ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๗๒. AAR ของนักเรียน WHA 64


 

          นักเรียนที่ให้ AAR คือผมคนเดียวครับ

          ประเทศไทยใช้ World Health Assembly (WHA) เป็นสถานที่เรียนรู้ Global Health หรือ International Health มาเกือบสิบปี   โดยมากันมากน่าตกใจ คือ ๕๐ กว่าคน ก็เมื่อ ๓ – ๔ ปีมานี้  

          ผมมาเห็นแล้วก็สรุปกับตัวเองว่า นี่คือการเรียนรู้แบบ PBL (Project-Based Learning)   โดยที่เรารู้ล่วงหน้า ว่าจะมีประเด็นใดเข้าสู่การพิจารณาบ้าง   ก็มีการกำหนดตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของเรื่อง และทีมงาน ไว่ล่วงหน้า   ให้ศึกษาเรื่องเดิมที่ WHA และ EB (Executive Board) เคยมีมติไว้   และศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง   เอาไว้แสดงความเห็นต่อข้อเสนอของ EB ในวันประชุม 

          นอกจากนั้น ยังมีการจัด workshop ให้แก่สมาชิกที่จะไปร่วมทีมใน WHA แต่ละครั้ง เป็นเวลา ๑ สัปดาห์   เพื่อฝึกทักษะและความเข้าใจว่าใน WHA ประเทศสมาชิกมีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร   การที่ทีมไทยไปเสนอขอแก้มติจาก EB (Executive Board) จะต้องทำอย่างเข้าใจประเทศอื่นๆ ด้วย

          การเรียนรู้ใน WHA จึงเป็น PBL ของเรื่องจริงสำหรับ International Health   คือ WHA เป็นเวทีสำหรับประเทศสมาชิกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น   และหาทางร่วมมือกันทำงานเพื่อสร้างสรรค์สุขภาวะของคนทั้งโลก   ไม่ใช่เพื่อประเทศของตนเพียงถ่ายเดียว

          ทีมงานของไทยเข้าใจอุดมการณ์นี้เป็นอย่างดี   ว่าความเห็นที่เราเสนอ มีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งโลก   แต่ผมสังเกตว่า เวลาผู้แทนของประเทศด้อยพัฒนากล่าว   มักจะบอกว่าประเทศของตนทำอะไรบ้างในเรื่องนั้น และจะทำอะไรต่อ   เท่ากับพูดเพื่อตนเอง หรือบอกเรื่องของตนเองเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือ   ผมรู้สึกแปลกๆ   แต่ก็นึกหลักการไม่ออก   จนเย็นวันที่ ๑๙ พ.ค. อ่าน อี-เมล์ ของ นพ. สุวิทย์ ถึงทีมไทยทุกคน   บอกว่าร่างข้อเสนอเรื่อง โภชนาการของทารกและเด็กเล็ก ที่ประเทศศรีลังการับผิดชอบพูดแทนสมาชิกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด   ในลักษณะที่เรียกว่า Regional One Voice  คือประเทศเดียวพูดแทนภูมิภาคนั้นทั้งหมด   เป็นข้อเสนอที่ไม่ดี   เพราะพูดถึงเฉพาะภูมิภาคของตน ไม่พูดเรื่องทั้งโลก

          ตอนบ่ายวันที่ ๒๐ ดร. กฤษดา แสวงดี กลับมาจากการประชุม มาบอกว่า   ผู้เข้าร่วมจากประเทศอื่นเขาถามว่า ประเทศยูไม่มีปัญหา แล้วยูขยันมาเสนอวิธีแก้ปัญหาเพื่ออะไร   ผมบอกว่า ให้ตอบเขาว่า เรามาทำงานเพื่อประโยชน์ของ mankind ไม่ใช่เพียงเพื่อประเทศไทย   เราดำเนินตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมราชชนก 

          สิ่งที่ทีมไทยมาทำใน WHA นอกจากเป็นการเรียนรู้แล้ว   ยังเท่ากับเป็นการทำงานด้านสร้างสัมพันธภาพและเกียรติภูมิระหว่างประเทศ   สังเกตได้จากทีมไทยอ่านความเห็นทีไรประธานและทีม secretariat จะฟังอย่างตั้งใจ   และเมื่ออ่านจบหลายครั้งเขาจะหันมาพยักหน้าตอบรับ   เพราะความเห็นของทีมไทยตั้งอยู่บนข้อมูลหลักฐาน   และเพื่อประโยชน์ของ “สุขภาวะ” ของคนทั้งโลก

          ไม่เฉพาะประโยชน์ของคนทั้งโลก   ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการมาประชุม WHA ทำให้ทีมงานได้เพื่อนจากหลากหลายประเทศ   และช่วยให้โลกทัศน์กว้างขวาง   จะทำงานในส่วนงานประจำของตน ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น   รวมทั้งคนที่มาจากต่างหน่วยงาน ก็จะเห็นโอกาสร่วมงานด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาของประเทศเราด้วย 

          ช่วงเช้าวันที่ ๒๐ ผมได้เห็นสภาพของการโต้แย้ง แจงเหตุผล และรอมชอม   ระหว่างทีมไทยฝ่ายหนึ่ง กับ อียู, สรอ., แคนาดา, และ ออสเตรเลีย อีกฝ่ายหนึ่ง   ในลักษณะของความเห็นที่ต่างระหว่างโลกกำลังพัฒนา (ที่เน้นผลต่อสุขภาวะของคน)  กับโลกพัฒนาแล้วหรือระบบตลาด (ที่มีระบบทุนยืนทมึนอยู่ข้างหลัง)   เราได้เห็นว่า นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร มีความสามารถรอบด้านในการให้เหตุผลที่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน รวมทั้งความสามารถในการต่อรอง และการใช้อารมณ์ขันสร้างบรรยากาศให้ไม่เครียดเกินไป   ผมสัมผัสได้ชัดเจนว่าต่างชาติและทางองค์การอนามัยโลกเขายอมรับนับถือทีมไทยเพียงไร

          ผมได้เห็นความขยันขันแข็ง สามัคคี เอาจริงเอาจัง ของทีมไทย ที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน   ไม่มีทีมของประเทศใดเทียบได้เลย   ทุกคนมาทำงาน และเคร่งเครียดกับงานในความรับผิดชอบ   จนหมอสุวิทย์ต้อง อี-เมล์ มาจากเมืองไทย (หมอสุวิทย์กลับไปเมื่อเย็นวันที่ ๑๘) ว่าให้หาโอกาสไปเที่ยวและ ช็อปปิ้งบ้าง

          การไปร่วมเรียนรู้ครั้งนี้นอกจากได้ความรู้ดังเล่ามาข้างต้นแล้วยังได้ร่วมอารมณ์เศร้าหรือเห็นใจคนโดนยกเค้าในต่างแดนด้วย   ดังเรื่องเล่าของคุณอิทธิพร หนึ่งในทีมงาน อ่านได้ที่นี่   ทำให้มีการเล่าหรือสารภาพใน e-mail loop ว่าตนก็เคยโดนเหมือนกัน   จนรวมแล้วได้เรื่องเล่าแนวนี้ประมาณ ๔๐ เรื่อง   และ นพ. อำพล บอกว่าจะเขียนเป็นหนังสือพิมพ์จำหน่าย    

 

วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ.ค. ๕๔  ปรับปรุง ๒๘ พ.ค. ๕๔

บรรยากาศในห้องประชุม Com A


 

การประชุมหารือตอนเที่ยงของ SEARO ทีมไทยเข้าไปนั่งสังเกตการณ์สลอน


 

นพ. จะเด็ด ธรรมธัชอารี อ่านข้อเสนอเรื่องบริการสุขภาพถ้วนหน้า

 

รศ. ดร. สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ อ่านข้อเสนอเรื่องการสร้างความเข้มแข็งแก่วงการพยาบาล

 

วง coaching


หมอตา ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว อ่านข้อเสนอความเห็นเรื่องรายงานเบื้องต้นของผู้ตรวจสอบภายนอก

 

ห้องประชุมใหญ่ (plenary) ในวันที่ ๒๐ ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาที รับรองผลการประชุมจาก Committee


หมอจะเด็ดยืนยันไม่ยอมถอยเรื่องบริการสุขภาพถ้วนหน้า จนฝ่ายกฎหมายของ secretariat ต้องมาขอเจรจา


 

 

หมอวิโรจน์ทำงานหนักจนป่วยเป็นหวัดลงปอด หมอตาต้องบังคับป้อนยา


 

 

หมายเลขบันทึก: 445363เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมก็เป็น "ศิษย์" ของกระบวนการสร้างคนนี้ ระหว่าง พ.ศ.2540-2542

รบกวนฝากดอกไม้ให้อจารย์วิโรจน์หายจากหวัดโดยเร็วนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท