พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น


พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น [1] 

 

       คำชี้แจง "บทความนี้เป็นผลจากที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปศึกษาดูงานและสัมมนาวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๔" 

 

ความนำ

       ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๑,๓๐๐ ปีนับจากวันที่พระพุทธศาสนาเข้าไปหยั่งรากลงในดินแดนญี่ปุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน  ว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากชีวิตของเราท่านทั้งหลาย  ที่เคยประสบทั้งช่วงเวลาอันหอมหวานและช่วงเวลาอันขมขื่น  ยามใดที่บ้านเมืองสงบสุขและผู้นำบ้านเมืองให้ความอุปถัมภ์ค้ำชู  พระพุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรือง  ยามใดที่บ้านเมืองผันผวนไร้สันติสุข  ทั้งผู้นำบ้านเมืองก็ทอดทิ้งหรือเบียดเบียนพระพุทธศาสนา  พระพุทธศาสนาก็ถึงความเสื่อมถอย  กล่าวได้ว่าความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นล้วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองแต่ละยุคสมัยไม่มากก็น้อย  ดังนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นโดยย้อนกลับไปดูภูมิหลังตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน  จึงเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้คำตอบว่าทำไมพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นจึงมีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้   

      ในบทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอประวัติย่อของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น  โดยแบ่งออกเป็น ๓ ยุคหลัก คือ (๑) ญี่ปุ่นยุคเก่า (Classical Japan) ได้แก่ ยุคอาซูกะ ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาถูกนำเข้ามาเผยแผ่ในญี่ปุ่นจากเกาหลีแล้วเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่น  ต่อด้วย ยุคนารา ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญแพร่ขยายไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า  จนมีนิกายเกิดขึ้นจำนวนมาก   และยุคเฮอัน  ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของนิกายหลัก ๒ นิกาย คือ นิกายเทนได และนิกายชินงอน   (๒) ญี่ปุ่นยุคกลาง (Medieval Japan) หรือเรียกอีกอย่างว่า ยุคศักดินา (Feudal Japan) เป็นยุคที่ญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในระบอบโชกุน  กินเวลายาวนานประมาณ ๘๐๐ ปี  นับตั้งแต่ยุคคามาคุระไปจบลงที่ยุคเอโดะ  พระพุทธศาสนาในยุคนี้มีทั้งเจริญและเสื่อมตามสถานการณ์ของบ้านเมืองและนโยบายของผู้นำแต่ละยุคสมัย  นิกายที่เจริญรุ่งเรืองในยุคนี้ คือ นิกายเซน  นิกายโจโด (สุขาวดี)  และนิกายนิชิเรน   และ (๓) ญี่ปุ่นยุคใหม่ (Modern Japan)  ตั้งแต่การปฏิรูปสมัยเมจิจนถึงปัจจุบัน  เป็นยุคสิ้นสุดการปกครองของระบอบโชกุน  เป็นยุคสิ้นสุดการปิดประเทศ  เป็นยุคฟื้นฟูอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดิขึ้นมาใหม่  เป็นยุคแห่งลัทธิชาตินิยมแบบชินโต  และเป็นยุคแห่งการกวาดล้างพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง  ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อญี่ปุ่นสิ้นสุดยุคเมจิและเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย  พระพุทธศาสนาได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่   มีกลุ่มองค์กรทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมาก  มีการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบสมัยใหม่  โดยมีการก่อตั้งโรงเรียน  วิทยาลัย  มหาวิทยาลัย  และสถาบันวิจัยทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น             

  

ก. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคเก่า (Classical Japan)

  

ยุคอาซูกะ (Asuka Period) 

     ๑. ยุคอาซูกะของญี่ปุ่น (ค.ศ. ๕๓๘-๗๑๐/พ.ศ. ๑๐๘๑-๑๒๕๓)  อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับยุคราชวงศ์ถังของจีนและยุคสามอาณาจักรของเกาหลี (Three Kingdoms of Korea)  เฉพาะในจีนและเกาหลีนั้นถือว่าเป็นยุคทองพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว  พระพุทธศาสนาได้ถูกนำเข้าไปเผยแผ่ในญี่ปุ่นจากอาณาจักร บักเจ/ปักเช (Baekje/Paekche) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามอาณาจักรของเกาหลีสมัยนั้น  โดยผู้ครองนครบักเจได้ส่งพระพุทธรูป  คัมภีร์ และเครื่องบูชาอื่นๆ ไปถวายพระจักรพรรดิกิมเมอิ (Kimmei) ของญี่ปุ่นยุคนั้น

     ๒. ต่อมาเจ้าชายโชโตกุ (Prince Shotoku, ค.ศ. ๕๗๔-๖๒๑/พ.ศ. ๑๑๑๗-๑๑๖๔) ผู้สำเร็จราชการพระจักรพรรดินีซุยโกะ (Impress  Suiko) ได้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติ (State Religion) โดยประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตราที่ ๑๑ (มี ๑๗ มาตรา) ว่า ให้ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะอันสูงสุด นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงรอบรู้ในพระพุทธศาสนา  ได้แต่งคัมภีร์อรรถกถาอธิบายพระสูตรมหายาน คือ ศรีมาลาเทวีสีหนาทสูตร วิมลเกียรตินิเทศสูตร และสัทธรรมปุณฑริกสูตร และทรงให้สร้างวัดจำนวนมาก เช่น วัดโฮเรียว-จิ (Horyu-ji Temple) ซึ่งเป็นวัดไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

  

ยุคนารา (Nara Period)

     ๓. ยุคนารา (ค.ศ. ๗๑๐-๗๘๔/พ.ศ. ๑๒๕๓-๑๓๒๗) เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญแพร่หลายไปในประชาชนทุกหมู่เหล่า  โดยพระจักรพรรดิโชมุ (Shomu) ทรงให้สร้างวัดทั่วทุกจังหวัด  โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดโทได-จิ (Todai-ji)  เมืองนารา  ถือว่ายุคนี้เป็นยุคทองแห่งพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น  เช่นเดียวกับยุคราชวงศ์ถังของจีนและยุคสามอาณาจักรของเกาหลี[2]  

    

 

      หมายเหตุ: ยุคราชวงศ์ถังของจีน ถือว่าเป็นยุคทองของจีนที่มีเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐิกิจ  การเมือง  วัฒนธรรม และศาสนา อยู่ระหว่าง    ค.ศ. ๖๑๘-๙๐๗ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฉางอาน หรือซีอาน  อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับยุคสามอาณาจักรของเกาหลี ได้แก่ อาณาจักรโกกุเรียว (Goguryeo) อาณาจักรซิลลา (Silla) และอาณาจักรบักเจ (Baekje/Paekche)

    

 

     ๔. ในยุคนารานี้มีนิกายทางพระพุทธศาสนาจากประเทศจีนเข้ามาถึง ๖ นิกายด้วยกัน ได้แก่  ๑. นิกาย  ซานรอนหรือมาธยมิกะ (Sanron) ๒. นิกายโฮสโสหรือวิชญานวาท (Hosso) ๓. นิกายเคงอนหรืออวตังสกะ (Kegon) ๔. นิกายริตสึหรือวินัย (Ritsu) ๕. นิกายกุศะหรืออภิธรรมโกศะ (Kusha) ๖. นิกาย โจจิตสึ หรือ  สัตยสิทธิ (Jojitsu) โดยสองนิกายหลังสืบทอดมาจากนิกายฝ่ายหีนยาน  

       

ยุคเฮอัน (Heian Period)

     ๕. ในปี ค.ศ. ๗๘๔ (พ.ศ. ๑๓๒๗) ญี่ปุ่นได้ย้ายจากเมืองนาราไปสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่เรียกว่า   เฮอัน (Heian) หรือเมืองเกียวโตปัจจุบัน (Kyoto) จึงเรียกยุคนี้ตามชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า ยุคเฮอัน (ค.ศ. ๗๙๔-๑๑๘๕/พ.ศ. ๑๓๓๗-๑๗๒๘) แล้วเมืองนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา   

     ๖. ในยุคนี้มีนิกายสำคัญที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีนอีก ๒ นิกาย คือ นิกายเทนได (Tendai) หรือนิกาย เทียนไท้ (Tientai)[3] ในภาษาจีน ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกตามชื่อภูเขาลูกหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน นิกายนี้นับถือคัมภีร์ สัทธรรมปุณฑริกสูตร ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ถูกต้องที่สุด และอีกนิกายหนึ่ง คือ นิกายชินงอน (Shingon) หรือนิกายมนตรยาน (วัชรยาน) ซึ่งเป็นนิกายที่เน้นเรื่องเวทมนตร์คาถาและการถ่ายทอดคำสอนเป็นความลับระหว่างอาจารย์กับศิษย์ (Esoteric Buddhism)   สองนิกายนี้เจริญรุ่งเรืองมากจนแผ่รัศมีครอบงำนิกายอื่นทั้งหมด 

       

 

       หมายเหตุ: นิกายเทียนไท้ ก่อตั้งโดยท่านชื่อ-อี่ (Chih-I, ค.ศ. ๕๓๗-๕๙๗)  เดิมคำว่า “เทียนไท้” เป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) ภาคทิศตะวันออกของประเทศจีน  

    

 

      ๗. นิกายเทนไดถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในญี่ปุ่นโดยปราชญ์ชาวพุทธท่านหนึ่งนามว่า ไซโช (Saicho, ค.ศ. ๗๖๗-๘๒๒/พ.ศ. ๑๓๑๐-๑๓๖๕) โดยท่านได้เดินทางไปศึกษานิกายเทียนไท้ที่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง  พร้อมศึกษานิกายอื่นๆ เช่น นิกายมนตรยาน นิกายเซน นิกายสุขาวดี เป็นต้น  ภายหลังเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นท่านได้ก่อตั้งนิกายเทนไดขึ้นที่ภูเขาฮิเออิ (Hiei) ใกล้เมืองเกียวโต  แล้วพยายามหลอมรวมเอาปรัชญาของทุกนิกายที่มีอยู่เข้าด้วยกัน   

     ๘. นิกายเคงอนหรือมนตรยานถูกนำเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นโดยปราชญ์ชาวพุทธท่านหนึ่งนามว่า กูไก (Kukai, ค.ศ. ๗๗๔-๘๓๕/พ.ศ. ๑๓๑๗-๑๓๗๘) ท่านนี้ถือว่าเป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้อธิบายคำสอนของท่านไซโช  ท่านไปศึกษานิกายมนตรยานที่ประเทศจีนแล้วกลับมาก่อตั้งนิกายชินงอน (Shingon) ที่ภูเขาโกยา (Koya) โดยอธิบายคำสอนลึกลับเกี่ยวกับความเป็นหนึ่งเดียวกับพระไวโรจนพุทธเจ้าตามคัมภีร์มหาไวโรจนสูตร  ท่านจัดระดับคำสอนหรือแนวคิดที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็น ๑๐ ระดับ ระดับที่ลึกซึ้งที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดคือคำสอนของนิกายชินงอนของท่าน นอกนั้นเป็นคำสอนระดับเบื้องต้นที่ยังไม่สมบูรณ์  

     ๙. ในยุคเฮอันนี้นิกายเทนไดและนิกายชินงอนเป็นนิกายที่มีอิทธิพลต่อคนชั้นสูงและปัญญาชนมาก และมีอิทธิพลทางการเมืองของญี่ปุ่น 

 

  

ข. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคกลาง (Medieval/Feudal Japan)

  

ยุคคามาคุระ (Kamakura Period)

     ๑๐. ยุคคามาคุระ (ค.ศ. ๑๑๙๒-๑๓๓๓/พ.ศ. ๑๗๓๕-๑๘๗๖) ถือว่าเป็นยุคเริ่มต้นแห่งการปกครองด้วยรัฐบาลทหารและเป็นยุคแรกของระบอบโชกุนของญี่ปุ่น เรียกว่า ระบอบโชกุนแบบคามาคุระ  (The Kamakura Shogunate) โดยผู้ก่อตั้งระบอบการปกครองแบบนี้ คือ มินาโมโต โยริโตโม (Minamoto Yoritomo,  ค.ศ. ๑๑๔๗-๑๑๙๙)

     ๑๑. ยุคคามาคุระ  ถือว่าเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของมวลชนอย่างแท้จริง (Religion of the masses)  จากที่เคยผูกขาดอยู่ในหมู่คนชั้นสูงและปัญญาชน  ยุคนี้มีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นหลายท่าน เช่น ท่านโฮเนน (Honen) ท่านชินราน (Shinran) ท่านเออิไซ (Eisai) ท่านโดเงน (Dogen) ท่านนิชิเรน (Nichiren) เป็นต้น   

     ๑๒. ยุคนี้มีแนวคิดใหม่เกิดขึ้นว่า มนุษย์ทุกชนชั้นมีธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอยู่ภายใน (พุทธธาตุ-Buddha-Nature) และสามารถได้รับความเมตตาจากพระพุทธเจ้าถ้าพวกเขามีศรัทธาตั้งมั่น  ซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ของมหายาน โดยเฉพาะแนวคิดของนิกายเทนไดที่สอนว่ามนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติแห่งพุทธะและสามารถบรรลุความเป็นพุทธะได้  ถือว่าเป็นแนวคิดที่สนับสนุนศาสนาเพื่อมวลชน 

     ๑๓. ยุคคามาคุระนี้มีนิกายพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพิ่มอีก ๕ นิกาย ทั้งเป็นนิกายที่นำเข้ามาใหม่จากประเทศจีนและนิกายที่พัฒนาต่อจากนิกายที่มีอยู่เดิม  ได้แก่ นิกายโจโด (Jodo) นิกายโจโดชิน (Jodo Shin) นิกายรินไซเซน (Rinzai Zen) นิกายโซโตเซน (Soto Zen) และนิกายนิชิเรน (Nichiren)  

     ๑๔. นิกายโจโด (Jodo) หรือ นิกายสุขาวดี ก่อตั้งโดยท่านโฮเนน (Honen, ค.ศ. ๑๑๓๓-๑๒๑๒/พ.ศ. ๑๖๗๖-๑๗๕๕) ท่านศึกษาคำสอนนิกายเทนไดที่ภูเขาฮิเออิอย่างละเอียด  แต่ไม่พอใจในคำสอนของนิกายที่มองว่าตัวเองสูงส่งกว่านิกายอื่นและต่อต้านนิกายอื่น  วันหนึ่งท่านได้ฟังคำสอนของพระจีนรูปหนึ่งชื่อ ฉานเต้า (Shandao) ที่ว่า เพียงเอ่ยนามของพระอมิตาภพุทธเจ้าด้วยจิตเปี่ยมศรัทธา  ขณะยืน เดิน นั่ง หรือนอนอยู่  ก็สามารถเข้าถึงความหลุดพ้นได้... ต่อมาปี ค.ศ. ๑๑๗๕  ท่านได้ก่อตั้งนิกายโจโดหรือนิกายสุขาวดีขึ้น ซึ่งมีรากฐานอยู่ในคัมภีร์มหาสุขาวดีวยูหสูตร  จุลสุขาวดีวยูหสูตร และอมิตายุรธยานสูตร  แล้วเผยแพร่คำสอนแบบ เนมบุตสึ (Nembutsu)[4] หมายถึง คำสอนแบบพุทธานุสติ  โดยให้ท่องบ่นหรือบริกรรมพระนามของพระอมิตาภพุทธเจ้า 

      

 

      หมายเหตุ: คำว่า “Nembutsu” (เนมบุตสึ) ตรงกับคำในภาษาจีนว่า “Nien-fo”   (เหนียนฝอ) หมายถึงการมีสติระลึกถึงพระพุทธเจ้า  หรือการน้อมเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งของสติ  ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า  “พุทฺธานุสฺมฺฤติ”   (พุทธานุสติ)

     

 

      ๑๕. นิกายโจโดชิน (Jodo Shin) หรือ นิกายสุขาวดีใหม่  ก่อตั้งโดยท่านชินราน (Shinran, ค.ศ. ๑๑๗๓-๑๒๖๒/พ.ศ. ๑๗๖๑-๑๘๐๕) ท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านโฮเนน ได้เผยแพร่คำสอนของอาจารย์ต่อมา  แล้วก่อตั้งนิกายโจโดชิน (Jodo Shin) ท่านชินรานเข้าใจธรรมชาติที่อ่อนแอของมนุษย์  และชื่อมั่นว่าความหลุดพ้นสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการยอมมอบกายถวายชีวิตอยู่ในอำนาจคุ้มครองของพระอมิตาภะ ท่านได้ละทิ้งวินัยทั้งของมหายานและหีนยานอย่างสิ้นเชิง ซึ่งท่านคิดว่าเป็นเรื่องของพระภิกษุในสมัยอดีต  จากนั้นก็ได้แต่งงานมีครอบครัว โดยคิดว่าเพื่อปรับตัวให้เข้ากับชาวบ้านแล้วจะได้ช่วยพวกเขาให้เข้าถึงความหลุดพ้น 

     ๑๖. นิกายรินไซเซน[5]:  นิกายเซนถูกนำเข้าสู่ญี่ปุ่นโดยท่านเออิไซ (Eisai, ค.ศ. ๑๑๔๑-๑๒๑๕/พ.ศ. ๑๖๘๔-๑๗๕๘) และสถิตมั่นคงโดยท่านโดเงน (Dogen) ท่านเออิไซ  ได้ศึกษานิกายเทนไดที่ภูเขาฮิเออิแล้วเดินทางไปประเทศจีน  ได้พบว่า นิกายเทนไดได้เสื่อมสูญไปหมดแล้วและการศึกษานิกายเซนกำลังรุ่งเรือง  จึงศึกษานิกายเซนแล้วนำคัมภีร์นิกายเซนจำนวนมากเข้ามาญี่ปุ่น เช่น คัมภีร์หลินฉี (Linchi-Lu) แล้วตั้งนิกายรินไซเซนขึ้นมา  นิกายนี้สอนว่าสรรพสัตว์มีธรรมชาติแห่งพุทธะอยู่ในตัว (พุทธธาตุ/Buddha-Nature)  และมีศักยภาพที่จะเป็นพุทธะได้  เพียงแต่ธรรมชาตินี้ยังถูกห่อหุ้มด้วยกิเลส  นิกายนี้เน้นการนั่งสมาธิและขบปริศนาธรรมหรือโกอาน (Koan) เช่น ก่อนมารดาให้กำเนิด หน้าตาดั้งเดิมของท่านเป็นอย่างไร หรือ เมื่อร่างของท่านถูกไฟเผาและลมพัดพาขี้เถ้าของท่านไปในอากาศ  ท่านอยู่ที่ไหนล่ะ?  

    

 

        หมายเหตุ: คำว่า “รินไซ” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อในภาษาจีนว่า “หลินฉี” (Lin-chi) ซึ่งเป็นนิกายที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นิกายรินไซเซน เน้นการใช้โกอานเป็นเครื่องมือช่วยผู้ปฏิบัติให้เข้าถึงความหลุดพ้น

 

 

      ๑๗. นิกายโซโตเซน[6] ก่อตั้งโดยท่านโดเงน (Dogen, ค.ศ. ๑๒๐๐-๑๒๕๓/พ.ศ. ๑๗๔๓-๑๗๙๖) ท่านโดเงนเดินทางไปศึกษานิกายเซนในประเทศจีน  เมื่อกลับประเทศญี่ปุ่นได้ก่อตั้งนิกายโซโตเซนขึ้นมา  ท่านโดเงนเป็นคนรักสันโดษ  ชอบปลีกวิเวก  ไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับทางโลกและไม่อยากอยู่ใต้อำนาจของพวกข้าราชการและรัฐบาลทหาร  จึงไปสร้างวัดอยู่บนภูเขา  ท่านสอนว่าการนั่งสมาธิเท่านั้นเป็นวิถีทางแห่งความหลุดพ้น  นิกายนี้สอนให้อยู่และตายอย่างสันติสุขและอย่างมีความหมาย  จึงมีเสน่ห์ดึงดูดพวกนักรบในยามถูกคุกคามจากศัตรูของตน  ลัทธิบูชิโด (Bushido/วิญญาณแห่งนักรบ) ก็พัฒนาขึ้นมาจากคำสอนของนิกายนี้ 

       

 

      หมายเหตุ: คำว่า “โซโต” เป็นคำที่เพี้ยนมาจากชื่อภาษาจีนว่า “เส้าตุง” (Tsao Tung) ซึ่งเป็นนิกายที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ นิกายโซโตเซน เน้นการปฏิบัติสมาธิหรือซาเซน (Zazen) เป็นวิถีทางแห่งความหลุดพ้น

     

 

      ๑๘. นิกายนิชิเรน ก่อตั้งโดยท่านนิชิเรน (Nichiren, ค.ศ. ๑๒๒๒-๑๒๘๒/พ.ศ. ๑๗๖๕-๑๘๒๕) ท่านนิชิเรนได้ศึกษานิกายต่างๆ ที่มีอยู่ในญี่ปุ่นขณะนั้น ๑๐ นิกาย  ท่านเห็นว่าสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นพระสูตรที่น่าเชื่อถือมากที่สุดและถูกต้องมากที่สุด  แล้วตั้งนิกายนิชิเรนขึ้นมา  ท่านสอนว่าเพียงท่องบ่นชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตรว่า “Nam Myoho Renge Kyo” (นัม  โยโฮเรงเก เกียว แปลว่า ขอความนอบน้อมจงมีแด่สัทธรรมปุณฑริกสูตร) เป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยจิตเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา  ก็สามารถเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระอมิตาภพุทธเจ้าและเข้าถึงความหลุดพ้นได้ 

  

ยุคมูโรมาชิ (Muromachi Period)

     ๑๙. ยุคมูโรมาชิ (ค.ศ. ๑๓๓๖-๑๕๗๓/พ.ศ. ๑๘๗๙-๒๑๑๖) เป็นยุคที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองด้วยรัฐบาลทหารแบบโชกุน  เป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา  วัดวาอารามได้รับการสร้างและทำนุบำรุงจากรัฐบาลทหารและประชาชนเป็นอย่างดี  มีการนำเอาศิลปะการวาดรูป  การจัดดอกไม้ การชงน้ำชา และการทำสวน จากประเทศจีนเข้ามา   

     ๒๐. อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยนี้มีบางนิกายได้รับการโปรดปรานจากราชสำนักและคนชั้นสูง จึงทำให้เกิดความอิจฉาริษยากันเองระหว่างนิกายขึ้น  ทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างนิกายและรวมทั้งต่อสู้กับรัฐบาล  โดยเฉพาะภูเขาฮิเออิ กับภูเขาโกยา  กลายเป็นฐานที่มั่นของพระนักรบ (priest-warriors) แห่งนิกายเทนไดและนิกายชินงอน พระสงฆ์ยุคนี้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและการทหารมากขึ้น 

  

ยุคโมโมยามะ (Momoyama Period)

     ๒๑. ยุคโมโมยามะ (ค.ศ. ๑๕๗๓-๑๖๐๓/พ.ศ. ๒๑๑๖-๒๑๔๖) ยังอยู่ในระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารแบบโชกุน  เริ่มขึ้นเมื่อมหาบุรุษของชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งนามว่า โอดะ โนบุนางะ (Oda Nobunaga, ค.ศ. ๑๕๓๔-๑๕๘๒/พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๑๒๕) ผู้ริเริ่มรวมชาติญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งเดียว  เขาได้โค่นล้มรัฐบาลทหารของอาชิกางะ (Ashikaga) ในปี ค.ศ. 1573/พ.ศ. ๒๑๑๖  เมื่อได้ขึ้นสู่อำนาจแล้ว  ด้วยความกลัวในอำนาจของวัดที่กำลังเพิ่มมากขึ้นและแค้นที่วัดไปเข้าข้างกับศัตรูของตน  เขาจึงหันไปกวาดล้างพระพุทธศาสนาแล้วหันไปส่งเสริมศาสนาคริสต์ด้วยเหตุผลทางการเมือง (ไม่ได้เลื่อมใสจริง)  

     ๒๒. หลังจากโนบุนางะสิ้นชีวิต  โทโยโทมิ  ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi, ค.ศ. ๑๕๓๖-๑๕๙๘/พ.ศ. ๒๐๗๙-๒๑๔๑) ซึ่งเป็นมหาบุรุษผู้รวมชาติญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่ง  ขึ้นมาครองอำนาจแทนแล้วได้กวาดล้างพระพุทธศาสนาต่อมาอีก ด้วยแนวคิดที่จะทำให้ศาสนาอยู่ภายใต้อำนาจทางโลก  จากนั้นศิลปะทางพระพุทธศาสนาก็เข้าสู่ยุคตกต่ำแล้วถูกแทนที่ด้วยศิลปะทางโลก 

  

ยุคเอโดะ (The Edo Period)

     ๒๓. ยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๘๖๗/พ.ศ.   ถือเป็นยุคสุดท้ายแห่งการปกครองแบบระบอบโชกุนของญี่ปุ่น  ยุคนี้กินเวลานานถึง ๒๖๕ ปี  ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๖๐๓-๑๘๖๘ (พ.ศ. ๒๑๔๖-๒๔๑๑)   ยุคนี้เริ่มขึ้นเมื่อมหาบุรุษของญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่งนามว่า โทคุงาวะ อิเอยะสุ (Tokugawa Ieyasu) ได้ทำการยึดอำนาจแล้วสถาปนาระบอบโชกุนแบบโทคุงาวะขึ้นในปี ค.ศ. 1603/พ.ศ. ๒๑๔๖ ที่เมืองเอโดะ (ปัจจุบัน คือ เมืองโตเกียว) เขาห้ามชาวญี่ปุ่นออกนอกประเทศและห้ามชาวต่างชาติเข้าประเทศ  ประเทศญี่ปุ่นปิดตัวเองเป็นเวลา ๒๖๕ ปี  ในยุคนี้พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นเรื่องสำหรับชาววัดล้วนๆ  วัดทางพระพุทธศาสนาที่เคยถูกกวาดล้างได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่  และศาสนาของต่างชาติคือคริสต์ศาสนาถูกกวาดล้างแทน  วัดสมัยนี้หันไปทำพิธีกรรมเกี่ยวกับงานแต่ง การเกิด และการตาย โดยมีการเรียกรับเงินบริจาคจากประชาชน  

     ๒๔. ในยุคนี้แม้สถานการณ์ของบ้านเมืองไม่เอื้ออำนวย  แต่นิกายเซนก็ยังรักษาความเจริญรุ่งเรืองไว้ได้  มีนักปราชญ์นิกายเซนเกิดขึ้นหลายท่าน เช่น ท่านฮากุอิน (Hakuin, ค.ศ. ๑๖๘๖-๑๗๖๘) เป็นผู้ที่ทำให้นิกายรินไซเซนกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง  ท่านบาโช (Matsuo Basho, ค.ศ. ๑๖๔๔-๑๖๙๔) ได้ทำให้บทกวีไฮกุ (haiku) ที่มี ๑๗ ตัวอักษรได้รับความนิยมขึ้นมา  ท่านอินเงน (Ingen, ค.ศ. ๑๕๙๒-๑๖๗๓) พระเซนนิกายหลินฉี  ชาวจีนเมืองฟูเจี่ยน  ได้รับนิมนต์ไปญี่ปุ่นในปี ค.ศ. ๑๖๕๔ แล้วก่อตั้งนิกายโอบากุเซน (Obaku Zen) และท่านเทตสึเงน (Tetsugen, ค.ศ. ๑๖๓๐-๑๖๘๒) ศิษย์ของท่านอินเงน  ได้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับราชวงศ์หมิงในปี ๑๖๘๑

     ๒๕. ในยุคเอโดะนี้นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา  ลัทธิชินโตและลัทธิขงจื๊อได้ฟื้นตัวขึ้นมา  ขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาก็ค่อยๆ เสื่อมอิทธิพลลง  สามลัทธินิกายนี้ได้แยกกันแสดงบทบาท  โดยพระพุทธศาสนาแสดงบทบาททางศาสนา (จิตใจ)  ลัทธิขงจื๊อแสดงบทบาทด้านศีลธรรม ส่วนลัทธิชินโตแสดงบทบาทด้านการเมือง  ซึ่งแนวคิดการแยกบทบาทกันของสามลัทธิศาสนานี้  จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม  ได้มีอิทธิพลต่อความคิดของชาวญี่ปุ่นตราบเท่าปัจจุบัน

 

ค. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นยุคใหม่ (Modern Japan)

 

ยุคปฏิรูปสมัยเมจิ (Meiji Restoration)

     ๒๖. เมื่อสิ้นสุดยุคเอโดะ ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดยุคแห่งการปกครองของระบอบโชกุนอันยาวนานของญี่ปุ่น  และสิ้นสุดยุคแห่งการโดดเดี่ยวตัวเองอันยาวนานของญี่ปุ่น  จากนั้นญี่ปุ่นก็เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หรือยุคแห่งการเปิดประเทศ  เรียกว่า ยุคปฏิรูปสมัยเมจิ (ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๔๕/พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๘๘)  ในยุคนี้มีการฟื้นฟูสถานะของพระเจ้าจักรพรรดิให้กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไร้อำนาจภายใต้รัฐบาลทหารของระบอบโชกุนเป็นเวลาถึง ๘๐๐ ปี  ญี่ปุ่นได้เปิดประตูสู่โลกและเผชิญกับวัฒนธรรมและเทคโนโลยีตะวันตก  กล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นสมัยเมจิได้รับเอาวัฒนธรรมและเทคโนโลยีตะวันตกเป็นหนทางสร้างญี่ปุ่นให้ทันสมัยและรื้อฟื้นสถานะของพระเจ้าจักรพรรดิให้อยู่ในฐานะผู้ทรงอำนาจปกครองสูงสุดของญี่ปุ่น

     ๒๗. ในยุคนี้ได้เกิดลัทธิชาตินิยมแบบชินโต (Shinto Nationalism) แล้วนำไปสู่การกวาดล้างพระพุทธศาสนาเพื่อชำระศาสนาชินโตให้บริสุทธิ์จากอิทธิพลของพระพุทธศาสนา เช่น การเผาทำลายพระพุทธรูป  คัมภีร์  ศิลปกรรมต่างๆ  กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาได้ถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลยุคเมจิ  พระสงฆ์ถูกบังคับให้ลาสิกขาไปใช้ชีวิตเป็นฆราวาส  ทำให้พระพุทธศาสนาหมดสิ้นบทบาททางสังคมและการเมือง ขณะเดียวกันศาสนาชินโตได้กลายเป็นศาสนาแห่งรัฐหรือศาสนาทางการเมืองที่แสดงความเป็นชาติญี่ปุ่น  

     ๒๘. ยุคสมัยนี้พระเจ้าจักรพรรดิได้รับการเคารพบูชาในฐานะเทพเจ้าตามความเชื่อของศาสนาชินโต  ความเชื่อและการเคารพบูชาแบบพุทธถูกสั่งห้ามโดยรัฐบาลยุคเมจิ  วัดหลายแห่งและศิลปะอันทรงค่าจำนวนมากถูกทำลายและถูกนำไปขาย  พระสงฆ์จำนวนมากถูกบังคับให้ลาสิกขาไปใช้ชีวิตเป็นฆราวาส

 

ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒-ปัจจุบัน

     ๒๙.  ยุคปฏิรูปสมัยเมจิสิ้นสุดลงพร้อมกับการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ของญี่ปุ่น  การปฏิรูปในยุคเมจิมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนาในยุคต่อมาอย่างมาก  ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ การแต่งงานมีครอบครัวของพระสงฆ์  เนื่องจากพระพุทธศาสนาถูกกวาดล้างและขาดการส่งเสริมสนับสนุน  พระสงฆ์จึงตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับให้หารายได้มาเลี้ยงชีพและเพื่อรักษาวัดวาอารามของตนให้อยู่รอด  ทำให้เกิดความย่อหย่อนในพระธรรมวินัย  นอกจากนั้น ในยุคเมจิรัฐบาลยังได้ออกกฎหมายอนุญาตให้พระสงฆ์ทุกนิกายสามารถแต่งงานมีครอบครัวได้  ปัจจุบันนี้พระสงฆ์ที่แต่งงานมีครอบครัวมีอยู่ในเกือบทุกนิกายของพระพุทธศาสนาในญี่ปุ่น  ยกเว้นพระภิกษุหนุ่มที่กำลังอยู่ในขั้นฝึกหัดพัฒนาตัวเอง    

     ๓๐. พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นรูปแบบพระพุทธศาสนาอันเกิดจากปฏิกิริยา (Reaction) หรือการปรับตัวต่อการถูกกวาดล้างในสมัยเมจิและการเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่จากประเทศตะวันตก  ผลการปรับตัวนี้นำไปสู่การเกิดกลุ่มองค์กรชาวพุทธจำนวนมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการศึกษา วัดหลายแห่งได้นำเอาการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาและปรับเปลี่ยนวัดให้กลายเป็นสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียน  วิทยาลัย  มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยทางพระพุทธศาสนา  ที่ให้การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม เช่น

   -มหาวิทยาลัยโอตานิ (Otani University) ของนิกายชิน (Shin) ที่เมืองเกียวโต 

   -มหาวิทยาลัยเรียวโกกุ (Ryokoku University) และมหาวิทยาลัยบุกเกียว  (Bukkyo University) ของนิกายโจโด (Jodo) ที่เมืองเกียวโต

   -มหาวิทยาลัยฮานาโซโน (Hana-Zono University) ของนิกายรินไซเซน (Rinzai Zen) ที่เมืองเกียวโต

   -มหาวิทยาลัยชูชิอิน (Shuchiin University) และมหาวิทยาลัยโกยาซัน (Koyasan University) ของนิกายชินงอน(Shingon) ที่เมืองเกียวโต

   -มหาวิทยาลัยโกมาซาวะ (Komazawa University) ของนิกายโซโตเซน     (Soto Zen) ที่เมืองโตเกียว

   -มหาวิทยาลัยริสโช (Rissho University) ของนิกายนิชิเรน ที่เมืองโตเกียว

   -มหาวิทยาลัยไทโช (Taisho University) ที่เมืองโตเกียว ซึ่งให้บริการการศึกษาทั้งแก่นิกายโจโด นิกายเทนได และนิกายนิชิเรน       

   -สมาคมวิจัยพุทธศาสตร์ญี่ปุ่น (The Nippon Buddhist Research Association)

   -สมาคมอินเดียศึกษาและพุทธศาสตร์ศึกษาแห่งญี่ปุ่น (The Japanese Association of Indian    and Buddhist Studies)

      ๓๑. ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่ออิทธิพลของแนวคิดชาตินิยมแบบชินโตของยุคเมจิหมดสิ้นไป  อิทธิพลของลัทธิชินโตเสื่อมไปพร้อมกับการเมือง  สังคมและการเมืองเข้าสู่ประชาธิปไตย  ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือลัทธินิกายทางศาสนา  ส่งผลให้กลุ่มองค์กรทางพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นจำนวนมากมายหลายร้อยกลุ่มองค์กร   กลุ่มองค์กรเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีรากฐานมาจาก ๕ นิกายหลัก ได้แก่ นิกายโจโด (Jodo/สุขาวดี) นิกายชิน (Shin หรือ Jodo Shin) นิกายเซน (Zen) นิกายชินงอน (Shingon/มนตรยาน) และนิกายนิชิเรน (Nichiren/สัทธรรมปุณฑริก)

      ๓๒. กลุ่มองค์กรชาวพุทธญี่ปุ่นสมัยใหม่  ที่ถือว่ามีอิทธิพลมากในระดับนานาชาติ  ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์กรที่มีรากฐานมาจากนิกายนิชิเรน เช่น สมาคมโซกะกักไกนานาชาติ (Soka Gakkai International) แปลตามศัพท์ว่า สมาคมสร้างคุณค่า (Value-Creation Society) มีรากฐานคำสอนมากจากนิกายนิชิเรน  เป็นขบวนการชาวพุทธฝ่ายฆราวาส  นำโดยไดซากุ  อิเคดะ (Daisaku  Ikeda)  ปัจจุบันมีสาขาอยู่เกือบทั่วโลก  เน้นด้านการศึกษา  การพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์  การสร้างสันติภาพ  และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม    และอีกองค์กรหนึ่ง คือ สมาคมเรยูไกนานาชาติ (Reiyukai International) คำว่า "เรยูไก แปลตามศัพท์ว่า สมาคมมิตรภาพทางจิตใจ (association of spiritual friendship) เป็นขบวนการชาวพุทธฝ่ายฆราวาส  มีสาขาอยู่เกือบทั่วโลกเช่นเดียวกัน  มีบทบาทด้านการศึกษา  การพัฒนาคุณค่าภายในของมนุษย์  และการพัฒนาสังคม  มีรากฐานมาจากนิกายนิชิเรนเช่นเดียวกัน      

--------------------------------

 

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

-Phra Rajavaramuni. Thai Buddhism in the Buddhist World. Bangkok: Amarin Printing Group, 1987.

-History of Japanese Buddhism. http://viewonbuddhism.org/history_japanese_buddhism.html

-A Brief History of Buddhism in Japan. http://www.buddhanet.net/nippon/nippon_partI.html

-History of Japan. http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Japan



 

 

หมายเลขบันทึก: 444488เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

นมัสการครับ

Thank you for this detailed history of Buddhism in Japan.

On the right hand side column: I read but failed to understand abbreviations(?):

...”TTP PTT T จะเห็นว่า เหตุผลที่พวกพราหมณ์...

...TTP PT หมายความว่าพราหมณ์นั้นไม่ได้ถูกสร้างมาจากปากของพระพรหม...

...”TP PT นอกจากนั้น วิธีการปฏิเสธระบบวรรณะ...

Can you please explain?

เจริญพรคุณผู้ถามปัญหา

ตรงที่มีอักษรภาษาอังกฤษนั้นที่ถามมานั้น เดิมเป็นตัวเลขเชิงอรรถบอกแหล่งที่มาของข้อมูลอ้างอิง แต่พอนำมาขึ้นเวบมันกลับเพี้ยนไปเป็นอย่างที่เห็นนี้

เจริญพร

อ่านบทความนี้แล้วตระหนักได้ว่าญี่ปุ่นกับพระพุทธศาสนาหลอมรวมกันอย่างแน่นแฟ้นยาวนาน และอยู่ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าญี่ปุ่นจะถูกพัฒนาไปให้ทันสมัยอย่างไร จิตวิญญาณพระพุทธศาสนาไม่เคยสูญหาย นึกถึงคำญี่ปุ่นคำหนึ่งว่า "วะบิซาบิ" (WABI-SABI) เวลาเราดูถ้วยชาที่ปั้นด้วยมือ มันอาจไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ symmetry แบบร้อยเปอร์เซนต์ หากถ้วยชาแต่ละใบมีเอกลักษณ์ของมันเอง และมีความงามที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ นี่คือความหมายของ "วะบิซาบิ" ซึ่งสะท้อนถึงการมองสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริงๆ ปราศจาก preconception ความคาดหวังหรือการปรุงแต่งใดๆ เป็นการมองโลกแบบที่เซนเรียกว่า "The Beginner's Mind" ขอบพระคุณท่านสมบูรณ์เป็นอย่างสูงค่ะที่กรุณาเขียนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในญี่ปุ่นให้ได้อ่านกัน ขอให้ท่านเดินทางโดยปลอดภัยและสวัสดีนะคะ กราบนมัสการค่ะ 

ชยาภรณ์ สุขประเสริฐ

เข้ามาอ่าน เก็บเกี่ยวความรู้เจ้าค่ะ

แต่พระอาจารย์เจ้าขา...ไม่ลงภาษาอังกฤษ ต่อหรือเจ้าค่ะ

ยังมีโครงการจะทำต่ออยู่นะ รอให้ว่างๆ ก่อน

กราบนมัสการค่ะพระอาจาย์

กราบขอบพระคุณสำหรับบทความที่น่าสนใจที่เมตตานำมาแบ่งปันอีกครั้งค่ะ

หวังว่าคงจะได้อ่านและติดตามงานดีๆ แบบนี้บ่อยๆ นะคะ

งานที่ญี่ปุ่นคงสำเร็จลงด้วยดีนะคะ

กราบสวัสดีค่ะ

เจริญพร โยมปริม ทัดบุปผา ตอนนี้กลับมาแล้ว ขออนุโมทนา

กราบนมัสการพระอาจารณ์ ข้อมูทางศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ที่ได้อ่านจากผลงานพระอาจารย์มีประโยชน์มากมายต่อผู้ที่ต้องการศึกษาด้านศาสนาในญี่ปุ่บ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างมากsoka kakai international. มีอีมั้ยเจ้าค่ะ เพื่อเป็นปัญญาบารมีของโยม

ขออนุญาตเอาไปใช้ทำรายงานนะคะ ^^

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ :)

ราบนมัสการพระอาจารย์ 

              ขออนุโมทนาบุญ ที่มีความเิอื้อเฟื้อ  แบ่งปันในความรุ้

              โยมต้องการขออนุญาต คัดลอกบทความบองช่วง มาใช้ในการเขียนรายงานการศึกษาค่ะ

               สาธุ  สาธุ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท