นักวิชาการสายรับใช้สังคมไทย : กล้าปฏิบัติจริง เสี่ยงจริง ตายจริง...


สาเหตุที่ครูหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยถึงต้องทำวิจัยเพื่อที่จะหาความรู้มาใช้ในการสอนก็คือ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอกระบบการศึกษาบ้านเราสอนกันแต่ "ทฤษฎี"

 

ในปัจจุบันยอมรับกันว่า "ทฤษฎีไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

ดังนั้นจึงมีการแก้ไขโดยการทุ่มงบประมาณให้อาจารย์มีโอกาส "ทดลองการปฏิบัติ

การวิจัยเป็นเพียงการ "ทดลอง" ซึ่งปัจจัยคงที่และปัจจัยผันแปรอยู่ภายใต้การกำหนดและควบตัวนักวิจัย "ความเสี่ยงน้อยผลตอบแทนต่ำ

การวิจัยแตกต่างจากการทำงานจริง แตกต่างจากชีวิตจริง ซึ่งความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็สูงด้วย (High risk High return)

ในทางกลับกัน หากเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษาคนใด กล้าที่จะยอมเสี่ยงชีวิตตัวเองไปขวนขวายหาความรู้ในช่วงระหว่างที่เรียน สะสม อบรม บ่มเพาะ "ไวรัสทางความรู้จากการปฏิบัติ" เมื่อเรียนจบออกมาเป็นครูจะเป็นครูที่มีคุณภาพ เป็นครูดี ครูเพื่อศิษย์

เด็ก ๆ ความรับผิดชอบไม่เยอะมาก กล้าเสี่ยง กล้าล้ม กล้าลุก

แต่จะให้อาจารย์ซึ่งโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้วไปเสี่ยงล้มลุกคลุกคลานมากก็ไม่ได้ เพราะเขามีครอบครัว มีลูก มีสามี มีภรรยาที่จะต้องรับผิดชอบ

ดังนั้นการแสวงหาความรู้ก็เป็นได้เพียงแค่การทดลองในชื่อของ "การวิจัย"

การวิจัย ไม่เสี่ยงเท่ากับการทำงานจริง เพราะไม่ต้องเอาชีวิตไปลงทุน ทำผิดไม่ถึงตาย ทำพลาดไม่ถึงกับ "ล้มละอาย"

ดังนั้นแรงผลักดันในการทำวิจัย กับแรงผลักดันกับการดำเนินชีวิตที่ใช้ปากกัดและตีนถีบจึงแตกต่างกัน

 

การวิจัยผิดพลาดได้ มีทางให้ถอย แต่การปฏิบัติด้วยชีวิตผิดพลาดหมายถึง "ตาย"

ดังนั้นกลไกของจิตที่มีช่องทางให้เลือกว่า "นี่คือการวิจัย เป็นแค่การทดลอง" จิตของเราจะมีความประมาทอยู่ในทุกอย่างก้าว

แต่ถ้าหากเป็นการปฏิบัติจริง ชีวิตจริง ทุกย่างก้าวจะละเอียดและรอบคอบ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโดยให้อาจารย์ทำวิจัย จึงเป็นแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะถ้าหากเรายังให้เด็กเรียนแต่ทฤษฎี สุดท้ายก็ต้องเสียเงินให้เด็กคนนั้นที่วันหนึ่งที่จะต้องมาเป็นอาจารย์ต้องทำ "วิจัย"


การไปศึกษาต่างประเทศ มีโอกาสให้ทำงานเยอะมาก

เด็กที่เรียนจบต่างประเทศต้อง "ปากกัด ตีนถีบ" (ถ้าพ่อแม่ไม่ส่งเงินไปให้เยอะ) การเรียนในประเทศไม่ลำบากขนาดนั้น อย่างน้อยอยู่เมืองไทยก็มีรถเก่งขับ ชีวิตไม่ต้องอดหลับอดนอนไปเป็น "เด็กล้างชาม" 

ดังนั้นจากประสบการณ์ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า (ซึ่งอาจจะผิด) ควรจะให้เด็กไทยตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป กล้าเสี่ยงต่อการใช้ชีวิต

ครูต้องเป็นพี่เลี้ยงเพื่อนำทางในการปฏิบัติให้กับลูกศิษย์

จะต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประถม มิใช่รอมาถึงระดับอุดมศึกษาแล้วถึงเริ่มปฏิบัติการ "ธุรกิจจำลอง" ซึ่งเป็นการ "จำลองชีวิต"

ครูจะต้องเริ่มชี้ทางให้เด็กล้าท้าทายชีวิต ต้องบอกให้เด็กกล้าเผชิญโชคชะตา เพื่อสองมือและสองขาที่แข็งแกร่ง

เด็กบางคนมาพบความจริงของชีวิตว่าก้าวผิดพลาดจนกระทั่งมาถึงการเรียนระดับมหาวิทยาลัย

ทำไมถึงผิดพลาด เพราะเขาได้แต่คิด คิดจากทฤษฎี มิใช่เกิดปัญญาจากการ "ปฏิบัติ"

 

เขาคิดว่าสิ่งที่ครูบอก สิ่งที่สื่อชี้นำ สิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้นำพร่ำสอนนั้นดี ก็เห็นดีตามไปด้วย

 

อย่างช้าที่สุด ถ้าหากเราจะให้เด็กเริ่มปฏิบัติ คือในระดับมัธยมปลาย เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการเลือกคณะที่จะกำหนดอนาคตของ "ชีวิต"

คณะ สาขา ภาควิชา ในระดับอุดมศึกษาของเด็กเป็นตัวกำหนดอาชีพ ซึ่งเขาจะต้องวนเวียนอยู่และต้องเจอกับผู้คนในสาขาวิชาชีพนั้นไปตลอดชีวิต

เด็กควรจะมีปัญญาในการเลือกมากกว่าทฤษฎีทางการศึกษา หรือพึ่งพาแค่ลมปากบอกว่าคณะนั้นดีสาขานี้ "เลิศ"

 

การปฏิบัตินอกจากจะสร้างความรู้ให้กับเด็กดีกว่าการวิจัยของอาจารย์ครั้นเมื่อเรียนจบแล้ว ยังสามารถกำหนดอนาคตของอาจารย์คนนั้นได้อีกด้วยว่าสมควรจะมาเป็น "อาจารย์" หรือไม่...!

 

มิอย่างนั้นถ้าหากได้คนที่ไม่มีประสบการณ์ ประเทศชาติก็จะต้องเสียงบประมาณให้อาจารย์ไปวิจัยตลอดกาล...

 

คนที่คิดจะมาเป็นอาจารย์ จึงจำเป็นต้องเตรียมตนเองให้มากกว่าผู้อื่น ต้องขวนขวายหาความรู้จากการปฏิบัติตั้งแต่เมื่อยังเป็นนักเรียนในระดับประถม มัธยม จนกระทั่งอุดมศึกษา

กล้าเสี่ยงต่อการดำเนินชีวิต กล้าเสี่ยงต่อการปฏิบัติในสายงานที่ตนเองคิดว่าจะมาเป็นอาจารย์ในภาคหรือคณะวิชานั้น

 

ต้องขวนขวาย หาความรู้ นำชีวิตตนเองไปคลุกฝุ่น มะรุมมะตุ้มกับความผิดพลาด เพราะให้ได้มาซึ่งประสบการณ์แท้จริง ๆ ความรู้จริง ๆ ในการที่จะมาสอนลูกศิษย์ในอนาคต

การสอนทุกคาบ ทุกชั่วโมงต้องมีค่า เราจะทิ้งชั่วโมงนี้ แล้วบอกว่ากำลังทำวิจัยเพื่อหาความรู้อยู่ไม่ได้

 

เด็กที่สอนคาบนี้มีความหมาย นิสิตที่นั่งฟังเราอยู่ทุกคาบเรียนมีความหมาย ดังนั้นอาจารย์จะต้องพร้อมก่อนที่จะก้าวขาเข้าห้องเรียน

 

ทำทุกชั่วโมงเรียนให้มีคุณค่าโดยพึ่งพาความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาตลอดทั้ง "ชีวิต..."

 

ให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน เพราะเขาก็เป็นคนเหมือน ๆ กัน

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

27 มิถุนายน 2554

หมายเลขบันทึก: 446203เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท