มิชิแกน (๕): ถึงถิ่นมิชิแกน


มังกรต่างถิ่น หรือจะสู้งูดินเจ้าที่

เช้าตรู่วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ ผมงัวเงียตื่นขึ้นมาอย่างเพลียๆ กว่าจะหลับลงได้ไม่รู้นานแค่ไหน แถมยังหลับไม่สนิทซะอีก ไม่อยากตื่นแล้วก็ไม่อยากหลับ มองนาฬิกาหัวเตียง บอกเวลาตี ๕ ครึ่ง ก็เลยลุกอาบน้ำอาบท่า ให้สบายตัวแล้วสวมชุดเดิมเตรียมตัวลงไปทานอาหาร หมอพนาตื่นขึ้นมาบอกว่า เมื่อคืนพี่หลับดีจังเลย กรนดังมาก ผมก็ว่านอนไม่ค่อยหลับ ไหงกรนดังไปได้ หรือจะฝันว่านอนไม่หลับซะก็ไม่รู้ อาบน้ำเสร็จสรรพกันทั้งสองคนก็เดินลงไปที่ห้องอาหารซึ่งเปิดตอน ๖ โมงเช้า เดินออกไปด้านหน้าโรงแรมก็ยังมืดอยู่เลย ก็แปลกใจอยู่ว่า ๖ โมงเช้านี่ทำไมมืด ทั้งๆที่เข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว น่าจะสว่างเร็วกว่านี้

เดินเข้าไปในห้องอาหารโรงแรม อาหารยังเตรียมไม่เรียบร้อย พนักงานบอกว่าเปิด ๖ โมงเช้า เราก็พยักหน้ารับ แล้วเดินเตร็ดเตร่ชมภายในอาคารโรงแรมสัก ๑๐ นาที ก็กลับมาที่ห้องอาหารใหม่ พนักงานก็บอกอีกว่ายังไม่ถึง ๖ โมงเช้า เราก็เถียงว่าถึงแล้ว จึงไปถามที่เคาน์เตอร์ก็พบความจริงว่า นาฬิกาของเราสองคนเร็วไป ๑ ชั่วโมง ถึงว่าสิ เราก็เทียบนาฬิกามาดีแล้วตั้งแต่ที่สนามบิน พอเข้าห้องพักไหงมันช้าไป ๑ ชั่วโมงได้ สรุปนาฒิกาในห้องพักตั้งไว้ผิด เร็วไป ๑ ชั่วโมง หมอพนาเอามือถือมาเทียบเวลาก็เป็นจริงตามนั้น ต้องเดินกลับขึ้นไปห้องพักก่อน เพราะไม่รู้จะทำอะไร

ปรับนาฬิกากันใหม่ หมอพนาเข้าเน็ตต่อ ผมก็นั่งดูทีวีไปเรื่อยๆ จน ๖ โมงเช้า ก็ลงไปทานอาหารเช้า มีอาหารให้เลือกหลายอย่างตามสไตล์ฝรั่ง ให้เลือกตักเอง มีกาแฟมาเสิร์ฟ ผมเลือกทานโอ๊ตมีล (คล้ายๆข้าวต้มเละๆ) กับหมูแฮม ใส้กรอก คล้ายๆกินข้ามต้มมื้อเช้าบ้านเรา ผมไม่ทานกาแฟ (ร้อน) ชอบกาแฟเย็นมากกว่า แต่ทานบ่อยๆไม่ได้ เพราะผมใช้กาแฟรักษาโรคไมเกรน ซึ่งมารบกวนชีวติแบบนานทีปีหน หลังทานอาหารเสร็จก็เก็บกระเป๋า (จริงๆก็แค่เป้คนละใบเท่านั้น) ลงมาเช็คเอาท์ออกจากโรงแรม

เสร็จแล้วขึ้นรถรับส่งของโรงแรมตอน ๗.๓๐ น. นั่งไปแค่ ๑๕ นาทีก็ถึงอาคารขาออกหลังที่ ๕ เป็นส่วนของสายการบินเดลตาแอร์โดยเฉพาะ กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่คนละสองใบ เช็คอินผ่านไปลงมิชิแกนแล้ว ส่วนเจ้าของกระเป๋ายังไม่ได้เช็คอิน พนักงานแนะนำให้เช็คอินผ่านเครื่องอัตโนมัติ ของผมสามารถดำเนินการได้ แต่ของหมอพนามีปัญหา ไม่มีข้อมูล พนักงานจึงให้เราเข้าไปเช็คอินกับเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เป็นบริการพิเศษ เราลืมระบุเลขที่นั่งไป เสร็จแล้วก็เดินเข้าไปข้างในอาคารส่วนเฉพาะผู้โดยสาร ผ่านระบบรักษาความปลอดภัยและตรวจคัดกรอง ต้องถอดเข็มขัด รองเท้า เปิดเป้นำคอมพิวเตอร์ออกมาวางในถาด คิวไม่ค่อยยาวนัก

เข้าไปรอบริเวณทางออกขึ้นเครื่อง แวะซื้อน้ำดื่มติดตัวไปด้วย ขวดละเกือบ ๒ เหรียญ นั่งคอยสักพัก ผู้โดยสารต่างก็เข้าไปยืนเข้าแถวคอยกันยาว ราว ๘.๒๐ น. พนักงานก็ให้ผูโดยสารชั้นธุรกิจขึ้นเครื่องก่อน ต่อมาก็เป็นผู้โดยสารชั้นประหยัด ผมกับพนานั่งการบินไทยมาในชั้นธุรกิจพอมาต่อเครื่องเดลตาแอร์กลายเป็นชั้นประหยัดไป ถึงคิวเดินขึ้นเครื่อง ผมมองดูพนักงานสาวที่คอยตรวจตั๋ว ท่าทางเหมือนคนไทย ผมก็เลยลองพูด "สวัสดีครับ" เขาก็ยิ้มแล้วตอบ "สวัสดีค่ะ" กลับมา เห็นที่ป้ายชื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษอ่านออกมาได้ว่า "พรรณเพ็ญ" เจอคนไทยอีกแล้ว

เราได้ที่นั่งหลังสุดของเครื่อง เครื่องบินสภาพเหมือนจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำเลย ดูเก่าๆ เบาะหนังสีดำซีดๆ เครื่องบินบี ๗๕๗-๓๐๐ ขนาด ๑๗๔ ที่นั่ง มีสองแถว ทางเดินตรงกลาง ที่นั่งสามที่นั่ง ด้านขวาของเครื่อง พี่ตู่เคยบอกไว้ว่าให้เลือกที่นั่งทางด้านซ้าย จะมองเห็นทะเลสาบมิชิแกน แต่เราไม่ทันได้เลือก พนานั่งติดหน้าต่าง ผมนั่งกลางและมีฝรั่งชายหนุ่มนั่งติดทางเดิน ที่นั่งคอ่นข้างเล็กและแคบ ผมตัวเล็กขาสั้นก็ว่านั่งลำบากแล้ว พนากับฝรั่งอีกหลายคนที่สูงกว่าผมน่าจะนั่งลำบากกว่าผมอีก ฝรั่งข้างๆผมนั่งตัวตรงเลย

เครื่องทะยานออกจากลานบินช้ากว่ากำหนดไป ๓๐ นาที ควรจะออกตอน ๙ โมงเช้า แต่ก็ไม่ตรงเวลา แถมประกาศบอกสาเหตุไม่ชัดอีก หรือว่าเขาพูดชัดแต่ผมฟังไม่รู้เรื่องเองก็ไม่แน่ (บ่อยครั้งที่คนเรามักโทษคนอื่นไว้ก่อนทำนอง "ความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นผม"...อะไรทำนองนี้) ผมตรวจสอบเวลาบินจากตั๋วโดยสารเขาเขียนไว้ว่า บินตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๖.๒๙ น. โอ้โฮ! ตั้ง ๗ ชั่วโมงครึ่งเลยหรือนี่ หลังเครื่องขึ้นบินเหนือท้องฟ้าสัก ๔๐ นาที พนักงานบนเครื่องก็เริ่มแจกอาหารเป็นขนมขบเคี้ยวและถั่วกับเครื่องดื่ม ผมเลือกโค๊กเพราะดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้สดชื่นได้มากที่สุด ไม่มีการแจกอาหารกลางวัน ถ้าใครอยากได้หูฟัง ก็ต้องจ่ายตังส์เพิ่มอีก ๑ เหรียญ เขาไม่ได้ให้ยืมใช้ฟรี

เครื่องบินลำนี้ บินอยู่เหนือพื้นดิน ๗.๖ กิโลเมตร ไม่สูงมาก แต่ก็บินเหนือเมฆ สามารถมองทิวทัศน์บนพื้นดินได้ ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ ๘๕๓ กม.ต่อชม. ทิวทัศน์ที่มองลงไปข้างล่างสวยเอาการ หมอพนาเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพ ผมเอาหนังสือที่เตรียมมาด้วยออกมาไว้ แต่ก็ไม่อยากอ่าน ฝรั่งข้างๆเอาโทรศัพท์มือถือมาเปิดเพลงเสียบหูฟัง ผมมองออกไปนอกหน้าต่าง มองเห็นเมฆปุยขาวสวยงาม สลับก้อนเมฆสีเทา บางก้อนมองเหมือนทิวเขาที่เรียงรายซ้อนกันเป็นชั้นๆ แสงแดดแผดจ้า ฟ้าใส เมฆบางก้อนเหมือนเป็นรูปสัตว์หลากชนิด พื้นดินข้างล่างมีทั้งภูเขา แม่น้ำ ให้เห็นเป็นระยะๆ

หนุ่มฝรั่งชี้ให้ดูพื้นดินด้านล่างเมื่อบินไปได้สักสองชั่วโมง เห็นเป็นหุบเหว แนวผาสีน้ำตาล ลดหลั่นกันไปสวยงาม เขาบอกเราว่านั่นคือแกรนด์แคนยอนในรัฐอาริโซนา ผมคิดว่าหมอพนากดชัตเตอร์ไปหลายแชะ แต่ไม่รู้รูปออกมาเป็นอย่างไรเพราะยังไม่ได้เห็น มองฟ้ามองดิน หุบเหวสวยๆก็เพลินหูเพลินตาไปได้เหมือนกัน แต่ก็อดคิดถึงแฟนกับลูกไม่ได้ ถ้าได้มาเที่ยวด้วยกันคงจะดี ครุ่นคิดถึงครอบครัวอีกแล้ว

 "ถึงยามเช้า หิวข้าว ข้าวก็หุง        อาหารปรุง กินดี มีสุขสันต์

ถึงยามเย็น รับลูกยา มาด้วยกัน      ตั้งแต่จันทร์ ถึงศุกร์ ไม่ทุกข์ใจ

ถึงวันหยุด หยุดงาน ฉันรับลูก        ด้วยพันผูก อบรม บ่มนิสัย

เรียนพิเศษ เป็นนิตย์ อังกฤษไทย    พ่อแม่ได้ รับส่ง ตรงเวลา..."

เขียนค้างไว้ได้แค่นี้...ถ้าเขียนได้เรื่อยๆคงได้ "นิราศมิชิแกน" อีกสักเรื่อง เผลองีบไปสักพัก ฝรั่งข้างๆก็สะกิดอีก ให้ดูที่นอกหน้าต่าง หมอพนาก็หลับเหมือนกัน มองไปเห็นเทือกเขาสูงตระหง่าน มีธารน้ำแข็งให้เห็นเป็นทางขาวใสสะท้อนแสงสริยา บางช่วงต้องมองผ่านกำแพงเมฆที่ทอดกายขวางกั้นสายตาเราไว้เป็นชั้นๆ ช่างภาพหนุ่มไทยข้างๆปฏิบัติหน้าที่อีกครั้ง ตรงนี้เขาบอกว่าเป็นเทือกเขาร๊อกกี้ ในรัฐแคโลราโดทางตอนกลางของประเทศ

เทือกเขาสูงชัน พื้นดินเป็นสีน้ำตาล น่าจะเป็นพื้นทะเลทราย การคมนาคมเข้าไปถึงคงยากลำบาก ผมหวลคิดไปถึงพื้นที่ชายแดนของจังหวัดตาก ที่การคมนาคมยากลำบากมาก หมู่บ้านหรือกลุ่มบ้านหลายแห่ง กว่าจะเดินมาถึงสถานีอนามัยได้ใช้เวลาตั้งครึ่งค่อนวันด้วยสองเท้าของเจ้าของหรือถ้าไม่ไหวก็ด้วยแคร่หามที่มวลหมู่ญาติช่วยกันหามออกมา

ผมและคณะจัดเวลา ๕ วันเต็มในการออกตรวจเยียมพื้นที่ในอำเภอท่าสองยาง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เป้าหมายคือเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ทั้ง ๙ สถานีอนามัย (สอ.)และ ๑๖ สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) พี่สมชายเป็นคนขับรถรู้ใจใช้โตโยตาโฟร์วีล มีจะเด็ด น้องดาวและทิว ร่วมขบวนไปด้วยกับรถยนต์ของทีมงานสาธารณสุขอำเภออีก ๑ คัน ออกเดินทางไปลักษณะค่ำไหนนอนนั่น กินอาหารกันง่ายๆ ขนมปัง มาม่า เตรียมติดรถไปด้วย

จากตัวเมืองตากไปราว ๑๗๐ กม.ถึงตัวอำเภอท่าสองยางแล้วไปต่อตามเส้นทางท่าสองยาง-สบเมย แวะที่ สสช.แม่เหว่ย รถยนต์วิ่งไปบนถนนลูกรังขรุขระ ฝุ่นเกือบครึ่งล้อรถ ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เพิ่งจ้างมาทำงานได้ ๑๐ เดือน อีก ๒ คนเป็นน้องในพื้นที่ที่ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตร "พนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน" และ "พนักงานสุขภาพชุมชน" ของเรา ต่อไปที่ สสช.ซอแขระกา ที่มี พสช.รุ่นบุกเบิกอยู่มา ๒๓ ปี เป็นคนพื้นที่ที่นี่เอง ต่อไปที่สสช.บ้านแม่สะเปา มีน้องในพื้นที่หนึ่งคนที่ฝึกอบรมหลักสูตรของเราเช่นกัน แล้วก็ไปคำที่ สอ.แม่วะหลวง ที่ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยาง ๑๐๐ กม. เราพักทานอาหารเย็น ฟังการนำเสนอในช่วงกลางคืน ร้องเพลงเล่นกีตาร์ผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และพักค้างคืนที่สถานีอนามัย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานีอนามัยและสสช.ของอำเภอท่าสองยางหมุนเวียนเปลี่ยนกันบ่อยมาก เพราะเป็นคนนอกพื้นที่ เป็นคนในเขตอำเภอใหญ่ ตอนหลังเราปรับมาให้โควต้าคนในพื้นที่ไปเรียน รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมที่คัดคนในพื้นที่ไปฝึกอบรม จบแล้วมาประจำที่หมู่บ้านตนเอง จะแก้ปัญหาขาดคนและย้ายบ่อยได้ดี อีกทั้งน้องๆเขาก็สามารถทำงาน เข้าใจชาวบ้านได้เป็นอย่างดี ทำให้นึกถึงคำพูดหนึ่งที่ว่า "มังกรต่างถิ่น หรือจะสู้งูดินเจ้าที่" ซึ่งท่านผู้ว่าฯสามารถ ลอยฟ้า ท่านกล่าวไว้ว่า "มังกรต่างถิ่น หรือจะสู้งูดินชาวตาก"

หลังจบการออกเยี่ยมครั้งนั้นได้ ๕ วัน ผมก็ไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดหัวมาก วัดไข้ได้ถึง ๔๒ องศาเซลเซียส ผมรู้เลยว่า น่าจะติดมาลาเรียหรือไข้ไทฟัส (ไข้รากสาดใหญ่) มาแล้ว ผลตรวจเลือดเป็นอย่างหลัง พอได้ยาด๊อกซี่ไปแค่สองเม็ด สักสองชั่วโมงหลังจากนั้น ไข้ก็ลงราวปาฏิหารย์ โชคดีที่ไม่เป็นมาลาเรีย แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคนในพื้นที่ต่างก็มีประสบการณ์เป็นมาลาเรียกันมาแล้ว

คิดอะไรไปเพลินๆเที่ยงวันกว่าๆ พนักงานประกาศให้ปรับเก้าอี้ให้ตรง รัดเข็มขัดเตรียมตัวลงจอด เครื่องค่อยๆร่อนลงเหนือน่านฟ้าสนามบินดีทรอยต์ มลรัฐมิชิแกน สนามบินนี้สร้างเมื่อปี ๒๐๐๒ อยู่ห่างจากตัวเมือง ๒๒ ไมล์ ไม่มีรถไฟเข้าเมือง ต้องนั่งรสบัสราว ๑ ชั่วโมงหรือแท๊กซี่สักครึ่งชั่วโมง ล้อเครื่องบินแตะรันเวย์อย่างนุ่มนวลในเวลา ๑๒.๔๗ น. ผมดูนาฬิกา เอ๊ะ!ทำไมบินมาถึงก่อนกำหนดเร็วนัก ที่ไหนได้เวลาที่มิชิแกน เร็วกว่าแอลเอ ๓ ชั่วโมง กว่าเครื่องจะจอดสนิทเวลาบนหน้าปัทม์นาฬิกาที่ปรับแล้วก็เป็น ๑๖.๐๐ น.พอดี ต้องจอดรอพักใหญ่ก่อนจะมีรถมาลากเครื่องบินไปเทียบประตูทางออก

เราลงจากเครื่องบินได้ก็เดินไปตามป้ายทางออกและไปรับกระเป๋าสัมภาระที่สายพาน เพียงไม่นานนักพนาก็ได้กระเป๋าครบสองใบ ของผมได้แค่ใบเดียว รออยู่เป็นนานสองนาน จนไม่มีกระเป็ค้างอยู๋แล้ว ก็ไม่เห็นวี่แวว กระเป๋าเดินทางผมหายไปใบหนึ่ง ผมเดินไปที่จุดบริการลูกค้า แจ้งเรื่องกระเป๋าหาย ใจเสียห่อเหี่ยวไปเลย เจ้าหน้าที่จดข้อมูลรายละเอียดพร้อมให้เอกสารมาหนึ่งแผ่น และให้เราโทรติดต่อกลับไปถ้าอีก ๒ วันยังไม่ได้กระเป๋าคืน มีผู้โดยสารอีกหลายคนมาด้วยเรื่องกระเป๋าหายเหมือนผม ยังมีผู้ร่วมชะตากรรมอีกหรือนี่...คุณภาพสายการบิน!

เดินกลับไปเมียงมองที่สายพานรับกระเป๋าอีกครั้ง ไร้วี่แวว ทำใจดีๆไว้ คิดว่าพรุ่งนี้คงได้คืน พนาไปเอารถเข็นมาบรรทุกกระเป๋าข้ามถนนไปที่จุดจอดรถแท๊กซี่มิเตอร์ เสร็จแล้วผมก็นั่งรอเฝ้ากระเป๋าอยู่ พนาเดินเอารถเข็นไปคืนเพื่อที่จะได้เงินที่หยอดคืน หายไปพักใหญ่ๆก็เดินกลับมาพร้อมกับบอกว่า ไม่น่าเอาไปคืนเลยเพราะได้เงินคืนมาแค่ ๒๔ เซนต์เอง เดินตั้งไกล และก่อนเดินกลับมาพนาก็เดินไปดูกระเป๋าให้อีกรอบ ผมใจเสียแต่ก็พยายามไม่ให้หน้าเสีย รักษามาดไว้หน่อย

เรานั่งแท๊กซี่เมโทรแคปจากสนามบินมาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์ โดยไม่ได้แวะไปที่เมืองดีทรอยต์ โชคดีที่เปลี่ยนใจไม่นอนพักค้างคืนที่โรงแรมในดีทรอยต์ เพราะสนามบินอยู่ระหว่างกลางดีทรอยต์กับแอนอาร์เบอร์ นั่งแท๊กซี่ราวครึ่งชั่วโมงก็ถึงเอ๊กซิคิวทิฟ เรสซิเดนซ์ ของรอสสคูลออฟบิสิเนส ถึง ๕ โมงเย็นพอดี จ่ายค่าแท๊กซี่ไป ๔๖ เหรียญ เข้าไปเช็คอินกับพนักงานสาวนิโกร-อเมิริกัน ดูท่าทางไม่ค่อยสนใจเรานัก ไม่ค่อยอธิบายเท่าไหร่ มัวแต่คุยโทรศัพท์ ท่าทางจะคุยกับแฟน พอได้กุญแจห้องพักแล้ว ก็รีบขึ้นลิฟต์เข้าห้องพักที่ชั้น ๕ โดยพักกันคนละห้องกับพนา ห้อง ๓ กับห้อง ๙ ห่างกันสองห้อง

เข้าห้องพักสำรวจกระเป๋าที่เหลืออยู่ ไม่มีเสื้อผ้า มีแต่มาม่า ยาและของกินกับของที่ระลึก มีเสื้อผ้าชุดเดียวเฉพาะที่ใส่อยู่ กับเสื้อกางเกงกีฬาแขนขาสั้นในเป้อีก ๑ ชุด หมวกและผ้าพันคอไหมพรมอย่างละชิ้น เสื้อผ้าที่เตรียมมาอยู่ในกระเป่าที่หายไปหมดเลย ก็พยายามคิดไปว่า ไม่ได้คืนก็ไม่เป็นไร ซื้อเอาใหม่ก็ได้ แต่ใจมันก็ยังเสียดายและพะวักพะวงอยู่ดี เปิดคอมฯเข้าเน็ต ดีนะที่ภรรยาตอบกลับมาแล้วว่าถึงบ้านโดยสวัสดิภาพ ก็เบาใจเรื่องหนักๆไปเรื่องหนึ่ง ผมเขียนตอบภรรยาว่าถึงมิชิแกนแล้ว เวลาหนึ่งทุ่มแดดยังจ้าอยู่เลย เมืองไทยเราก็ ๖ โมงเช้าวันที่ ๑ พ.ค.แล้ว เวลาห่างกัน ๑๑ ชั่วโมง

๑ ทุ่มกว่าๆ โทรชวนพนาเดินออกไปตามถนนหน้าที่พัก อากาศหนาวเย็นพอควร ใส่แจ๊กเก็ตผ้าพันคอกก็ยังเย็นๆอยู่ เดินไปตามถนนมหาวิทยาลัยตะวันออก ไปจนถึงถนนมหาวิทยาลัยใต้ เลี้ยวขวาเดินไปตามถนน ไปจนเจอร้านอาหารไทยชื่อโนไทย ท้องหิวแล้ว หิวจริงๆ หิวแบบล้าๆอ่อนๆเหนื่อยๆ มื้อกลางวันไม่ได้กิน เพราะบนเครื่องบินไม่มีแจก นั่งเครื่องบิน ๔.๕ ชั่วโมง น่าจะแจกอาหารก็ไม่แจก ตั๋วที่ซื้อผ่านการบินไทยก็ออกจะราคาแพง นึกว่าเป็นราคาชั้นธุรกิจซะอีก (พอหิวแล้วก็เริ่มคิดพาลๆไปงี้แหล่ะ)

แวะร้านโนไทย ผมสั่งข้าวผัดกุ้ง พนาสั่งผัดไทย ทั้งสองอย่างจานเบ้อเริ่ม น่าจะกินกันสักสองสามคนได้ เห็นลูกค้าหลายคนนั่งกินแล้วกินไม่หมดเขาก็มีกล่องให้ห่อกลับบ้านได้ด้วย อารามด้วยความหิว ไม่น่าจะกินหมด ก็กินไม่เหลือเหมือนกัน จานละ ๖-๘ เหรียญ ขนาดก็สมราคาดี กุ๊กที่ทำไม่ใช่คนไทยมีทั้งฝรั่ง เกาหลี จีน มีเพียงเจ้าของเท่านั้นที่เป็นไทย ชื่อ โน เขาเลยตั้งชื่อร้านว่า "โนไทย" ทีแรกก็นึกไปว่า "ร้านอาหารที่ไม่ใช่ไทย แต่ขายอาหารคล้ายๆอาหารไทย" แต่ผมว่าอาหารเขาก็อร่อยถูกปากดีแล้วก็ถูกใจด้วย ดีกว่ามื้อเช้าที่โรงแรมเยอะเลย

กินเสร็จ ท้องอิ่มแล้ว ออกมาเดินเล่นอีกสักพัก ก็ล้า เดินกลับไปที่พัก อาบน้ำอาบท่า แผนที่ที่พี่ตู่ให้มาก็ไม่มีเพราะอยู่ในกระเป๋าที่หายไป แต่ได้แผนที่จากสาวพนักงานเคาน์เตอร์มา พอศึกษาเส้นทางในแอนอาร์เบอร์ได้บ้าง เอกสารที่ต้องอ่านเตรียมก่อนอบรมก็ปริ๊นท์มาไม่เยอะ แต่ก็ไม่อยากอ่าน ดูๆฏ้น่าสงสารตัวเอง เพิ่งจากบ้านจากครอบครัวมา กระเป๋าใส่เสื้อผ้าก็มาหายอีก แถมมาอยู่ห้องพักคนเดียว...ไม่เหงาได้ไงไหว คืนนี้เหงามากๆๆๆ...ส่งเมล์กลับไปหาภรรยา ลองเข้าสไกป์ก็ไม่ได้อีก ไม่รู้จะทำอะไรดี ...งั้นก็ล้มตัวลงนอนทั้งๆที่เหงาอย่างงี้แหล่ะ...เหงาให้มันหลับไปเลย

หมายเลขบันทึก: 445088เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณหมอคะ

ยิ่งอ่านก็ยิ่งสนุกค่ะ สำหรับเรื่องเล่าของคุณหมอกับการเดินทางไปเรียนในครั้งนี้

อ่านไปก็แอบลุ้นอยู่นะค่ะว่าคุณหมอจะได้กระเป๋าคืนไหม

รอติดตามอ่านต่อค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท