ทอฝัน..กับโลกใบนั้นของเธอ


            “ สายลมที่พัดผ่านกาลเวลา  หาได้หยุดยั้งความมุ่งมั่น  และความฝันได้”

        นักศึกษาพยาบาลศาสตร์  ชั้นปีที่ 4 เหมือนดอกปีบดอกน้อย ที่กำลังผลิกลีบบานใบ  ส่งกลิ่นหอมอย่างมีคุณค่า  ภารกิจสุดท้ายกว่าจะสวมหมวกขาว  คือการฝึกปฏิบัติงาน  ภาควิชาอนามัยชุมชน เป็นอีกหนึ่งภาควิชา  ซึ่งเก็บความประทับใจไว้ไม่รู้ลืม  ชีวิตการทำงานที่แตกต่างจากการขึ้น Ward การทำงานกับชุมชน  วิถีชีวิตที่แตกต่าง ความอบอุ่นหาได้จากชุมชน  รอยยิ้มหาได้อย่างมิตรภาพ  พี่ ๆ ที่สถานีอนามัย  คือ “ หมอใหญ่ของชาวบ้าน  ที่ทำหน้าที่ได้หลาย ๆ อย่างในคน ๆ เดียวกัน นักศึกษาพยาบาลตัวน้อย ๆ ได้เก็บเกี่ยวความฝันไว้  สักวันอยากที่จะทำงานเหมือนพี่ ๆ บ้าง  คงจะทำให้ชีวิต  มีชีวาอีกนาน

        ความฝันได้ถูกเก็บพับไว้ในลิ้นชัก  ที่มีแม่กุญแจดอกใหญ่ล็อคไว้  ด้วยความเป็นพยาบาลวิชาชีพ  ที่ทำงานในหอผู้ป่วยในนานกว่าสิบปี  สิ่งที่ได้พบเจอ  และแวะเวียนตลอดเวลาคือ บุญ เช้า-บ่าย-ดึก สิ่งที่ทักทายยามพบเจอ  คือ  ผู้ป่วย  ที่ทำงาน  และบ้าน  วงจรชีวิตใน 24 ชั่วโมง  คงดูเหมือนไม่แตกต่างกับวงจรชีวิตของยุงลายในหนึ่งสัปดาห์  ชีวิตหลายชีวิตได้แวะเวียนเปลี่ยนหน้ามาใช้บริการในหอผู้ป่วย  บางคนโชคดีที่ได้มีโอกาสเดินกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม บางคนโชคร้ายที่ทิ้งลมหายใจไว้ตรงนี้  ทั้งๆที่นี่มิใช่บ้านที่เขาเคยอยู่ ไม่ใช่ญาติพี่น้องที่เขาคุ้นหน้า เคยตา  บางคนไม่มีแม้กระทั่งร้องขอโอกาสตายในสถานที่ ๆ เขาอยากตาย  และความตายอย่างไร้ศักดิ์ศรี  ไร้ญาติพี่น้อง  และบุคคลอันเป็นที่รักอยู่ใกล้ ๆ ในวินาทีของลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต บางครั้งเสียงร้องให้ของการสูญเสีย  ความชุนมุนวุ่นวายของญาติ  ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังช่วยฟื้นคืนชีพ กลับเป็นการขัดขวางการทำงานไปเสียอย่างนั้น  โดยที่เราคิดว่าเราต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดตามหลักวิชาการให้แล้วเสร็จไป  ผลคือถ้าไม่ตายก็ฟื้น คือรักษาต่อ ถ้าตายก็คือตาย

       ผู้ป่วยบางคนที่เทียวเข้า  ออกโรงพยาบาลเหมือนบ้านหลังที่สอง  เราก็ได้เพียงตั้งคำถามว่า  “ ทำไมมาบ่อยจัง  ไม่เบื่อบ้างเลยหรือ  บางครั้งก็มาด้วยปัญหาเดิม ”  โรคเดิม ๆ ที่ต้องพูดกันซ่ำ ๆ รักษาแบบเดิม ๆ ทำไมผู้ป่วยไม่ทำตามที่หมอเขาแนะนำ”  บางคนไม่มีญาติมาคอยดูแลเลยปล่อยคนแก่ ๆ อยู่คนเดียวตามลำพังลูกหลานเขาไม่ห่วงหรือไง  มันเป็นเพียงคำถามที่แวะเวียน  แทรกซึมผ่านลงไปในเซลล์สมองและถูกลบเลือนไปเมื่อมีงานใหม่เข้ามา  โดยที่ยังไม่มีโอกาสหาคำตอบเลย  เพราะด้วยภาระงานที่รีบเร่ง  การทำงานภายไต้กรอบของคำสั่ง  มันจึงถูกเก็บไว้เป็นเพียงคำถามที่รอคำตอบต่อไป

      ความฝันที่ถูกปิดตายเก็บไว้ในลิ้นชักเสียยาวนาน  ถูกไขกุญแจดอกฝันอีกครั้งช่วงเดือน  พฤษภาคม 53  เมื่อฉันได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายปฐมภูมิ  โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์  ฉันรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล  บ้านเหล่าไฮงาม เขตตำบลเหล่าไฮงาม  ในฐานะพยาบาลเยี่ยมบ้านมือใหม่  ที่หัวใจเกินร้อย  ฉันออกเยี่ยมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพซึ่งจะออกเยี่ยมทุกวันพุธ 

          วันแรกที่ไปทีมพาเราไป X-ray พื้นที่ก่อนไปเราได้แวะทักทายเจ้าบ้านที่ รพสต.เหล่าไฮงาม พี่สุเพลิน หัวหน้า รพสต. ยิ้มเดินออกมาทักทายเราอย่าอบอุ่น  แนะนำพื้นที่อย่างคล่องแคล่วคุ่นเคย เสร็จแล้วก็ถึงเวลาลงพื้นที่โดยทีมเรามี  น้องออย  เจ้าหน้าที่ทัตภิบาลของ รพสต.ออกเยี่ยมบ้านกับทีมเราด้วย 

           รถเยี่ยมบ้านสี่ประตู  ของโรงพยาบาลมี พขร.กิติมศักด์ โดยน้องเก่ง นักกายภาพบำบัด ของเรา เก่งขับรถมุ่งสู่จุดหมาย  ตามถนนลูกรังที่มีหลุมท้าทายอยู่เป็นระยะๆ  เราเลี้ยวเลาะตามป่าสวนยางพารา  ที่ยืนเรียงแถวตรงเหมือนมันกำลังยืนทำความเคารพแขกผู้มาเยือน  ใบยางโน้มโล่ลงมาตามแรงลมโค้งคำนับอย่างเป็นมิตร  สองฝากทางมีสวนอ้อยปลูกสลับยืนท้าลมแล้งอย่างแกร่งกล้า  ใบอ้อยปกคลุมไปด้วยฝุ่นสีแดงตามรายทาง  ไม่นานคนชำนาญพื้นที่ก็เลี้ยวเลาะมาถึงเป้าหมาย 

              เสียงเครื่องยนต์ดับสนิททีมของเราก็ลงจากรถ  เสียงแรกกับความตื่นเต้นที่ได้ยิน  ฉันได้ยินเสียงพระตีกลองที่วัด  มันเป็นเสียงที่ไพเราะกว่าเพลงลูกทุ่งที่คุ้นหู เป็นเสียงที่มหัศจรรย์ที่ไม่ได้ยินมานานกว่าสิบปี  และเห็นความเป็นอยู่วิถีชีวิตที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง   “เก่ง” นักกายภาพคนเก่งสมชื่อ  ที่ออกเยี่ยมบ้านก่อนฉันประมาณ 3 ปี ได้พาไปพบกับคุณยายคนหนึ่ง  ภาพแรกที่ฉันเห็น 

                        หญิงชราคนหนึ่งที่รอคอยการกลับมาอย่างโดดเดี่ยว

                                                 กับความหวังที่ไร้จุดหมาย........หัวใจเหมือนฟางที่กำลังมอดไฟ..       

            เอ๊ะ..มันเกิดอะไรขึ้นกับหญิงชราผู้นี้..คำถามเกิดขึ้นในใจเมื่อยามพบเห็น  ทำไม..ทำไม  และ  ทำไม สภาพที่คุณยายอยู่เป็นบ้านไม้กึ่งปูนสองชั้น  หน้าบ้านโล่งครัวใช้ประกอบอาหารอยู่หน้าบ้าน  ชั้นล่างที่คุณยายอยู่เป็นกระจกบานเลื่อนดำสนิทปิดอยู่  มีเพียงแสงสว่างส่องเข้ามาทางบานเกล็ดข้างกระจกบานเลื่อนเท่านั้น  ข้างในมืดสลัวๆเราไม่พบใครสักคน     ในบริเวรนอกบ้าน  ยายวาส หมอมาเยี่ยมเด้อ เสียงเก่งคนคุ้นเคยร้องทักทาย  ไม่มีเสียงตอบรับภายในบ้าน  มีเพียงประตูบานเลื่อนที่แย้มเปิดนิด ๆ เป็นการบ่งบอกว่ามีคนอยู่ในบ้าน เราเลื่อนประตูบานเลื่อนออก  เหมือนกับนำพลังแห่งแสงสว่างสาดเข้าไปในบ้านด้วย 

           กลิ่นอับอันไม่พึงประสงค์ลอยมาพร้อมกับละอองฝุ่นภายในบ้าน “กุ้ง” น้องเภสัชกร  ทำหน้าเหมือนลมจับ  แต่เราทุกคนกลืนมันลงไปพร้อมกับเท้าที่ก้าวเข้ามาในบ้าน  บริเวณพื้นบ้านเต็มไปด้วยฝุ่นละออง คุณยายนอนบนฟูกสีเขียวที่โรงพยาบาลจัดให้โดยไม่มีผ้าปูที่นอนเลย  หญิงชราผมสีขาวแซมดำ  สายตาหม่นหมองนอนตะแคงซ้ายมองมาตามเสียงทักทายของเก่ง  ทีมยกมือสวัสดีคุณยายและนั่งลงข้างๆเรายิ้มให้คุณยายอย่างเป็นมิตร  เอ้า..สรพงษ์..มาแล้วบ่  เสียงอันแหบแห้งทักเก่งอย่างคุ้นเคย 

          “ เก่ง” เล่าให้ฟังว่าปกติคุณยายเป็นคนที่แข็งแรง  หนักเอาเบาสู้  แต่ปากร้ายขี้บ่น  แกแต่งงานมีสามีแล้วแต่ไม่มีลูก  จึงเอาลูกบุญธรรมมาเลี้ยงหนึ่งคน  สามีทนคุณยายไม่ไหวจึงหนีไปบวชเป็นพระที่ จังหวัดขอนแก่นและไม่กลับมาอีกเลย  ประมาณสิบกว่าปีได้  และญาติข้างบ้านบอกว่าสามีแกเสียชีวิตแล้วเมื่อสามปีก่อนด้วยโรคหอบหืด  แต่คุณยายไม่เชื่อ 

         ก่อนที่ยายป่วยเคยออกตามหาสามี  จนโดนคนหลอกเอาเงินแกเหลือติดตัวกลับบ้านมาไม่ถึงสิบบาท  ยายวาสบอกว่าญาติพี่น้องโกหกแก  เพราะอยากได้ทรัพย์สมบัติเงินทองบ้านและที่นาของแก  แกจะไม่ให้ใครซึ่งตั้งใจจะเก็บไว้รอให้สามีเวลากลับมา

         ปกติคุณยายเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว  มีอาชีพรับจ้าง  ทำไร่ทำนา  เสร็จจากหน้านาก็รับเย็บผ้าโหลที่บ้าน ยายวาสอยู่บ้านกับหลานสองคน  ซึ่งเป็นลูกของนางอ้อ  ที่เป็นลูกบุญธรรมของคุณยายและไปทำงานรับเหมาก่อสร้างที่กรุงเทพฯ  ซึ่งนางอ้อเลิกกับสามีแล้วจึงต้องบากหน้าไปหาเงินที่กรุงเทพฯเพื่อจุนเจือครอบครัว  จนกระทั่งเมื่อสามปีที่แล้วคุณยายได้ล้มป่วยลง ด้วยอาการล้มไม่รู้สึกตัว  ญาตินำส่งโรงพยาบาลกุฉิฯ  แต่ด้วยอาการของคุณยายที่หนักหนา  แพทย์ให้การรักษาโดยได้ใส่ท่อช่วยหายใจส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์  และโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น  แพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Stroke R/O Lt. hemorrhagic  ยายวาสรักษาตัวที่ห้อง ICU. นานเกือบเดือนอาการดีขึ้นสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้  แพทย์ได้เจาะคอ On TT-Tube ส่งตัวกลับมารักษาโรงพยาบาลใกล้บ้านต่อ  นางอ้อลูกเลี้ยงจึงต้องกลับมาอยู่บ้าน  เพื่อมาดูแลยายวาสและลูก  ในขณะที่อยู่โรงพยาบาลยายวาส ปฏิเสธการทำกายภาพบำบัด  ซึ่งแขนขาทางซ้ายจะอ่อนแรง  ช่วยเหลือตังเองไม่ได้  จากพยาธิสภาพของโรค จนกระทั่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้  และส่งต่อ Case ให้ทีมเยี่ยมบ้านดูแลต่อ  ยายวาสได้เทียวมานอนโรงพยาบาลบ่อยครั้งด้วยภาวะมีเสมหะอุดตันหายใจหอบ  จนกระทั่งอาการดีขึ้นแพทย์จึง Off TT-Tube ให้   จนยายสามารถหายใจเองได้  และได้กลับไปอยู่บ้านตามเดิม  ทีมเยี่ยมบ้านตามไปทุกครั้งคุณยายจะบอกว่า  ไม่ให้ทำ  ปวด จนข้อมือทางซ้ายพิการถาวร  ผิดรูปใช้งานไม่ได้  ขาซ้ายข้อติดอ่อนแรงใช้งานไม่ได้ถาวร  นอนติดเตียง  ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้  

          มือข้างขวาเป็นอวัยวะเดียวที่สามารถใช้งานได้ปกติ  โรงพยาบาลเคยนำเตียงผู้ป่วยไปให้  แต่ยายบอกว่าเห็นเด็กผู้หญิงมายืนอยู่ข้างเตียง  ยายจะพูดคนเดียวและบอกว่าเด็กมาคุยด้วย  กลัว  ไม่ยอมนอนซึ่งยายเป็นจิตเวชอ่อนๆด้วย  จึงให้โรงพยาบาลเอากลับไป  วันๆญาติจะไม่อยู่บ้านให้ยายวาสจะอยู่เฝ้าบ้านคนเดียว  เช้าจะเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้  อาบน้ำให้  เตรียมอาหารใส่จานไว้ให้พร้อมขวดน้ำ  และกล่องยาที่โรงพยาบาลจัดให้ไว้ข้าง ๆ ที่นอน  แล้วแต่ยายจะหากิน  ยายจะมีไม้ไผ่ไว้ข้างๆยาวประมาณ 1 เมตร แกบอกว่าเอาไว้ใช้ตีงู  บางครั้งจะมีงูเลื้อยเข้ามาในบ้านแกจะใช้ไม้ตีงูจนมันตาย  และเพื่อนของคุณยายจะมีวิทยุเก่าๆเครื่องหนึ่งที่รับสัญญาณได้ไม่กี่สถานี  จนบางครั้ง  ยายได้รับการสื่อสารทางเดียวยายหลงเชื่อคำโฆษณา  มีอยู่ครั้งหนึ่งวิทยุโฆษณาเรื่องน้ำผลไม้เปลือกมังคุด  รับประทานแล้วจะหายทุกโรค  คุณยายหลงเชื่อจึงให้หลานไปตลาดซื้อมังคุดมาให้และให้หลานกินเนื้อมังคุดเหลือเปลือกไว้  ยายจึงเอาเปลือกไปแช่น้ำมาดื่ม  จนได้เรื่องคุณยายท้องเสียถ่ายเหลว  กว่ายายจะเข้าใจได้ต้องใช้เวลาคุยกันยาว

           วันแรกที่ฉันไปเยี่ยมคุณยายกับทีม  คุณยายไม่เคยเห็นหน้าไม่ยอมให้เข้าใกล้  มีภาวะหวาดระแวง  ไม่ไว้วางใจ  เก่ง  ที่คุ้นเคยสามารถพูดคุยหยอกล้อได้  เก่งจะช่วยทำกายภาพบำบัดให้ยายาจะบอกว่า “ข่อยเจ็บ..อย่าเฮ็ด”

            ฉันได้แต่ยืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ ไม่รู้จะช่วยอย่างไรดี  หลังจากเยี่ยมเสร็จเราได้คุยกันในทีมว่า  เราจะเอายังไงกับคุณยาย  จะช่วยได้แค่ไหน

             ทีมจึงร่วมกันสรุปปัญหาและแนวทางแก้ไข  เพื่อนำ Case มาปรึกษากับอาจารย์เอก  Fam Med คนเก่งของเรา  วันที่เราประชุม CMU ซึ่งจะมีประชุมเดือนละครั้ง  ฉันได้นำเสนอ Case ให้พี่ๆทีมเยี่ยมบ้านและอาจารย์  รับฟังร่วมคิดเห็นและเสนอแนะแนวทาง  ฉันพูดได้คำเดียวกับความรู้สึกตอนนี้ว่า  “อาจารย์คะ ...  อุกเด้....จักจะทำยังไงดี  อาจารย์ได้ให้ข้อคิดเห็น  ข้อเสนอแนะร่วมกับคำชี้แนะของพี่ๆทีม CMU ฉันจึงได้นำมาปรับใช้กับคุณยาย

              สัปดาห์ต่อมาเราออกไปเยี่ยมคุณยายอีกเช่นเคย  สภาพที่เราเห็นไม่เคยแตกต่างจากเดิม  เราเริ่มต้นจากสัมพันธภาพก่อน  ซึ่งเริ่มจากตัวเราเอง  บังเอิญว่าคุณยายชอบดาราสมัยเก่า  เราทุกคนในทีมก็เลยได้มีโอกาสเป็นดารากันคราวนี้  ไม่ว่าจะเป็น สรพงษ์ , บิน บันลือฤทธิ์ , สุพรรษา , จารุณี  เป็นต้น  เราพูดคุยกับยายได้ในเรื่องเดียวกัน  สัมพันธภาพของเราดีขึ้น     คุณยายเริ่มไว้วางใจมากขึ้น  ครั้งต่อมาที่เราไปเยี่ยมคุณยายให้ความร่วมมือมากขึ้น ทุกครั้งที่เยี่ยมเสร็จก่อนออกจากพื้นที่เราแวะไปลาเจ้าบ้านที่ รพสต.ก่อน  และได้ร่วมกัน Post Conference กันกับทีมและพี่ เจ้าหน้าที่ รพสต.เพื่อรับทราบปัญหา  แนวทางการแก้ไขที่เราออกเยี่ยม หรือบางครั้งให้พี่ จนท. นัดผู้ดูแลให้ในการเยี่ยมครั้งต่อไป  ซึ่งในกรณียายวาสเราจะไม่พบผู้ดูแลโดยเฉพาะวันที่ 1 และวันที่ 16 ของเดือน  เพราะลูกแกจะไปขายหวย  ส่วนหลานสองคนไม่ต้องพูดถึง  เพราะหลานสาวจะเป็นทอมบอยอยู่ ม.5 จะไม่ค่อยอยู่บ้านมักจะไปนอนค้างกับเพื่อนผู้หญิง  หรือบางวันที่กลับมานอนบ้านจะอยู่ในห้อง  บ่อยครั้งจะพาเพื่อนผู้หญิงมานอนค้างที่บ้านด้วย  ส่วนหลานคนโตเป็นผู้ชายอยู่ ม.6 บอกว่าขยันเรียนหนังสือ  แต่ก็ไม่ค่อยอยู่บ้านเหมือนกัน ยายจึงไม่มีคนสนใจ

                   ทีมเยี่ยมบ้านได้แวะมาเยี่ยมคุณยายทุกสัปดาห์  วันนี้ลูกเลี้ยงยอมอยู่ให้เราเจอตามที่พี่สุเพลิน นัดไว้ให้เรา  ทีมแยกย้ายกันทำหน้าที่  คุยกับญาติบ้าง  กับยายบ้าง  ยายเริ่มอาการดีขึ้นยาที่เราจัดไว้ในกล่องกินได้ถูกต้องกว่าจัดไว้ในซอง  สามารถพลิกตะแคงตัวได้  ไม่มีแผลกดทับ สุพรรษา หรือ ฉันเอง  ที่เริ่มคุ้นเคย  ถามคุณยายว่า  “ยายแต่ละวัน  ยายทำอะไร  คิดอะไรบ้างคะ”  คุณยายบอกว่า  “ยายก็นอนเฉยๆ  ฟังวิทยุ  อยู่ไปวัน ๆ รอพระท่านจะมาหา เดี๋ยวสักวันท่านจะมาหายายเอง”  ฉันถามยายต่อว่า  “ถ้าท่านไม่มายายจะทำยังไง”  ยายาตอบว่า  “ยายอยากจะไปหาท่าน  อยากเดินได้จะไปกราบท่านที่จังหวัดขอนแก่น”  ฉันจึงถามยายต่อว่า  “เอ้า..ถ้ายายไม่ยอมลุกนอนภาวนาเฉยๆ  จะไปได้ยังไง  งั้นเริ่มที่ตัวเราดีไหม”  ทีมจึงช่วยกันให้กำลังใจ  เก่งจึงพยุงคุณยายลุกนั่ง  ยายให้ความร่วมมือดีทุกอย่าง  ปรากฏว่ายายนั่งเองได้นาน   ทีมจึงกระตุ้นต่อ  “คุณยายอยากออกไปดูข้างนอกบ้านบ้างไหม  ว่ามันเป็นยังไง” ฉันถาม  ยายยิ้มสายตาเปล่งประกายอย่างมีความหวัง “คุณยายลองนั่งรถเข็นไหม” เก่งถาม  ยายยิ้ม  และตอบว่า “ลองเบิ่ง..กะได้.” ไก่ น้องผู้ช่วยกายภาพจึงไปเอารถเข็ญนั่ง  จากรถเยี่ยมบ้านของเราที่หอบสำภาระที่จำเป็นมาด้วย  ไก่เอารถเข็ญนั่งเข้ามาในบ้าน ทีมช่วยกันพยุงคุณยายขึ้นนั่งรถเข็ญ      

ตะวันแสงแรกแห่งชีวิต   ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี ที่คุณยายนอนแช่ในเบาะเก่า ๆ ในห้องที่อับเฉามืดสลัว

         ยายไม่เคยออกมาดูโลกภายนอกเลย  ประตูแห่งชีวิตและความหวังได้เปิดอีกครั้งพร้อมกับอ้าแขนรับพลังแห่งแสงนำพาชีวิต  ต่อลมหายใจ  ความฝันอยู่กับการรอคอย  และการกลับมาอีกนาน  เท่านาน

          ประตูชีวิต  สีดำเบื้องหลังในห้องอันมืดมิดได้ทิ้งความ  ซึมเศร้า  ความสิ้นหวังไว้  กำลังใจและมหัศจรรย์แห่งพลังของทีม เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้พาคุณยายเปิดประตูก้าวสู่เบื้องหน้า  สายตาที่เต็มไปด้วยพลัง  รอยยิ้มที่ออกมาจาเบื้องลึกของหัวใจเป็นความประทับใจไม่รู้ลืม  เราได้พายายออกมานอกบ้านได้แล้ว  เย้..สู้ๆๆ  วันนั้นเพื่อนบ้านต่างมาเยี่ยมยายวาส  หน้าตายิ้มแย้ม  ส่งเสียงทักทายกัน    “โอ้ย..ยายบ่ได้เห็นแสงเดือน..แสงตะเว้นมาโดนแล้ว   พายายไปตากแดดแน้...โอ้ย...อุ้นแด้...”   คำแรกที่ยายพูดแม้เป็นเสียงที่แห้งผากแต่ก็ไพเราะยิ่ง  

          “เป็นจังได๋ยาย..เจ้าซำบายดีบ่......”  เสียงเพื่อนบ้านทักทาย   ลูกเลี้ยงที่ยอมอยู่ให้เราเยี่ยมด้วยในวันนี้รอยยิ้มให้เห็น

นางอ้อบอกกับเราว่าตั้งแต่ยายป่วย นางอ้อเป็นผู้ดูแลหลักคนเดียว   “ ข่อยคงดูแลเพิ่นได้ดีเท่านี้..แหละหมอ...” น้ำเสียงบ่งบอกถึงความอ่อนล้า  บอกเล่าเรื่องราวความทุกข์ที่เรารับรู้สัมผัสได้

         ทีมดูแลครอบครัวของเราได้ให้กำลังใจผู้ดูแล  “ทำได้เท่านี้ก็ดีที่สุดแล้ว”  และทุกครั้งที่เราออกเยี่ยมบ้านสิ่งที่เราทำประจำ  คือ  การถ่ายรูป  หรือถ่ายวีดีโอ  เพื่อประโยชน์ในการปรึกษาทีม CMU และอาจารย์เมื่อ Case มีปัญหา  และเพื่อเห็นความก้าวหน้าของการดูแลเยี่ยมบ้าน  ในทีมสหสาขาวิชาชีพที่เราทำร่วมกัน  วันนั้นฉันได้รับความสุขที่หาไม่ได้ในหอผู้ป่วย  ตลอดระยะเวลาที่ทำงานทากว่าสิบปี  รอยยิ้มจากหัวใจที่ซื้อหาไม่ได้ตามท้องตลาด  หรือ  เซเว่น วันนั้นเราทุกคนสัมผัสมันได้  ในนามรูปธรรม  เราได้ทำ Photo therapy  ร่วมกับครอบครัว  คงเป็นความสุขและความประทับใจไม่รู้ลืม

     ....แม้วันนี้ชีวิตของยายวาส  มิได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก  แต่คุณยายก็อยู่ได้  ส่วนฉันจะสานต่อความฝันที่ถักทอไว้ต่อไป  มีความสุขกับงานที่ฉันทำ  ในฐานะพยาบาลวิชาชีพ  และวันนี้เราก็ยังแวะเวียนเยี่ยมเยียนคุณยายมิได้ขาด  เพื่อเติมเต็มกำลังใจซึ่งกันและกัน  ชีวิตคงอยู่ได้ด้วยความพอดี  แม้การรอคอยอย่างไร้ร่องรอยของจุดหมาย  แต่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป     ตราบนานเท่านาน       

            เราได้เรียนรู้จากเรื่องเล่า 

 .  ความพอดีของชีวิต.....เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถ้ารู้จักคำว่าพอดี..ดีพอ..และพอเพียง            

 .วิถีชีวิตที่แตกต่าง..บางคนมีผู้ดูแลล้อมรอบ  แต่บางคนไม่มีแม้กระทั่งคนดูแล  แต่ด้วยวิถีที่แตกต่าง  ต้องยอมรับและอยู่ให้ได้         

 .

หมายเลขบันทึก: 444388เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 08:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท