วิถีชุมชนคนเลี้ยงปลาบ้านหัวข่วง


วิถีชุมชน เลี้ยงปลา บ้านหัวข่วง

วิถีชุมชนคนเลี้ยงปลาบ้านหัวข่วง 

บรรชร  กล้าหาญ 1

รุ่งทิพย์  กล้าหาญ 2

      ในช่วงปีที่ผ่านมีช่วงเวลาดีที่ได้เรียนรู้ชุมชนคนเลี้ยงปลาในกระชัง  บ้านหัวข่วง ตำบลสองแคว   อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่  ชุมชนแห่งนี้มีอายุร้อยกว่าปี ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 40  กิโลเมตร เราสามารถเดินทางสู่ชุมชนด้วยรถโดยสารประจำทางสายเชียงใหม่ –จอมทอง หรือเชียงใหม่ - ดอยหล่อ 
ใช้เวลาประมาณ   45 นาที

      เมื่อเข้าสู่บริเวณชุมชนจะพบความเขียวชอุ่มจากพืชสวนในไร่นาและความร่มรื่นจากต้นลำไยที่ทั้งปลูกในบริเวณบ้านและเป็นสวนลำไย  อีกทั้งเมื่อผ่านไปตามถนนก็จะสัมผัสกับลำน้ำแม่ปิงที่ทอดยาวไปตามชุมชน และลำน้ำแม่ปิงแห่งนี้คือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในชุมชน ทั้งเพื่อการเกษตรและการกสิกรรมคือการเลี้ยงปลาในกระชัง

จุดเริ่มต้นการผันเปลี่ยน 

      แต่เดิมชาวบ้านหัวข่วงมีอาชีพปลูกข้าวปลูกพืชผักหมุนเวียนตามฤดูกาล   และการปลูกลำไย ต่อมามีตัวแทนบริษัทมาชักชวนให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง  โดยสาธิตและให้เหตุผลว่าชาวบ้านสามารถสร้างอาชีพรายได้โดยไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกชุมชนและไม่ต้องมีพื้นที่ทำกิน  เพียงแต่มีการแบ่งสรรการใช้พื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงอย่างเหมาะสม  และชาวบ้านลงทุนสร้างกระชัง  ส่วนพันธุ์ปลา   อาหารปลาและยารักษาโรคบริษัทจะสนับสนุนโดยการให้สินเชื่อสำหรับผู้เลี้ยงปลาในเครือข่าย  และเมื่อปลาเจริญเติบโตเต็มที่บริษัทก็จะรับซื้อตามราคากำหนด ข้อมูลที่รับทราบทำให้ชาวบ้านเกิดความสนใจ  จึงมีการประชุมหารือเพื่อการรวมกลุ่มและจัดแบ่งพื้นที่แหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงปลาจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยระยะแรกมีจำนวนเพียง  4 - 5 
รายต่อมาได้เพิ่มจำนวนโดยลำดับ จนปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังจำนวน  65 ราย จำนวนกระชัง 1,500 กระชัง  
      มูลเหตุจูงใจในการเลี้ยงปลาคือ รายได้ที่ดี   มีอิสระ  มีทำเล  เห็นแบบอย่างความสำเร็จจากเกษตรกรที่เลี้ยงปลาเดิมและถูกชักชวนจากกลุ่มเครือญาติเพื่อน

จากวิถีชาวนาสู่คนเลี้ยงปลา  

      การเปลี่ยนจากอาชีพคนทำงานบนดินสู่คนที่ทำมาหากินในแหล่งน้ำ 
ทำให้คนหัวข่วงต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับแหล่งน้ำ  นับจากทักษะพายเรือ การว่ายน้ำซึ่งปกติคนภาคเหนือส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็นแต่คนที่นี่เกือบทั้งหมดสามารถว่ายน้ำได้  การฝึกสังเกตสายน้ำเกี่ยวกับการไหลของน้ำ  สีของน้ำ ทิศทางลม และการไหลของผักตบชะวา  เพื่อประมาณการได้ว่า  จะเกิดพายุ น้ำท่วมน้ำไหลหลากหรือไม่  ซึ่งจะนำไปสู่การเคลื่อนย้ายกระชังไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม  ซึ่งเหล่านี้จึงก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาของชุมชนที่เกิดจากภูมิสังคมชุมชนคนเลี้ยงปลา  

     นอกจากนี้  ความรู้สมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาก็พยายามสรรหาเรียนรู้ด้วยตนเองทั้งจากการอ่านจากตำรา  การฟังวิทยุ การดูโทรทัศน์ หรือ การเข้าฝึกอบรมระยะสั้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดเป็นระยะตามเงื่อนไขสถานการณ์  การศึกษาจากสื่อวิทยุโทรทัศน์  การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั้งภายในและภายนอกชุมชน   เช่น กลุ่มตัวแทนบริษัทคู่สัญญาการเลี้ยงปลาในกระชังที่มักจะนำข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเทคนิควิธีการเลี้ยงปลามาเผยแพร่ และในวิถีชุมชนที่มีการพูดคุยสื่อสารระหว่างกันอยู่เสมอในโอกาสต่าง ๆ  เช่น งานบุญ  การทำงานร่วมกันภาคเกษตร
และการพูดคุยระหว่างการดูแลปลาในกระชัง ฯลฯ ปัจจุบันความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาได้มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของคนในครัวเรือนเพื่อให้มีบทบาทร่วมในการเลี้ยงปลา ที่พบว่ามีการช่วยเหลือแบ่งงานการดูแลปลาในกระชังตามเพศและวัย
มีการขัดเกลาสอนงาน สร้างศรัทธาในอาชีพ และการปรึกษาหารือเพื่อการทำงานร่วมกัน

การต่อสู้ของคนเลี้ยงปลากับวิถีกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

      นับเป็นเวลากว่าสิบปีที่คนเลี้ยงปลาบ้านหัวข่วงได้ผ่านการปะทะสังสรรค์จากสังคมภายนอกระบบทุนนิยม และการปรับเปลี่ยนของสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จและข้อจำกัดการเลี้ยงปลาในกระชัง  ที่พบว่า รายได้จากการเลี้ยงปลาอยู่ภายใต้ปัจจัยเงื่อนไขนานัปการ  หลายสิ่งเป็นสิ่งที่ยากแก่การควบคุม อาทิปัญหาภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากปัญหามลพิษต่างๆ เช่น  มลพิษทางอากาศเกิดหมอกควันทำให้ส่งผลต่อปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง หรือปัญหาสารเคมีในแหล่งน้ำทำให้ปลาป่วยและตาย หรือการหมักหมมของเศษอาหารเลี้ยงปลา  ทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรค  ทั้งยังประสบภัยน้ำหลาก  ทำให้ปลาหนีออกจากระชัง    ปัญหาวัชพืชทางน้ำ  ได้แก่ ผักตบชวา  ซึ่งแม้ว่า  ผักตบชวาจะเป็นดัชนีชี้วัดระดับกระแสน้ำ  เป็นแหล่งหลบภัยของปลา  แต่การมีผักตบชวามากเกินไปก็ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำ   และปัญหาโรคปลาที่เป็นปัญหาหลักทำให้เกษตรกรต้องประสบภาวะเสี่ยงและขาดทุน  ที่ผ่านมาเกษตรกรได้พยายามแสวงหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่ประสบคือการรวมกลุ่มเพื่อขอรับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ  เป็นครั้งคราวตามแต่สถานการณ์  เช่น  
การร้องขอให้มีการตรวจสภาพน้ำ   การขอชดเชยเมื่อเกิดการป่วยตายหรือสูญหายของปลาจำนวนมาก   อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ  และการพยายามช่วยเหลือตนเองโดยการค้นหาศึกษาความรู้จากแหล่งต่างๆ  การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์
ระหว่างกันในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งภายในและภายนอกชุมชน ดังเช่น การรวมกลุ่มผู้ที่เลี้ยงปลาในกระชังเขตพื้นที่ลำน้ำขานเพื่อกำหนดแนวทางรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำร่วมกันแต่สิ่งที่สำคัญยิ่งคือการต่อรองกับวิถีทุนใหญ่ การที่คนเลี้ยงปลาต้องพึ่งพิงระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญากับบริษัทผู้ส่งเสริมการเลี้ยงปลา
ซึ่งเป็นผู้กำหนดราคาปลา   พันธุ์ปลา  อาหาร และยารักษาโรค  ประกอบกับปัจจุบันมีการส่งเสริมการเลี้ยงปลาในพื้นที่ต่างจังหวัดหลายแห่งซึ่งหมายถึงปริมาณผลผลิตปลาที่เพิ่มขึ้นในตลาด ทำให้ราคาปลาไม่สูงในขณะที่ราคาอาหาร พันธุ์ปลาและยารักษาโรคแพงขึ้น   หากช่วงไหนที่ธรรมชาติไม่เมตตาน้ำเน่าเสีย อากาศไม่ดี คนเลี้ยงปลาก็เผชิญฝันร้ายขาดทุนและเป็นหนี้ 

      กลุ่มคนเลี้ยงปลาพยายามหาทางออกโดยการเปลี่ยนบริษัทคู่สัญญา  แต่ก็เผชิญความเสี่ยงเช่นกันบางครั้งยังเพิ่มระดับความเสี่ยงเนื่องจากบริษัทขนาดเล็ก
อาจจะมีความล่าช้าเรื่องการเงินบางคนจึงเลือกใช้วิธีซื้อพันธุ์ปลา  อาหารและยาจากบริษัท  แต่นำปลาไปขายตรงแก่ผู้ซื้อในตลาดท้องถิ่น แต่กระนั้นยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับกำลังซื้อในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามยังโชคดีของคนเลี้ยงปลาที่รับรู้เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สอนให้อยู่อย่างพอเพียง  พอประมาณมีเหตุผล ทำให้หวนคิดทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา การคาดหวังกำไร ความร่ำรวย ทำให้โหมลงทุนเลี้ยงปลา ท่ามกลางความไม่สามารถควบคุมปัจจัยเกี่ยวข้องต่างๆ จนเกิดปัญหาหนี้สิน  จึงเริ่มพึ่งตนเองโดยการเลี้ยงปลาแบบพอประมาณไม่กู้เงินลงทุน  ลดปริมาณการเลี้ยงแต่เพิ่มความใส่ใจหาความรู้เพื่อพัฒนาการเลี้ยงปลาให้มีคุณภาพ  ตั้งแต่การสร้างอาหาร   การปล่อยลูกปลา การป้องกันปลาป่วยการรักษาแหล่งน้ำ และความพยายามรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง

 วิถีความเชื่อพลังทางใจคนเลี้ยงปลา 

       ในท้องถิ่นภาคเหนือเชื่อว่า  ทุกแห่งทุกที่มีจิตวิญญาณที่เป็นเจ้าของ  ดังนั้นการประกอบการใด ๆต้องแสดงความเคารพต่อสถานที่ เช่น การปลูกบ้านต้องเซ่นไหว้เจ้าที่ การทำนาต้องมีพิธีกรรมแฮกนา การทำสวนลำไยต้องไหว้เจ้าที่และเมื่อต้องเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำก็ต้องมีการไหว้บูชาเจ้าที่เพื่อขอความคุ้มครองผลผลิตให้มีความอุดมสมบูรณ์ไม่เสียหายจากเหตุภัยต่างๆ  ภายหลังเมื่อจับปลาขายได้ผลผลิตดีก็จะมีการเซ่นไหว้   ที่น่าสนใจนอกจากการเซ่นไหว้เจ้าที่ยังมีการไหว้บูชาพญานาค เพราะเชื่อว่า พญานาครักษาแหล่งน้ำ คุ้มครองสัตว์น้ำที่เป็นบริวาร 
จึงมีการนำรูปปั้นพญานาคจัดวางในบริเวณมุมกระชังด้านใดด้านหนึ่ง

       นอกจากนี้การจะปล่อยพันธุ์ปลาลงกระชัง   ก็จะมีการหาฤกษ์วันดีวันเสีย  ตามคติของคนล้านา  ด้วยเชื่อว่า หากทำการปล่อยปลาในวันมงคลปลาก็จะเติบโตได้ผลผลิตที่ดีและด้วยรากฐานความเป็นสังคมพุทธศาสนา  คนเลี้ยงปลาเชื่อว่า  การเลี้ยงปลาขายเพื่อเป็นอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เกิดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ดังนั้นภายหลังการจับปลาขายแต่ละครั้งจึงนิยมการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ปลา เพื่อตัดทอนเวรกรรมระหว่างกันและเสริมสร้างสิริมงคลแก่คนเลี้ยงปลาวิถีการเลี้ยงปลาของคนหัวข่วง  จึงมีลักษณะสอดประสานระหว่างความเชื่อพุทธ  พราหมณ์และผี
ที่อยู่วนเวียนเกี่ยวกับ  วัน เวลา  สถานที่ ผีและขวัญ นั้นเอง

ภูมิปัญญาในภูมิสังคมคนเลี้ยงปลา 

      กาลเวลาที่ผันผ่านบทเรียนที่ประสบได้สะสมประสบการณ์การเลี้ยงปลาจนเกิดเป็นภูมิปัญญาในภูมิสังคมคนเลี้ยงปลาบ้านหัวข่วง ดังนี้

      1.ภูมิปัญญาด้านการเลือกสรรปัจจัยการผลิตประกอบด้วย การเลือกทำเลในการเพาะเลี้ยง การจัดการแหล่งน้ำในการเพาะเลี้ยง การศึกษาสภาพภูมิอากาศ 
การจัดหาเครื่องมือ  เตรียมกระชัง

     2.ภูมิปัญญาด้านการผลิตและการจัดการผลผลิตประกอบด้วย การคัดเลือกพันธุ์ปลา  การดูแลให้อาหารและป้องกันโรค  การป้องกันศัตรู  การจับปลาและ การจัดการผลผลิต

     3.ภูมิปัญญาด้านระบบสังคมและความเชื่อ  ประกอบด้วย  ระบบเครือญาติ 
มีการพึ่งพาเกื้อกูล การแบ่งสรรพื้นที่ลำน้ำร่วมดูแลกระชัง การแบ่งปันความรู้การเลี้ยงปลา ข้อมูลการตลาด การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองบริษัทคู่สัญญาและแลกเปลี่ยนแรงงาน ความเชื่อพิธีกรรมต่อรองอำนาจธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ  โดยการเซ่นสรวงบนบาน   ถือฤกษ์ยามและการทำบุญ

     4.ภูมิปัญญาการป้องกันทรัพย์สินเนื่องจากภัยธรรมชาติ ประกอบด้วย การสังเกตธรรมชาติ  เช่น การไหลของน้ำ การพัดของลม สีของน้ำ ทิศทางฟ้าแลบฟ้าร้อง และการเคลื่อนที่ของผักตบชวา

    ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้  เป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงปลาในกระชังและเชื่อมโยงสู่การปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความสามารถในการพึ่งตนเอง    และสร้างความมั่นคงต่องานอาชีพ  นำสู่ความเข้มแข็งของชุมชน จนปัจจุบันกิจกรรมของกลุ่มคนเลี้ยงปลาในกระชังบ้านหัวข่วง  ได้พัฒนาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนอื่นๆ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และก้าวย่างสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมข้อมูลที่รับทราบทำให้ชาวบ้านเกิดความสนใจ  จึงมีการประชุมหารือเพื่อการรวมกลุ่มและจัดแบ่งพื้นที่แหล่งน้ำสำหรับการเลี้ยงปลาจนเกิดเป็นอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยระยะแรกมีจำนวนเพียง  4 - 5 รายต่อมาได้เพิ่มจำนวนโดยลำดับ จนปัจจุบันมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังจำนวน  65 ราย จำนวนกระชัง 1,500 กระชัง  
    มูลเหตุจูงใจในการเลี้ยงปลาคือ รายได้ที่ดี   มีอิสระ  มีทำเล เห็นแบบอย่างความสำเร็จจากเกษตรกรที่เลี้ยงปลาเดิมและถูกชักชวนจากกลุ่มเครือญาติเพื่อน

หมายเลขบันทึก: 445413เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนเลี้ยงปลากระชังบ้านหัวข่วงเริ่มแรก ที่จำได้ จะมี นายยงค์ วารินต๊ะ นายอาดุลย์ วงศ์คำมา นายบุญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท