลงทุนมากกว่าการใช้เม็ดเงิน การที่ธุรกิจล้มเหลวนั้นมีนัยยะที่บ่งชี้ว่า “บุคคลเหล่านั้นได้แยกความรักออกจากธุรกิจ” เพราะความรักเป็น “ทุน” ที่อยู่ในตัวเราทุกคน โดยไม่ต้องไป “ระดมทุน” จากสถาบันการเงินใด

ที่สำคัญ ทางรอดของธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้แต่เงินลงทุน ขอเพียงแต่ให้บริหารธุรกิจด้วยความรักและเอาใจใส่ เหมือนพ่อแม่เลี้ยงดูลูก จะทำให้เราเข้าใจสภาพแวดล้อมของธุรกิจนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

                หากเราทำธุรกิจด้วยความรัก และใช้ความรักลงทุนมากกว่าเม็ดเงิน โดยรักลูกค้าทุกคนให้เหมือนกับที่เรารักลูกตนเอง แล้วเราก็จะค้นพบวิธีการที่ถูกต้องในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากความรักจะทำให้เกิดการดูแลเอาใจใส่และมองหาความจริงว่า ลูกค้ามีความต้องการอะไร (Consumer Insight) ซึ่งสิ่งนี้ก็กลายเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่าที่เรามี แต่กลับสามารถสร้างมูลค่าอย่างมหาศาล นอกจากนี้ การใช้ความรักเป็นเป้าหมาย แล้วแปลงเป้าหมายเหล่านี้เป็นการลงทุนก็จะทำให้เกิดผลโดยตรงมากกว่า เนื่องจากความรักเป็นสิ่งที่ไม่ว่าลูกค้า คู่ค้า หรือแม้แต่คู่แข่งขันต่างก็ต้องการและสามารถสัมผัสได้

สำหรับความยั่งยืนของธุรกิจที่หลายคนเข้าใจว่า จะต้องกู้เงินสำรองไว้มากๆ หรือขยายวงเงินโอดีไว้มากๆ เพื่อที่จะเตรียมเงินกู้ไว้เป็นเงินทุนนั้นเท่ากับว่า เราได้ผลักตนเองไปทำธุรกิจอยู่บนความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริงแล้ว เราทำธุรกิจก็เพื่อให้ได้ส่วนต่างของกำไรเพื่อการดำเนินชีวิตให้มีความสุข แต่ถ้าเราทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานกำไรที่เป็นการช่วงชิง หรือตั้งพื้นฐานความคิดที่ว่า ความยั่งยืนทางธุรกิจนั้นจะต้องเน้นการมีกำไรสูงๆนั้นก็จะทำให้เราต้องใช้ชีวิตที่ดิ้นรนและสุ่มเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น การหาจุดสมดุลระหว่างความพอดีของผลกำไรกับความสุ่มเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่เราพึงต้องทบทวนอยู่เสมอ

การใช้ความรักในการลงทุนนั้นจึงมีความจำเป็นมากกว่าการที่ธุรกิจจะต้องเร่งหาเงินมาลงทุน หากธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ด้วยเงินทุน ทำไมเราจึงไม่เริ่มต้นจากเงินที่มี แล้วค่อยๆสะสมไป ดีกว่าการไปกู้มาลงทุน เพราะเราก็รู้ดีอยู่แล้วว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จมิใช่หรือ

ที่มา: "น่าน้ำแห่งความรัก (Principles of Love Ocean)" ผู้เขียน ประเสริฐ เพชรชื่นสกุล ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และดร.รังสรรค์ สุกันทา สำนักพิมพ์ เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า ISBN: 9786165590105 (พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553)

คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 446389เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อ.กิตติพันธ์

หนูต้องขอขอบคุณอาจารย์มากนะค่ะ ที่นำบทความมาแบ่งปันให้ได้ทำความรู้จักแนวคิด Love Ocean

ต้องบอกว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่จะทำให้คนทำธุรกิจอย่างมีความสุขและอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำอะไรเกินตัว ทุกวันนี้คนทำธุรกิจมีความเครียดกันเยอะ อาจเป็นมีเหตุนำพาให้ไปอยู่บนความเสี่ยง แต่หากเราจัดการตรงนี้ได้ ความสุขก็เกิดขึ้น

ขอบคุณมากๆ ค่ะ ^_^

ขอบคุณมากนะครับ สำหรับกำลังใจ และคำติชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท