ปาริฉัตร
นางสาว ปาริฉัตร รัตนากาญจน์

การระงับข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างประเทศ (ครั้งที่7)


การลงทุนระหว่างประเทศมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของนานาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า การเกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งก็จะมีความสลับซับซ้อนและขยายต้วมากขึ้นด้วยในขณะเดียวกัน

                      การระงับข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างประเทศ                                  

                  การลงทุนส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งส่งผลให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า  แต่ในการไปลงทุนยังต่างประเทศก็อาจจะมีการเกิดข้อพิพาทหรือความขัดแย้งระหว่างกันได้

                                ความหมายของ  ข้อพิพาททางการลงทุน  ยังไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์ไว้แน่ชัด  แต่อาจกล่าวอ้างตามคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลก  ซึ่งได้ให้คำอธิบายไว้ในรายงายแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างรัฐและคนชาติของรัฐอื่น  (  Convention of  Settement  of  Investment  Disputes  between  State  and  National  of  Other  States )  สรุปได้ว่า  ลักษณะของข้อพิพาททางการลงทุนต้องเป็นข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการลงทุน  คำว่าข้อพิพาททางกฎหมาย  หมายถึง  การขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิภายใต้เขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย  หรือเกี่ยวกับการชดเชยค่าเสียหายจากการผิดหน้าที่

                                นอกจากนั้นนักกฎหมายหลายท่านยังอธิบายคำนิยามดังกล่าวให้หมายความรวมถึง  การถูกกล่าวว่าไม่ปฏิบัติการชำระหนี้  การละเมิดข้อกำหนดเกี่ยวกับความมั่นคงของสัญญา  และครอบคลุมถึงการโอนทรัพย์สินเป็นของรัฐหรือการเวนคืนทรัพย์สินโดยผิดกฎหมาย  การผิดสัญญาและลาภมิควรได้อันเกิดจากการร่ำรวยโดยไม่เป็นธรรม  โดยอาจพิจารณาลักษณะของข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างประเทศได้  3  กรณีคือ  ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ  ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน  และข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ     

                     ก.   ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ

                  รัฐในฐานะบุคคลระหว่างประเทศอาจใช้การระงับข้อพิพาทอย่างสันติวิธี  ในลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ  ความมั่นคงระหว่างประเทศและความยุติธรรม  ได้แก่  

                       การเจรจา  คือ  การที่รัฐคู่พิพาทหันหน้ามาเจรจาต่อรองกันโดยตรง  ซึ่งข้อพิพาทในทุกระบบกฎหมายส่วนใหญ่จะสามารถยุติได้ด้วยวิธีนี้                         

                      ผู้เกลี้ยกล่อมให้เจรจา  คือ  กรณีที่รัฐที่สามหรือองค์การระหว่างประเทศเข้ามาชักชวนให้คู่พิพาทเข้าเจรจาต่อกัน  

                     ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท  คือ    กรณีที่คนกลางมีหน้าที่แนะนำวิธียุติข้อพิพาทไว้  นอกเหนือจากการจัดให้มีการเจรจาการไต่สวน  คือ  การที่ตั้งคนกลางช่วยสืบหาความจริงโดยปราศจากอคติ  เพื่อให้รัฐคู่พิพาทยอมรับและปรับความเข้าใจกัน  และจะได้จัดเตรียมหนทางหาข้อยุติต่อไป  โดยไม่ผูกมัดให้คู่พิพาทต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวน

                      ผู้ประนอมข้อพิพาท  คือ   กรณีที่คนกลางทำหน้าที่แสวงหาความจริง  และเสนอแนะข้อตกลงระงับข้อพิพาทโดยที่มีลักษณะเป็นทางการ และซับซ้อนมากกว่าแต่ไม่มีการชี้ขาดข้อพิพาท  และไม่ผูกพันให้ต้องยอมรับปฏิบัติตามข้อเสนอ

                      การอนุญาโตตุลาการ  คือ  วิธีการที่คู่พิพาทตกลงเลือกคนกลางมาทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาท  และคู่พิพาทต้องผูกพันตามคำชี้ขาดนั้น 

                     การระงับข้อพิพาทโดยศาล  คือ  เป็นการตัดสินข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  กฎหมายที่จะนำมาใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศอันได้แก่  สนธิสัญญาระหว่างประเทศ  จารีตประเพณีระหว่างประเทศ  กฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่นานาประเทศรับรอง  คำพิพากษาของศาล  และคำสอนของผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดแห่งประเทศต่างๆในฐานะเป็นเครื่องช่วยศาลในการวินิจฉัยหลักกฎหมายดังนั้น  ข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างรัฐกับรัฐในที่นี้หมายถึง  รัฐผู้รับการลงทุนและรัฐผู้ส่งออกกการลงทุน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคีในสนธิสัญญาหรือความตกลงร่วมกัน  โดยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมักจะเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการตีความหรือการปรับใช้สนธิสัญญา  โดยมักจะมีการกำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทไว้เป็นการเฉพาะ 

                ข.ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน

               ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้นต้องตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐ  กฎหมายที่ใช้ก็เป็นกฎหมายภายในของรัฐนั้น  หรือกฎหมายที่คู่พิพาทตกลงเลือก  แต่เนื่องจากเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญชาติของเอกชนตั้งแต่  2  สัญชาติขึ้นไป  ดังนั้นจึงต้องนำกฎหมายว่าด้วยการขัดกันมาใช้บังคับด้วย  อย่างไรก็ตามสถานะของคู่พิพาทยังมีความเท่าเทียมกัน  ความซับซ้อนในการระงับข้อพิพาทจึงมีไม่มากนัก

                   ค.ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน

                         เป็นข้อพิพาทที่คู่พิพาทมีสถานะไม่เท่าเทียมกัน  ทั้งนี้เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเอกชน  มักจะเกิดจากการสัญญาที่เกี่ยวกับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ  เช่น  รัฐบาลอิหร่านกับบริษัทน้ำมันอิหร่านแห่งชาติฝ่ายหนึ่ง  กับบริษัทที่อยู่ในรูปของกิจการร่วมค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  และดัชท์  อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อสำรวจ  ผลิต  และกลั่นน้ำมัน  เป็นต้น                                      

                          อนึ่ง มีข้อพิจารณาว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในลักษณะสัญญาทางปกครอง  หรือสัญญาเอกชนระหว่างประเทศ  เนื่องจากสัญญาดังกล่าวไม่ได้เป็นทั้งสัญญาระหว่างประเทศที่ทำขึ้นระหว่างรัฐ  และไม่ได้เป็นสัญญาระหว่างเอกชน  แต่เป็นสัญญาระหว่างรัฐและเอกชน  ซึ่งมีความใกล้เคียงกับสัญญาทางปกครอง  ที่มักจะอยู่ในรูปของสัญญาสัมปทานที่ทำขึ้นระหว่างหน่วยงานรัฐกับเอกชน  และรัฐสามารถกระทำการฝ่ายเดียวที่จะควบคุม  หรือเปลี่ยนแปลงสัญญาเพื่อประโยชน์มหาชน  จึงถือเป็นสัญญาของฝ่ายปกครองประเภทหนึ่ง  แต่มีความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีในลักษณะเชิงพาณิชย์    สิทธิและหน้าที่จึงอยู่ภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาระหว่างคู่สัญญาที่เป็นเอกชน  ยกเว้นสัญญาดังกล่าวจะไปเกี่ยวข้องกับประโยชน์มหาชน  หรือบริการสาธารณะ       

                                ในการพิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาทางปกครอง  และสัญญาเอกชนระหว่างประเทศอาจมีความแตกต่างกัน  เพราะสัญญาทางปกครองนั้นรัฐอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า  รวมทั้งกฎหมายที่นำมาใช้ในการพิจารณาคดี  รวมทั้งการบังคับตามคำชี้ขาดที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากกว่าสัญญาเอกชนทั่วไป 

                                      ในส่วนข้อพิจารณาที่เกี่ยวกับความเป็นสภาพบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ  แม้จะมีข้อตกลงยอมรับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยรัฐมหาอำนาจ  กล่าวคือ  ยอมรับในความเป็นผู้ทรงสิทธิระหว่างประเทศขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนไว้ใน  อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐาน  ซึ่งเป็นผลงานของสภายุโรปที่นับว่ามีประสิทธิภาพมากในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ได้ยินยอมให้ปัจเจกชนร้องเรียนต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้โดยความยินยอมบางประการจากรัฐสมาชิก  นับเป็นครั้งแรกที่ให้ปัจเจกชนกล่าวหารัฐได้โดยตรง  แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อพิพาทที่เกิดจากการค้าและการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนของรัฐอื่น  การยอมให้เอกชนเป็นบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศยังคงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติต่อไป  เนื่องจากยังไม่เป็นที่ยอมรับและยืนยันความชัดเจนแน่นอนในสังคมระหว่างประเทศ  อีกทั้งเอกชนยังไม่สามารถเป็นคู่พิพาทในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้โดยตรง 

                                      ข้อพิพาททางการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนระหว่างประเทศ  อาจเกิดขึ้นในรูปแบบของการโอนกิจการของผู้ลงทุนมาเป็นของรัฐโดยไม่จ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม  หรือการใช้มาตรการอื่นของรัฐผู้รับการลงทุนซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนต่างชาติแล้วเป็นปัญหานำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน  ซึ่งเมื่อปัญหาต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นจึงต้องใช้กลไกการระงับข้อพิพาทเข้ามาแก้ไข  แต่โดยส่วนใหญ่แล้วความตกลง  หรือสนธิสัญญาเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  มักจะไม่ได้กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนไว้ในสนธิสัญญา  จึงต้องอาศัยรูปแบบมาตรฐานโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นเป็นหลักในการพิจารณาแต่ละกรณีไป

 (สุรางคณา แก้วจำนงค์  ,  ความผูกพันและผลบังคับใช้ของอนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างรัฐกับคนชาติของรัฐอื่นต่อไทย  วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  2539 )

(ชาญชัย  แสวงศักดิ์  ,  ข้อพิจารณาบางประการที่เกี่ยวกับนิติกรรมทางปกครองและปัญหาบางประการตามแนวความคิดของฝรั่งเศส  รวบรวมโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา )

 

                                  

หมายเลขบันทึก: 44368เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2006 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชมสมกับที่ตั้งใจเรียนเขียนได้ละเอียดดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท