วิจัยกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรต่อการเกษรระบบชีววิถี


การเรียนรู้ การเกษรระบบชีววิถี

ชื่อเรื่อง  กระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรต่อการเกษตรระบบชีววิถี

ผู้วิจัย  นายบรรชร  กล้าหาญ นางรุ่งทิพย์  กล้าหาญ และนายพลฤทธิ์  จินดาหลวง

หน่วยงาน  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

ปีที่วิจัย  2553

 บทคัดย่อ

       การวิจัยนี้ใช้เทคนิควิธีวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาการเกษตรระบบชีววิถีของเกษตรกร    รวมทั้งผลกระบวนการเรียนรู้และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้การเกษตรระบบชีววิถีของเกษตรกร   โดยทำการศึกษาวิจัยเกษตรกรที่จัดการเกษตรระบบชีววิถี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน  10  ราย  ประกอบด้วยเกษตรกร ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่  ดำเนินการส่งเสริมภายใต้โครงการเกษตรชีววิถีจำนวน  5 รายและเกษตรกรทั่วไป จำนวน  5  ราย  ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาข้อมูลเอกสารและการสัมภาษณ์ 

       ผลการวิจัยพบว่า   เกษตรกรที่ศึกษามีระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี มีประสบการณ์การเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม มีความตระหนักต่อผลกระทบจากการเกษตรเชิงเดี่ยวในระบบทุนนิยม ที่เกษตรกรขาดอำนาจการจัดการตลาด   มีความเสี่ยงสูงจากการลงทุน  การจำหน่ายผลผลิต จนเกิดภาวะหนี้สิน มีการใช้สารเคมีจำนวนมากส่งผลต่อการเสื่อมโทรมของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม  และเชื่อว่า การเกษตรระบบชีววิถีสามารถสร้างความมั่นคงแก่อนาคตของครัวเรือน ชุมชนและประเทศชาติ

      รูปแบบกระบวนการเรียนรู้การเกษตรระบบชีววิถีของเกษตรกรประกอบด้วย   การเรียนรู้แบบเป็นทางการโดยการเข้ารับการอบรม การเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการโดยการศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองทางวิทยุ โทรทัศน์ เอกสาร  เสียงตามสาย  การร่วมเรียนรู้จากการวิจัยชุมชน    และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  โดยเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ในวิถีชุมชน  การปฏิบัติงาน   การสังเกต

      วิธีการเรียนรู้การเกษตรระบบชีววิถีของเกษตรกร ประกอบด้วย  การกำหนดขั้นตอนการเรียนรู้ คือ การประเมินความต้องการของตนเอง  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  การเลือกวิธีเรียนตามสภาพจริง  การควบคุมสิ่งแวดล้อม และการตรวจสอบการเรียนรู้ด้วยตนเอง   การกำหนดเนื้อหาการเรียนรู้ ได้แก่  การเรียนรู้การจัดเตรียมปัจจัยการผลิต    วิธีการผลิต  การเก็บเกี่ยว  และ การตลาด   สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วยการปฏิบัติจริง ตามแบบอย่าง  การคิดค้นทดลองพัฒนา  การสังเกต  การบันทึก  การอ่าน  การฟัง  การรับการอบรม  การศึกษาดูงาน การศึกษาต้นแบบและ การพูดคุยในวิถีธรรมชาติ   ทั้งนี้ในกระบวนการเรียนรู้เกษตรกรมีบทบาททั้งการเป็นผู้รับและให้ความรู้

     เมื่อเกษตรกรเลือกจัดการเกษตรชีววิถีเกิดผลคือ   การบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อการเกษตรทั้งระบบดิน  น้ำ   การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน    การพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพกาย  จิตและสังคม  และการขยายผลการเรียนรู้ สู่เพื่อนเกษตรกรในชุมชนรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาทั่วไป

     สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรประกอบด้วย   สถานการณ์ทางสังคม  คุณลักษณะส่วนตัวของเกษตรกรได้แก่  การมีความตั้งใจมั่นในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง   ความผูกพันกับอาชีพเกษตรกร   การมีสติปัญญาไหวพริบและมีกระบวนการคิดเชิงวิเคราะห์   พลังหนุนเสริมจากภายในและภายนอกครัวเรือน   รวมทั้ง วัฒนธรรมชุมชน ที่มีระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และการให้คุณค่ากับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ที่มีอยู่ในตัวบุคคลเสมือนหนึ่งเกียรติบัตรการศึกษาจากสังคม      

           

             

           

 

หมายเลขบันทึก: 445921เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ป็นงานวิจัยที่น่าสนใจนะคะ คุณครูบรรชร  กล้าหาญIco64  และคณะ
  • เห็นบอกว่า "ทำการศึกษาวิจัยเกษตรกรที่จัดการเกษตรระบบชีววิถี ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน  10  ราย  ประกอบด้วยเกษตรกรที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ ดำเนินการส่งเสริมภายใต้โครงการเกษตรชีววิถีจำนวน  5 รายและเกษตรกรทั่วไป จำนวน  5" จึงน่าจะเสนอข้อมูลเปรียบเทียบความเหมือน/ความแตกต่างของเกษตรกรกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนนะคะ จึงจะทำให้การเสนอผลการวิจัยมีความสมบูรณ์ขึ้น
  • จะรออ่านข้อมูลการเปรียบเทียบค่ะ ขอบคุณมากนะคะ  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท