วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๒๖. ไปให้ความเห็นต่อกลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล


 

          ผมได้เขียนเล่าถึงกลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดลไว้ที่นี่  

 

          วันที่ ๒๓ พ.ค. ๕๔ ประธานคณะกรรมการกลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนฯ คือ รศ. ดร. ดวงพร คำนูณวัฒน์ เชิญผมไปให้ความเห็นต่อแผนการดำเนินงาน   ที่ได้ดำเนินการมา ๖ เดือน   มีการรวบรวมความรู้ที่มีการดำเนินการไปแล้วในพื้นที่เป้าหมาย คือ อำเภอพุทธมณฑล ได้หลายร้อยชิ้น  และกำลังอ่านเพื่อสกัดความรู้ออกมาจัดระบบ

          และกำลังรวบรวมผู้คนที่มีโครงการในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว   เพื่อประสานการทำงานให้เกิดผลต่อชุมชนยิ่งขึ้น

          เอาเข้าจริงผมได้ฟังเรื่องราวได้ความรู้มากจริงๆ   เพราะจริงๆ แล้วอำเภอพุทธมณฑลมีลักษณะที่พิเศษเอามากๆ   คือไม่ได้เป็นพื้นที่ชนบทอย่างเต็มที่ 

          ในอำเภอนี้มี ๓ ตำบล คือศาลายา  มหาสวัสดิ์  และ คลองโยง   ตำบลศาลายามีลักษณะเป็นเมืองมากหน่อย   ในขณะที่อีก ๒ ตำบลมีลักษณะเป็นชนบทมากหน่อย   และเกษตรกรทำการเกษตรบนพื้นที่เช่า จากเจ้าที่ดิน

          จำนวนประชากรตามทะเบียนสองหมื่นกว่าคน   แต่ที่มาใช้พื้นที่นี้มากกว่านั้นมาก   เพราะมีประชากรแฝงทั้งที่เป็นแรงงานต่างชาติ ทั้งพม่า และเวียดนาม   และมีคนจากที่อื่นมาทำงานช่วงกลางวันหรือย้ายเข้ามาอยู่ใหม่จำนวนมาก   เพราะที่อำเภอนี้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งเข้ามาตั้งอยู่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล   สังคมในพื้นที่จึงมีความซับซ้อนกว่าที่คิด

          การเข้าไปทำงานของนักวิชาการก็ยาก เพราะชาวบ้านคุ้นกับการหยิบยื่นจากนักการเมืองและราชการด้วยนโยบายประชานิยม   ไม่คุ้นกับการรวมตัวกันแก้ปัญหาหรือวางแผนพัฒนาชุมชน/พื้นที่ ด้วยตัวเอง  

          ผมเสนอที่ประชุมว่า นักวิชาการต้องไม่เข้าไป “ให้” หรือ “ช่วยเหลือ” ชาวบ้าน   แต่เข้าไปทำงานร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกันกับชาวบ้าน   โดยต้องหา “หัวโจก” หรือ “champion” ของชาวบ้านให้พบ   ให้เขาเป็นผู้นำ ปลุกชาวบ้านให้รวมตัวกันทำสิ่งที่ชาวบ้านต้องการร่วมกัน   และนักวิชาการไป facilitate หรือ empower ให้เขาทำเองได้สำเร็จ   โดยชาวบ้านร่วมกันเป็นเจ้าของโครงการ และเจ้าของผลงาน   ไม่ใช่นักวิชาการเป็นเจ้าของ ชาวบ้านร่วมมือ

          นอกจากนั้น ผมยังเสนอว่า อย่าเอาทรัพยากรที่เป็นเงินหรือวัตถุไปให้   สิ่งเหล่านั้นต้องให้ชาวบ้านหาเอาเองจากพื้นที่หรือจากทางราชการ   โดยนักวิชาการอาจช่วย facilitate   “ทรัพยากร” ที่นักวิชาการเอาไปให้คือ กระบวนการเรียนรู้ ใจ และความรู้   สำหรับให้ชาวบ้านรวมตัวกันดำเนินการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่นของตนเอง  

          สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือความต่อเนื่องยั่งยืนในการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของตนเองด้วยตนเองของชาวบ้าน   ไม่ใช่ทำอยู่เฉพาะช่วงที่นักวิชาการเข้าไปชวน หรือเข้าไป “ช่วยเหลือ” 

          ทีมงานถามว่า แล้วนักวิชาการจะมีผลงานวิชาการรับใช้สังคมไทยได้อย่างไร   คำตอบของผมคือ สำหรับมหาวิทยาลัยมหิดล (ซึ่งวางตำแหน่งสู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก) ต้องได้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ   ดังมีตัวอย่างผลงานของ รศ. ดร. ศิริพร แย้มนิล ที่เอ่ยถึงที่นี่   นอกจากนั้น อาจารย์ผู้ใหญ่ของมหิดลที่เป็นทั้งนักวิจัยพื้นฐานและนักวิจัยชุมชน ที่มีผลงานตีพิมพ์ผลงานวิจัยชุมชนในวารสารวิชาการนานาชาติคือ ศ. ดร. วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล

          ผมให้ความเห็นว่า นักวิจัยชุมชนเกือบทั้งหมด ไม่สามารถเขียนรายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติได้เพราะไม่อ่านวารสาร ไม่ค้นคว้าและไตร่ตรองพรมแดนของความรู้   สำหรับเอามาใช้เป็นทฤษฎีในการทำงานวิชาการด้านวิจัยชุมชน   จึงเข้าไปทำงานแบบฐานวิชาการไม่แน่น ไม่ชัด   ไม่กล้าท้าทายทฤษฎี หรือไม่คิดท้าทายทฤษฎี   จึงไม่สามารถตั้งโจทย์วิจัยที่คมชัด อันจะนำไปสู่การออกแบบเก็บข้อมูล (ทั้ง quantitative และ qualitative) สำหรับนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตอบโจทย์วิจัยเพื่อหักล้างหรือเสริมบางส่วนของทฤษฎีที่มีอยู่ได้      

          ผมเสนอว่า ที่กลุ่มภารกิจวิจัยชุมชนวางแนวทางการทำงานเป็น D&R นั้นเหมาะสมแล้ว   โดยต้องเป็น D (Development) ของชาวบ้าน โดยชาวบ้าน   แล้วนักวิชาการเข้าไปร่วมทำงานและเก็บข้อมูลเพื่อทำ R (Research) โดยไม่ต้องเอ่ยคำว่าวิจัยเลย

          ผมชี้ให้เห็นว่า วิธีการ organize งานวิจัยชุมชน แบบเป็นคณะกรรมการ ให้คนสนใจงานนี้สมัครเข้ามาเป็นกรรมการ อย่างที่ทำอยู่นั้น  น่าจะไม่เกิดผลดี   ผมเห็นว่าควรแยกคนสนใจทำงานวิจัยชุมชน ให้เป็นผู้ปฏิบัติ   ส่วนคณะกรรมการ ควรมีน้อยคน เช่น ๙ – ๑๐ คน  นำหน้าที่ชี้ทิศทาง และยุทธศาสตร์   โดยมีคณะเลขานุการกิจที่มีเจ้าหน้าที่ประจำ ที่มีทักษะในการประสานงานกับชุมชน แหล่งทุน และนักวิจัย เป็นกำลังหลัก   ทักษะนี้ต้องเรียนและสั่งสม  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๕๔

 

 

         

         

         

   

หมายเลขบันทึก: 444369เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท