กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๗) : ถ้าไม่ได้รู้จักกับ Lesson Study...


 

ภาคเรียนนี้คุณครูแคท - คัทลียา รัตนวงศ์ ได้รับมอบหมายให้สอนวิชามานุษกับโลกให้กับนักเรียน ชั้น ๒  เนื้อหาที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้คือเรื่อง "เพื่อนสีเขียว"  ซึ่งก็คือพืช  เนื่องจากวิชามานุษย์กับโลกเป็นวิชาที่บูรณาการเนื้อหาของวิทยาศาสตร์และสังคมเข้าด้วยกัน  ในมุมของวิทยาศาสตร์เด็ก ๆ จะต้องได้เรียนรู้ขั้นตอนการหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์  สามารถออกแบบการทดลองง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง 

 

ในช่วงสัปดาห์แรก  เด็กๆ ได้ทดลองปลูกพืชของตัวเอง และบันทึกการเจริญเติบโตของพืชที่ตัวเองปลูก  เมื่อถึงสัปดาห์ที่ ๒ - ๓ จะได้เรียนรู้ว่าปัจจัยในการเจริญเติบโตของพืชมีอะไรบ้าง  ซึ่งก็ได้รู้ไปบ้างแล้วจากการปลูกพืชของตนเอง 

 

เมื่อมาถึงเนื้อหาเรื่องปัจจัยของการเจริญเติบโต ก็จะได้ทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าปัจจัยที่เด็กๆ คาดเดาว่าน่าจะจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชนั้น เป็นจริงดังที่คาดเอาไว้หรือไม่ 

 

เมื่อออกแบบการทดลองเสร็จแล้ว ก็มาถึงขั้นของการปลูกถั่วเขียวลงในกระบะ จากนั้นก็จัดเวรผลัดกันดูแลรดน้ำเช้าเย็น   ในช่วงแรกๆ เด็กๆ ยังคงดูแลดีอยู่  ถั่วเขียวเริ่มงอก  แต่พอมาถึงปลายสัปดาห์เริ่มไม่มีใครสนใจ    ซึ่งครูก็เห็นแล้วว่าการทดลองไม่ประสบผลสำเร็จ และคิดว่าจะต้องให้เด็กทำการทดลองใหม่ เพราะในกระบะควบคุมไม่มีถั่วงอกเลย  

 

ในขณะที่อีกการทดลองหนึ่งที่ทำทีหลังเพื่อสังเกตดูว่าส่วนไหนของพืชจะงอกออกมาก่อน  มีต้นถั่วงอกออกมายาวมาก

 

เมื่อวันที่จะต้องสรุปผลการทดลองมาถึง  ครูก็เอาถั่วในกระบะที่ทดลองเรื่องปัจจัยที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืชมาให้เด็กๆ ดูกัน เด็กๆ สรุปตามที่เห็นว่าถั่วในกระบะที่ไม่ให้แสงต้นโตกว่าต้นที่ให้แสงเพราะในกระบะนั้นต้นถั่วไม่งอกเลยเช่นเดียวกับกระบะที่ไม่รดน้ำ

 

ครูจึงเดินไปหยิบแก้วที่ทดลองเรื่องอะไรงอกก่อน?  มาให้เด็กๆ ดู  แล้วถามว่า “ปัจจัยของถั่วในกระบะกับในแก้วเหมือนกันหรือไม่ เราให้น้ำและแสงในแก้วนี้หรือไม่” เด็กๆ ตอบว่า “เหมือนกันค่ะ/ครับ”   ครูจึงถามว่า “แล้วอะไรที่ทำให้พืชในกระบะไม่งอก ในขณะที่พืชในแก้วงอกและโตมาก ทั้งที่ปลูกทีหลัง” เด็กๆ เงียบ แล้วก็เริ่มมีเด็กบางคนยกมือขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็น 

 

น้องเอ๋ยบอกจากตรงกลางห้องว่า “ที่ต้นถั่วในแก้วโตกว่าในกระบะ  เป็นเพราะว่าในกระบะเราใช้กระดาษทิชชู่  ส่วนในแก้วเราใช้สำลี ที่น่าจะชุ่ม(อุ้ม)น้ำได้ดีกว่าค่ะ”  ส่วนปัณณ์(ชาย) ที่นั่งอยู่หลังห้องยกมือขึ้นแย้งว่า “ไม่น่าจะใช่  เพราะเรารดน้ำในกระบะทุกวัน(น้ำน่าจะเพียงพอ) ที่ต้นถั่วในกระบะกับในแก้วโตต่างกันน่าจะเป็นเพราะการวางสำลี  และกระดาษทิชชู่มากกว่า เราวางสำลีทับเมล็ดถั่วทำให้เมล็ดถั่วไม่สามารถงอกได้” 

 

แชมป์ที่นั่งอยู่หน้าห้อง  ที่ปกติจะไม่ค่อยนิ่งฟังได้นานๆ พูดขึ้นว่า  “แชมป์ไม่เห็นด้วย   เพราะถ้าเป็นแบบนั้น  ทำไมถั่วในกระบะนี้ถึงงอกได้” แชมป์ชี้ให้เพื่อนดูในกระบะที่รดน้ำ  แต่ปิดฝาไว้ไม่ให้แสงเข้า

 

เพื่อนอีกคนพูดแทรกขึ้นมาว่า  “อาจจะเป็นเพราะว่าเมล็ดถั่วในกระบะมีเยอะเกินไปก็ได้  อาหารเลยไม่พอ”  บรรยากาศในห้องเริ่มวุ่นวายขึ้น เพื่อนเริ่มคุยกันเป็นคู่  เป็นกลุ่ม  แล้วแชมป์ก็จับดูที่กระดาษทิชชู่ในกระบะที่ต้องรดน้ำและให้แสงนั้น  แล้วพูดออกมาด้วยเสียงอันดังว่า  “ไม่ได้ทำเวร!!!”  เพื่อนๆ ในห้องจึงหัวเราะกันใหญ่   

 

ครูจึงถามขึ้นว่า  “การทดลองครั้งนี้เราสามารถสรุปผลได้หรือไม่” เด็กๆ ตอบว่า “ไม่ได้ เพราะเพื่อนไม่ได้ทำเวร” ( หมายถึงว่าไม่มีใครดูแลควบคุมปัจจัย (รดน้ำ) ตามแผนการทดลองที่เคยตกลงกันไว้)

 

ครูจึงถามต่อว่า “เด็ก ๆ อยากทำใหม่หรือไม่” เด็กๆ ตอบว่าเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากค่ะ/ครับ”  ครูจึงบอกว่า “งั้นเรามาทำกันเลย  แต่ครั้งนี้  ให้จับกลุ่มมา ๓ คน  มาหาครูแคท  แล้วเราจะมาทดลองกัน  ใครสงสัยอย่างอื่นๆ อีกก็มาทดลองได้  เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วเราจะมาเล่าให้เพื่อนฟังกันนะคะ  แต่เราจะเก็บเป็นความลับ  ไม่ให้เพื่อนคนอื่นๆ ในห้องรู้ก่อนว่าเราจะทำการทำลองอะไร” (นี่เป็นเคล็ดลับที่จะช่วยให้เด็กๆ ตื่นเต้นในสิ่งที่กำลังจะทำ) 

 

คาบนี้จบลงด้วยแววตาตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ และความรู้สึกปลื้มอกปลื้มใจของครู  ที่แอบนึกอยู่ในใจว่า  “นี่เรายืนอยู่ต่อหน้าเด็ก ป. ๒ หรือว่าหน้าห้องเรียนของเด็กมัธยมกันแน่นะ” 

 

ห้องเรียนชั้น ๒/๒ ครั้งนี้จะไม่จบลงแบบนี้เลย  ถ้าเผอิญไม่ได้ไปเข้าจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Lesson Study เป็นรอบที่ ๒ ตามคำชวนของคุณครูโอ่ง เมื่อวันพุธที่ผ่านมา   เพราะพอเห็นว่าการทดลองล้มเหลว ก็คิดไว้อย่างเดียวว่า “เดี๋ยวให้เด็กทำใหม่ก็ได้”   แต่เป็นเพราะได้ไปทบทวน LS อีกครั้ง ทำให้รู้ว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องจะออกมาอย่างไร เราก็สามารถหยิบขึ้นมาให้เป็นการเรียนรู้ได้ตลอด ไม่มีอะไรเสียเปล่าหรอก

 

ทั้งที่วันก่อนเดินไปเห็นกระบะที่เด็กๆ ไม่ดูแล  ไม่รดน้ำ  ยังรู้สึกไม่พอใจ  และแอบคิดในใจว่า  เดี๋ยวเจอกัน!!!  เดินกลับเข้าห้องพักครูแล้วก็ยังบอกคู่วิชาว่า “เดี๋ยวพี่จะให้เด็กทำใหม่!!!!”  ด้วยน้ำเสียงที่เคร่งขรึมและจริงจัง

 

แต่ตอนที่ยืนอยู่หน้าห้อง เรื่องราวของ lesson study ที่เรียนรู้ไปก็แว้บกลับเข้ามาในหัว  เลยกลับลำกระทันหัน แทนที่จะไปดุเด็กตามที่คิดไว้ว่า  ที่การทดลองไม่สามารถสรุปผลได้ก็เป็นเพราะเด็กๆ ไม่รับผิดชอบ ไม่ใส่ใจ แล้วก็มอบหมายให้เด็กๆ ทำการทดลองใหม่ เหมือนที่ตัวเองเคยพบมาในชีวิตนักเรียนเมื่อวันวาน

 

วันนี้ห้องเรียนจึงเปลี่ยนจากบรรยากาศที่น่าอึดอัดทั้งครูทั้งเด็ก  มาเป็นการหยิบความผิดพลาดมาเรียนรู้กันได้ทันเวลา   พวกเขาไม่ได้ถูกครูตำหนิในเรื่องของความรับผิดชอบยังบกพร่องอยู่  แต่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าการทดลองนี้ล้มเหลวเพราะพวกเขาขาดความรับผิดชอบ และไม่ได้ดูแลต้นถั่วงอกให้ตามแผนการทดลองที่วางไว้  บรรยากาศของห้องในวันนั้นจึงเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการเปิดใจเรียนรู้จริงๆ  

 

ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้ตัวเองมานั่งคิดว่า  “นี่ถ้าไม่ได้รู้จักกับกระบวนการแบบ Open Approach และ lesson study วันนี้คงไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 444165เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท