การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก


คุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

        ช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กออกมาถี่มาก (2554) โดยเฉพาะกรณียุบ หรือไม่ยุบ ต่างฝ่ายก็มีเหตุผลที่น่าฟัง ในฐานะผู้เขียนเป็นผู้วิจัยวิทยานิพนธ์ป.เอกเรื่องการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ ได้นำเหตุผลของผู้เสนอแนวทางทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ยุบ และไม่ยุบ ก็น่าสนใจทั้งสองฝ่าย

        หากหาข้อยุติไม่ได้ แน่นอนว่าคงไม่สามารถทำให้โรงเรียนมีคุณภาพได้ น่าจะพบกันครึ่งทาง ขอให้ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพ ถ้าการยุบแล้วทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพอ่านออก เขียนได้เก่งขึ้นก็น่าจะยุบ แต่ถ้ายุบแล้วทำให้ผู้เรียนยิ่งแย่ลงก็ไม่ควรยุบ เหตุผลที่น่าฟังประการหนึ่งก็คือ ที่มาของโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าว มาจากสาเหตุใด ถ้าเป็นโรงเรียนในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญ จัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับลูกหลานในชุมชนแห่งนั้นมาโดยตลอด และเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาตั้งแต่ก่อตั้งจนบัดนี้ และที่เล็กลงเพราะจำนวนประชากรลดลง การคุมกำเนิดได้ผล จากเดิม 108 คน เหลือเพียง 90 คน ก็เป็นเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว ชุมชนเหล่านั้นเขาพอใจในการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ของบุตรหลานของเขา หากเก่งมาก เป็น"ไผ่ลอดกอ" เขาก็จะส่งไปเรียนต่อมัธยม อุดมศึกษาก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ผู้เขียนเคยไปศึกษาสภาพการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ติดชายแดนต่างประเทศ เคยไปพูดคุยกับชุมชนที่มีบุตรหลานเรียนที่โรงเรียนแห่งนั้น ส่วนมากพึงพอใจกับสิ่งที่โรงเรียนบริหารจัดการ ตามสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ทุกอย่างมีครบ Internet จานดาวเทียม การเรียนรู้ทางไกล คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์มีหลายเครื่อง การติดต่องาน การส่งงานทาง E-Office ถึงสำนักงานเขตก็ดำเนินการได้ ครูที่นั่นก็ไม่อยากกลับเข้าไปอยู่เมืองอยู่ร่วมกันแบบทีมงานคุณภาพ ลักษณะแบบนี้ ไม่ควรที่จะไปยุบโรงเรียน แม้จะมีเด็กเพียง 36 คน แต่บางโรงเรียน รูปแบบการบริหารจัดการที่ด้อยคุณภาพ ดังคำที่ผู้นำเสนอข่าวช่วงนี้ว่า โรงเรียนเล็กลง เพราะการบริหารโรงเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ จากเดิมที่มีเด็ก 145 คน ขณะนี้เหลือเพียง 70 คน ถ้าวิเคราะห์สาเหตุที่โรงเรียนเล็กลง เพราะเด็กย้ายไปเรียนที่โรงเรียนอื่น เพราะอยากให้เด็กมีคุณภาพ โรงเรียนควรสำรวจว่า โรงเรียนนี้ มีเด็กในเขตบริการเท่าไร ไปเรียนในเขตเทศบาล ในตัวเมือง ในโรงเรียนเอกชนอื่นๆเท่าไร ทำให้โรงเรียนเล็กลง ไม่ใช่เพราะสาเหตุที่น่าเชื่อถือ ควรที่จะนำมาพิจารณา ควรที่จะแก้ปัญหาอย่างไร ถึงจะยุบ ก็ไม่น่าจะทำให้เด็กเหล่านี้ มีคุณภาพขึ้น จึงเป็นประเด็นที่น่าคิด ท่านผู้อ่าน คงเข้าใจว่า ผู้เขียนไม่เข้าข้างนโยบาย สพฐ. ที่จะให้มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ขอเรียนว่า ไม่ใช่ เห็นด้วยกับ 137 โรงเรียน ที่จะยุบ เพราะจะทำให้เกิดความคุ้มค่าในด้านงบประมาณ แต่ในขนาด 40 คนลงมา ควรที่จะเข้าไปศึกษาสภาพจริงว่า เป็นความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ การบริหารจัดการโรงเรียน น่าจะเป็นแนวทางสำหรับนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก มีมากมายหลากหลายแนวทางที่จะนำไปใช้ได้ กับบริบท สภาพ ของแต่ละโรงเรียน ผู้เขียนเคยมีแนวคิดว่า น่าจะมีบริษัทเอกชน ที่เข้ามาทำสัญญา กับ สพฐ. ว่า รับเข้าไปบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ด้อยคุณภาพ ภายในระยะเวลา 3 ปี แล้วยืนยันว่าจะมีคุณภาพขึ้น(ควรมีเป้าหมาย) โดยทำสัญญาจ้าง ในวงเงิน เท่ากับเงินเดือนจ่ายครูของโรงเรียนนั้นต่อ 1 เดือน คูณ ด้วย 36 เช่น โรงเรียนขนาดเล็กแห่งหนึ่งมีเด็ก 42 คน  มีครู3คน ผอ.และครู คศ.3 ใน1เดือนรับเงินเดือน ประมาณ 120,000 บาท (คนละ 40,000 บาท) ระยะเวลา 3 ปี ต้องจ่าย 4,320,000 เชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมารับจ้าง เพียง 3 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาให้ได้ เช่น ครูจบ ป.โทคณิตศาสตร์ ภาษาไทย ถาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ มารับทำสัญญา และแก้ปัญหาได้แน่นอน (ถ้าไม่ได้ต้องมีการปรับ หรือมีการควบคุมกำกับเป็นรายภาคเรียนโดยภาครัฐ) การคิดนอกกรอบ ในสิ่งที่เป็นไปได้ น่าจะเป็นวิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา

        คิดว่าเรื่องการแก้ปัญหาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในอนาคตคงพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ต้องการยุบ กับผู้ไม่ยุบ เชื่อว่าการยุบจะเกิดขึ้น แต่คงไม่มากถึง 7000 แห่ง ส่วนจะเท่าไร ก็คงมาจากเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างรับได้ จะได้ติดตามข่าวกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 444694เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2011 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ในความคิดเห็นส่วนตัว คิดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ไม่น่าจะเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดคุณภาพ แต่สัดส่วนครูต่อนักเรียนน่าคิด เพราะดูที่ผลการสอบ O-net มีโรงเรียนใหญ่หลายโรงเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ในขณะที่โรงเรียนเล็กหลายโรงเรียนผลการสอบอยู่ในระดับดี ถ้าดูที่บริบทดังที่ผู้เขียนกล่าวถึง น่าจะเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าศึกษา เพราะการเกิดขึ้นของโรงเรียน ชุมชน บางหมู่บ้านมีอยู่ 100 หลังคาเรือน และเป็นอย่างนี้มาแต่ตั้งโรงเรียน อยู่ ๆ จะให้มีนักเรียนมากขึ้นกว่าประชากร 100 หลังคาเรือน มันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แล้วคุณภาพครูและ สพท. ได้นำมาคิดอีกหรือไม่ ถ้านำเอาบุคลากร ขาดประสิทธิภาพ ไปรวมกันทำให้ใหญ่ขึ้น คิดว่าจะเพิ่ม ประสิทธิภาพ หรือว่าเป็นศูนย์รวมของความด้อยคุณภาพ ถ้าเรายังบริหารจัดการแบบเดิม เห็นด้วยกับการยุบไม่ยุบอยู่ที่คุณภาพ ชุมชน บริบท ไม่น่าจะอยู่ที่เล็กหรือใหญ่ ครับ

ขอให้ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพ (ถ้าไม่ยุบ)

เขตพื้นที่นี่แหละ ตัวสำคัญ ขาดข้อมูลและไม่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เกี่ยงกันระหว่าง ฝ่ายแผน กับ ศน.

สพฐ. เขาก็ไม่ได้เร่งให้ยุบ แต่จะอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

โรงเรียนก็ทำข้อตกลงกับเขต เขตก็ทำแผน ส่ง สพฐ. มันก็จบ

ข้อสำคัญ ถ้าชุมชนเขาเห็นความสำคัญ ว่าหมู่บ้านเล็กๆ ของเขา

ต้องมีโรงเรียน ผอ.เขต เก่งแค่ไหน ก็ยุบไม่ได้

ขณะนี้ ข้างบนก็ต้อง นิเทศ กำกับ ติดตาม อย่างใกล้ชิด

เลิกขู่ เลิกพร่ำ เลิกบ่น กันเสียที และอย่าคิดว่า คะแนนเป็นตัวชี้วัดทั้งหมด

เพราะคำว่าคุณภาพโรงเรียน ไม่ได้ชี้วัดที่คะแนนอย่างเดียว

สมศ เขาดูครอบคลุมทุกเรื่อง คะแนนอาจพลาดไปบ้าง แต่คุณธรรม ความคิดสร้างสรรค์

แหล่งเรียนรู้ นวัตกรรม และโครงงาน งานวิจัย ทุกอย่างพอเพียงก็ผ่านได้

ดังนั้น จึงคิดว่า สพฐ. ต้องหมั่นฝึกปรือ เขต พื้นที่ ให้ทำงานอย่างเป็นระบบ และมีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ใช่เก่งพูดอย่างเดียว

ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้เปิดอ่าน บทความนี้ มีมาก ถึง 73 ท่าน แต่ละท่านล้วนแต่มีความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ และให้ความตระหนักต่อคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก ผมคิดว่าการที่จะบริหารจัดการให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพ ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความเล็กของโรงเรียนเป็นจุดเด่น ไม่ใช่จุดด้อย มันอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้อง จะแก้ปัญหาหรือไม่ และข่าวล่าสุด ว่าด้วยผลสัมฤทธิ์ NT ก็ยังยืนยันว่า โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้มีผลสัมฤทธิ์ตำ ผมเห็นด้วยกับท่าน ผอ.ชยันต์ และ ท่านฐาปนพงศ์ ปัญหาทุกอย่างมีทางออกอยู่แล้ว แต่คนแก้ปัญหา จะใช้หลักคิดวิธีการอย่างไร ให้เหมาะสม รับรองว่า ก้าวไกลในเรื่องคุณภาพ ในเบื้องต้น ก็อยู่ที่ผู้บริหารระดับโรงเรียน และครูที่โรงเรียน ถ้าช่วยกัน แก้ปัญหา คิดว่าจะสำเร็จ ส่วนระดับเขตพื้นที่ หรือ สพฐ. ควรต้องลงไปสนับสนุนให้เป็นรูปธรรม ว่าปัญหาอยู่จุดใด แล้วก็แก้ให้ถูกจุด

ดร.เพชร แก้วดวงดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท