มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ศูนย์อาเซียนศึกษา: การรู้จักที่ยังรอความเข้าใจ


การเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานของประเทศมีประโยชน์ แต่จะมากน้อยคงยังขึ้นกับอะไรหลาย ๆ อย่าง ทุกวันนี้ ไทยยังคงมีนโยบายกีดกันคนข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากเกรงว่าคนเหล่านี้จะเป็นภัยแก่ความมั่นคงและเข้ามาแบ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด

ศูนย์อาเซียนศึกษา: การรู้จักที่ยังรอความเข้าใจ 

 

นัน ภู่โพธิ์เกตุ

 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นครูในโรงเรียนชายแดนได้เล่าให้ดิฉันฟังว่า โรงเรียนของเธอได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้เป็นโรงเรียนศูนย์อาเซียนศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเป็นประชากรของประชาคมอาเซียนในพ.ศ. 2558

โรงเรียนได้พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นร่วมกับสำนักงานการศึกษาเขต เพื่อให้เด็กได้ทำความรู้จักกับประเทศในประชาคมอาเซียน โดยเน้นเนื้อหาเป็นข้อมูลพื้นฐานทั่วไปรวมถึงการสอนภาษาของชาติอาเซียนที่จะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับคนข้ามพรมแดน ซึ่งว่ากันว่าจะยิ่งมีจำนวนมากขึ้นหลังการเกิดประชาคมอาเซียน

การเรียนรู้ข้อมูลพื้นฐานของประเทศมีประโยชน์ แต่จะมากน้อยคงยังขึ้นกับอะไรหลาย ๆ อย่าง  ทุกวันนี้ ไทยยังคงมีนโยบายกีดกันคนข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเนื่องจากเกรงว่าคนเหล่านี้จะเป็นภัยแก่ความมั่นคงและเข้ามาแบ่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด บทเรียนวิชาประวัติศาสตร์เองยังเน้นสอนให้เด็ก ๆ จดจำศึกสงครามในอดีต เช่น พม่าเผาอยุธยา เป็นต้น แต่ไม่ได้บอกว่าในเวลาสงบศึก ชาวบ้านร้านตลาดอยู่ร่วมกันมาอย่างไร ในขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็มักนำเสนอภาพของคนข้ามชาติในสังคมในเชิงลบอยู่เสมอ ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัน (ABAC Poll) ในปี 2549 พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้ที่ได้รับการสำรวจ (จำนวน 4,148คน) ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานเนื่องจากกลัวว่าแรงงานไทยจะถูกแย่งงาน และทำให้ค่าแรงของแรงงานไทยต่ำลง ทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติยังปรากฏแม้พวกเขาจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ตาม

เมื่อเด็กยังคงต้องอาศัยอยู่ร่วมกับอคติในสังคมเช่นนี้ การทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยเพียงรับรู้ข้อมูลพื้นฐานก็คงยังไม่สามารถลบความเป็น"อื่น" ที่ส่งผลให้คนข้ามชาติกลายเป็นคนที่น่าหวาดระแวงแทนที่จะเป็นเพื่อนร่วมสังคม

ความเป็นอื่นนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างผลกระทบด้านลบแก่คนข้ามชาติที่ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว คนไทยเองก็ต้องอยู่อย่างหวาดระแวงเช่นกัน เคยมีมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่งเตือนฉันว่า อย่าเข้าไปในชุมชนแรงงานข้ามชาติตอนกลางคืนเพราะอาจจะได้รับอันตราย ทั้งที่ในยามกลางวันพวกเขาต่างก็ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกันและกัน  ความหวาดระแวงเช่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้เกิดความรุนแรงกับคนข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าเมืองและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต สถานะทางกฎหมายที่เปราะบางและอคติทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างสุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  และการเฝ้าดูเรื่องเหล่านี้อย่างเพิกเฉยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในสังคมไทยด้วย

เรื่องของศูนย์อาเซียนศึกษาทำให้ดิฉันคิดถึงแนวคิด "พลเมืองแห่งโลก" (Cosmopolitan Citizenship) ที่ได้รับฟังจากการเสวนา"ความยืดหยุ่นของความเป็นพลเมืองในโลกไร้พรมแดน" เมื่อต้นปีนี้ อาจารย์สุชาดา ทวีสิทธิ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า แนวคิดนี้คือการยอมรับคุณค่าของคนทุกคนว่าเท่าเทียมกัน และสังคมสามารถเรียนรู้รวมถึงพัฒนาตนเองจากการอยู่ร่วมกับผู้คนต่างชาติพันธุ์และคนข้ามชาติเสมอ ที่สำคัญก็คือ เราจะต้องไม่ปฏิบัติตนเป็นศัตรูกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในดินแดน เพราะมนุษย์ทุกคนต่างเป็นเจ้าของแผ่นดินร่วมกัน

แนวคิดนี้ต่างจากแนวคิด "พลเมืองแบบเก่า" ที่กีดกันคนต่างชาติและยังยึดมั่นในการใช้ "สัญชาติ" เป็นเครื่องมือแบ่งคนของชาติออกจากคนย้ายถิ่น โดยให้คนถือสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะเข้าถึงสิทธิพลเมืองเต็มรูปแบบ แม้คนข้ามชาติก็ย่อมต้องการมีสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ เช่นการเดินทางไปไหนมาไหนอย่างเสรี การทำงาน และการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย เช่นกัน การจะรับเอาแนวคิดพลเมืองแห่งโลกมาใช้เพื่อปรับทัศนคติในการดำรงอยู่ร่วมกันในโลกที่หดตัวเล็กลงทุกที เพื่อปรับทัศนคติในการดำรงอยู่ร่วมกันในโลกที่หดตัวเล็กลงทุกที  สามารถกระทำได้ผ่านการศึกษารูปแบบต่าง ๆ ศูนย์อาเซียนศึกษาน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง  ดิฉันคิดว่า คงจะดีไม่น้อย หากศูนย์อาเซียนศึกษาจะจัดการเรียนการสอนให้เด็กได้ "เข้าใจ" และเห็นภาพความเป็นมนุษย์ของคนข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะแนวคิด “พลเมืองแห่งโลก” ที่เกื้อกูล   การจัดหลักสูตรอาเซียนศึกษาจากบุคลากรท้องถิ่นดังที่เป็นอยู่นั้น มีข้อดีที่จะทำให้ได้บทเรียนที่เหมาะสมกับสังคมที่ผู้เรียนอาศัยอยู่ หากทัศนคติและความรู้ความเข้าใจของผู้ร่างหลักสูตร ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลได้ทั้งในเชิงบวกและลบ ตราบใดที่ยังไม่มีกรอบหลักสูตรที่ชัดเจน รวมถึงการร่วมทำความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและการปรับทัศนคติที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันในความหลากหลายของผู้ร่างหลักสูตรและครูผู้สอน

สำหรับดิฉัน ศูนย์อาเซียนศึกษาเป็นเหมือนบ้านที่ปลูกสร้างขึ้นแล้ว คงไม่เกินกำลังหากเราจะทาสีตกแต่งให้สวยงามน่าอยู่ การที่เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านข้อมูลและภาษานั้นเป็นการวางหยังรากฐานให้พวกเขาสามารถก้าวเข้าไปยืนในสังคมอาเซียนได้อย่างภาคภูมิและการเปิดมุมมองเชิงบวกต่อการอยู่ร่วมกัน ก็จะทำให้พวกเขายืนอยู่ได้อย่างเป็นสุขและมั่นคง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 443361เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2011 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท