Love Ocean: Idea, but not ideal


Quality product, but reasonable price


Idea, but not Ideal!

 

การแปรแนวคิดของ Love Ocean ไปใช้ปฏิบัตินั้น หลักการและแนวคิดของ Love Ocean ก็ได้เปิดประเด็นกับการใช้ “ความรัก” ในบริบทต่างๆ ของธุรกิจตั้งแต่ “ต้นน้ำ จนถึง ปลายน้ำ” ครอบคลุมทั้งประเด็นทางด้านการบริหารจัดการและประเด็นทางด้านการตลาด ด้วยแกนของแนวคิดที่ง่ายๆ และตรงกับหลักปฏิบัติสังคมของคนเอเชีย ซึ่งมีการปฏิบัติแบบนี้กันอยู่แล้ว แต่ Love Ocean ก็ได้ออกมาเน้นย้ำถึงความรัก และกระตุกให้ฉุกคิดให้เกิดแรงบันดาลใจในหลากหลายประการ เพื่อใช้ “ความรัก” จรรโลงองค์กรและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตแบบยั่งยืนด้วยวิถีแบบไทยๆ

หลักการของ Love Ocean คือการที่อยากให้ทุกคนกลับไปมองว่า “ธุรกิจ” คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นจาก “ความเป็นคน” หรืออยู่บนพื้นฐานของ “ความรัก” โดยใช้โมเดลการทำธุรกิจด้วย “ความรัก” ถ้าธุรกิจต่างๆ สามารถทำแบบนี้ได้ก็จะส่งผลให้ธุรกิจนั้นมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงในยุคนี้ได้

ดังนั้น ในบริบทแรกๆ ของ Love Ocean  จึงได้มุ่งเน้นไปที่ สัมพันธภาพกันระหว่าง “พ่อ-แม่-ลูก” ซึ่งนั่นก็คือสัมพันธภาพแบบครอบครัวในแวดวงธุรกิจด้วยระหว่างผู้ค้ากับลูกค้า เนื่องจากเราอยากให้ธุรกิจกลับไปสู่บริบทเดิมๆ แบบครอบครัวไทยๆ ที่มีพ่อแม่ลูกอยู่กันอย่างรักใคร่ มิใช่การแข่งกันทำโปรโมชั่น ซึ่งล้วนแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้น การทำธุรกิจไม่ว่าจะเป็นของคนไทยหรือต่างชาติในปัจจุบัน จะมีการเน้นการใส่ใจในเรื่องตัวคนและความรู้สึกของคนมากกว่าตัวสินค้าเดิมที่เคยขาย เพราะการต่อสู้ทางการตลาดทำให้ส่วนต่างของกำไรของสินค้าแต่ละตัวลดลงตามไปด้วย”

การดำเนินธุรกิจตามแนวทางของ Love Ocean ในอนาคต จะทำให้ต่อไปธุรกิจจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ขายในราคาที่เหมาะสม (Quality product, but reasonable price) เนื่องจากในอนาคตคนส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจาก “กับดัก” ที่เกิดจากสภาพคล่องทางการเงิน หรือการที่เราขโมยเอาเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน โดยตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมจากโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษาของนักศึกษาที่กู้เงินเรียน เมื่อเรียนจบออกมาใหม่ๆ ก็ไม่มีเงินจ่ายคืนในปีหนึ่งๆ มีจำนวนหลายหมื่นคน และมีการสะสมมานานนับ 10 ปี ในขณะที่นักศึกษาที่จบออกมาใหม่ๆ มีงานทำ แต่ก็ยังมีภาระเพิ่มเติมโดยการส่งค่างวดบ้าน ส่งค่างวดรถยนต์กันเป็นส่วนใหญ่ 

กลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เหล่านี้จำนวนมหาศาลกำลังจะติดกับดักสภาพคล่องทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และอาจส่งผลทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีสภาพคล่องทางการเงินลดน้อยลงตามไปด้วย ถ้าธุรกิจในประเทศไทยยังดำเนินในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นลักษณะของการผ่อนหรือเช่าซื้อก็คงจะทำได้ลำบากมากขึ้น เพราะในอนาคตอันใกล้กำลังซื้อจะค่อยๆ หมดไป เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้ติดกับดักสภาพคล่องทางการเงิน หรือไม่ก็ติดแบล็คลิสต์ทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่มาจากการกู้ยืมเรียนหนังสือ หรือแม้แต่การซื้อสินค้าในรูปแบบของการผ่อนชำระกันเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ปัจจุบันธุรกิจในประเทศไทยนิยมใช้ระบบการซื้อสินค้าแบบเงินผ่อนกันเป็นจำนวนมาก

ในมุมมองของ Love Ocean จึงได้เน้นย้ำเกี่ยวกับ การซื้อขายสินค้าให้เป็นไปตามศักยภาพหรือตามกำลังซื้อจริงๆ และสินค้าตัวไหนที่ไม่ใช่กลุ่ม High Involvement อย่างบ้านหรือรถยนต์ก็ควรที่จะซื้อหรือขายสินค้าด้วยระบบเงินสด เพื่อให้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริง 

ความจริงอาจดูเป็นประเด็นที่ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในโลกทุนนิยมสำหรับการซื้อขายด้วยเงินสด และแนวคิดที่พยายามมิให้ผู้บริโภคและตัวธุรกิจเองติด “กับดักสภาพคล่องทางการเงิน” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือวินัยทางการเงินเบื้องต้นที่จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับปัจเจกบุคคล (Individual) และเศรษฐกิจโดยรวม

นอกจากนี้ ในการนำแนวคิดมาใช้นั้น Love Ocean นำเสนอแนวคิดกับบริบทต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นตรรกะง่ายๆ แต่อาจถูกมองข้ามจากสังคมคนเมือง หรือสังคมดิจิตอลที่นับวันจะขาด Human Touch ต่อไปเรื่อยๆ

ที่มา: "น่าน้ำแห่งความรัก (Principles of Love Ocean)" ผู้เขียน ประเสริฐ เพชรชื่นสกุล ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และดร.รังสรรค์ สุกันทา สำนักพิมพ์ เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า ISBN: 9786165590105 (พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553)

คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 446388เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท