พระพุทธศาสนากับการศึกษาที่สมบูรณ์


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา ปี 2546 ชั้น ม.4 หน่วยที่ 7 สัมมนาพระพุทธศาสนา

ท่านพุทธทาส ได้กล่าวถึงหลักการศึกษาที่สมบูรณ์ไว้ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1) มีความฉลาด
2) มีเครื่องมือควบคุมความฉลาด
เพื่อให้ใช้ความฉลาดอย่างถูกต้อง มีวิชาชีพและอาชีพ เพียงพอต่อการดำรงชีพ และ 3) มีมนุษยธรรม คือ ความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง พอตัวสอดคล้องกับแนวคิดของท่านปัญญานันทะได้กล่าวถึงการศึกษาที่สมบูรณ์ว่า การศึกษาที่สมบูรณ์เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา เป็นทางให้เกิดหูตาสว่าง มองการณ์ไกล เป็นปัญญาที่มีเหตุผล มีธรรมะคือสติ เป็นต้น คอยเหนี่ยวรั้งความคิดไม่ให้ดำเนินไปผิดทาง

         พระธรรมปิฎก กล่าวถึงการศึกษาว่า “การศึกษานั้นเป็นทั้งตัวการพัฒนาและเครื่องมือสำหรับพัฒนา คือ เป็นการพัฒนาตัวบุคคลขึ้นโดยพัฒนาตัวคนทั้งคนหรือชีวิตทั้งชีวิต ตัวการพัฒนานั้นคือการศึกษา เมื่อผู้เรียนมีการศึกษาอย่างนี้แล้ว ก็นำไปเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ การศึกษาก็กลายเป็นเครื่องมือของการพัฒนา”

         ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักการทางพระพุทธศาสนาที่จะนำมาเป็นพื้นฐานการจัดการศึกษาให้สมบูรณ์ เพื่อมุ่งเน้นให้มนุษย์เกิดความฉลาด
หรือเกิดปัญญา แล้วนำเอาปัญญาที่เกิดจากการศึกษามาพัฒนาตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ดังนี้คือ

         1.มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการศึกษา
พระธรรมปิฎก กล่าวว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นในข้อที่ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา และฝึกได้ ศึกษาได้ มีหลักการที่ควรสังเกตสำคัญในเรื่องนี้ 2 อย่างคือ

            1. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก หมายความว่า การดำเนินชีวิตอยู่ได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีได้นั้น แทบไม่มีอะไรเลยที่มนุษย์จะได้มาเปล่า ๆแต่ได้มาด้วยการศึกษาคือเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาขึ้นมาทั้งสิ้นต่างจากสัตว์อื่นทั่วไปที่ดำเนินชีวิตได้ด้วยสัญชาตญาณ แทบไม่ต้องเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนา

            2. มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได หมายความว่า การที่เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาได้นี้ เป็นความพิเศษของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีงาม
ประเสริฐ เมื่อมนุษย์พัฒนาได้สูงสุด จึงถือเป็นผู้ประเสริฐแม้แต่เทวดา พระพรหมก็กราบไหว้เคารพนับถือ ต่างจากสัตว์อื่นทั่วไป
ที่เกิดมาด้วยสัญชาตญาณอย่างไร ก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น

            ในทางพระพุทธศาสนานั้น การพัฒนาชีวิตอย่างถูกต้องก็คือ การทำให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องที่จะนำเข้าสู่จุดมุ่งหมายคือการมีวิถีชีวิตที่ถูกต้องดี เราเรียกกันว่า มรรค คำว่ามรรค คือวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามซึ่งนำไปสู่จุดมุ่งหมายได้ มรรคนี้เป็นของคู่กันกับหลักการอีกอย่างหนึ่งคือ สิกขา ดังนั้นหากต้องการให้มีชีวิตที่ถูกต้องดีงามก็ต้องมีการฝึกฝนหรือฝึกหัด และการฝึกฝนฝึกหัดให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงามเราเรียกว่า สิกขา หรือศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษา ก็คือการฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม

            ในเมื่อการศึกษาเป็นการฝึกฝนพัฒนาคน ให้ดำเนินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ความหมายจึงตามมาว่า ตราบใดชีวิตของเรายังไม่สมบูรณ์ ยังมีความบกพร่อง ยังมีปัญหา ยังมีทุกข์ ตราบนั้นเราก็ยังต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป นั่นก็คือ การศึกษาตลอดชีวิต หรือพัฒนาชีวิตกันตลอดชีวิตนั่นเอง

          2. หลักธรรมพื้นฐานของพระพุทธศาสนากับการศึกษาที่สมบูรณ์

                  

หลักพุทธธรรมที่จะนำมาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

             1.หลักพุทธธรรมที่เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปัญหา ครอบคลุมทั้งระบบอย่างเป็นกระบวนการ หลักพุทธธรรมนี้จะใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางการศึกษาที่ดำเนินไปในทุกขั้นตอน หลักพุทธธรรมกลุ่มนี้คือ อริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท

             2. หลักพุทธธรรมเชิงปฏิบัติการ เสริมในรายละเอียด เมื่อตรวจสอบพบจุดบกพร่องของกระบวนการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอนนั้น การนำหลักพุทธธรรมนี้ไปใช้ก็ทำได้สองอย่างคือ ในฐานะทบทวนแผน (Re-planning) ตามความเป็นจริงที่ปรากฏออกมาจากการตรวจสอบด้วยหลักอริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาท

          ในเรื่องของการศึกษา หรือกระบวนการเรียนการสอน อันถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ก็ควรจะดำเนินไปโดยใช้อริยสัจ 4 และปฏิจจสมุปบาทมาเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ แล้วนำเอาเรื่องอื่นมาเป็นบริวาร หลักสำคัญที่จะต้องตระหนักไว้เสมอก็คือ การใช้หลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท มาเป็นหลักในการแก้ปัญหา หรือดำเนินการในเรื่องราวใด ๆ นั้น ต้องตรวจสอบเรื่องนั้น ๆ ทั้งระบบ เพื่อให้พบความจริง ไม่มองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่ตรวจสอบเพื้อค้นหาความจริงแล้วแก้ปัญหาตามเหตุปัจจัยที่ปรากฏ บางเรื่องอาจแก้ทั้งหมด บางเรื่องอาจจะแก้เพียงจุดใดจุดหนึ่งก็เพียงพอ

          เมื่อเรานำหลักการพุทธธรรมมาใช้ในด้านการเรียนการสอนเราจะมองเฉพาะจุดเล็ก ๆ จุดเดียว ก็จะไม่ครอบคลุมประเด็นในทุก ๆ ด้าน ต้องทำความเข้าใจ เริ่มตั้งแต่หลักสูตร อาคารสถานที่ ครูอาจารย์ บรรยากาศ อุปกรณ์ วัสดุครุภัณฑ์ ขวัญกำลังใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่มีอยู่ ต้องนำมาพิจารณาให้หมด ตรงจุดไหนที่เห็นว่าดีอยู่แล้วก็รักษาไว้ แต่ส่วนที่บกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น การใช้หลักการนี้มาพัฒนา ผลออกมาจะมีความเจริญก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน และความจริงที่ถูกต้องก็คือ ทางสายกลางที่มีความสมดุลในทุกขั้นตอน
 คุณธรรมที่จะต้องนำมาเสริมลงในกระบวนการเรียนการสอน ที่ควรทำความเข้าใจ มีดังนี้

         

         ปัญญา
         ปัญญาและกระบวนการอันนำไปสู่การเกิดปัญญา คือความรอบรู้ทั้งตนเอง วิชาการต่าง ๆ สิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นไปของโลกอย่างชัดเจน นับเป็นจุดหมายปลายทางของกระบวนการเรียนการสอนทุกวิชา ในทางพระพุทธศาสนาได้แบ่งปัญญาออกเป็นสามประเภทคือ สชาติปัญญา ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด (พันธุกรรม) นิปากปัญญา ความรู้ในด้านอาชีพ และวิปัสสนาปัญญา เป็นความรู้แจ้ง รู้จริง รู้ถูกต้อง และกระบวนการที่ก่อให้เกิดปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง (สุตมยปัญญา) เกิดจากการคิด (จินตมยปัญญา) เกิดจากการอบรมตนเอง
(ภาวนามยปัญญา)

         อริยมรรค 8
         อริยมรรค 8 เป็นแกนกลางในการจัดการศึกษาของทุก ๆ วิชา เพราะหลักการของอริยมรรค อยู่ที่ สัมมา คือ ความถูกต้องชอบธรรมในลีลาชีวิตของมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ ล้วนดำเนินไปในกรอบแห่งอริยมรรคทั้งสิ้น หากลีลาเหล่านั้นดำเนินไปผิดทาง ชีวิตก็ต้องรับผลแห่งความผิดนั้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าได้ใช้ลีลาชีวิตให้ถูกต้องในทุกขั้นตอน ผลออกมาเป็นความไร้ทุกข์ อย่างยุติธรรม ไม่มีใครจะมาเปลี่ยนแปลงผลแห่งความถูกต้องเหล่านั้นได้

         อริยมรรค เป็นเรื่องของความถูกต้องที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ไว้อย่างครบถ้วน คือ

         1. สัมมาทิฏฐคือความเห็นชอบ ความเห็นอันถูกต้องถ่องแท้ เป็นความจริงแท้ ไม่ใช่ผลที่เกิดจากการคาดคะเนหรือตั้งสมมติฐาน
ใด ๆ ทั้งสิ้น และความเห็นที่ถูกต้อง จะต้องสามารถค้นหากระบวนการแห่งความจริงนั้นอย่างครบวงจรอีกด้วย

         2. สัมมาสังกัปปะ คือดำริชอบ ดำริถูกต้อง สอดคล้องกับความจริงที่ปรากฏนั้นเมื่อความจริงปรากฏเป็นพื้นฐานแล้ว ความดำริที่สอดคล้องกับความจริง ก็จะดำริได้อย่างถูกต้อง ไม่เบียดเบียนกายใจของตนและผู้อื่น

         3. สัมมาวาจา คือวาจาชอบ การพูดจาถูกต้อง เมื่อใจประจักษ์ความจริงทุกด้าน วาจาอันทำหน้าที่เป็นสื่อของใจ ก็จะสะท้อนสื่อสารถ่ายทอดออกมาแต่ความจริงที่ประจักษ์แล้วนั้น

         4. สัมมากัมมันตะ คือการงานชอบ การงานถูกต้อง ไม่ว่างานทางกายหรือทางใจ หากเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นจริง ย่อมเสริมค่าให้ชีวิตของผู้ทำ และสังคมที่เกี่ยวข้องจะพลอยได้รับผลเป็นสุขไปด้วย

         5. สัมมาอาชีวะ คือ การประกอบอาชีพชอบ การประกอบอาชีพถูกต้อง เมื่อทราบความจริงของชีวิตว่า การประกอบอาชีพที่ถูกต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มุ่งนำเอาผลที่ได้มาจากการใช้ความรู้ความสามารถ มาประกอบอาชีพให้ยืนยาว และอำนวยความสะดวกแก่เพื่อนมนุษย์ ก่อให้เกิดความปีติปราโมทย์ อิ่มทั้งกายและใจ

         6. สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ ความพากเพียรอย่างถูกต้อง เมื่อได้ทราบความจริงว่า การประกอบความเพียรที่ผิดทำให้ชีวิตตกต่ำ นำความหายนะมาสู่ชีวิต เช่น พากเพียรในการประกอบอบายมุข มีแต่นำทุกข์มาสู่ชีวิต ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ก็ยึดเอาความเพียรถูกต้องคือ เพียรเลิก ลด ละ พฤติกรรมที่ขัดขวางความก้าวหน้าทั้งทางกายและทางใจ เมื่อทำได้แล้วก็จะต้องเพียรพยายามระวังมิให้บาปเกิดขึ้นหรือมิให้พฤติกรรมอันไม่พึงปรารถนาต้องหวนกลับมาสู่ชีวิตอีก ขณะเดียวกัน ก็ศึกษาอบรมบ่มเพาะแต่สิ่งที่ดีงาม พร้อมกับพัฒนา และรักษาให้อยู่กับชีวิตจนเกิดความสมบูรณ์ และสมดุล

         7. สัมมาสตคือ ความระลึกชอบ ความระลึกที่ถูกต้อง กล่าวคือ ระลึกรู้สึกต่อชีวิตตามความเป็นจริงอย่างเป็นกระบวนการ เข้าใจพฤติกรรม กิริยาหรือปฏิกิริยาของชีวิต เข้าใจผลอันเกิดจากกิริยา และปฏิกิริยาต่าง ๆ ของชีวิต ทั้งในส่วนกาย ความรู้สึกพฤติกรรมของจิต ตลอดถึงหลักและกฎเกณฑ์ของชีวิต ที่จะต้องดำเนินไปตามกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลง ตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิตย์

         8. สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจชอบ ความมั่นคงของจิตที่ถูกต้อง เป็นธรรมดาที่จิตของมนุษย์เคลื่อนไหวไปมารับอารมณ์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากจิตดับอยู่ในสภาวะปกติ ก็ไม่เกิดความเดือดร้อนใด ๆ แต่เมื่อมีกิเลสเข้ามาครอบครองจิตทำให้หวั่นไหวผิดปกติ ก็เกิดความทุกข์ ความจริงก็ปรากฏอยู่ว่า แม้องค์ประกอบชีวิตส่วนอื่นสมบูรณ์ แต่ถ้าไม่สามารถทำจิตให้ปกติได้ ความทุกข์ก็คงมีอยู่อย่างมากมาย เข้ามาสู่ชีวิตไม่ขาดสาย การเจริญภาวนาคือ วิธีการฝึกจิตให้สงบมั่นคง และเหมาะสม พร้อมที่จะ เรียนรู้ และสู้กับอารมณ์ที่จะมาอย่างไม่หวั่นไหว อันจะเป็นพื้นฐานให้เกิดความรู้แจ้ง (ญาณ) จนสามารถป้องกันจิตจากการคุกคามจากกิเลสต่าง ๆ แล้วในที่สุดก็จะพบกับความหลุดพ้น (วิมุติ) ปราศจากกิเลสทั้งปวง
 ไตรสิกขา คือการศึกษา 3 อย่าง ประกอบด้วยศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา การสรุปอริยมรรคลงในไตรสิกขาก็จะเป็นภาพของหลักการของการศึกษา ที่ควรจะต้องสอดแทรกเข้าไปในทุกสาขาวิชา กล่าวคือ

         1. ศีลสิกขา คือการศึกษาฝึกอบรมพัฒนากาย และวาจา ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะเพราะว่าความถูกต้องทั้งสามอย่างนี้เป็นเรื่องของระเบียบวินัยอันจะควบคุมพฤติกรรมหรือความเคลื่อนไหวทางกาย วาจา ให้ดำเนินไปในทิศทางปกติ ไม่ขัดขวางพัฒนาการของตนหรือสังคม

         2. สมาธิสิกขา คือการศึกษาฝึกอบรมพัฒนาจิต ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิเพราะว่าองค์ประกอบของอริยมรรคทั้งสามประการนี้เป็นเรื่องของการฝึกฝนอบรม ควบคุมจิตให้รู้จักคิดอย่างเป็นระเบียบ เรียกว่า คิดเป็นการที่มนุษย์จะคิดเป็นโดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นมีความมั่นคงพอที่จะต้านทานกระแสยั่วยุที่มาจากทั่วสารทิศมิให้หวั่นไหวไปในทางบวกหรือลบ แต่มั่นคง แน่วแน่ เยือกเย็น นั้นเป็นการสร้างจิตให้มีพลัง เป็นฐานในการรองรับสรรพวิชาต่าง ๆ อย่างมั่นคง

          3. ปัญญาสิกขา คือการศึกษาฝึกอบรมพัฒนาปัญญา ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เพราะความสามารถที่จะมองเห็นความจริงในเรื่องราวต่าง ๆ แล้วหาทางออกให้กับตนเอง และผู้เกี่ยวข้องโดยปลอดภัยทั้งในส่วนกายและในส่วนจิตกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีไตรสิกขาเป็นพื้นฐาน คงต้องมีจุดเน้นที่มีระเบียบวินัย (ศีล) จิตใจที่มั่นคงหนักแน่น (สมาธิ) มองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริง (ปัญญา) ความจริงจะเป็นพื้นฐานของการศึกษาเรียนรู้ทั้งปวง เพราะสิ่งทั้งปวงล้วนมีความจริงประกอบอยู่อย่างเพียงพอตามธรรมชาติของสิ่งนั้น

ไตรสิกขา และอริยมรรค มีกระบวนการศึกษาดังนี้

กระบวนการศึกษา
เหตุที่กระทำ
ผลที่เกิดขึ้น
ไตรสิกขา
อริยมรรค
ปัญญาสิกขา

1. สัมมาทิฏฐิ

2. สัมมาสังกัปปะ

ความเห็นชอบ เห็นว่าความดีต่าง ๆ มีอยู่จริง

ดำริชอบ คิดในทางที่ถูกต้อง

เจริญงอกงาม จนมีความพร้อมทางปัญญา

รู้จักคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น

ศีลสิกขา

3. สัมมาวาจา

4. สัมมากัมมันตะ

5. สัมมาอาชีวะ

เจรจาชอบ พูดถ้อยคำที่ไม่มีโทษ

กระทำชอบ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

เลี้ยงชีพชอบ ประกอบอาชีพสุจริต

มีความประพฤติดีงาม

มีระเบียบวินัยที่ดีงาม

มีอาชีพสุจริต มีความเป็นอยู่ที่ดี ที่เจริญ

จิตสิกขา

6. สัมมาวายามะ

7. สัมมาสติ

8. สัมมาสมาธิ

พยายามชอบ มีความเพียรพยายาม

ระลึกกชอบ รู้ตัวอยู่เสมอ

ตั้งจิตชอบ มีจิตใจที่แน่วแน่

มีความพร้อมทางด้านคุณธรรม

มีคุณภาพจิตดี มีความเชื่อมั่นตั้งใจในความดี

มีสุขภาพจิตดี มีสรรถภาพจิตดี

พระธรรมปิฎกย้ำว่า “สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ” เป็นแกนนำ เป็นต้นทางและเป็นตัวยืนของกระบวนการศึกษาทั้งหมดสัมมาทิฏฐิ คือปัญญาขั้นสูงที่เกิดจาก การสั่งสอนอบรมในด้านจิตใจ จนเห็นสัจจะทั้งปวงว่าอะไรควรข้องแวะ อะไรควรละอย่างชัดเจน การจัดการศึกษาจนได้ปัญญาประเภทสัมมาทิฏฐิ คือการวางรากฐานความถูกต้องให้แก่วิชาการทั้งปวง ความรู้ใด ๆ ก็ตามที่ตั้งอยู่บนสัมมาทิฏฐิ ล้วนเป็นความรู้ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร ๆ แต่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ฝ่ายเดียว พื้นฐานสำคัญของการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นแกนกลาง
พระพุทธองค์ก็ได้ชี้ชัดว่าการเกิดสัมมาทิฏฐิมาจากเหตุสองอย่าง คือ

         1. ปรโตโฆสะ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายนอก เช่น การแนะนำ การถ่ายทอด การโฆษณา คำบอกเล่า ตลอดจนการเลียนแบบจากพ่อ แม่ ครู เพื่อน เป็นต้น

         2. โยนิโสมนสิการ คือปัจจัยกระตุ้นการเรียนรู้จากภายใน หมายถึงการคิดอย่างแยบคาย หรือความรู้จักคิด คิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีกระบวนการ คิดรอบด้าน หรือคิดตามแนวทางปัญญา คือ รู้จักมอง รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ ตามความเป็นจริง



         กล่าวโดยสรุป การศึกษามีหน้าที่สร้างสรรค์ทั้งสองด้านไปพร้อมกัน คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้ถึงความสมบูรณ์และสร้างสรรค์อารยธรรมที่ส่งเสริมให้ระบบความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งเจริญงอกงามไปในวิถีทางที่เกื้อกูลกันยิ่งขึ้น ๆ การศึกษาที่แท้คือ การพัฒนาชีวิตบุคคลให้สมบูรณ์พร้อมไปด้วยกันกับการสร้างสรรค์อารยธรรมที่ยั่งยื่น นักการศึกษาที่ยึดมั่นในหลักของพระพุทธศาสนา ก็พยายามพิจารณาตรวจสอบปัญหาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ใช้หลักศาสนานำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษา เราก็เริ่มเห็นปัญหาและสาเหตุแห่งปัญหาอย่างชัดเจนว่า การศึกษาที่ขาดดุลยภาพเป็นสาเหตุแห่งวิกฤตการณ์ในด้านต่าง ๆ จึงได้หันกลับมาพิจารณากันว่า การจัดการเรียนการสอนในอนาคตมีความจำเป็นต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นจึงมีความเห็นพ้องกันว่าควรจะปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน โดยได้นำเอาหลักการของพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานในด้านการเรียนการสอน ด้วยตั้งความหวังร่วมกันว่า การจัดการเรียนการสอนอันมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เพราะพระพุทธศาสนาเหมาะสมอย่างยิ่งกับสังคมไทย ก็จะก่อให้เกิดดุลยภาพแห่งการศึกษา และการพัฒนาสังคมเพราะพระพุทธศาสนามีหลักธรรมที่แน่นอนเป็นหลักในการดำเนินชีวิต เช่น ศีล 5 ก็ควบคุมการ ดำรงชีวิตของแต่ละบุคคลและเชื่อมั่นว่าการศึกษาที่สมดุลและการพัฒนาที่สมบูรณ์ เช่นนี้จะเป็นพลวปัจจัยให้เกิดสังคมที่ปกติสุขที่ มนุษย์ สัตว์ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม จะอยู่ร่วมกัน และพึ่งพาอาศัยกันด้วยสันติ บนพื้นฐานแห่งความเมตตาธรรม อันเป็นแกนนำแห่งสัมพันธภาพที่ไร้พรมแดนก็เพราะอาศัยหลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางนำมาซึ่งสุขของสรรพสิ่งทั้งปวง การศึกษาตามหลักพระพุทธศาสนาเป็นการศึกษาระบบกัลยาณมิตรระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งในปัจจุบันครูกับศิษย์มีความปฏิสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ ห่างกันมาก ครูทำหน้าที่เพียงบรรยาย (สิปปทายก) แล้วก็จบออกไป โอกาสที่ครูและศิษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ทางความรู้ก็ไม่มี ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาสมัยก่อนแบบตะวันออก เช่น การเรียนแพทย์ แพทย์ที่มีชื่อเสียง เช่น หมอชีวกโกมารภัจจ์ ไปเรียนที่เมืองตักสิลา หลักสูตร 14 ปี ต้องเรียนวิชาการแพทย์ 7 ปี อยู่ปรนนิบัติรับใช้อาจารย์อีก 7 ปี ได้รับการถ่ายทอดความรู้ความประทับใจในจรรยาบรรณต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแพทย์ รวมทั้งศีลธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาด้วยนี้คือการสอนแบบตะวันออกและเป็นระบบที่ปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน ระบบกัลยาณมิตรได้พังทลายแล้ว เพราะแนวคิดและค่านิยมแบบตะวันตก และการศึกษาสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทโดยเน้นปรัชญาการศึกษาตามรูปแบบทางตะวันตกมากเกินไป โดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคมไทย ทำให้เกิดการทวนกระแสระหว่างปรัชญาการศึกษาตะวันตกและวัฒนธรรมไทย

            เพราะเหตุนี้ การศึกษาแก้ไขปัญหาของสังคมดังกล่าว ตัวแปรที่สำคัญก็คือการจัดการศึกษาให้ถูกต้องโดยให้เหมาะสมกับ
วัฒนธรรมของสังคมไทย นั่นคือการจัดการศึกษาโดยอาศัยแนวคิดของ “การศึกษาเชิงพุทธ” ซึ่งเป็นการศึกษาที่จะต้องเน้นระบบกัลยาณมิตร และความสมดุลระหว่างความเจริญทางด้านวัตถุกับจิตใจควบคู่กันไป โดยบุคคลที่ได้รับการศึกษาด้านนี้จะได้รับผลตามความมุ่งหมายของ
การศึกษาทั้งในแง่คุณสมบัติประจำตัวกล่าวคือ มีปัญญาและกรุณา ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาในแง่ของทฤษฎีเชิงพุทธสามารถดับความทะยานอยากสิ่งของที่เกินความจำเป็นได้และในแง่ของการดำเนินชีวิต จะสามารถฝึกฝน อบรม ตนเองได้ดีทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ สมบูรณ์ด้วยวิชาและจรณะ และจะสามารถบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจนั่นก็คือการบรรลุถึงความไม่เห็นแก่ตัวซึ่งจะนำไปสู่ภาพรวมของการพัฒนาทางสังคมโดยอาศัยแนวคิดการศึกษาเชิงพุทธเป็นหลักในการจัดการศึกษา เพื่อการศึกษาที่สมบูรณ์และเพื่อความสงบสุขของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์ต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 444773เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท