DSRR
มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้

สายลมเปลี่ยนทิศ ชีวิตเปลี่ยนทาง


"...สายลมยะเยือกที่พัดฝุ่นสีแดงมาจากทางกุโบร์ดับแสงเทียนในบ้านและแสงสว่างลิบ ๆ ในหนทางชีวิตข้างหน้าของสองแม่ลูกให้มืดมิดลงไปพร้อมกัน..."

“มูฮัมหมัด เด็กชายมูฮัมหมัด อาแว”

 

หญิงสาวผิวขาวร่างเล็กแบบบางสวมแว่นหนาในชุดเสื้อกาวน์สีขาวสะอาดตาวางแฟ้มประวัติคนไข้ปึกใหญ่ในมือลงบนโต๊ะเมื่อได้ยินเสียงนางพยาบาลเรียกชื่อคนไข้เสียงดัง ในความร้อนอบอ้าวยามบ่ายหญิงวัยกลางคนผิวคล้ำผอมสูงสวมผ้าโสร่งลายดอกสีแดงกึ่งลากกึ่งจูงเด็กผู้ชายตัวเล็กๆ กระหืดกระหอบแทรกเบียดผู้คนที่ยืนออแออัดกันอยู่ในแผนกผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลใหญ่กลางเมืองธุรกิจชายแดนมาหาต้นเสียงหน้าห้องที่หญิงสาวนั่งอยู่ เมื่อบานประตูไม้หนาหนักถูกผลักเปิดออก ใบหน้างามขำคมเข้มอันคุ้นเคยของคอรีเยาะห์ที่หลุบอยู่ใต้ฮิญาบสีดำช่างดูหม่นหมองผิดกับลวดลายดอกไม้เลื่อมพรายที่ปักบนผ้าคลุมผมผืนนั้น เด็กชายผอมแกร็นในชุดเก่าคร่ำเดินตามเข้ามาในห้องตรวจโรคคับแคบมืดทึมเงียบ ๆ ดวงตากลมโตสดใสฉายแววซุกซนที่หญิงสาวเคยเห็นเมื่อหลายเดือนก่อน กลับฉาบไปด้วยความเศร้าสร้อยตลอดทั่วทั้งใบหน้าใต้หมวกกะปิเยาะห์สีขาวหม่นในวันนี้

 

นานมากแล้วที่มูฮัมหมัดหายหน้าไป...

 


 

ในความมืดของเช้าวันหนึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน คอรีเยาะห์ปลุกลูกชายตั้งแต่ไก่ตัวแรกเริ่มขัน จุดตะเกียงจูงมือเดินไปบ้านผู้ใหญ่บ้าน เหมารถแกให้คนในหมู่บ้านขับเข้าไปในตัวอำเภอระแงะเพื่อขึ้นรถประจำทางข้ามจังหวัดมาที่โรงพยาบาลในเมืองใหญ่ แม่ของลูกวัยประถมหนึ่งบอกหญิงสาวในวันที่เจอกันครั้งแรกว่าครูอาสาสาวชาวเหนือที่เพิ่งย้ายมาใหม่มาบอกแม่ว่ามูฮัมหมัดเรียนหนังสือวิชาภาษาไทยไม่ได้เหมือนเพื่อนทั้ง ๆ ที่ดูเป็นเด็กฉลาดและทำงานศิลปะในชั้นเรียนของเธอได้ดี ให้ลองพามาตรวจกับหมอใหญ่ดูเผื่อจะช่วยได้ เธอบอกด้วยว่าอยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ โตขึ้นจะได้ไม่ต้องลำบาก มีงานทำในเมือง มีอนาคต และมีชีวิตที่ดีกว่าชีวิตของเธอ

 

หลังจากมาตรวจรักษาในวันนั้น การเรียนของมูฮัมหมัดค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ คอรีเยาะห์พาลูกกลับมาหาหมอตามนัดเป็นประจำทุกเดือน ทุกครั้งทั้งสองจะต้องรีบกลับให้ทันรถเที่ยวสุดท้ายในบ่ายวันเดียวกัน หญิงสาวเคยถามด้วยความเป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดอะไรระหว่างที่ต้องเดินจากตลาดเข้าหมู่บ้านตอนค่ำ คอรีเยาะห์ตอบว่าอะไรจะเกิดก็แล้วแต่ประสงค์ของอัลเลาะห์ แต่เธอไม่อยากให้ลูกต้องขาดโรงเรียนอีกในวันรุ่งขึ้น

 

ข่าวคราวในหมู่บ้านห่างไกลเดินทางมาถึงหญิงสาวในเมืองใหญ่พร้อมกับสองแม่ลูกทุกเดือน คอรีเยาะห์เคยเล่าว่าเธอและสามีเกิดและโตในครอบครัวยากจนในหมู่บ้านเล็ก ๆ เชิงเขาที่ห่างไกลของนราธิวาส คนในหมู่บ้านมีทั้งคนจีน ไทยพุทธ มลายูมุสลิมที่อยู่ร่วมกันราวกับญาติพี่น้องมานานหลายชั่วคน จนมา 2-3 ปีหลังนี้ที่ในหมู่บ้านเริ่มเปลี่ยนไป คนแปลกหน้าใส่ชุดสีเขียวลายประหลาดๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนกันเข้ามาในหมู่บ้าน ญาติพี่น้องของเธอถ้าไม่ตายจากก็ย้ายหนีไปที่อื่นเกือบหมดแล้ว เหลือแต่พี่สาวที่ปลูกบ้านอยู่ติดกัน มูฮัมหมัดถึงกับร้องไห้สะอึกสะอื้นเมื่อแม่เล่าให้หมอฟังว่าร้านรวงในตลาดค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลงหลังร้านคนจีนที่พ่อเคยพาไปซื้อชุดนักเรียนและสมุดดินสอเมื่อตอนเปิดเทอมปีก่อนโดนไฟไหม้กลางดึก พ่อแม่คนไทยพุทธของเพื่อนที่โรงเรียนของมูฮัมหมัดไม่เข้ามาคุยกับคอรีเยาะห์ขณะรอเวลาโรงเรียนเลิกเหมือนแต่ก่อน ตลอดจนสายตาที่เคยมองมูฮัมหมัดอย่างเอ็นดูก็เริ่มเปลี่ยนไป เสียงสวดดุอาห์ขอความสงบสุขจากอัลเลาะห์ที่เคยดังกังวานจากมัสยิดเก่าแก่เล็ก ๆ กลางหมู่บ้านทุกวันศุกร์เงียบหายไปพร้อม ๆ กับโต๊ะอิหม่ามมานานหลายอาทิตย์แล้ว

 


 

บ่ายวันหนึ่งเสียงรถของผู้ใหญ่บ้านที่แล่นอย่างรวดเร็วมาหยุดที่ลานดินหน้าบ้านที่มูฮัมหมัดกำลังเล่นอยู่กับก๊ะลูกสาวของป้าวัยไล่เลี่ยกัน ลมที่พัดตามรถมาหอบเอาฝุ่นสีแดงฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณบ้าน คนในรถอุ้มลุงที่นอนอยู่ในกระบะลงมา แล้วช่วยกันหามร่างที่นอนนิ่งไม่ไหวติงไปยังกุโบร์ฝังศพปลายหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกล สักพักใหญ่ป้าเดินกลับมาจากกุโบร์คนเดียวหายเข้าบ้านที่อยู่ติดกันไป เย็นวันนั้นขณะที่รถคันที่มาส่งลุงค่อย ๆ แล่นออกจากหมู่บ้าน เด็กชายวิ่งร้องไห้ตามรถคันนั้นจนหมดแรง ทรุดนั่งลงมองตามป้าและก๊ะที่เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เล็กที่นั่งในรถไปจนลับตา สายลมที่พัดกรรโชกแรงพาเอาฝุ่นสีแดงปลิวตามรถไป เช่นเดียวกับป้าและก๊ะที่ไม่เคยหวนกลับมาที่หมู่บ้านและลุงที่ไม่เคยกลับมาจากกุโบร์

 


 

ครั้งสุดท้ายที่มาตรวจที่โรงพยาบาลเมื่อหลายเดือนก่อน คอรีเยาะห์นั่งอ้อยอิ่งเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่นาน เธอบอกว่าคราวนี้ไม่ต้องรีบพามูฮัมหมัดกลับเพราะโรงเรียนหยุดสอนมาสองอาทิตย์แล้ว คืนนี้จะค้างที่บ้านพี่สาวที่ย้ายมารับจ้างที่ร้านอาหารในเมืองนี้ มูฮัมหมัดตาเป็นประกายยิ้มปากกว้างเห็นฟันหลอ บอกหมอว่าดีใจที่จะได้เจอหน้าก๊ะที่ไม่ได้เล่นด้วยมาเกือบปี หมอนั่งฟังอยู่พักใหญ่จนพยาบาลหน้าห้องเดินเข้ามาบอกว่ามีคนไข้รออยู่อีกหลายคน ก่อนจากกันคอรีเยาะห์บอกหมอว่าจะพาลูกแวะไปเยี่ยมครูสาวที่โรงเรียนที่ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลนี้ตั้งแต่วันที่โรงเรียนปิด

 


 

ไม่กี่วันถัดมาในความเงียบสงัดก่อนหัวรุ่งของหมู่บ้านริมเขา คอรีเยาะห์สะดุ้งตื่นขึ้นหลังเสียงดังจากทางกุโบร์ปลายหมู่บ้านแผดรัวลั่นก้องไปทั่วหุบเขา เธอปลอบลูกชายที่ตกใจตื่นร้องไห้หาพ่อจนหลับไปอีกครั้ง แต่ในใจยังนึกห่วงสามีที่ออกจากบ้านไปตัดยางในสวนของนายหัวคนไทยพุทธใกล้กุโบร์ตั้งแต่เช้ามืด ในสายหมอกเย็นเยียบและความเงียบที่ปกคลุมอยู่ชั่วคราว ห่างออกไปที่ปลายสวน ร่างของชายคนหนึ่งล้มลงนอนนิ่งเป็นครั้งสุดท้ายบนกองใบยางสีแดงฉานที่ถูกสายลมแรงร้อนปลิดร่วงปลิวหล่นลงบนพื้นดินแห้งแล้ง

 

ข่าวร้ายจากนายหัวเจ้าของสวนยางมาถึงพร้อมกับแสงแรกของวัน ขณะคอรีเยาะห์กำลังรีบเตรียมข้าวของเพื่อเดินทางไปโรงพยาบาล เสียงกรีดร้องอย่างรวดร้าวราวชีวิตทั้งชีวิตแตกสลายไปทำให้มูฮัมหมัดที่กำลังวิ่งเล่นส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวกับเพื่อนอยู่ที่ลานดินหน้าบ้านชะงักนิ่งเงียบงัน สายลมยะเยือกที่พัดฝุ่นสีแดงมาจากทางกุโบร์ดับแสงเทียนในบ้านและแสงสว่างลิบ ๆ ในหนทางชีวิตข้างหน้าของสองแม่ลูกให้มืดมิดลงไปพร้อมกัน

 


 

หลายเดือนต่อมา ในห้องตรวจโรคแคบๆ มืดทึมของโรงพยาบาลกลางเมืองใหญ่ คอรีเยาะห์เล่าให้หญิงสาวฟังด้วยน้ำเสียงหดหู่ว่า หลังจากเหตุร้ายในวันนั้นเป็นแรมเดือน เธอถึงได้พามูฮัมหมัดกลับไปเข้าเรียนอีกครั้ง คราวนี้เด็กชายเอาแต่นั่งเงียบเหม่อมองออกไปนอกหน้าต่าง แม้แต่หนังสือภาษาไทยที่เคยท่องได้คล่องก็กลับอ่านไม่ได้จนถูกครูตี เพื่อน ๆ พากันล้อจนไม่อยากไปโรงเรียน ตัวคอรีเยาะห์เองก็ต้องออกไปตัดยางแทนสามีจนไม่มีเวลาสอนลูกตามที่หมอเคยแนะนำ อยากจะพาลูกมาหาหมอใจจะขาดแต่เงินที่หาได้ก็ไม่พอใช้จ่ายในแต่ละวันอย่าว่าแต่ค่ารถไปโรงพยาบาล จนเมื่อวานได้เงินซะกาดก้อนเล็ก ๆ ที่คนในหมู่บ้านช่วยกันบริจาคให้ถึงได้พาลูกกลับมาหาหมอในวันนี้

 

ท่ามกลางความเงียบอันยาวนานราวกับจะได้เสียงหัวใจที่กำลังถูกฉีกออกเป็นริ้ว ๆ มือเล็ก ๆ ของหญิงสาวค่อย ๆ เอื้อมไปจับมือหยาบกร้านของหญิงหม้ายตรงหน้าบีบแน่นแล้วถามด้วยเสียงสั่นเครือปนสะอื้นว่า “หมอจะช่วยอะไรแม่ได้บ้าง...มีอะไรอีกที่น้องอยากได้...” มีเพียงน้ำใส ๆ ที่ไหลออกจากตาแล้วค่อย ๆ หล่นลงตามแก้มซูบตอบใต้ฮิญาบสีดำ ก่อนจะหยดลงบนมือสีขาวของหญิงสาวต่างเชื้อชาติต่างศาสนาแทนคำตอบ

 

ในเสียงลมหวีดหวิวที่แว่วมาไกล ๆ เด็กน้อยที่ก้มหน้านิ่งมาตลอดเงยหน้าขึ้นสบตาหญิงสาวอ่อนวัยช้า ๆ ดวงตากลมโตที่เคยสดใสฉายแววประหลาดวาบหนึ่งที่เธอจะไม่ลืมไปชั่วชีวิต เด็กชายกำพร้าพูดขึ้นเบาๆ ด้วยเสียงราบเรียบ ว่า ”...อยากได้ปืน...”

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เยียวยา
หมายเลขบันทึก: 445738เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2011 06:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แล้วจะช่วยให้เด็กชายคนนี้พ้นจากความทุกข์แห่งความต้องการการตอบสนองแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จนเข้าสู่ภาวะ "อภัย" ได้อย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท