มิชิแกน (๒): เหงาท่ามกลางผู้คน


"เมื่อมองไม่เห็นทาง ก็จงสร้างมันขึ้นมา" จากสุภาษิตชาวเคอร์ทิจ

ผมนั่งที่นั่งอี๑๘ เก้าอี้แถวหน้าสุด ตอนกลาง สะดวกในการลุกนั่ง เข้าห้องน้ำ แต่จอทีวีจะอยู่ไกล ตอนนี้สายตาก็เริ่มมีปัญหามองใกล้มองไกลเพราะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยตัวเอง หลังจากเครื่องทะยานขึ้นเหนือน่านฟ้าได้สักครึ่งชั่วโมง ก็ไม่รู้สึกว่ากำลังอยุ่ในเครื่องบินเพราะบินได้อย่างราบเรียบมาก ท้องฟ้ามืด บินในระดับ ๑ หมื่นกว่าเมตร ความเร็วถึง ๙๓๐ กม.ต่อชม. อุณห๓มินอกตัวเครื่องเย็นเฉียบระดับ -๓๖ องศาเซลเซียส แต่ในตัวเครื่องกลับปรับอุณหภูมิได้อย่างเย็นสบาย

สองทุ่มกว่าๆ ก็เป็นการบริการอาหารเย็นมื้อแรก ผมทานอาหารมาบ้างจากเลาจ์ของการบินไทย ไม่ค่อยรู้สึกหิวเท่าไหร่ เลือกอาหารไทย ทานไม่มากก็อิ่ม ไม่รู้อิ่มอกอิ่มใจที่จะได้ไปอเมริกาหรือกินไม่ลงเพราะต้องห่างครอบครัวกันแน่ แต่น่าจะเป็นอย่างหลัง

หลังอาหารมื้อแรก ผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็ปรับเอนเก้าอี้นอนพักกัน มีบางคนอ่านหนังสือหรือดูหนังตามแต่จะเลือก ผมหยิบหนังสือภาษาอังกฤษที่ติดไปด้วยเพื่อจะอ่านทบทวน พอหยิบมาวางก็ไม่อยากอ่าน ดูหนังก็รู้สึกไม่สนุก ราวสี่ทุ่มห้องโดยสารก็ปิดไฟมืด ผมปรับเอนเก้าอี้แล้วก็หลับตาลง พยายามข่มตาหลับ

ตาหลับ แต่ใจตื่น ครุ่นคิดไปถึงครอบครัวที่กำลังเดินทางกลับตาก อดเป็นห่วงไม่ได้ รู้สึกใจแป้ว ภาพน้องขลุ่ยน้ำตานองหน้า น้องขิมตาแดงๆ น้องแคนท่าทางหงอยๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งใจไม่ดี นึกถึงคำพูดของคนหลายคน "เวลาอยู่ด้วยกันมักไม่ค่อยใส่ใจกันนักเพราะคิดว่าอยู่ด้วยกันทุกวัน จะมานึกถึงกันอีกทีก็ตอนห่างกันไป" คนเรามักเป็นเช่นนี้

ครอบครัวมีผลต่อชีวิตจิตใจของผู้คนอย่างมาก "ครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม แต่สำคัญที่สุดในโลก" ใครนะ ช่างให้ความหมายและนิยามได้อย่างลึกซึ้งกินใจมาก

ผมอยู่กับคนจำนวนมากหลายร้อยคนในห้องโดยสาร แต่กลับรู้สึกเหงาว้าเหว่เป็นอย่างมาก คงอย่านี้ละมั้งที่เขาเรียกกันว่า "เหงาท่ามกลางฝูงชน" ครั้งนี้ผมไม่ได้เดินทางคนเดียวเหมือนตอนไปเบลเยียม แต่ไปกับหมอพนา เพื่อนหมอรุ่นน้องที่ได้ทุนไปเรียนพร้อมกันและก็นั่งที่นั่งติดกัน ปีที่แล้วตอนไปฝึกอบรมหลักสูตร "นักปกครองระดับสูง" ตั้ง ๔ เดือนกว่าๆ แต่ก็กลับบ้านทุกสัปดาห์ น้องขลุ่ยก็กระโดดกอดด้วยความดีใจทุกครั้งที่กลับบ้าน แต่คราวนี้ไปยาวเป็นเดือนเลย ผมบันทึกประสบการณ์ไว้ที่ http://www.gotoknow.org/blog/practicallykm/362181 นับจากนั้นมา ผมต้องไปนอนกล่อมขิมกับขลุ่ยทุกคืน...จนหลับ

ผมพยายามดึงอารมณ์ตัวเองออกจากความหงอยเหงา ที่บั่นทอนพลังใจ ทำให้ผมรู้สึกอ่อนแอลง พยายามนึกถึงเรื่องราวต่างๆที่ผ่านมาในชีวิตและการทำงาน ผมนึกถึงวันก่อนที่ผมไปร่วมงานเปิดการฝึกอบรม "พนักงานสุขภาพชุมชน" ที่ห้องประชุม สสอ.แม่สอด และได้เป็นตัวแทนอาจารย์รวมทั้งในฐานะผู้ริเริ่มให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมากล่าวให้โอวาทแก่นักศึกษาหลังจากพิธีไหว้ครู

นักศึกษาส่วนใหญ่ คัดเลือกมาจากหมู่บ้านชุมชนที่อยู่ห่างไกล พื้นที่สูง ชายแดนเข้าถึงลำบาก หลายคนเป็นคนไทยชนเผ่าที่พูดภาษาไทยไม่ชัด แต่ทุกคนก็คือคนไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่ต้องออกไปให้บริการแก่ประชากรต่างด้าวที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทย พื้นที่เหล่านี้ขาดแคลนแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปให้บริการเขา หลายหมู่บ้านกว่าจะเดินทางมารับบริการที่สถานีอนามัย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต.) ต้องใช้เวลาเดินเป็นวันๆ

แต่เดิมมีการขยายสถานบริการสาธารณสุขขนาดเล็กเข้าไปในหมู่บ้านเหล่านี้ เป็นสถานีอนามัยน้อยที่เรียกว่า "สถานบริการสาธารณสุขชุมชน หรือ สสช." ซึ่งในจังหวัดตากมีเกือบ ๔๐ แห่ง คัดคนจากหมู่บ้านไปเรียนหลักสูตร "พนักงานสุขภาพชุมชน ระยะเวลา ๖ เดือน" ที่วิทยาลัยสาธารณสุข เมื่อจบแล้วก็บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ คนเหล่านี้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและช่วยดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เยอะ แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาโดยให้เรียนต่อปรับเป็นหมออนามัยไปเกือบหมด และออกไปบรรจุในสถานีอนามัย ทำให้ สสช.ขาดเจ้าหน้าที่และการฝึกอบรมก็ล้มเลิกไป

โชคดีที่สาธารณสุขอำเภอหลายคน ได้คัดคนในหมู่บ้านมาฝึกอบรมกันเองใหม่แล้วให้ไปปฏิบัติหน้าที่โดยจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว เมื่อผมมาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดตากมาร่วมด้วยช่วยกันจัดทำหลักสูตรพนักงานสุขภาพชุมชนขึ้นมาใหม่ แต่เป็นหลักสูตร ๑ ปีและดำเนินการฝึกอบรมร่วมกับวิทยาลัยชุมชนตาก จนจบรุ่นแรกไป ๒๓ คน ส่งไปปฏิบัติหน้าที่มาปีกว่าแล้ว

ปัญหาสาธารณสุขของจังหวัดตากมีความหลากหลายซับซ้อน ไม่เหมือนที่อื่น มีภาระงานที่หนัก และขาดแคลนบุคคลากร รวมทั้งมีการโยกย้ายบ่อยมาก เมื่อได้คนใหม่มา คนเก่าก็ขอย้ายออกจากพื้นที่เดิมที่อยู่ห่างไกลชายแดน บางคนมาอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ลาออก เพราะไม่ชินกับชีวิตที่ยากลำบาก

ผมคิดว่า ถ้าแก้ปัญหาแบบเดิมๆก็คงวนเวียนอยู่อย่างนี้ไปตลอด ขนาดพยาบาล ๑ ทุน ๑ อำเภอ จบกลับไปทำงานอำเภอบ้านเกิดตัวเองยังลาออก เนื่องจากการไปเรียนในเมืองใหญ่ ทำให้เขาสูญเสียความเคยชินไปจากชีวิตชนบทไป ผมจึงเกดความคิดที่ว่า "คัดคนท้องถิ่น เรียนในพื้นที่ กลับไปทำงานบ้านเกิด" และจัดทำหลักสูตรเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาการโยกย้ายในระยะยาว เหมือนกับสุภาษิตของชาวเคอร์ทิจที่ว่า "เมื่อมองไม่เห็นทาง ก็จงสร้างมันขึ้นมา"

สิ่งที่ผมได้เห็นจากโครงการนี้คือพลังความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ทั้งของโรงพยาบาลและสาธารณสุขอำเภอที่มาช่วยเป็นอาจารย์ผู้สอน ทุกคนเป็นคนทำงาน เป็นผู้ปฏิบัติ เป็นคุณกิจ แล้วนำเอาความรู้ประสบการณ์ที่จำเป็นมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษา ภายใต้กรอบกติกาและการจัดทำแผนการเรียนการสอนตามมาตรฐานของวิทยาลัยชุมชนตาก ที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

ผมคิดอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ แล้วก็เผลอหลับไปตอนไหนไม่รู้ พอรู้ตัวอีกทีไฟในห้องโดยสารก็เริ่มสว่าง ราวๆ ๖ โมงเช้าก็บริการอาหารมื้อที่สอง ทานได้ไม่มากเหมือนเดิม ต้องขอโค๊กมาดื่มเพื่อให้รู้สึกชื่นใจ หลังจากนั้นก็ไม่หลับเพราะเป็นเวลากลางวันของเมืองไทย นั่งคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย คิดถึงชีวิตตัวเอง ที่ก็โชคดีเหมือนกัน ที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ในต่างประเทศ แม้จะไปด้วยทุนจากแหล่งต่างๆ ไม่ได้ไปด้วยเงินตัวเอง ผมคิดว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ได้ไปต่างประเทศ ก็น่าจะมาจากทุนจากแหล่งต่างๆหรือหน่วยงานส่งไปมากกว่าจะไปด้วยเงินเดือนตนเอง

เพราะลำพังเงินเดือนข้าราชการก็ไม่มากนัก อย่างผมเองก็แทบไม่มีโอกาสเลยหรือมีน้อยมาก การไปเที่ยวต่างประเทศแต่ละครั้งอย่างน้อยก็สามสี่หมื่น เท่ากับเงินเดือนเดือนหนึ่งแล้ว เมื่อก่อนตอนเปิดคลินิกก็มีรายได้มากพอควร แต่พอปิดคลินิก มาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายได้ก็คงที่และมาตามเวลาแต่ละเดือนเท่านั้น รายได้น้อยกว่าแพทย์รุ่นเดียวกันที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอเยอะเลย แต่ก็อาจจะเปรียบเทียบกันยากเพราะลักษณะงานไม่เหมือนกัน ความจริงอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้ไม่ค่อยมีใครยอมมาเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด แต่ผมก็มีความสุขดีกับการทำงานในตำแหน่งนี้ เงินน้อยลง แต่ขอบข่ายภารกิจของงานกว้างขึ้น ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งต่างๆมากขึ้น กว้างขึ้น

ผมเคยได้เรียนรู้ระบบกาเรรียนการสอนและระบบสุขภาพของออสเตรเลีย ๑๙ วัน และได้เขียนบันทึกไว้ที่ เรื่องเล่าจากออสเตรเลียhttp://www.gotoknow.org/blog/practicallykm/8955 ได้เคยไปเรียนรู้ระบบของยุโรปที่เบลเยียม ได้เขียนบันทึก หมอบ้านนอกไปนอก http://www.gotoknow.org/blog/practicallykm/126609 คราวนี้เป็นโอกาสดีอีกครั้งของชีวิตที่จะได้ไปเรียนรู้ระบบของสหรัฐอเมริกา

นั่งคิดอะไรไปเรื่อยๆจนอาหารมื้อที่สามผ่านไป เสียงกัปตันประกาศให้ทราบว่า อีก ๓๕ นาที ก็จะถึงสนามบินนานาชาติลอสแองเจลิสแล้ว คิดเป็นระยะทางก็ราว ๑๕๐ ไมล์ทะเล ขณะนั้นเป็นเวลา ๙.๕๐ น. (ตามเวลาเมืองไทยวันที่ ๓๐ เมษายน) ผมอยู่ในเครื่องบินมา ๑๔-๑๕ ชั่วโมงแล้ว เสียงพนักงานต้อนรับขอให้ทุกคนปรับที่นั่งให้ตรง รัดเข็มขัดนิรภัย หยุดบริการอาหาร เพื่อเตรียมร่อนลงสู่พื้นดิน ผมกลับมาตื่นเต้นอีกครั้ง ลืมความหงอยเหงาไปได้ ผู้โดยสารทุกคนตื่นขึ้นมา นั่งตัวตรงกันแล้ว

พอเวลา ๑๐.๒๐ น. เครื่องบินลำนี้ก็ร่อนลงล้อแตะพื้นสนามบินลอสแองเจลิสได้อย่างนุ่มนวล เป็นเช้าวันที่ ๓๐ เมษายน ของเมืองไทย แต่ท้องฟ้าเริ่มมืดในแผ่นดินอเมริกา ผมกับครอบครัวอยู่กันคนละซีกโลกแล้ว เวลาที่ลอสแองเจลิสยังคงเป็น ๒๐.๒๐ น. ของวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ เวลาเขาช้ากว่าเราถึง ๑๒ ชั่วโมง...โอ! ผมกำลังจะได้เหยียบแผ่นดินอเมริกาในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้าแล้ว ผมนึกในใจ "เมื่อมองไม่เห็นทาง ก็จงสร้างมันขึ้นมา" จนได้

 

หมายเลขบันทึก: 444194เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นั่งเครื่องยาวยาว นั่งริมทางเดิน safe ที่สุด ครัย

อ่านแล้วเข้าใจค่ะ 

เหงาท่ามกลางผู้คน


ชอบประโยคนี้มาก ๆ ค่ะ

"เมื่อมองไม่เห็นทาง ก็จงสร้างมันขึ้นมา"

 

ค่อยแวะมาคุยอีกค่ะ

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์เจเจครับ

ขอบคุณคุณภูสุภาที่แวะมาทักทายกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท