Principle of Love Ocean


แนวความคิด “น่านน้ำแห่งความรัก” นั้นเลือกใช้ “หัวใจและจิตวิญญาณ” (Heart & Soul)

 

Let’s Heart & Soul Lead to Sustain

 

            วิธีการในการดำเนินธุรกิจ “ทางเลือกใหม่” ที่เดินอยู่บน “ฐานของความรัก” ที่เรียกว่า Principle of Love Ocean หรือ น่านน้ำแห่งความรัก เป็นแนวคิดที่มิได้เป็นการต่อยอดหรือเกี่ยวเนื่องอันใดกับ Delta Model หรือ Lead with LUV แต่อย่างใด ทว่า นี่เป็นอุบัติการณ์ที่ทั้งโลกตะวันตกและโลกตะวันออกต่างก็บังเอิญคิดตรงกัน หลังจากที่เห็น “สัจธรรม” ของการมแข่งขันในสนามการค้าที่มีแต่การ “ห้ำหั่น” และท้ายที่สุดก็รังแต่จะเกิดความสูญเสีย

ผู้ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในโลกของความเป็นจริง จะย่อมรู้ดีว่า ไม่มีใครที่จะได้ Win-Win Situation จากสนาม “แข่งดุ” อย่างแน่นอน !!

ที่สำคัญ ภาวะการ “แข่งดุ” นั้นส่งให้ผู้เล่นในสนามพลอยมีภาวะเสมือน “คนขี่หลังเสือ” ที่มีสภาพขึ้นแล้วลงไม่ได้ หรือไม่ก็ล้มหายตายจากกันไป

แนวความคิด “น่านน้ำแห่งความรัก” นั้นเลือกใช้ “หัวใจและจิตวิญญาณ” (Heart & Soul) อันเป็นหลักการที่ปุถุชนทั่วไปรู้จักกันดีมาใช้กับองค์กรธุรกิจ กับบุคลากรและกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่าง 360 องศา เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับผู้เล่นทุกคนในสนามการค้า ให้มองและพิจารณาสนามการค้าด้วย “แพลตฟอร์ม” ใหม่บนฐานแห่งความรักและความเอื้ออาทร

 

Why “Love Ocean” ??

แนวคิดในการทำธุรกิจแบบ Love Ocean นั้นเป็นแนวคิดที่เน้นไปที่การทำธุรกิจแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ทำธุรกิจให้เป็นสงครามที่จะต้องห้ำหั่นกันให้ตายกันไปข้างหนึ่ง อีกทั้งเป็นแนวคิดที่นำเสนอให้ผู้ประกอบการปรับโลกทัศน์ให้มองในมุมใหม่ โดยให้มองว่า

  • “ลูกค้า” เป็น ผู้ซื้อหรือลูกของตนเอง
  • “คู่ค้า” เป็น “เพื่อนบ้าน” หรือพี่น้องร่วมทาง
  • “คู่แข่งขัน” ในอุตสาหกรรมให้เป็น “เพื่อนคู่คิด” หรือพี่น้องร่วมชะตาชีวิต
  • “ลูกน้อง” เป็น “เพื่อนร่วมงาน” หรือพี่น้องร่วมสร้างชีวิต

Love Ocean เป็นแนวคิดที่ต้องการนำเสนอถึงวิถีสู่ความสำเร็จทางธุรกิจที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน มิใช่การดำเนินกลยุทธ์เพียงชั่วคราวที่มุ่งหมายแต่เพียง “ตัวเลข” ของส่วนแบ่งทางการตลาด รายได้ หรืออัตราการเติบโตที่แสดงผ่านตารางหรือกราฟผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เท่านั้น

เนื่องจาก “ตัวเลข” ดังกล่าวอาจจะเป็นเพียง “มายา” หรือ “สิ่งลวงตา” ที่มิได้สื่อนัยยะถึงความแข็งแกร่งของผลการดำเนินงาน หรือการเติบโตของรายได้ หรือส่วนแบ่งทางการตลาดที่แท้จริง เนื่องจาก “กับดัก” ของสนามทางการค้าที่ต้อง “พิฆาต” กันอย่างรุนแรงนั้นต้องทุ่มเท “ทรัพยากร” โดยเฉพาะ “เม็ดเงิน” บนหน้าตักอย่างไม่จบสิ้น หรือเลยเถิดจนเหลือมาร์จิ้นอันบางเฉียบ หรือติดลบด้วยซ้ำไป ... !!

นอกจากนี้ วิถีแห่งการแข่งขันที่นอกจากการสาดแคมเปญโปรโมชั่น หรือการเล่นสงครามราคากันแล้ว การแข่งขันทางด้านผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการแข่งขันในรูปแบบอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่คู่แข่งขันสามารถ “เลียนแบบ” กันได้ จนที่สุด สนามการค้านั้นๆ ก็จะกลายเป็นสนามแห่ง “สินค้าโภคภัณฑ์” (Commodity) ที่ลูกค้ามองไม่เห็นความแตกต่าง นี่จึงเป็นวังวนที่แม้แนวคิดสำคัญๆ ที่เคยนำเสนอต่อแวดวงการตลาดและการศึกษาในประเทศไทยหลายๆ แนวคิด รวมทั้งหนึ่งในแนวคิดยอดฮิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้อย่าง Blue Ocean ซึ่งคิดโดย Dr. W. Chan Kim, Renee Mauborgone ก็ไม่สามารถทำให้สนามการค้าออกจากวังวนของสนามแห่ง “สินค้าโภคภัณฑ์” ได้เช่นเดียวกัน

Blue Ocean Strategy นั้นเป็นแนวคิดที่นำเสนอให้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “นวัตกรรมเชิงคุณค่า” (Value Innovation) เพื่อสร้าง “คุณค่าใหม่” อันเป็น “ความได้เปรียบทางการแข่งขันใหม่” ให้กับธุรกิจ และวางตำแหน่งทางธุรกิจบนแพลตฟอร์มใน “น่านน้ำใหม่” ที่มีการแข่งขันน้อย มีโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครนำเสนอต่อตลาดมาก่อน เพียงแต่ว่า การสร้าง “นวัตกรรมเชิงคุณค่า” นั้นเป็นสิ่งที่คู่แข่งขันสามารถ “เลียนแบบ” กันได้ เมื่อคู่แข่งขันต่างก็เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน และเมื่อนั้น สนามการค้าก็จะคราคร่ำด้วยผู้เล่นต่างๆ จนแน่นขนัดกลายเป็นน่านน้ำสีเลือด หรือ Red Ocean ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นวังวนของแนวคิดเดิมๆ

ทว่า การนำเสนอแนวคิดทางเลือกอย่าง Principle of Love Ocean เป็นการเสนอแนวคิดที่สร้างแพลตฟอร์มของสนามการค้าที่อยู่บน “ความเป็นมนุษย์ ความเป็นปุถุชน” ที่ทุกคนต่างก็ “มี” และ “รู้จัก” ความรัก ความเอื้ออาทรกันอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งความรู้สึกแบบ Human-Touch นี้เองที่จะสามารถ “เข้าถึง” และสร้างความสัมพันธ์ขั้นลึกซึ้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้
            การที่เรามาพูดกันถึง Love Ocean นี้ไม่ใช่แต่เราเท่านั้นที่พูดกันถึงการใช้ความรักในสนามธุรกิจ แม้แต่หนังสือเรื่อง Lead With LUV: A Different Way to Create Real Success  ซึ่งเขียนโดย Ken Blanchard  นักเขียนระดับตำนานเรื่อง The One Minute Manager และ Colleen Barrett  ประธานกิตติคุณ แห่ง สายการบินเซาท์เวสต์ ของอเมริกา ก็ออกมานำเสนอถึงแนวคิดว่า เหตุใดการ “นำ” (Lead) ด้วย “ความรัก” จึงเป็นวิถีการ “นำ” ที่ทรงพลานุภาพมากที่สุด และทำอย่างไรให้การ “นำ” ด้วยความรักนั้น “เวิร์ค” ในทุกหนทุกแห่งที่เราอยู่และจะช่วยให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ซึ่งจริงๆ แล้วก็น่าจะบอกว่าเป็นเรื่องคนใจตรงกัน 

“ปัจจุบัน เทรนด์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติเริ่มหันมาพูดเกี่ยวกับ “ความรัก” กันมากขึ้น โดยจะมอง “ผู้บริโภค” เป็น “มนุษย์” (Human) มากขึ้น ไม่ใช่มอง “ผู้บริโภค” เป็นเพียงแค่ “เหยื่อ” (Victim) ที่จะต้องซื้อสินค้าเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่า เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพียงแค่ให้ซื้อสินค้าเท่านั้นก็พอแล้ว”

แนวคิด Love Ocean ถือเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะระบบเศรษฐกิจธุรกิจในบ้านเราเน้นในเรื่องวัตถุนิยม บริโภคนิยมหรือทุนนิยม ซึ่งแนวคิดเหล่านี้จะละเลยอีกซีกหนึ่งที่เป็นตัวตนของมนุษย์ แล้วการที่เราเอามาความรักมาเป็นแกนนำในการทำธุรกิจนั้นก็จะทำให้เราได้ด้านที่มีอีกซีกหนึ่งของมนุษย์จริงๆ เพราะจริงๆ แล้วความรักมีอยู่ในตัวตนของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น เราจึงต้องการสื่อให้นักธุรกิจยุคใหม่หันมามองในมิตินี้มากขึ้น และทำให้คนที่คิดจะเอาเปรียบคนอื่นในการแข่งขันกลับมานั่งคิดว่า เราทำอะไรกับมนุษย์ด้วยกัน และยังมีความรักด้วยกันหลงเหลืออยู่หรือไม่ ดังนั้น แนวคิดเรื่อง Love Ocean จึงเท่ากับเป็นการโปรทความรักที่เป็น “ตัวตน” ที่มีอยู่ที่ถูกทำลายไป ที่สำคัญ การที่เราเลือกใช้ความรักมาเป็นแกนของแนวคิดนั้น เนื่องจากความรักมีความเป็นสากลและมีความยิ่งใหญ่มาก”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการมอง “ผู้บริโภค” เป็น “มนุษย์” (Human) มากขึ้นนั้นก็เป็นมุมมองที่ Philip Kotler กูรูการตลาดระดับโลก กล่าวถึงแนวคิดของตนเองใน Marketing 3.0 ที่กล่าวถึงมุมมองของธุรกิจในตลาดว่า ใน ยุคการตลาด3.0 นั้นเป็นยุคที่ธุรกิจจะต้องมองถึง ความเป็นมนุษย์ทั้งมวล โดยมองลงไปถึงหัวใจ จิตใจและจิตวิญญาณ (Whole Human with mind, heart and spirit) ซึ่งเป็นมุมที่ลงลึกถึงความเป็นปุถุชนมากกว่า การตลาดยุค 2.0 ที่มองไปที่ ผู้บริโภคที่ฉลาดขึ้นด้วยหัวใจและจิตใจ (Smarter Consumer with mind and heart) อันเป็นระดับการมองตลาดที่ตัวมนุษย์อย่างผิวๆ มากกว่ายุค 3.0 และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ การตลาดยุค 1.0 ที่ธุรกิจนั้นมองตลาดไปที่ ผู้ซื้อในตลาดแมสด้วยความต้องการในเชิงกายภาพเท่านั้น (Mass buyers with physical needs) ซึ่งแม้การตลาด 3.0 จะไม่ได้ชู “ความรัก” อย่างชัดเจนเหมือน Love Ocean แต่การทำตลาดที่ลงลึกถึงจิตวิญญาณและให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นเหมือนกัน

ที่มา: "น่าน้ำแห่งความรัก (Principles of Love Ocean)" ผู้เขียน ประเสริฐ เพชรชื่นสกุล ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี และดร.รังสรรค์ สุกันทา สำนักพิมพ์ เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า ISBN: 9786165590105 (พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553)

คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 446386เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 18:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท