เขมวีโร
พระ พระสมบัติ เขมวีโร อาทิตย์

เยาวชนรักบ้านเกิด


บึงปลาเน่า

กลุ่มเยาวชนรักบ้านเกิดลงพื้นที่สำรวจบึงปลาเน่า  เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆแล้วนำข้อมูลนั้นมาคุยกันว่า กลุ่มเยาวชนจะทำอะไรได้บ้างกับบึง  จากการสำรวจพบว่าบริเวณบึงจริงๆ ที่ได้ได้ทำนามีทั้งหมด 230 ไร่ทำนั้น  นอกนั้นทำไร่รอบๆบึงกันหมดแล้วไปดูที่ดิน ปรากฏว่าเป็นการจับจองของชาวบ้านแล้ว  ข้อมูลที่พบมีมากมาย ในปัจจุบันนี้  พ.ศ.  2554 ที่ดินบริเวณนี้จะทำการขุดทางเดินบึงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเยาวชนกลุ่มนี้ทำงานเกินตัว แต่ผลสุดท้ายก็สำเร็จไปอีกขั้น สร้างความชัดเจนว่าเป็นบึงสาธารณะแน่นอน    ในขณะนี้กิจกรรมที่จะทำต่อคือการเปิดตัวบึงให้คนได้รับรู้ทั่วไป  และได้ทำไปแล้วเมื่อปลายปี 53   เดี๋ยวผมจะนำรูปให้ดูครับว่ากลุ่มเยาวชนนี้ทำอะไรกันบ้าง  และในอนาคตจะทำอะไรต่อ (ยังไม่ได้ทำแต่คิดไว้แล้วไม่รุ้ว่าจะทำได้หรือป่าว)

 

หมายเลขบันทึก: 444895เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มีกลุ่มทำงานที่เป็นเยาวชนในพื้นที่ด้วย เยี่ยมเลยครับ
เรียนรู้ตนเองจากเรื่องราวใกล้ๆตัว โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำด้วย
อย่างนี้มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จอย่างมากแน่นอน
ขอสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วยคนครับ

ขอให้มีพลังสร้างสรรค์และมีความสุขในการทำงานครับ

ร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยน รักบ้านเกิดด้วยคนครับ..

ภาพมุมสูงบ้านบึงสวยดีน่ะครับ

สรุปข้อมูลการทำวิจัยกลุ่มเยาวชนรักบ้านบึง

         บึงปลาเน่า เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ประมาณ ๘๒ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีประชากรประมาณ ๑๗๐ ครัวเรือน ชื่อบึงปลาเน่าเป็นที่รู้จักกันของชาวบ้านตั้งแต่เมื่อ ๕๐ ปีมาแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” สมจริง เนื่องด้วยในบึงเต็มไปด้วยน้ำที่ใสสะอาด มีปลาอาศัยอยู่จำนวนมาก อีกทั้งในบึงยังเต็ม ไปด้วยดอกบัวทั้งดอกตูม ดอกบาน หรือจะเป็นฝักก็มีมาก ในช่วงหน้าน้ำ น้ำใสสะอาดมากจนสามารถ ใช้อาบหรือดื่มได้เลย และตอนเย็นชาวบ้านมักจะพาลูกหลานไปว่ายน้ำเล่นหรืออาบน้ำ เป็นที่สนุกสนาน บึงปลาเน่าจึงเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านและชุมชนใกล้เคียง หลังจากอาบน้ำแล้ว ชาวบ้านมักจะไม่ลืม เก็บดอกบัว สายบัว หรือจับปลาติดมือกลับบ้าน เมื่อถึงหน้าแล้ง น้ำในบึงจะไม่แห้งหมด ฝูงนกและปลาจึงยังคงอาศัยอยู่ได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปลาจำนวนหนึ่งว่ายไปติดสวะหรือเศษหญ้าตายเอง ชาวบ้านนำมาทำเป็นอาหารไม่ทัน ทำให้เน่าเหม็นไปทั้งบึง จึงตั้งชื่อบึงนี้ว่า “บึงปลาเน่า”
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยืนยันได้จากคำบอกเล่าผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งแม้ไม่ได้มีการจดบันทึกไว้แต่มีการบอกปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น และจากการสังเกตของหลาย ๆ บุคคล ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ปัจจุบันรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนในระดับรากหญ้า ดังนั้นผู้คนในชุมชนชนบท ให้ความสนใจเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้ปัจจุบันบริเวณรอบบึงปลาเน่ามีผู้บุกรุกที่ดินเพื่อทำการเกษตรมากขึ้น โดยมีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพื่อเร่งผลผลิต มีการกักตุนน้ำในฤดูแล้ง และมีการปล่อยน้ำเสียสู่บึง ทำให้เกิดการแตกแยกของคนในชุมชน จนกระทั่งมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม การขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร รวมทั้งพื้นที่สำหรับเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนก็ลดลง นก และสัตว์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณบึงก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และสภาพแวดล้อมบริเวณบึงก็เปลี่ยนแปลงไป อาจจะเรียกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของบึงปลาเน่าในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างยิ่งยวดหากเรานำข้อมูลที่ได้จากกการวิจัยมาลำดับเป็นยุคโดยใช้หลักแห่งความเปลี่ยนแปลงเชิงวิถีชีวิต เป็นเกณฑ์ในการแบ่งยุค จะแบ่งออกเป็นยุคต่างๆได้ดังนี้

ยุคที่ ๑ ยุคบุกเบิกและก่อตั้งหมู่บ้าน/สร้างวัด
ยุคที่ ๒ ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒
ยุคที่ ๓ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ /ฟื้นฟูหมู่บ้าน/สร้างโรงเรียน
ยุคที่ ๔ ยุคพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
ยุคที่ ๕ ยุคการลุกล้ำของระบบทุนนิยม

ยุคที่ 1 ยุคบุกเบิกและก่อตั้งหมู่บ้าน ช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๕๐
บ้านบึงปลาเน่าเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ ผู้ที่มาย้ายถิ่นตั้งหมู่บ้านนี้ ไม่มีใครทราบแน่ชัด จากการสอบถามคุณตาแปลก สระทองบุตร ซึ่งเป็นบุคคลที่เก่าแก่ในหมู่บ้านบึงนี้ ได้เล่าว่า สมัยเมื่อครั้งก่อตั้งหมู่บ้านเริ่มแรก สภาพพื้นที่บ้านบึงปลาเน่าเป็นป่ารกทึบ ชาวบ้านต้องถางป่าเพื่อจับจองที่ดินทำการเกษตรและปลูกสร้างบ้านเรือน ทำให้ชาวบ้านป่วยเป็นโรคไข้ป่า (มาลาเรียหรือโรคตอใบไม้เน่า) มีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจากโรคนี้ เนื่องจากไม่มียารักษา เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านจะรักษาโดยหมอยาประจำหมู่บ้านที่รักษาโรคจากรากไม้ และมีการสะเดาะเคราะห์และต่อชะตา ให้ผู้ที่เจ็บป่วย นอกจากเจ็บป่วยด้วยไข้ป่าแล้ว ยังมีการระบาดของโรคฝีดาษ ทำให้ชาวบ้านต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมาก และในสมัยนั้นนิยมการฝังศพ เมื่อมีคนเสียชีวิตลงจึงต้องฝังในวันเดียวกันทันทีแบบตายเช้าฝังเย็น
เมื่อมีการก่อสร้างวัดบ้านบึงปลาเน่าแล้ว เด็กชาวบ้านบึงปลาเน่าส่วนใหญ่จึงเป็นลูกศิษย์วัด โดยอาศัยศึกษาเล่าเรียนกับพระ ซึ่งใช้วัดเป็นที่สอนหนังสือให้กับเด็ก วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๒ ได้มี การก่อตั้ง “โรงเรียนวัดบ้านบึง” โดยอาศัยศาลาวัดเป็นที่เรียน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๔ โดยมีนายสันต์ ฉิมเอี่ยม เป็นครูใหญ่คนแรก
เมื่อมีการนำระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาในหมู่บ้าน ได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านบ้านบึง ในปีพ.ศ.๒๔๖๐ ซึ่งมี นายโม้ พ่วงเกิด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ใหญ่คนแรกของบ้านบึงปลาเน่า ซึ่งปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว สมัยก่อนบ้านบึงเป็นหมู่บ้านที่กันดารมาก การเรียกประชุมชาวบ้านของผู้ใหญ่บ้านในแต่ละครั้ง ต้องไปยืนในที่สูงยกธงขึ้นบกไปมา หรือตีฆ้องและเกราะ เพื่อแจ้งให้ลูกบ้านทราบว่าจะมี การประชุมขึ้นในหมู่บ้าน เนื่องจากการตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันเป็นระบบเครือญาติ ทำให้ได้รับข่าวสาร ได้ทั่วถึงกัน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องกระจายเสียง เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในหมู่บ้านผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินข้อพิพาทนั้น แต่ถ้าเกินอำนาจของผู้ใหญ่บ้านก็ให้กำนันเป็นผู้ตัดสินแทน ในช่วงแรก ที่ก่อตั้งวัดทางวัดได้ใช้พื้นที่ศาลาเป็นพื้นที่สอนหนังสือแก่เด็กในหมู่บ้าน
เมื่อครั้งเริ่มตั้งหมู่บ้าน บ้านบึงปลาเน่ามีจำนวนหลังคาเรือนประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน ผู้คนในหมู่บ้านจะอยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการแบ่งปัน ในสมัยก่อนนั้นหมู่บ้านบึงแห่งนี้มีปลานานาชนิดอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เพราะมีบึงล้อมรอบหมู่บ้านประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงทำให้มีปลานานาชนิดมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประชากรในหมู่บ้านมีจำนวนไม่กี่หลังคาเรือน จึงมีปลาบริโภคไม่ขาด ผู้คนจึงเลือกเอาแต่ปลาบใหญ่ๆปลาตัวเล็กตัวน้อยจึงลอยแพตายเป็นจำนวนมาก ส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่วบริเวณ จึงได้ชื่อว่า “บ้านบึงปลาเน่า” ในฤดูน้ำหลากน้ำจึงท่วมทุกปีทำให้ข้าวที่ปลูกไม่ได้ผลผลิต ที่นาเสียหายเมื่อไม่มีข้าวกิน ชาวบ้านจึงหาปลาเพี่อนำไปแลกข้าว บางคนก็เอาปลาสดๆ ไปแลก บางคนก็ทำปลาร้า ปลาเกลือไปแลกก็มี น้ำดื่มน้ำใช้สมัยนั้นใช้บ่อน้ำที่อยู่ภายในวัด ซึ่งมีเพียง บ่อเดียว จึงมีการแย่งกัน ใครมาก่อนก็ได้ก่อน คนมาทีหลังน้ำก็จะแห้งขอด ชาวบ้านจึงตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปตักน้ำ สำหรับน้ำดื่มก็จะรองน้ำฝนไว้สำหรับดื่มกินในหน้าแล้ง

การสร้างบ้านในสมัยนั้น ตัวเรือนสร้างด้วยไม้ นำฟากมาปูพื้น และนำหญ้าคามามุงผนังและหลังคา หุงข้าวด้วยฟืนไม่มีเตาไฟ แต่ใช้ไม้ล้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมแล้วนำดินมาใส่ให้เต็มและอัดให้แน่นเพื่อเป็นฐานสำหรับก่อหุงข้าว สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า แต่ละบ้านจึงใช้การจุดไต้(ทำจากน้ำมันยาง) หรือตะเกียงเจ้าพายุ เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ชาวบ้านซึ่งมีไม่กี่หลังคาเรือนจึงอยู่อาศัยกันเหมือนญาติพี่น้อง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ส่วนคนมีฐานะดีกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน คือ ปู่ และปู่เจ๊ก

ยุคที่ ๒ ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ ช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๘๒-๒๔๘๘
เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีโจรผู้ร้ายชุกชมเข้ามาปล้น ฆ่า ลักขโมยวัว ควาย ของชาวบ้าน ซึ่งโจรผู้ร้ายส่วนใหญ่มาจากแหล่งอื่น สำหรับหมู่บ้านบึงปลาเน่าจะไม่มีผู้ร้ายในหมู่บ้าน จึงถูกรุกรานจากหมู่บ้านอื่น ประกอบกับมีการทำสงครามกับประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชาวบ้านหวาดผวา กับโจรผู้ร้าย ขณะเดียวกันก็ต้องคอยหลบการทิ้งระเบิดของฝ่ายตรงข้าม ต้องซ่อนตัวอยู่ในหลุมหลบภัย นอนกลางดินกินกลางทราย แต่ชาวบ้านก็ยังคงปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติในช่วงเวลากลางวัน
คำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้านคุณตาพล หมื่นจิต บอกว่าในยุคนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยุคหนึ่งของหมู่บ้านบึงปลาเพราะเป็นช่วงเวลาที่ดำรงอยู่กว่า ๖ ปี ซึ่งในช่วง ๖ ปีนี้ส่งผลให้ชาวบ้านขาดโอกาสในการเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกันชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างดำเนินชีวิตประจำวันอย่างระหวาดระแวงซึ่งภัยสงคราม ต่างฝ่ายต่างทำมาหากินแต่เพียงครอบครัวหรือเครือญาติกลุ่มเล็กๆเพื่อลดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อสงคราม และในยุคนี้เองที่เริ่มมีเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานราชการเข้ามายังหมู่บ้าน โดยเป็นเจ้าหน้าที่จากอำเภอซึ่งเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อย ของหมู่บ้านแต่ถึงกระนั้นก็ยังคงเป็นการเข้ามาแบบนาน จากคำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้านได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าในยุคนี้เป็นยุคอาถรรพ์อาคม กล่าวคือในยุคนี้เป็นยุคที่หลวงพ่อจันทร์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านบึงคนแรก ได้ใช้คาถาอาคมในการลวงตาคนร้าย เพื่อให้ออกจากวัดไม่ได้เมื่อคนร้ายมาขโมยในวัดตามคำบอกเล่าของคุณตาแปลก ปราชญ์ชาวบ้าน กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หากคนร้ายเข้ามาขโมยจะออกจากวัดไม่ได้ซึ่งคนร้ายจะเดินวนเวียนอยู่แต่ภายในวัดจนเช้า และชาวบ้านก็จะมาช่วยกันจับคนร้ายหากคนร้ายคนไหนกลับใจได้ก็ต้องขอขมาหลวงพ่อที่วัด แล้วถึงจะออกจากวัดไปได้


ยุคที่ ๓ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และฟื้นฟูหมู่บ้าน ช่วงหลังปี ๒๔๘๘-๒๕๑๐
จากคำบอกเล่าของปราชญ์ชาวบ้านคุณตารัก อุ่นศรี และคุณตาสวย จุดละม่อมได้บอกไว้ตรงกันว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคที่ชาวบ้านได้กลับมามีโอกาสในการอยู่ร่วมกันแบบสังคมหมู่บ้านอีกครั้งโดยชาวบ้านได้ใช้เวลาส่วนมากในการฟื้นฟูหมู่บ้านและจัดกิจกรรมการละเล่นเพื่อคืนสัมพันธ์ที่ดี แก่หมู่บ้านโดยใช้ ประเพณี การละเล่นเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
ประเพณีการละเล่นของชาวบ้านบึงปลาเน่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก่อนถึงฤดูทำนา ชาวบ้านจะรำกลองยาว รำแคน ชาวบ้านมารวมตัวกันในหมู่บ้าน มีการโยนลูกช่วง (ใช้ผ้าขาวมามัดเป็นปมและโยน) เทศกาลออกพรรษา มีงานวัดในหมู่บ้านโดยมีการรำแคน ฉายหนังกลางแปลง จุดไต้น้ำมัน และตักบาตรเทโว เมื่อเทศกาลออกพรรษาผ่านพ้นไป ชาวบ้านก็เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเตรียมพื้นที่ปลูก ในปีต่อไป วันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวใหม่กำลังออก ชาวบ้านจึงมีการตักบาตรข้าวหลาม เผาข้าวหลามร่วมกันในหมู่บ้าน เป็นการสร้างความสามัคคีของหมู่บ้าน และในยุคนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษา ในหมู่บ้านอย่างเป็นรูปธรรม และในยุคนี้เองที่ระบบการศึกษาภายในหมู่บ้านเริ่มพัฒนาไปอีกขั้น คือ เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๐๐ ได้มีการแยกอาคารเรียนออกมาจากวัดอย่างเป็นเอกเทศ

ยุคที่ ๔ ยุคพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐-๒๕๔๐
ในยุคนี้ภาครัฐบาลได้เข้ามามีบทบาทกับหมู่บ้านมากขึ้นมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคหลากอย่างซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมโทรมของบึงปลาเน่าโดยมีลำดับการพัฒนาดังนี้
พ.ศ.๒๕๑๕ ได้มีการสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง
พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีการปรับปรุงสร้างกุฏิขึ้นใหม่
พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนชั่วคราวหลังใหม่ แบบ สกศ.อ.พล.๐๐๖ จำนวน ๔ ห้องเรียน งบประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ บาท ได้ปลูกสร้างในที่ดินสาธารณะประจำหมู่บ้านในพื้นที่ ๒๐ ไร่ ๙๓ ตารางวา อยู่ทางทิศใต้ของโรงเรียนเดิมและหมู่บ้าน
พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ย้ายมาทำการเรียนการสอนที่อาคารเรียนหลังใหม่ และเปลี่ยนชื่อจาก “โรงเรียน วัดบ้านบึง” เป็น “โรงเรียนบ้านบึงวิทยา”
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้ขยายการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕-๖
พ.ศ.๒๕๒๒ นายสันต์ ฉิมเอี่ยม ครูใหญ่คนแรกเกษียณอายุราชการ นายฉลาด ขันตี ได้รับ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนบ้านบึงวิทยา ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน
พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียนแบบ สปร.๑๐๕/๒๖ จำนวน ๔ ห้องเรียน งบประมาณ ๘๔๘,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๕๒๙ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “บ้านบึงปลาเน่า” เป็น “บ้านบึง” และมีการแบ่งหมู่บ้านออกเป็นคุ้ม จำนวน ๑๐ คุ้ม เพื่อง่ายต่อการประสานงานและการปกครองของหมู่บ้าน
พ.ศ.๒๕๓๐ มีโครงการของเร่งรัดพัฒนาชนบท สร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านเป็นคอนกรีตเสริมไม้ไผ่ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และมีการสร้างระบบประปาหมู่บ้าน โดยใช้แบบแปลน ของกรมโยธา
พ.ศ.๒๕๓๔ คณะกรรมการข้าราชการครู ได้อนุมัติตำแหน่งผู้บริหารจากครูใหญ่เป็นอาจารย์ใหญ่
พ.ศ.๒๕๓๔ มีการสร้างเมรุเผาศพ
พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีการสร้างศาลาการเปรียญ โดยเจ้าอาวาสและชาวบ้านร่วมกันบริจาคเงิน รวมทั้งเป็นงบประมาณที่มาจากการทอดกฐินและผ้าป่าสามัคคีอีกด้วย
หากลำดับเหตุการณ์จากข้างต้นจะพบว่าในยุคนี้มีการพัฒนาทั้งระบบการศึกษา และการคมนาคมและจากคำบอกเล่าของคุณตาบูรณ์ หมื่นจิต ได้บอกว่าในยุคนี้เองที่มีการเข้ามาของคนนอกพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอุตรดิตถ์ที่เข้ามาจับปลา เนื่องจากความชุกชุมของปลาในบึงปลาเน่า บางคนก็นอนบนเรือหลายคืนเพื่อจับปลา หลังจับเสร็จก็จะหมักเกลือเพื่อไม่ให้ปลาเน่า เนื่องจากปลามีเป็นจำนวนมาก ผลจากการกระทำทั้งหลายในยุคนี้ ทำให้ปลาในบึงปลาเน่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนตำนานบึงปลาเน่าได้สูญหายไปจากบึงจนกระทั้งหมู่บ้านได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบึงปลาเน่า เป็นหมู่บ้านบึงในปี ๒๕๒๙

ยุคที่ ๕ ยุคการลุกล้ำของระบบทุนนิยม พุทธศักราช ๒๕๔๐-ปัจจุบัน
จากคำบอกเล่าของ หลวงพ่อสยาม ปคุโณ เจ้าอาวาสวัดบ้านบึง บอกไว้ว่าปัจจุบันรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนในระดับรากหญ้า ดังนั้นผู้คนในชุมชนชนบท ให้ความสนใจเสริมรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว ทำให้ปัจจุบันบริเวณรอบบึงปลาเน่ามีผู้บุกรุกที่ดินเพื่อทำการเกษตรมากขึ้น โดยมีการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพื่อเร่งผลผลิต มีการกักตุนน้ำในฤดูแล้ง และมีการปล่อยน้ำเสียสู่บึง ทำให้เกิดการแตกแยกของคนในชุมชน จนกระทั่งมีการทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดขึ้นเป็นบางครั้ง นอกจากนี้ยังมีปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม การขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรรวมทั้งพื้นที่สำหรับเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนก็ลดลง นก และสัตว์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณบึงก็ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และสภาพแวดล้อมบริเวณบึงก็เปลี่ยนแปลงไป อาจจะเรียกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของบึงปลาเน่าในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างยิ่งยวด
ในยุคนี้ระบบการศึกษาของหมู่บ้านได้ยกระดับวิทยฐานะมากขึ้นพ.ศ.๒๕๔๔ คณะกรรมการข้าราชการครู ได้อนุมัติตำแหน่งผู้บริหารจากอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเกณฑ์คุณภาพ
ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีข้าราชการครู ๘ คน นักการภารโรง ๑ คน และมีนักเรียนทั้งหมด ๑๒๐ คน
พ.ศ. ๒๕๔๖ มีตู้โทรศัพท์สาธารณะมาติดตั้ง ในหมู่บ้าน จำนวน ๒ จุด เพื่อการติดต่อสื่อสาร

อธิบายภาพ: สภาพบึงปลาเน่าก่อนทำการขุดลอก เด็ก ๆ ชอบมาเล่นน้ำและยิงนกตกปลา

อธิบายภาพ: การระดมความคิดเห็นจากคนหลาย (บุคคล 3 วัย) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท