คู่แข่ง


ทักษะฝีมือ กับ เครื่องมือ คู่แข่งที่คลานตามกันมาตลอดเวลา

เวลาลุงหมายได้พระเครื่องใหม่ๆมา แกมักจะแวะมาหาพ่อ นั่งส่องพระ คุยเรื่องสัพเพเหระกันได้ทั้งวันตามประสาคนวัยเดียวกัน ลุงหมายเป็นเพื่อนรุ่นพี่ของพ่อ บ้านอยู่คนละฝั่งคลอง เล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก เรียนโรงเรียนเดียวกัน บวชเรียนวัดเดียวกัน

วันนี้ก็เหมือนเช่นเคย ทั้งคู่นั่งส่องพระด้วยกัน แต่ที่ไม่เหมือนเช่นเคยคือ เรื่องของการเมือง อันกลายเป็นบทสนทนาของทั้งคู่ชนิดไม่ลงรอย  ลุงหมายและพ่อถือหางพรรคการเมืองต่างกัน ต่างฝ่ายต่างก็บรรยายสรรพคุณของพรรคการเมืองที่ตัวเองชอบ นายกที่ตัวเองศรัทธา จนเกือบจะกลายเป็นวิวาทะ ในขณะที่สายตาก็ยังคงจับจ้องต่อสิ่งที่ทั้งคู่รักเหมือนกัน คือพระเครื่อง

ลุงหมายเป็นช่างเขียนป้ายรุ่นลายคราม ที่ล้างมือจากงานป้ายแล้วผลิกผันตนเองมาทำธุระกิจเช่าพระเครื่อง สมัยเป็นเด็กผมเคยตามพ่อไปที่บ้านของลุง บ้านของแกก็เหมือนกับชาวคลองทั่วๆไป  บ้านไม้ใต้ถุนสูง โดยที่พื้นที่ว่างใต้ถุน ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ทำงานของแก  มีกระป๋องสี ป้ายไม้อัด แปรง ภู่กัน วางอยู่เต็มไปหมด แกทำสารพัด ตัดไม้ ตัดผ้า วางแบบรูป แบบอักษร ผมชอบยืนดูแกเวลาทำงาน เพลินเหมือนกับดูการแสดงสดทางศิลปะแบบนึงเลย

 “เมื่อก่อนคนจะมาให้ลุงเขียนป้าย ถ้าเอาทั้งรูป ทั้งตัวหนังสือ ขนาด 4x8 ฟุต นี่ต้องพกเงินมาเป็นหมื่น …แต่เดี๋ยวนี้มันทำกันตารางเมตรไม่กี่บาท ถูกด้วย สวยด้วย เร็วด้วย หมดยุคคนเขียนป้ายแล้วล่ะ”  น้ำเสียงแกเหมือนคนอ่อนแรง ยอมจำนนต่อความเปลี่ยนแปลง  จริงดังแกว่า ด้วยศักยภาพของโปรแกรมทำภาพ แต่งภาพ และเครื่องพิมพ์ความละเอียดสูง ทำให้งาน สื่อสิ่งพิมพ์ นิเทศน์ศิลป์ กลายเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีทักษะ ฝีมือสูงอีกต่อไป เพียงแค่มีความรู้ที่จะใช้เครื่องมือ และความคิดในการจัดองค์ประกอบศิลป์อีกเล็กน้อย หรือบางทีหาลอกงานคนอื่นตามอินเตอร์เน็ท ก็สามารถทำมาหากินในธุระกิจนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น


ป้ายโฆษณาวางอีเระเขะขระ ที่เห็นได้ทั่วไปตามข้างถนน

ปัจจุบันป้ายเป็นสื่อโฆษณา ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างมากและกว้างขวางในแทบทุกธุระกิจ เพราะความถูก เร็ว สวย แบบที่ลุงหมายแกว่านี่แหละ ที่ทำให้ความเป็นศิลปะของงานประเภทนี้หายไป  มันกับกลายเป็นขยะสายตา สร้างความรกรุงรังต่อถนนหนทาง มากกว่าจะเชิญชวนให้ใครที่พบเห็นหยุดชื่นชม หรือสนใจเนื้อหาป้ายที่นำเสนอ ทั้งที่บางทีงานกราฟิกบนป้ายนั้นอาจจะสวยงามจนหาที่ติมิได้ก็ตาม  ความน่าสนใจต่องานนิเทศศิลป์ยุคปัจจุบันเป็นเช่นไร?.. ความสวยงามของภาพและองค์ประกอบ? … เทคนิคการนำเสนอ? … หรือ ราคางานถูกๆ?  ความคิดนึงจึงทำให้ผมทดลองออกแบบป้ายจำลองเล็กๆ ด้วยวิธีการของคนยุคใหม่ โดยใช้การเคลื่อนไหวเป็นตัวสร้างจุดสนใจ กับภาพบุคคลที่เรียกว่า “คู่แข่งทางการเมือง”


เริ่มด้วยการออกแบบงาน


ประกอบชิ้นงาน


ตกแต่งจนเสร็จสมบูรณ์

“เป็นงัยบ้าง ลุง?” ผมถามหลังจากที่เอางานให้แกดู

“เออ เข้าท่าดีว่ะ” แกตอบสั้นๆ ง่ายๆ “ว่าแต่ ถ้าทำเป็นป้ายใหญ่นี่ ใครจะมาหมุนให้เอ็ง?”

“โธ่!!! ลุง นี่มันแบบจำลอง ทำอันใหญ่ กลไกก็ต้องมีลูกปืนรับ รางเลื่อนรับ แล้วก็ใช้มอเตอร์ขับให้มันหมุนงัย”

“โทษทีว่ะ ลุงนี่มันแก่ มนุษย์หินแล้ว”  ลุงหมายหัวเราะร่วน

ณ.วันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ วีธีการผลิตสมัยใหม่ ได้ทิ้งช่างฝีมือรุ่นเก่าอย่างลุงหมายให้เลือนหายไปกับกาลเวลา  ทักษะฝีมือ กับ เครื่องมือ คู่แข่งที่คลานตามกันมาตลอด ด้วยอำนาจแห่งมัน เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่าย เรื่องลำบากกลายเป็นเรื่องสบาย หลายอย่างสะดวก รวดเร็วและสำเร็จรูป วิถีชิวิตเหมือนแค่การลวกน้ำร้อน ทักษะต่างๆทั้งหลายที่เคยมีในมนุษย์ลดน้อยลงเต็ม จนบางครั้ง อดสงสัยไม่ได้ว่า มนุษย์จะดำรงได้อยู่เช่นไรเมื่อขาดมัน…สุดท้ายคงต้องก้มคาระวะต่ออำนาจแห่งมันด้วยความดุษฎี

 

3 กรกฎาคม อย่าลืมไปใช้สิทธิ์ออกเสียง เลือกพรรคที่ชอบ คนที่ใช่ นะครับ









 







หมายเลขบันทึก: 445693เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2011 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลองมาอ่านดู ผมก็ว่าป้ายที่เขียนด้วยมือนี่มันมีเสน่ห์มาก ผมรู้จักพี่คนหนึ่งเมื่อก่อนเขาก็เป็นช่างเขียนป้าย(โปสเตอร์หนัง) แต่ทุกวันนี้ก็อย่างที่ว่าละครับมีเทคโนโลยีเข้ามาก็ทำให้งานฝีมือหายไป แต่ทุกวันนี้แกก็เลยผันตัวมาเป็นศิลปินแทน เขียนรูปขายซะเลย ฮ่า!~

ธรรมดาครับ ยังงัยมันก็คืออาชีพหากิน ไปต่อไม่ไหวก็ต้องรู้จักปรับตัว ลุงแกก็เขียนจำพวกภาพเหมือน หลวงปู่ หลวงพ่อเหมือนกัน แต่แกว่า ปล่อยพระเครื่องได้เงินเร็วกว่า อายุแกปูนนั้นแล้ว คงไม่หวังเป็นศิลปินเอก ศิลปินโท แล้วมั้งครับ....เรื่องอย่างนี้มันไม่ได้เพิ่งเกิด มันเกิดมาตั้งแต่ช่วงหลังปฎิวัติอุตสาหกรรมแล้วล่ะครับ ตอนนั้นมีการรวมกลุ่มของช่างศิลป์ช่างฝีมือในยุโรป ในนาม Art&Craft Movement ต่อต้านการผลิตงานศิลป์ งานฝีมือด้วยวิธีทางอุตสาหกรรม โดยเปรียบว่า การผลิตด้วยวิธีทางอุตสาหกรรมไม่ต่างอะไรกับโจรที่ปล้นความภูมิใจไปจากช่างฝีมือ...แต่อย่างว่าล่ะครับทุกวันนี้ ปากท้องเรื่องสำคัญ คนผลิตงานศิลป์ งานฝีมือ เลยต้องยอมกรับเครื่องมือ และวิธีการผลิตสมัยใหม่ไปโดยปริยาย...ทำมาแล้วไม่ขาย หรือทำแล้วขายไม่ได้ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไมเหมือนกัน...ว่างๆแล้วทำเล่น กลายเป็นงานอดิเรกเหมือนผมไป lol enjoy reading ครับ (-:

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท