การส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนแบบ PAT


การส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน สามารถเรียนรู้จากชุมชนและธรรมชาติในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน ประวัติ ประเพณี พิธีกรรมของชุมชน  แหล่งเรียนรู้ทางศาสนา วัฒนธรรม อาชีพ ดังนั้น การส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนจึงต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต ระบบคิด ความเชื่อและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน การส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชนที่ดีควรใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดการศึกษา ครู กศน. สามารถเป็นผู้กระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดและปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้ชุมชนเรียนรู้และพัฒนาแนวทางการดำรงชีวิตของตนตามความสนใจและความต้องการของแต่ละคน

การส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชน มี 3 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 การมีส่วนร่วมในการวางแผน
ขั้นตอนที่ 2 การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 3 การมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนและติดตามประเมินผล

แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนแบบ PAT เป็นการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้

P – PARTICIPATION

ครู กศน.และชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มการประชุม วางแผนงาน เตรียมงานและการตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีส่วนร่วม เพื่อระดมพลังสมองวางแผนงานเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง วิธีการ ได้แก่ การเข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้นำ ทั้งทางการและไม่เป็นทางการ การพบปะสนทนาร่วมกับผู้นำและชาวบ้าน การร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม 

A – ACTION

ครู กศน.และชุมชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานร่วมกันตามแผนที่กำหนดไว้ โดยชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ ร่วมกันแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องเพื่อพัฒนาหรือดำเนินงานต่อไป โดยครู กศน.จะเป็นผู้ร่วมให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ วิธีการ ได้แก่ การลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน การร่วมประชุมสรุปผลและประเมินผลหลังปฏิบัติกิจกรรมเสร็จสิ้น

T – TRANSACTION

การถ่ายโอนความรู้ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีส่วนร่วม โดยครู กศน.และชุมชนจะร่วมเป็นผู้ให้และผู้รับการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม  ด้วยการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน ผลที่ได้คือการมีเครือข่ายเพิ่มขึ้น วิธีการ ได้แก่ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง การสนทนากลุ่มย่อย  ให้ทุกคนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนความรู้ หรือไปศึกษาดูงาน
       
กล่าวได้ว่า การมีส่วนร่วมในลักษณะต่าง ๆ (P - PARTICIPATION) ทั้งด้านการคิด การพูด เพื่อวางแผนการทำงานและตัดสินใจ จะนำไปสู่การปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน (A - ACTION) เกิดการเรียนรู้ร่วมกันด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความเป็นไปได้ของการดำเนินงานว่าควรจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นอย่างไร ถือเป็นการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพื่อการประเมินผลร่วมกันของชุมชน (T – TRANSACTION) ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน

การส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนแบบ PAT นั้น ครู กศน.และชุมชนจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทุกกิจกรรม ชุมชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้จากการดำเนินกิจกรรมด้วยรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมตามสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิต บนพื้นฐานของวัฒนธรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการทำงานส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชน ดังแผนภาพ

PAT Model

PAT Model

หมายเลขบันทึก: 444951เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท