มิชิแกน (๘): นักจัดการทั่วไป


"นักจัดการทั่วไป หรือผู้บริหารทั่วไปเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลงานและสุขภาวะขององค์กร"

ผมตื่นมาในเช้าวันจันทร์ที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ อย่างไม่สดชื่นนัก รู้สึกง่วงเหงาซึมเซาเหมือนยังไม่อยากลุกจากที่นอน แต่ก็ต้องลุกเพราะนาฬิกาปลุกที่โต๊ะหัวเตียงบอกเวลาเกือบ ๗ โมงเช้าแล้ว เมื่อคืนหลับไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เหมือนหลับๆตื่นๆ นอนได้ไม่เต็มที่ จะคิดไปว่า "ฝันว่านอนไม่หลับ" ก็ไม่น่าจะใช่ อาจเป็นจากการปรับตัวจากความแตกต่างของเวลาที่ยังไม่คุ้นชินก็เป็นได้

ลุกมาอาบน้ำเพื่อกระตุ้นความสดชื่น ต้มมาม่าเพราะยังอยากอาหารไทยอยู่ และไม่ค่อยอยากไปลิ้มลองอาหารฝรั่งในยามเช้าที่เพิ่งตื่นนอนก็ไม่ค่อยจะสดชื่นแล้ว ในห้องพักมีเครื่องต้มกาแฟพร้อมชุดกาแฟสำเร็จรูป ๔ ประเภทให้เลือกลิ้มลอง มีน้ำดื่มบรรจุขวดไว้ให้ แม้ว่าจะสามารถดื่มน้ำจากก๊อกได้ก็ตาม เปิดคอมพ์ต่อเน็ตในช่วงเวลา ๗ โมงเช้านิดไซึ่งเท่ากับเมืองไทยราวๆ ๖ โมงเย็น พยายามต่อสไกป์ไปหาที่บ้าน ต่อแล้วต่อเล่า ก็ยังไม่มีการรับสาย

เหลือบตาดูเวลาอีกที อ้าว! จะ ๘ โมงเช้าแล้ว ใกล้ได้เวลาเข้าเรียนแล้วสิ รีบคว้าแจ๊คเก็ต มาสวม อากาศยังคงหนาวอยู่ ข้างนอกฟ้าครึ้ม ไม่มีแสงแดด ออกจากห้องพักชั้น ๕ ลงลิฟต์ไปที่ห้อวเรียนชั้น ๒ ตึกเดียวกันแต่อยู่คนละปีก เข้าไปถึงห้องเรียน ๘ โมงเช้าพอดิบพอดี อาจารย์เรย์ยืนรออยู่หน้าห้องเรียนแล้ว ส่วนไบรอันก็นั่งประจำที่เก้าอี้ด้านหลังแถวสุดท้าย เพื่อนๆมาครบกันทุกคนแล้ว พอจำหน้ากันได้ แต่ชื่อเสียงเรียงไร คงต้องใช้เวลาพอควรกว่าจะจำได้

อาคารชั้นสอง ปีกซ้าย (ของเรา) เป็นส่วนอาคารฝึกอบรม พี่ห้องบรรยายขนาดกลาง ๒ ห้อง และห้องประชุมกลุ่มขนาดเล็กอีก ๔ ห้อง ด้านหน้าห้อง จะมีเก้าอี้รับแขกและเก้าอี้ชุดพร้อมโต๊ะกลมไว้สำหรับนั่งพักพูดคุยกันได้ ถัดจากห้องบรรยาย เป็นบริเวณกว้าง ผนังเป็นกระจกสามารถมองออกไปยังถนนและทิวทัศน์ข้างๆได้ จัดไว้เป็นที่ทานอาหารว่าง มีชั้นวางเครื่องชงชากาแฟและช๊อกโกแลต กาแฟสตาร์บัคส์เครื่องต้มน้ำอุ่น และตู้ใส่น้ำแข็ง พร้อมกับตู็แช่เครื่องดื่มที่มีทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลังและอื่นๆ อีกสองด้านเป็นชั้นวางขนมและผลไม้

ในห้องบรรยายที่ผมเรียน เป็นเก้าอี้นั่ง ๕ แถวโค้งเป็นวงรี ยกระดับพื้นในแต่ละแถวเหมือนโรงหนัง ตรงกลางห้องเป็นช่องทางเดิน แต่ละแถวนั่งได้ข้างละ ๔ คน ความจุแบบสบายๆก็ราว ๔๐ คน หน้าห้องมีกระดานขาว (ไม่ใช่กระดานดำ) สองข้างก็เป็นกระดานขาวแผ่นเล็กๆ พร้อมทั้งมีฟลิ๊บชาร์ตพร้อมกระดาษ มีโต๊ะสำรับวางอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน คอมพิวเตอร์และเครื่องฉายภาพเพรียบพร้อม

เก้าอี้นั่งในแต่ละซีกของแต่ละแถว มีถ้วยใส่ช็อคโกแลตแผ่นๆขนาดเล็ก ๔-๕ แบบไว้ให้ทานแก้ง่วง พร้อมโถน้ำเย็นและแก้วไว้ให้ ๒ คนต่อ ๑ โถ อาจารย์แต่ละท่านสามารถบรรยายได้โดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟน สามารถเขียนกระดานหรือกระดาษได้ตลอดเวลาที่สอน หรือจะใช้ฉายภาพสไลด์ร่วมด้วยก็ได้

อาจารย์เรย์กล่าวทักทายพวกเราอีกครั้ง ผมนั่งแถวสองซ้ายมือสุด ถัดไปก็เป็นหนุ่มอินเดียมาดเข้มชื่อซานจีฟ ด้านหน้าผมเป็นหนุ่มอเมริกันร่างสูงใหญ่มาดแมนชื่อแรลี่ ด้านหลังผมเป็นหนุ่มตี๋ร่างใหญ่ท่าทางอารมณ์ดีชาวจีน (ฮ่องกง) ชื่อดิ๊กซั่น ส่วนหมอพนาอยู่แถวสามซีกขวา ที่ีเรียกชื่อถูกเพราะดูจากป้ายชื่อที่ตั้งไว้ด้านหน้าของแต่ละคน เอกสารประกอบการเรียนถูกใส่ไว้ในแฟ้มสีน้ำเงินเข้มพร้อมตารางเรียนและรายละเอียดการสั่งงานที่โต๊ะหน้าที่นั่งของแต่ละคน เอกสารที่มีจะครบทั้งสัปดาห์แรก ที่นั่งแต่ละคนถูกกำหนดไว้แล้ว ให้เลือกนั่งได้ตามสบายตามที่ป้ายชื่อกำหนด

วันนี้ ช่วงเช้าอาจารย์เรย์จะมาพูดแนะนำภาพรวมของหลักสูตรทั้ง ๑ เดือนว่าเราจะได้เรียนรู้อะไรกันบ้าง แล้วต่อด้วย "มุมมองใหม่ในการแข่งขัน:ความท้าทายของนักจัดการรุ่นใหญ่" โดยอาจารย์กอร์ดอน แล้วก็พักเที่ยงซึ่งจัดให้ที่ห้องอาหารชั้นใต้ดินของที่พัก ช่วงบ่ายเรียนรู้ต่อกับอาจารย์จอห์น ในหัวข้อ "สถานการณ์ทางการตลาด" และ "หลักพื้นฐานทางการตลาด"

ก่อนเริ่มเรียน ก็มีการแนะนำตนเองกันอีกครั้ง ฟังแล้วก็พอจำกันได้มากขึ้น ภาคราชการมา ๔ คน คือ ผม พนา ดีพัคและแรลี่ ที่เหลือ ๗ คนเป็นภาคเอกชน รวมแล้ว ๑๑ คน ห้องบรรยายเล็กๆ จำนวนคนไม่มากอย่างนี้ หากใครหลับก็คงไม่สามารถหลุดรอดสายตาอันแหลมคมของผู้บรรยายไปได้ มีทางเดียวคือต้องพยายามไม่หลับ ทั้งๆที่เมื่อคืนก็หลับไม่ดี มันต้องง่วงอยู่แล้ว มองซ้ายมองขวา แต่ละคนดูท่าทางเอาจริงเอาจังกันทั้งนั้น...ยังดีหน่อย หันไปทางขวา ก็ไปเจอรอยยิ้มอันเป็นมิตรของซานจีฟเข้า...ก็อุ่นใจไปหน่อย ยังไงก็น่าจะได้ตัวช่วยล่ะ! จะชะเง้อชะแง้หาหมอพนาก็มาถูกจับแยกนั่งไกลกันซะนี่

เรย์ เป็นศาสตราจารย์สาขาบริหารธุรกิจ เกษียณอายุแล้วแต่ยังคงมีความสุขกับการมาช่วยงานของสถาบัน รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร (Course director) ได้พูดถึงภารกิจของนักบริหารทั่วไปหรือนักจัดการทั่วไป หรือจะเรียกเป็น "ผู้จัดการทั่วไป (General Manager)" ก็ได้ โดยเน้นย้ำว่า "ผู้จัดการทั่วไปเป็นผู้รับผิดชอบผลสำเร็จและสุขภาวะขององค์กร" สร้างวิสัยทัศน์ในสิ่งที่องค์กรจะเป็นและจะบรรลุได้อย่างไร พัฒนาศักยภาพองค์กรในการสร้างและปฏิบัติตามวิสัยทัศน์และสร้างความมั่นใจว่า การปฏิบัติที่จำเป็นจะนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งไว้

นักจัดการทั่วไป (ผมอยากใช้คำว่า "นัก" ซึ่งดูทั่วไและกว้างมากกว่าคำว่า "ผู้" ที่อาจทำให้ความหมายแคบเกินไป...ไปนึกแค่บางตำแหน่งในองค์กรเท่านั้น) จะต้องเป็น "ตัวกระตุ้นเร้าพลังคนในองค์กร คอยจัดลำดับความสำคัญ นักบูรณาการและผู้กำกับมอบหมายงานให้แก่ผู้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน กำกวมเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่หยุดนิ่งและท้าทาย" (คำว่า "บูรณาการ" หมายถึง ทำทุกเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ง่าย แต่ถ้าเอาทุกอย่างที่มีทั้งหมดมาทำให้มีครบ น่าจะเรียกว่า "บูรณากอง" มากกว่า)

เรย์เน้นย้ำว่า "หลักสูตรนี้ต้องการพัฒนานักบริหารทั่วไปหรือนักจัดการทั่วไป ไม่ใช่นักจัดการเฉพาะแผนกหรือหัวหน้าแผนก" ในระบบราชการไทยมีตำแหน่งหนึ่ง ชื่อว่า "เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป" ตอนหลังปรับมาเป็น "นักจัดการงานทั่วไป" แต่คำนี้น่าจะหมายถึง "General administrator" มากกว่า "General Manager"

ตำแหน่งนี้คนที่เก่งๆก็มี ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ เราเรียกกันง่ายๆว่า "พ่อบ้าน" แม้จะเป็นผู้หญิงก็ไม่เรียก "แม่บ้าน" ยังเรียกพ่อบ้านเหมือนเดิม ยกเว้นตอนเลิกงานกลับบ้านไปอยู่กับสามี เขาจึงจะให้เรียกว่า "แม่บ้าน" สมัยผมอยู่บ้านตาก มีพ่อบ้านที่เก่งและดีมากๆอยู่คนหนึ่งชื่อ พี่เครือวัลย์ ตอนนี้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลลำพูน บางคนจะเก่งแบบรู้ดีทุกเรื่อง ยกเว้นงานของตัวเอง อย่างนี้ผมจะเปลี่ยนตำแหน่งให้เป็น "นักจัดการงานไปทั่ว" มากกว่า "ทั่วไป" จะว่าไปแล้ว ผมเองแต่ก่อนก็เป็น "หมอทั่วไป" ตรวจรักษาโรคอยู่โรงพยาบาล ตอนนี้ก็จะกลายเป็น "หมอไปทั่ว" คือไปทั่วทั้งจังหวัดเลย ผมอาจจะเริ่มรู้ดีทุกเรื่องยกเว้นเรื่องของหมอ...555

เรย์เล่าต่ออีกว่า เพื่อให้บรรลุความเป็นนักจัดการทั่วไป สถาบันจึงได้ออกแบบหลักสูตรที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก ๕ ด้านคือการวิเคราะห์ทางการเงิน การวางแผนการตลาดเชิงกลยุทธ์ กลยุทธ์องค์กร การจัดการทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ภายใต้กระบวนการเปลี่ยนแปลงตนเองของผู้เรียน ๓ ขั้นตอนคือ การพัฒนาตามภูมิหลัง (บริบท) ของแต่ละคน การเพิ่มพูนทักษะด้านหน้าที่นักจัดการและการนำหลักการมาบูรณาการสู่การปฏิบัติ และเนื้อหาเสริมที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์โลก กฎหมายและการบัญชี

ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่การบูรณาการให้เกิด "วาระนักจัดการทั่วไป" หรือ General Manager's Agenda โดยเรย์ได้แจกสมุดปกขาว...เรียกง่ายๆว่า "บันทึกการเรียนรู้" ของแต่ละคนที่เก็บเกี่ยวสิ่งดีๆในแต่ละวัน และมอบหมายให้ทุกคนต้อง "นำเสนอสิ่งที่ตนเองจะทำในองค์กรหลังกลับไปปฏิบัติงานโดยบูรณาการความรู้ที่ได้จากหลักสูตรไปใช้"

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ เรย์ได้บอกถึงการเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมของหลักสูตรที่เน้นคงามหลากหลายทางประเทศ วัฒนธรรม บริษัท การศึกษา ประสบการณ์ บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในปัจจุบันและความสนใจ เพื่อให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสมต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม จึงเป็นกาเรียนรู้บนฐานประสบการณ์ "Experienced Based Learning" โอกาสที่ดีของผูเข้าอบรมคือได้สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่มากและหลากหลาย แรงกระตุ้นสู่ความสำเร็จในงาน พลังใจในการต่อสู้งานหนัก และความสามารถที่จะนำไปปรับใช้ในงานจริง

แต่โอกาสที่ได้ ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่แต่ละคนจะต้องมี ทั้งการละวางภารกิจการงานไว้เบื้องหลัง การเตรียมตัวเข้าชั้นเรียนด้วยการทำงานกลุ่ม การศึกษาเอกสารตัวอย่างและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนทั้งตั้งคำถาม ตอบคำถาม นำเสนอ ยกตัวอย่างประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สงสัยบอกเป็นนัยๆว่า "ห้ามหลับเวลาเรียน"

หลังจากเสร็จสิ้นการแนะนำหลักสูตรก็พักเบรค ๑๕ นาที มีขนมพายอร่อยๆ ขนมขบเคี้ยวเป็นซอง และผลไม้ให้เลือกทานเป็นของว่าง ส่วนเครื่องดื่มก็เลือกตามใจชอบ พอ ๙.๓๐ น. เรย์ก็ออกมาหน้าชั้นพร้อมแนะนำอาจารย์เฮวิตต์ที่จะสอนต่อไปให้เรารู้จัก หลังแนะนำเสร็จสรรพ เรย์ก็ยังไม่กลับ แต่ไปนั่งหลังห้องฟังบรรยายไปพร้อมๆกับพวกเราเลย ไม่เห็น ผอ.หลักสูตรในเมืองไทยหลายๆแห่ง ที่พอกล่าวเปิด...ก็เปิดแน้บหายไปไหนต่อไหนได้เลย

แต่อันนี้...ต้องนั่งฟังบรรยายด้วย ส่วนหนึ่งก็เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่อง แต่ส่วนสำคัญผมคิดว่า "นั่งฟังไปด้วยเพื่อจะคอยดูว่าการบรรยายสอดคล้องกับเป้าหมายผลลัพธ์หลักสูตรหรือไม่และจะดึงเอาหลักการจากผู้บรรยายมาบูรณาการในวาระนักจัดการทั่วไปได้อย่างไร"

เฮวิตต์ เป็นศาสตราจราย์พิเศษสาขาการบริหารธุรกิจ ชื่อเต็มคือ Gordon Hewitt, CBE, FRSE ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสกอตต์แลนด์บ้านเกิด มีความเชี่ยวชาญในด้านกลยุทธ์องค์กร การแข่งขันระดับโลก ภาวะผู้นำทางการบริหารแบบเสริมคุณค่า เป็นอาจารย์บรรยายให้มหาวิทยาลัยหลายประเทศ เป็นที่ปรึกษาบริษัทระดับโลกหลายแห่งและมีผลงานวิชาการตีพิมพ์หลายเรื่อง คำว่า CBE ผมมารู้จากหมอพนาว่า หมายถึง บรรดาศักดิ์ที่พระราชินีแต่งตั้ง ระดับรองจากเซอร์ ส่วนFRSEน่าจะเป็นราชบัณฑิตยสถานแห่งเอดินเบรอะ ต่อไปผมจะเรียกว่าอาจารย์กอร์ดอน ตามชื่อแรก

กอร์ดอน พูดถึงพื้นที่การแข่งขันใหม่ที่ท้าทายนักบริหารรุ่นเก๋า อาจารย์บอกว่านักจัดการทั่วไป (หมายรวมถึงซีอีโอด้วย) ต้องทำพรุ่งนี้ให้ดี แต่ไม่ใช่แค่ดีกว่าวันนี้ ต้องสร้างคุณค่าในใจลูกค้าด้วย ส่วนแบ่งทางการตลาดในวันนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวกับส่วนแบ่งทางโอกาส กลยุทธ์เป็นแนวคิดทิศทางเพื่ออนาคตขององค์กรที่จะบอกว่าจากที่นี่ไปที่ไหน (นั่น) และรวมไปถึงศักยภาพในการนำไปสู่การปฏฺบัติจริง

การสนทนากันในเรื่องกลยุทธ์ ต้องเริ่มจากการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทางการแข่งขัน อะไรเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อุบัติขึ้นและตรงไหนเป็นจุดกดดัน ซึ่งส่งผลให้เราต้องพุ่งความสนใจไปที่ "เกมส์" -"กฎ"- "การเล่น" (Game-Rules-Play) แต่ไม่ได้หมายถึงง่ายๆแบบวัยรุ่นสมัยนี้ว่า "การเล่นเกมส์กด" เท่านั้น (อันนี้ผมเติมเอง) และมันก็ไม่ใช่แค่การ "ทำนายเกมส์ใหม่" ที่จะเกิดขึ้น แต่มันเป็นการ "สร้างเกมส์ใหม่" ขึ้นมา โดยเราต้องเป็นผู้เปลี่ยนหรือกำหนด "เกมส์" และ "กฎ" ขึ้นมาใหม่เอง

กอร์ดอน ยกตัวอย่างการแข่งขันที่เกิดขึ้นในแวดวง "เครื่องใช้ไฟฟ้า" และ "เครื่องใช้เทคโนโลยี" ของโซนี่กับแอปเปิล ที่เปลี่ยนจาก "เครื่องใช้ไฟฟ้า-CE=Consumer electronics) ไปสู่ "ความบันเทิงด้วยปลายนิ้ว-DE=Digital Entertainment) ส่งผลให้โซนี่พ่ายให้กับแอปเปิลด้วยผลผลประกอบการที่ต่างกันถึง ๑๐ เท่า นี่คือตัวอย่างของการ "กำหนดเกมส์ใหม่ของตลาดด้วยการผสมผสานเทคโนโลยี"

การตลาดยุคนี้จึง "ไม่ใช่แค่การไปที่ร้านค้าแล้วจ่ายเงินซื้อ แต่เป็นการเข้าถึงแล้วแบ่งปัน" บทเรียนของสองบริษัทจึงไม่ใช่แค่การคงไว้ซึ่งความได้เปรียบแต่เป็นการหาความได้เปรียบใหม่ขึ้นมา ซึ่งสตีฟ จ๊อบส์ ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนแอปเปิลสร้างประวัตศาสตร์เขย่าโลก ขย่มบริษัทเก่าๆดังๆมาแล้ว

การเผชิญกับการแข่งขันในโลกความจริงที่เป็นตัวขับเคลื่อนระบบธุรกิจโลกที่ส่งผลให้เกิด "การเปลี่ยนเกมส์-ปรับกฎ" ซึ่งต้องการสิ่งสำคัญ นั่นคือ "การปรับกบาลทัศน์หรือชุดความคิดของผู้นำ" ผมไม่ใช้ "กระบวนทัศน์" เพราะเกรงว่าจะนึกไปถึง "Paradigm shift" แต่คำนี้หมายถึง Reengineering the leadership mindsets

ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้ปรับเจ้ากบาลทัศน์ที่ว่านี้ อาจมาจากปัจจัยหลักๆ ๖ อย่างคือการรวมหมู่/แยกเหล่า (Convergence/Divergence) ความโปร่งใสของคุณค่า (Value) กฎกติกาหรือข้อผูกมัดที่ซับซ้อนมากกว่าตัวบทกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ดิจิตัล (ไม่รู้จะใช้คำว่า "เศรษฐศาสตร์ปลายนิ้ว" ได้หรือเปล่า) กลุ่มชนฐานล่าง (Base of the Pyramid) และพัฒนาการทางอินเตอร์เน็ต

การทำธุรกิจในโลกปัจจุบันที่ต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าหรือมุ่งเน้นลูกค้า ต้องเขยิบสุงขึ้นไปอีกเป็น "ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง" ด้วยการ "สร้างคุณค่าในใจของลูกค้า (Customer Value Creation)"

ผมนั่งฟังบรรยายไปด้วยความรู้สึกที่ว่า "ไม่ใช่แค่สนุก แต่มันส์มาก" จากการพยายาม "ไม่ให้หลับ" เนื่องจากง่วงที่หลับไม่ดีเมื่อคืนนี้ มาสู่สภาพ "หลับไม่ลง" ผมนั่งฟังอาจารย์พูด จับใจความได้แทบทุกคำ แม้ไม่ ๑๐๐ % มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อคำถาม มีคำตอบเล็ดลอดจากปากออกไปเมื่ออาจารย์ถาม สายตามองแน่วแน่ไปที่ผู้บรรยาย  จับใจความทั้งหมด เชื่อมั่นศรัทธาผู้บรรยาย รักและสนใจที่อยากจะฟัง อยากรู้อยากเรียน ไม่เบื่อ ไม่หน่าย แล้วก็จดประเด็นสำคัญๆเป็นระยะๆ ตาดู หูฟัง สมองคิด มือจด...ไม่น่าเชื่อ

ผมฟังอาจารย์รู้เรื่องจริงๆแล้วก็ไม่หลับ ไม่เข้าสู่ระยะเคยชินทีผ่านมาในการฟังบรรยายที่เริ่มจากเบลอ...ไปสู่เบื่อ...แล้วก็งีบ ทำนอง "Slow-Slide-Sleep" การตั้งใจฟังแบบ LISTEN ได้ผลจริงๆแฮะ ดูรายละเอียดที่ http://www.gotoknow.org/blog/practicallykm/445267 ไม่ต้องพึ่งกาแฟช่วงพักเบรค ใช้แค่ชาเขียวอุ่นๆแก้วเดียวเอง ผมแอบเหลียวไปดูเพื่อนคนอื่นๆ เขาก็ตั้งอกตั้งใจฟังอย่างสนุกเหมือนกัน

กะว่า จะเขียนเล่าให้ได้วันละ ๑ ตอน แต่นี่ได้แค่ครึ่งตอนก็ค่อนข้างยาวแล้ว ขอยกยอดไปเล่าตอนหน้าก็แล้วกันครับ

 

                                                              พิเชฐ บัญญัติ

                                                              ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๔

                                                              ๒๒.๒๕ น.

หมายเลขบันทึก: 446377เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณคำอธิบายเพิ่มเติมที่ช่วยทำให้เนื้อหาบทความเรื่องเล่านี้สมบูรณ์มากขึ้น โดยคุณหมอพนา เพื่อนร่วมทางที่ได้ให้ข้อชี้แนะและขยายความ ส่งมาให้ทางอีเมล์ครับ....

พี่เชฐ ครับ

ผมได้อ่านตอนที่่ 8 แล้ว

ผมคิดว่า DE ไม่ได้หมายถึง "ความบันเทิงด้วยปลายนิ้ว"

แต่มันคือ "ความบันเทิงดิจิตอล"

จากเดิมsony เองก็ต้องการเปลี่ยนเกมส์ เป็น DE เหมือนกัน

แต่sonyก็ยังมองDEไม่ออก (หรือsonyเข้าใจผิดก็ไม่ทราบ)ว่าจะไปถึง DE ได้อย่างไร

ก็เพียงแต่ทำเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละอย่างให้ดีขึ้น ฉลาดขึ้น แต่ก็ยังเป็นคนละประเภทกันอยู่

แต่Apple กลับมองDE ได้ขาดมากกว่า โดยการผสมผสานหลายๆ อย่างเข้าเป็นอันเดียว

โดยมีDigital เป็นตัวเชื่อม เช่น รวมเอาเครื่องเล่นเพลงเคลื่อนที่(ทั้งที่sonyทำsony walkman มาก่อนตั้งนานแล้ว) ,โทรศัพท์เคลื่อนที่, Organizer, กล้องถ่ายภาพdigital และ internet เข้ามาไว้รวมกันในเครื่องเดียว กลายเป็น iPhone ที่ขายดีถล่มทลายโลกมาจนทุกวันนี้

โดยใช้เทคโนโลยีdigital มาเป็นจุดเปลี่ยนเกมส์ที่สำคัญ

จากการฟังsony walkman ผ่าน cassette tape ก็ทำให้เป็น MP3 files

แล้วเอามารวมกันกับโทรศัพท์ รวมกับกล้องและinternet ซึ่งทำงานเป็นระบบdigitalอยู่แล้ว

อุปกรณ์electronic หลายๆ เครื่องนี้จึงเหมือนมารวมร่างกันเป็นเครื่องเดียว

ซึ่งนวัตกรรมที่ดีเช่นนี้ ไม่ว่าใครๆ ในโลกก็อยากจะมีไว้ใช้

จึงเป็นที่มาของความสำเร็จของApple โดยที่Sony ยังมองเกมส์ไม่ขาดและไม่เร็วพอ

ขอบคุณครับ

พนา

ตอนหลังโซนี่ก็ต้องไปจับมือกับอีริคสัน เพื่อทำให้เกิด "DE" แต่ก็ตามไม่ทันแอปเปิ้ลแล้ว ในยุคดิจิตัล หรือ "ยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสรรหามาใช้ได้ง่ายด้วยแค่ปลายนิ้วสัมผัส" เช่น เบิกเงินง่ายๆด้วยการกดเลขรหัสที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเลือกฟังเพลงที่ชอบด้วยการใช้ปลายนิ้วกดดาวโหลดเพลงจากเน็ตหรือจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ ทุกอย่างจึงง่ายและรวดเร็ว

ตอนแรกจะแปล "DE" ให้หวือหวาไปอีกว่า "ความหฤหรรษ์ด้วยปลายนิ้ว" เกรงว่าจะหวาดเสียวกันไปใหญ่ แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่ายตรงตัวก็ควรใช้ "ความบันเทิงดิจิตัล" แบบที่คุณหมอพนาเสนอมาดีกว่า

ในยุคนี้ สินค้าที่จะชนะใจผู้บริโภคได้มาก ควรมีอย่างน้อย ๓ คุณสมบัติคือ

๑. Small: เล็ก กระทัดรัด ถ้าไม่เล็กก็ต้อง "บาง" แบบคอมพิวเตอร์พกพาของแอปเปิล

๒. Smart (Multi-function) หลากหลายหน้าที่ รวมหลายๆหน้าที่ไว้ในเครื่องเดียวกัน เช่น ไอโฟน

๓. Synergy (IT Mixed): ผสมผสานเทคโนโลยีที่หลากหลายไว้ด้วยกัน

ใครเห็นต่าง เชิญเสวนาครับ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ

บันทึกนี้ แค่อ่านบันทึกที่คุณหมอนำมาเล่าต่อ ก็ยังรู้สึกสนุกเลยค่ะ ก็เลยอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนด้วยนะค่ะ

จากเคสตัวอย่างที่คุณหมอเล่าในบันทึก หนูก็แอมองความสำเร็จของแอปเปิ้ลอยู่เหมือนกันค่ะ คือหนูคิดว่าค่ายนี้เค้าเน้นเรื่องความสะดวกที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัยที่มีการออกแบบทั้ง hardware และ software ที่ง่ายต่อการใช้งาน

นอกจากนี้แล้ว หากราคาสินค้าราคาใกล้เคียงกัน brand ของแอปเปิ้ลจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกถึงการได้รับคุณค่าของตราสินค้ามากกว่า เพราะของยี่ห้อนี้เค้าดูเป็นสินค้าที่ดูแล้วมีเอกลักษณ์และเฉียบกว่ายี่ห้ออื่นค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^_^

 

สินค้าของแอปเปิลเน้นความเป็นตัวตนของผู้ใช้ ชื่อสินค้าจึงแสดงความเป็น "ฉัน"หรือ "I" อยู่เป็นสว่นใหญ่ เช่น I-phone ซึ่งจ๊อบส์ เน้นการเข้าถึงความเป็นตัวตนหรือความต้องการในใจของลูกค้าได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท