โอกาสเกษตรกร โอกาสประเทศไทย


สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นเนื่องจากปัญหาปริมาณผลผลิตหรืออุปทานน้อยลง เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือสภาพดินฟ้าอากาศ

        หนังสือ"ขุดทองบนดินพลิกวิกฤติด้วยเกษตร" ของนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ เป็นหนังสือที่เก็บอยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของผมมานานแล้วแต่ยังไม่มีเวลาที่จะอ่านจริงๆจังๆซักที เมื่อวานช่วงบ่ายๆว่างก็เลยหยิบขึ้นมาอ่าน....หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งให้แง่คิดในการพัฒนาการเกษตรและการเอาตัวรอดจากวิกฤติของโลก  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่นายแพทย์เปรมศักดิ์เขียนไว้ว่า...

      "ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้น นอกจากกระทบในทางลบต่อประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าเกษตรหรือประเทศผู้ผลิตอาหารที่อาจจะผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคแล้วยังทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงด้วย

         สาเหตุที่ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นเนื่องจากปัญหาปริมาณผลผลิตหรืออุปทานน้อยลง เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือสภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะประเด็นโลกร้อนซึ่งส่งผลกระทบระยะยาว แต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของสถานการณ์นี้ก็มีผลกระทบในทางบวกคือเป็นผลดีมากกว่าผลลบ ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้

       1.ทำให้คนไทยโดยเฉพาะคนเมืองได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคการเกษตรและเกษตรกรมากขึ้น เพราะในที่สุดแล้วต้องฝากชีวิตไว้กับเกษตรกร

       2.เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นก็มีโอกาสใช้หนี้คืน ปลดหนี้ปลดสินไถ่ถอนที่ดิน อาจทำให้หนี้สินลดหรือหมดไป และมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น

       3.เมื่อราคาสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นสินค้าเกษตรในอดีตมีราคาค่อนข้างต่ำ จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรพัฒนาประสิทธิภาพ ผลผลิตต่อไร่ของประเทศจึงค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และแม้เราจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่เท่าเดิมหรือลดลง แต่ผลผลิตโดยรวมก็จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ "ข้าว" ที่เราสามารถผลิตได้ถึงเท่าตัว

       4.เมื่อราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นโดยกลไกตลาด ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดและราคา ในอดีตเรามีโครงการรับจำนำและประกันราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด แต่ก็พบว่ามีปัญหาและต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแก้ปัญหา ดังนั้น หากประหยัดงบประมาณส่วนนี้อย่างน้อยก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

        5.สถานการณ์นี้จะพลิกเป็นโอกาสสำคัญในการในการทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกมากขึ้น รวมทั้งประเทศอื่นๆต้องพึ่งพิงประเทศไทยมากขึ้นในฐานะที่จะต้องซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศไทย"

      แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานั้นจะเกิดขึ้นได้ นายแพทย์เปรมศักดิ์เขียนไว้ว่าจะต้องอาศัย

     1.การพัฒนาภาคการเกษตรแบบครบวงจร

     2.การพัฒนาการผลิตสินค้าและส่งเสริมการผลิตนั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางกายภาพ

     3. การพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรต้องมีความหลากหลาย ซึ่งแต่ละแบบจะมีความเหมาะสมในด้านต่างๆแตกต่างกันออกไป

     4.การพัฒนาระบบชลประทานเพราะน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการผลิตสินค้าเกษตร

     5.ส่วนต่างหรือช่องว่างราคาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภคโดยสนับสนุนให้เกษตรกรทำการค้าขายกับผู้บริโภคโดยตรง

     6.ต้องเพิ่มงานวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

       ผมเห็นด้วยกับนายแพทย์เปรมศักดิ์ครับ  "รัฐ" ต้องอาศัยการวางยุทธศาสตร์และการวางแผนการพัฒนาการเกษตรที่เป็นระบบ..เรามาช่วยกันพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสกันนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 446328เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 13:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท