ชีวิตอันน่าขำ...กับการเป็นที่ปรึกษาชมรมนักศึกษาของข้าน้อย


ชมรมฮอกกี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีเรื่องน่าขำประการหนึ่ง ที่คิดถึงคราใดก็อดขำในใจของตนไม่ได้สักครา  เรื่องน่าขำนี้อาจจะเกิดด้วยความบังเอิญก็เป็นได้ และก็ไม่เคยเกิดขึ้นในใจของตนว่าจะเป็นได้เลย ด้วยความรู้และทักษะพื้นไม่อำนวย...เอะ  ว่าแต่มันคือเรื่องอะไรกัน

 เรื่อง นี้คือการได้รับการเสนอชื่อจากกลุ่มนักศึกษาให้ได้ทำหน้าที่อาจารย์ที่ ปรึกษาชมรม เมื่อปี 2551 เห็นจะได้ การเข้าสู๋แวดวงของการเป็นที่ปรึกษาชมรมเริ่มขึ้นจากการเป็นที่ปรึกษา องค์การนักศึกษา  ชมรม To Be Number One และชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน(ศอ.) สององค์กรแรกไม่น่าแปลกเท่าใด เพราะในกาลครั้งหนึ่งก็เคยทำหน้าที่กรรมการบริหารองค์การนักศึกษา และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งชมรม To Be Number One ในครั้งเป็นนักศึกษา  แต่การเป็นที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน นี่สิ  ช่างเป็นเรื่องน่าแปลก  เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เป็นคนไม่มีความรู้และทักษะด้านนี้เลย  เต้นรำไม่เป็นจังหวะ ตีกลองร้องเป่าไม่ได้ เครื่องดนตรีก็มิสามารถด้วยประการทั้งปวง และที่น่าแปลกคือ ไม่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับอีสาน(ตอนบน)เลยแม้แต่น้อย เพราะพื้นเพเป็นคนอีสานใต้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แปลกแยกไปจากชาวอีสานส่วนใหญ่ การกิน อยู่ หลับ นอน ฟ้อน รำ เล่น ก็ต่างอย่างสิ้นเชิงเพราะเป็นชนเขมรถิ่นไทย ก็ยังแปลกใจตนที่ได้รับการทาบทามให้เป็นที่ปรึกษาชมรมในครานั้น....บอกน้องๆ นักศึกษาในชมรมเสมอว่า  "เราตีฆ้องร้องเป่าไม่เป็นนะ คงได้แค่สนับสนุนแนวคิดและวิธีบริหารจัดการบ้างบางส่วนเ่ท่านั้น" จวบจนปัจจุบันก็ยังได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาชมรมนี้อยู่

ในปี 2552 ได้รับการทาบทามให้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสภานักศึกษา  ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน และชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้  อันหลังสุดนี่เป็นชมรมที่ตั้งขึ้นใหม่ในปี 2552 ได้รับการทาบทามและรับปากที่จะเป็นที่ปรึกษาด้วยเหตุผลประการเดียวคือ เกิดในถิ่นเขมรสูง สามารถพูดภาษาเขมรได้ แต่เหตุผลอื่นไม่มี เพราะก็คล้ายๆกับการเป็นที่ปรึกษาชมรม ศอ.  เพราะผมไม่สามารถร้่อง เล่น เต้น รำ ดีด สี ตี เป่า อะไรได้เลย เพราะไม่มีทักษะ แม้แต่พรแสวงก็เห็นจะต้องท้อใจทุกคราที่ฝึกหัด แต่ก็ได้ออกงานกับเขาเรื่อย ไปตีกลองหรือฉิ่งก็คร่อมจังหวะเสมอๆ

ในปี 2553 ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมๆคือ การเป็นที่ปรึกษาองค์การนักศึกษา ชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน และชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้ ซึ่งก็ยังไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมายนัก

แต่ในปีนี้ ปี 2554  ผมรับเป็นที่ปรึกษาชมรมศิลปวัฒนธรรมอีสาน และชมรมวัฒนธรรมอีสานใต้ ตั้งแต่แรก  มหาวิทยาลัยกำหนดว่าให้เป็นได้ไม่เกิน 3 องค์กรต่อปี  ผมก็ยังว่างงานอยู่อีก 1ตำแหน่งซึ่งก็ไม่เป็นไรนัก แต่ก็ได้ถูกทาบทามจากน้องๆจากชมรฮอกกี้ มาพอสมควรเป็นระยะๆ  ซึ่งมาถึงเดือนมิถุนายน ก็มีการทาบทามอย่างจริงจังว่า "เรียนเชิญไปเป็นที่ปรึกษาชมรมฮอกกี้"  นี่ก็เลยเป็นประเด็นที่แปลกอีกประการสำหรับชีวิต และเป็นเรื่องน่าขำว่า  นอกจากเป็นคนไม่เก่งดนตรีและศิลปะ วัฒนธรรมแล้ว  ยังไม่มีพรสวรรค์และพรแสวงเรื่องกีฬาชนิดใดเลย

ในคราที่เป็นนักศึกษา กีฬาที่เลือกเล่นคือซอฟท์บอล  ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังพอมีพื้นฐานเหลือบ้าง  แต่ตอนนี้กลับกลายที่จะต้องมาเป็นที่ปรึกษาชมรมฮอกกี้  จึงเป็นเรื่องน่าขำสำหรับชีิวิต 

ที่เอาเรื่องนี้มาเขียนบอกเล่่า ก็คงด้วยเหตุว่าวันนี้ ลงไปดูนักศึกษาจากคณะต่างๆซ้อมกีฬาฮอกกี้ที่สนามฮอกกี้ของมหาวิทยาลัยในฐานะ ที่เป็น(ว่าที่)อาจาร์ที่ปรึกษาชมรมออกกี้ ปีการศึกษา 2554 ได้เห็นว่าเอ้อ  ไหนๆก็ตัดสินใจที่จะเป็นที่ปรึกษาชมรมแล้ว ก็คงต้องพยายามทำหน้าที่นี้ให้ดี  เพาะโอกาสก็คงไม่ได้วิ่งมาหาเราบ่อยๆ  และปณิธานสำหรับชีวิตนี้คือ "การเรียนรู้ตลอดชีวิต"  เรื่องการจะเป็นที่ปรึกษาชมรมฮอกกี้ก็คงจะเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ๆสำหรับ ชีวิตผมพอสมควร และก็คิดว่าเป็นการทำงานเพื่อเรียนและรู้อะไรใหม่ๆไปในตัว  และอย่างน้อยๆก็คงได้ช่วยน้องๆได้บ้างตามโอกาสอันควร

วันนี้ได้มี โอกาสไปเห็นสถานที่จริงซึ่งยังไม่พร้อม  ไฟฟ้ายังไปไม่ถึงสนาม  หญ้ายังรกยาวไม่เหมาะแก่การเล่น และอีกหลายๆอย่างก็ยังไม่พร้อม  ก็คงได้ตระเตรียมร่วมกันกับน้องๆ เพราะคงจะเริ่มทำการแข่งขันในวันที่ 1 ก.ค. 54 ที่จะถึง ซึ่งยังพอมีเวลาอยู่บ้าง  คงต้องรอดูผลว่า"ชีวิตอันน่าขำจะดำเนินไปอย่างไร"  ขอให้โอกาสครั้งนี้ เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผมและน้องๆนักศึกษา และคงมีคุณค่าแก่ชีวิตอีกวาระหนึ่ง   "ฮอกกี้ที่รัก"

 

                                                                          ภาสกร  เตือประโคน

                                                                            12 มิถุนายน 2554

หมายเลขบันทึก: 443748เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2011 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท