คราม ภูมิปัญาไทย


การผลิตคราม

 

การผลิตผ้าย้อมคราม 

ต้นคราม  Indigofera  tinctoria           
           

ต้นครามเป็นไม้พุ่มตระกูลถั่ว ชอบน้ำน้อย แดดจัด บริเวณที่เหมาะแก่การปลูกจึงมักเป็นที่ดอนโล่ง เช่น หัวไร่ ปลายนา คันคูของบ่อปลาและต้องดายหญ้าเสมอ    เพื่อให้ต้นครามได้รับแดดจัดเต็มที่  ใบครามสดให้สีครามประมาณร้อยละ 0.4   หรือทั้งกิ่งทั้งใบแก่และใบอ่อนประมาณ 8 กิโลกรัม จึงได้เนื้อครามปนปูนขาว 1 กิโลกรัม  ย้อมฝ้ายได้ประมาณ 200-300 กรัม   จึงต้องปลูกต้นครามค่อนข้างมาก   ยิ่งถ้าทำผ้าย้อมครามตลอดปี เพื่อการค้า  ยิ่งต้องปลูกประมาณปีละ 5 - 6 ไร่  พอต้นครามอายุ 3 เดือน ให้สีครามมากที่สุด   ต้นครามสูงประมาณ 1-2 เมตร  ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ปลายใบเดี่ยว ใบย่อยรูปรี ดอกช่อออกตามซอกใบ  ดอกย่อยรูปดอกถั่ว  กลีบดอกสีชมพู  ผลเป็นฝัก  มีทั้งฝักตรงและฝักโค้ง ภายในฝักมี 7-12 เมล็ด ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว ลำต้นประกอบด้วยข้อและปล้อง มีตาและตาดอกเกิดขึ้นบริเวณข้อ  แล้วเกิดเป็นช่อดอกในภายหลัง  แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบดอก 4 กลีบ  เกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน  เมล็ดของครามมีลักษณะสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมีน้ำหนักเฉลี่ย 3.35-16.14 กรัมต่อ 1,000 เมล็ด  จากการทดลองใช้ใบและก้านใบของครามอายุ 2,3,4 และ 5 เดือนสกัดสีคราม พบว่าครามอายุ 3 เดือนให้ปริมาณสีครามมากที่สุด

                

การเตรียมสีครามธรรมชาติจากใบครามสด 

                ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ทำสีครามธรรมชาติ   จะทำสีครามจากใบครามสด  ผู้ทำสีครามต้องระมัดระวัง   ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บใบครามจากต้น    ต้องเก็บในเวลาเช้ามืดก่อนที่พระอาทิตย์ขึ้น

ภูมิปัญญาไทยทำสีครามธรรมชาติจากใบครามสดด้วย ด้วยขั้นตอน ดังนี้

 การแยกสีครามจากต้นคราม

        

แช่ใบครามสดไว้ 24 ชั่วโมง แยกกากออก จึงเติมปูนขาวในน้ำครามและกวนให้เกิดฟองมาก ๆ น้ำครามเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน

               

พักไว้ 1 คืน 

 ให้บรรจุต้น กิ่ง ใบครามสดในภาชนะ  ใช้มือกดใบครามให้แน่น เติมน้ำให้ท่วมหลังมือ แช่ไว้ 10 – 12 ชั่วโมง  จึงกลับใบครามข้างล่างขึ้นทับส่วนบน   แช่ต่อไปอีก 10 – 12  ชั่วโมง  จึงแยกกากใบครามออก ได้น้ำครามใส สีฟ้าจาง  เติมปูนขาว 20 กรัมต่อน้ำคราม 1 ลิตร ถ้าชั่งใบครามสด  10 กิโลกรัม ใช้น้ำแช่  20  ลิตร  จะใช้ปูน  400 กรัม  หรือเติมทีละน้อยจนฟองครามเป็นสีน้ำเงิน  จึงกวนจนกว่าฟองครามจะยุบ  พักไว้ 1 คืน รินน้ำใสทิ้ง  ถ้าน้ำใสสีเขียวแสดงว่าใส่ปูนน้อย  ยังมีสีครามเหลืออยู่ในน้ำคราม  ถ้าใส่ปูนพอดี น้ำใสเป็นสีชา  หากใส่ปูนมากเกินไป  เนื้อครามเป็นสีเทา ใช้ไม่ได้   เนื้อครามดี  ต้องเนื้อเนียนละเอียด  สีน้ำเงินสดใสและเป็นเงา  ซึ่งอาจเก็บเป็นเนื้อครามเปียกหรือเนื้อครามผงก็ได้ขึ้นอยู่กับการใช้งานในขั้นตอนก่อหม้อ  อย่าเชื่อว่าแช่ใบครามนานแล้วจะได้สีครามมาก  เพราะผลการวิจัยปรากฏชัดว่า   เมื่ออุณหภูมิคงที่ สีครามตั้งต้นในใบครามจะถูกสลาย (hydrolyse) ให้สีคราม (indoxyl) ออกมาอยู่ในน้ำครามได้มากที่สุดในเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น การแช่ใบครามที่ใช้เวลาน้อยหรือมากจนเกินไป  จะได้สีครามน้อยแต่สิ่งปลอมปนมาก  ทำให้ปนในเนื้อผ้าที่ย้อมด้วย ผ้าจึงหมอง สีไม่สวย  หากต้องการสีครามเร็วให้แช่ใบครามในน้ำอุ่นไม่เกิน 40 C หรือโขลกใบครามสดในครกกระเดื่องและแช่ในน้ำที่อุณหภูมิปกติเพียง 12 ชั่วโมง

 

การก่อหม้อครามเตรียมน้ำย้อม


ชั่งเนื้อครามเปียก (indigo  blue)  1  กิโลกรัมผสมน้ำขี้เถ้า 3  ลิตร ในโอ่งดิน  โจกน้ำย้อม  ทุกเช้า–เย็น  สังเกต สี  กลิ่น และฟอง   วันที่ 3 ใช้มะขามเปียก  100  กรัมต้มกับน้ำ 1 ลิตร พักให้เย็น  ผสมลงไปในโอ่งน้ำย้อม  โจกครามทุกวันและสังเกตต่อไป   ซึ่งน้ำย้อมจะใสขึ้น  เปลี่ยนเป็นสีเขียวปนน้ำเงิน  กลิ่นหอมอ่อน  ฟองสีน้ำเงิน  โจกครามทุกวันจนกว่าน้ำย้อมจะเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือเขียวยอดตอง  ขุ่นข้น  ฟองสีน้ำเงินเข้มวาว ไม่แตกยุบ  แสดงว่าเกิดสีคราม (indigo white) ในน้ำย้อมแล้ว  ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7 วัน

การเตรียมน้ำขี้เถ้า 

น้ำขี้เถ้าที่ใช้  ทำมาจากขี้เถ้าของไม้บางชนิดเท่านั้น  และต้องเตรียมให้ได้ความเค็มคงที่ หรือ ถ.พ. 1.05   ซึ่งโดยทั่วไปมักใช้เหง้ากล้วยเป็นหลัก  เพราะหาง่ายและทำให้สีครามติดฝ้ายได้ดี   เตรียมโดยสับเหง้ากล้วยเป็นชิ้น ๆ ผึ่งแดดพอหมาด  นำมาเผารวมกับทางมะพร้าว  เปลือกผลนุ่นฯลฯ  จนไหม้เป็นเถ้า  ใช้น้ำพรมดับไฟ  รอให้อุ่นจึงเก็บในภาชนะปิด    ถ้าทิ้งไว้ให้ขี้เถ้าเย็น  การละลายของเกลือในขี้เถ้าจะน้อยลง  หรือถ้ารดน้ำดับไฟแล้วทิ้งไว้นานสารละลายเกลือจากขี้เถ้าก็ซึมลงดินบริเวณที่เผา  ทุกอย่างจึงต้องแย่งชิงให้ถูกจังหวะ  นำขี้เถ้าชื้นนั้นบรรจุในภาชนะที่เจาะรูด้านล่างไว้   อัดขี้เถ้าให้แน่นที่สุดเท่าที่ทำได้  เติมน้ำให้ได้ระดับเดียวกับขี้เถ้าก่อนกดอัด   กรองเอาน้ำขี้เถ้าครั้งแรก  แล้วเติมน้ำอีกเท่าเดิม  กรองเอาน้ำขี้เถ้าครั้งที่สอง  รวมกันกับน้ำขี้เถ้าครั้งแรก  จะได้น้ำขี้เถ้าเค็มพอดีกับการใช้งานต่อไป

การย้อมคราม

      

สีครามในน้ำย้อม (indigo white) แทรกเข้าไปอยู่ภายในโครงสร้างของเส้นใยฝ้ายได้ดี  เมื่อยกเส้นใยพ้นน้ำย้อม  สัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ  สีครามจะถูกออกซิไดส์เป็นสีน้ำเงิน (indigo blue) ขังอยู่ภายในเส้นใย  เส้นใยที่ย้อมติดสีครามได้ดีจึงเป็นเส้นใยเซลลูโลสที่มีหมู่  -OH  ในโครงสร้าง  โดยเฉพาะใยฝ้าย ดังนั้นก่อนย้อม  ต้องทำความสะอาดฝ้ายและทำให้ฝ้ายเปียกด้วยน้ำสะอาด  หากล้างฝ้ายไม่สะอาด  เมื่อนำไปย้อมจะทำให้สีครามในน้ำย้อมเปลี่ยนไป ย้อมไม่ติด  หรือหม้อหนี  หากทำฝ้ายเปียกน้ำไม่ทั่ว  เมื่อนำไปย้อม  สีครามแทรกเข้าเส้นฝ้ายไม่สม่ำเสมอทำให้เกิดรอยด่าง  เส้นใยเรยอนที่โรงงานอุตสาหกรรมนำเศษฝ้ายและเศษไม้มาปรับแต่งเป็นเส้นใยขนาดเล็ก สม่ำเสมอ นุ่ม มันวาว ย้อมติดสีครามได้ดี  ให้สีน้ำเงินเข้ม สวยงาม  แต่ทนต่อการนุ่งห่มน้อยกว่าใยฝ้าย

              นอกจากสีครามในน้ำย้อมและเส้นใยแล้ว   น้ำย้อมที่เย็นจะย้อมติดสีครามได้ดีกว่า ดังนั้นจึงควรใช้โอ่งดินทำหม้อคราม  เพราะน้ำที่ซึมจากโอ่งดินจะช่วยระบายความร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำย้อมเย็นกว่าปกติ  หรือตอนเช้าและตอนเย็นเป็นเวลาที่เหมาะสมในการย้อมคราม   เมื่อจะย้อมคราม  ให้ตักน้ำย้อมประมาณ 1 ลิตร ออกไว้ก่อน  จึงนำฝ้ายหมาดน้ำลงย้อม  ขณะย้อมต้องระวังให้อากาศสัมผัสน้ำย้อมน้อยที่สุด  นั่นคือค่อย ๆ กำเส้นฝ้ายใต้น้ำย้อม ให้แน่นแล้วคลายมือให้สีครามแทรกเข้าไปในทุกอณูของเส้นฝ้าย  กำและคลายไล่เรียงไปตามวงเส้นฝ้าย  สังเกตน้ำย้อม  สีเหลืองจางไป  สีน้ำเงินเข้มมาแทน  ความข้นหนืดลดลง  จึงหยุดย้อม  บิดเส้นฝ้ายให้หมาด  กระตุกให้ฝ้ายเรียงเส้นและสัมผัสอากาศ  แล้วเก็บฝ้ายชื้นนั้นในภาชนะปิด  ถ้าตากฝ้ายที่ย้อมทันทีจะเกิดรอยด่างในเส้นฝ้าย  หากต้องการสีเข้มต้องย้อมซ้ำในหม้อครามอื่นอีกต่อไป พักไว้ 3-5 นาที จึงล้างให้สะอาดจนน้ำล้างใสไม่มีสี  ผึ่งลมให้แห้ง นำไปใช้งานต่อไป  ส่วนน้ำย้อมที่ตักไว้ใช้เป็นเชื้อ  เทกลับคืนหม้อครามเดิมและเติมเนื้อครามอีก

การดูแลน้ำย้อมในหม้อคราม  

การดูแลน้ำย้อมในหม้อครามให้ย้อมได้ทุกวัน เช้า – เย็น  ติดต่อกันนาน ๆ  เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำสีคราม แต่ถ้าช่างย้อมเข้าใจสีครามและหมั่นสังเกต  อีกทั้งซื่อตรงสม่ำเสมอในการปฏิบัติ  จะสามารถดูแลหม้อครามแต่ละหม้อได้นานหลายปี    การดูแลหม้อครามเป็นงานที่ท้าทาย  และเป็นตัวชี้วัดความชำนาญของช่างย้อม  ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาฝึกฝน  สังเกต  และทดลองทุกวันตลอด 3-5 ปี   ถ้าอยากเรียนลัดเป็นช่างที่ชำนาญการย้อมครามภายใน  1 ปี ต้องรู้จักสีครามให้ดี หลักการสำคัญ  ต้องช่างสังเกต  และสม่ำเสมอ  ฝึกความชำนาญวิธีใดวิธีหนึ่ง  ไม่ควรเปลี่ยนวัตถุดิบที่เคยใช้  และแต่ละกลุ่มไม่ควรเปลี่ยนคนย้อมและดูแลหม้อคราม  

กระบวนการผลิตสีครามและย้อมคราม ทุกขั้นตอนจึงมีข้อจำกัดในเรื่องส่วนผสม  เวลา อุณหภูมิ  ความชื้น และความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณสารที่เกี่ยวข้องและทักษะปฏิบัติที่กล่าวข้างต้นล้วนสำคัญต่อคุณภาพของสีและผ้าย้อมคราม  ช่างย้อมต้องช่างสังเกต  เข้าใจ ยอมรับ เคารพ และศรัทธา

ไม่ว่าจะก่อหม้อครามด้วยสูตรใดก็ต้องสังเกตการเปลี่ยนแปลงสี  กลิ่น ฟองและความหนืดของน้ำย้อมทุกวัน  โดยทุกเช้าและเย็น  ต้องตักน้ำย้อมยกขึ้นสูงประมาณ 1 ฟุตแล้วเทน้ำย้อมกลับคืนลงหม้อเดิม   4-5 ครั้ง เรียกว่าโจกคราม   ลักษณะของน้ำย้อม  วันแรกสีน้ำเงิน  ฟองใสไม่มีสี  แตกยุบตัวเร็ว   กลิ่นเนื้อคราม  น้ำย้อมเหลว  วันต่อไปน้ำย้อมใสสีน้ำตาล  กลิ่นและฟองเหมือนเดิม  ประมาณวันที่ 7  จะได้กลิ่นหอมเฉพาะตัวของสีคราม  น้ำย้อมจะเป็นสีเขียว  ฟองสีฟ้าใสแตกง่าย  ประมาณวันที่  10-15  กลิ่นสีครามแรงมากขึ้น  ผิวหน้าของน้ำย้อมเป็นสีน้ำเงินเข้ม   เมื่อปาดผิวหน้าจะเห็นน้ำย้อมสีเหลืองเข้มปนสีเขียวอ่อน  เมื่อโจกครามจะเห็นน้ำย้อมหนืด ขุ่นข้น  เกิดฟองสีน้ำเงินเข้มขุ่น เป็นเงาสีเทา ไม่แตก  และเห็นริ้วสีน้ำเงินของ Indigo blue ที่เกิดจาก Indigo white ในน้ำย้อมถูกออกซิไดส์โดยอากาศ  การเกิดสีครามเช่นนี้  คนทำสีครามเรียกว่าหม้อนิลมา  ทำการย้อมฝ้ายได้  แต่มีบางครั้งไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เรียกว่าหม้อนิลไม่มา  น้ำย้อมเป็นสีน้ำเงินไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง  ภูมิปัญญาแก้ไขโดยการเติมสิ่งต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง  ผลมะเฟืองทุบ  มะขามเปียก ฝักส้มป่อย  น้ำต้มใบโมง  ส่าเหล้าและน้ำอ้อย  หากแก้ไขแล้วหม้อนิลยังไม่มา  น้ำย้อมอาจเน่าเหม็นหรือเป็นสีน้ำตาลแสดงว่าไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว คนทำครามเรียกว่าหม้อนิลตาย  ต้องเทน้ำย้อมทิ้ง  ตั้งต้นก่อหม้อนิลใหม่

การเตรียมสีครามหรือการก่อหม้อครามทำได้หลายสูตร แต่ใช้วัตถุดิบที่จำเป็นเหมือนกันคือประกอบด้วยเนื้อคราม  กับน้ำขี้เถ้า และปูนขาวอีกเล็กน้อย   ภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบอีสานเหนือส่วนใหญ่ใช้เนื้อครามในสภาพเหลวเหมือนเนยเหลว (Indigo  paste)  ส่วนน้อยใช้เนื้อครามในน้ำครามไม่เคยใช้เนื้อครามแห้ง   ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบอีสานเหนือจึงระวังดูแลเนื้อครามเป็นอย่างดีไม่ให้แห้ง   แม้จะเก็บไว้เป็นปีก็ตาม    ขณะที่ภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบอีสานใต้ใช้เนื้อครามเป็นก้อนและแห้ง(ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ตรม)   เมื่อจะก่อหม้อครามก็ใช้ตรม 2 ก้อนถูกันให้ผงของตรมร่วงลงไปในน้ำขี้เถ้า   ภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบอีสานเหนือจะใช้สีครามย้อมฝ้ายแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นแถบอีสานใต้ใช้สีครามย้อมไหม       สำหรับขี้เถ้าที่ใช้ก่อหม้อครามทำจากขี้เถ้าของไม้บางชนิดด้วยเทคนิคพิเศษ       ต่างจากขี้เถ้าที่ได้จากฟืนหรือถ่านไม้สำหับหุงต้มในครัวเรือน  ไม้ที่ทำขี้เถ้าสำหรับก่อหม้อครามได้แก่  ต้นเพกา  ต้นจามจุรี  ต้นขี้เหล็ก  ต้นนุ่น  ต้นมะละกอ   เหง้ากล้วย  เปลือกฝักนุ่น  ทางมะพร้าว งวงตาล(เกสรตัวผู้)  ต้นผักขมหนาม ฯลฯ แล้วแต่จะหาชนิดใดได้ง่าย   ไม้เหล้านี้หากมีลักษณะไม่แห้งนักจะยิ่งดี   ในการเผาก็จะเผาให้ไหม้ในระดับหนึ่งไม่ถึงขั้นเป็นผงขี้เถ้า   เมื่อเผาได้ที่แล้วจะพรมน้ำเล็กน้อยในขี้เถ้าขณะร้อน  พักไว้ให้อุ่นๆพอจับต้องได้  จึงเก็บขี้เถ้าชื้นนั้นในภาชนะปิด  หากทิ้งไว้ให้ขี้เถ้าเย็นหรือแห้งเป็นผง   เมื่อนำมาทำน้ำขี้เถ้าจะได้น้ำขี้เถ้าที่ไม่เค็มเพียงพอ   ในการทำน้ำขี้เถ้าก็เตรียมภาชนะที่เจาะรูด้านล่างไว้และรองด้วยใยมะพร้าวหรือปุยนุ่นหรือฟองน้ำเก่า ๆ ก็ได้  จากนั้นบรรจุขี้เถ้าชื้นในภาชนะดังกล่าว  กดอัดขี้เถ้าให้แน่น  เติมน้ำให้ได้ระดับเดียวกับระดับเดิมของขี้เถ้าก่อนกด  กรองเอาน้ำขี้เถ้าครั้งที่ 1  เติมน้ำระดับเดิมและกรองครั้งที่ 2   รวมน้ำขี้เถ้าทั้ง 2  ครั้งเข้าด้วยกัน  การทำเช่นนี้เป็นการควบคุมความเข้มข้นของน้ำขี้เถ้าให้พอดี   เก็บน้ำขี้เถ้าไว้ในภาชนะที่ไม่ซึมและทนเค็ม   

หลังจากก่อหม้อครามด้วยสูตรต่าง ๆ แล้ว  น้ำย้อมเริ่มต้นจะมีพีเอชมากกว่า  11   เนื่องจากปูนขาวในเนื้อครามและน้ำขี้เถ้าต่างก็เป็นด่าง   ผู้ทำครามต้องโจกครามทุกเช้า-เย็น  เติมออกซิเจนแก่ จุลินทรีย์ด้วย  หากไม่โจกครามจะเกิดฟิล์มเมือกปิดผิวหน้าของน้ำย้อม  น้ำย้อมมีกลิ่นเหม็น เน่าเสียต้องเททิ้ง  ประโยชน์อีกอย่างของการโจกครามก็เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงสีและฟองของน้ำย้อม  ซึ่งเริ่มแรกจะมีสีน้ำเงินเข้ม  ฟองใสไม่มีสี  พีเอชของน้ำย้อมลดลงทุกวัน  ประมาณวันที่ 5 –7  น้ำย้อมจะมีสีเขียว  กลิ่นหอมเฉพาะตัว   ถ้าน้ำย้อมไม่เปลี่ยนสี  กลิ่นไม่เปลี่ยน  ให้เติมน้ำต้มมะขามเปียก(มะขามเปียก 100 กรัม ต้มในน้ำ 1 ลิตร พักให้เย็น กรองเอาน้ำเก็บในภาชนะปิด) ประมาณ 200 มล ต่อน้ำคราม 3 ลิตร หากวันรุ่งขึ้นสียังไม่เปลี่ยนให้เติมอีกและสังเกตสีทุกวัน    หลังจากนั้นสีของน้ำย้อมเหลืองมากขึ้น เขียวลดลง  ลักษณะน้ำย้อมหนืด  ขุ่นข้น  จนประมาณวันที่ 15-20  น้ำย้อมมีสีเหลืองเข้ม  กลิ่นหอม  แสดงว่าเกิดสีคราม (Indigo  white) มากพอแล้วในน้ำย้อม   จึงทำการย้อม  หรืออาจไม่นานถึงวันที่ 20  หากน้ำย้อมเหลืองจัดให้ย้อมได้เลย 

เส้นใยที่ย้อมติดสีครามได้ดีที่สุดคือใยฝ้ายธรรมชาติ  ถ้าเป็นฝ้ายจากร้านค้าจะถูกเคลือบด้วยแป้งมันมาก  การติดสีจะไม่ดีหรือติดแล้วก็ลอกหลุดภายหลังพร้อมกับแป้งมัน  ถ้าเป็นใยโทเรจะติดสีไม่เข้ม  ได้สีฟ้า-เทา  แต่มีความวาวสวยงาม     ใยไหมติดสีครามยากเช่นกัน   ภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์จะเติมน้ำส้มมดแดงในน้ำย้อม และเติมเหล้าขาวประมาณ 1 ช้อนชาต่อน้ำย้อม 1 ลิตรก่อนย้อมไหมฟอก  เส้นใยที่ใช้ย้อมต้องสะอาดและหมาดน้ำ ฝ้ายที่ใช้ย้อมมีปริมาณพอเหมาะคือน้ำย้อม 3 ลิตร ควรใช้ฝ้ายไม่เกิน 100 กรัม  ขณะย้อมให้สังเกตน้ำย้อมด้วย   เมื่อน้ำย้อมเหลวมากขึ้น  สีเหลืองจะจางลง  สีเขียวจะเข้มขึ้น  ให้หยุดย้อม     ทั้งนี้เพราะเมื่อสีครามเกิดมากพอแล้วในน้ำย้อม แสดงว่าขณะนั้นภาวะของน้ำย้อมสมดุลพอดี  ระหว่างปริมาณเนื้อคราม สีคราม ปูนขาว  น้ำขี้เถ้า และภาวะความเป็นกรด-ด่าง  เมื่อย้อมฝ้ายปริมาณพอดี  ในเวลาพอดี  ให้มีสีครามเหลืออยู่พอที่จะย้อมได้อีก  น้ำย้อมอยู่ในภาวะสมดุล  เมื่อเติมเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้าอีกเพียงเล็กน้อย  ไม่ให้ไปรบกวนช่วงพีเอชของการเกิดสี   ใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง   น้ำย้อมจะเหลืองจัดและย้อมได้อีก  เติมเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้าอีกเล็กน้อย  พักไว้อีกไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง  ก็ย้อมได้อีก  ทำซ้ำ ๆ จะย้อมได้เรื่อย ๆ นานหลายปี  ด้วยเหตุนี้จึงพบบางครัวเรือนมีหม้อครามตั้งแต่รุ่นคุณยายซึ่งเป็นคนย้อมครามชั้นครู  ตกทอดถึงลูกหลาน  ถ้าใช้ฝ้ายมากเกินไปหรือย้อมนานเกินไป  ฝ้ายจะดูดซับสีครามไปมากหรือหมดไปจากน้ำย้อม   เมื่อเติมเนื้อครามและน้ำขี้เถ้าอีกก็เหมือนการเริ่มก่อหม้อครามใหม่ ต้องรออีก 15-20 วัน เหตุการณ์เช่นนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรียกว่าหม้อนิลหนี  โดยภูมิปัญญาอธิบายถึงสาเหตุไม่ได้แต่บอกต่อ ๆ กันมาว่าให้เติมมะขามเปียก 1 กำมือ หรือแช่เปลือกมะม่วงแผ่นเท่าฝ่ามือ  หรือทุบมะเฟืองทั้งลูกแช่ลงไป  อีก 2 –3 วันหม้อนิลก็จะกลับมา   ถ้าย้อมฝ้ายในปริมาณพอดีและย้อมในเวลาพอดี   แต่เติมเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้ามากจนรบกวนพีเอชของน้ำย้อมให้สูงเกินช่วงเกิดสี  หม้อนิลก็หนีอีกเช่นกัน  เรียกกลับมาได้โดยเติมสิ่งเปรี้ยว ๆ ดังกล่าว แต่หากเติมมากเกินไป  ทำให้พีเอชต่ำกว่าช่วงเกิดสี   ไม่รู้ทางแก้ก็จะเรียกว่าหม้อนิลตาย  ต้องเททิ้ง    แต่ถ้ารู้ทางแก้เติมปูนขาวลงไปหม้อนิลก็กลับมา  ซึ่งปรากฏการณ์หม้อนิลหนีนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดของการทำสีครามและย้อมคราม

การทอผ้าย้อมคราม 

หมายเลขบันทึก: 446371เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สุดยอดจริงๆ มีประโยชน์มากมาย

  • เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
  • การเคลื่อนตัวของสังคมไทยเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม  น่าจะถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท