466 พิการ...อาจไม่ใช่


พิการแต่กาย ใจไม่พิการ

 

 

 

ภาพแห่งความทรงจำ 

ผมเคยบันทึกเรื่องการได้พบกับผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลคนพิการและคนพิการไทยที่มาเยือนเดลี ในบันทึก http://www.gotoknow.org/blog/poldejw/260947 เรื่อง “พบคนพิการไทยที่เดลี” ยังรู้สึกประทับใจไม่หายเพราะการพบปะในครั้งนั้นผมได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มากมากสำหรับตัวเอง ว่าในบางครั้งบางช่วง เราเองก็อาจมีใจที่พิการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่แพ้คนพิการ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 สอท. โดย ฯพณฯ พิศาล มาณวพัฒน์และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ได้มีโอกาสต้อนรับคณะคนพิการจาก Disabled Peoples’ International Asia-Pacific Regional (DPI/AP) นำโดย นส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย จนท.สำนักงานภูมิภาคประจำประเทศไทยและจนท.อีก 5 ท่าน มาเยี่ยมสถานทูตฯ การมาของคุณเสาวลักษณ์ในครั้งนี้เพื่อเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับทศวรรตใหม่ของเอเชียแปซิฟิกของผู้พิการ (2013-2022) ทศวรรตแห่งการดำเนินการ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 18-21 สิงหาคม 2011 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย คุณเสาวลักษณ์นั้นนั่งรถเข็นมาพร้อมกับคุณวันเสาร์ ชยะกุล เว็บมาสเตอร์ของ DPI/AP ซึ่งนั่งรถเข็นเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีเลขาธิการ Disabled Peoples’International ของอินเดีย นาย Javed Abidi (นั่งรถเข็น) คุณ Dorodi Sharma ผู้อำนวยการโครงการและ Mr.Miyamoto Taisuke ผู้ประสานงานในอาเซียนมาร่วมพบปะด้วย

ต้องบอกว่าทุกครั้งที่ผมได้พบกับคนที่ถูกเรียกว่าคนพิการ ผมไม่รู้สึกว่าเขาเหล่านั้นพิการสักนิดเพราะความคิดความอ่าน ตลอดจนประสบการชีวิตและความรู้ต่างๆ ที่ได้สนทนากันนั้นมิได้บ่งบอกเลยว่าพิการ ผมกลับพบว่าบุคคลเหล่านั้นมีพลังอยู่ในตัว พลังที่ทุกชีวิตของคนปรกติต้องการในวิถีชีวิตเหมือนกัน ผมมองเห็นถึงความปรารถนาดีที่จะทำสิ่งต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น ให้คนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งเจ้าความสุขนี้มิใช่หรือที่ทั้งคนปรกติและคนพิการต้องการ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคม น่าจะมาจากการที่คนปรกติมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องกับคนพิการ เรื่องที่คนทั่วไปเห็นชัดเจนคือการที่มีร่างกายหรือความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกับคนปรกติ ซึ่งมักจะทำให้คิดไปว่าคนปรกตินั้นดีกว่าคนพิการ

ก็จริงอยู่ในหลายเรื่องๆ ที่ปรากฏว่าคนทั่วไปไม่ได้ใส่ใจที่จะช่วยเหลือคนพิการนัก เช่นในการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน การเดินทางในที่สาธารณะ หรือแม้แต่ในบ้านของตัวเอง หากผู้ปกครองที่ปรกติไม่เข้าใจลูกพิการของตนเอง ก็อาจทำลายหรือทำร้ายคนพิการโดยมิได้ตั้งใจ

การอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะเป็นเรื่องของภาครัฐโดยแท้ที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดเพื่อเติมสิ่งที่ขาดเพื่อให้คนพิการสามารถช่วยตัวเองได้ในที่สาธารณะ เช่น การมีฟุตบาทและทางข้ามสะพานข้ามถนนสำหรับคนพิการที่นั่งรถเข็น ทางม้าลายสำหรับคนพิการตาบอด บันไดในรถประจำทางสำหรับคนพิการ ทางขึ้นทางลง ราวเหล็กจับสำหรับคนพิการในการเดินทางรถใต้ดิน ในร้านอาหาร ในห้างสรรพสินค้าหรือแม้แต่ในวัด สิ่งเหล่านี้เป็นตัววัดความเอาใจใส่ที่ดีของภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคม…ผมคิดว่าเราไม่ควรตัดใครออกเลย เพราะทุกคนเป็นส่วนประกอบสำคัญของสังคมมนุษย์ที่หลากหลายและน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ดูตัวอย่างอินเดียที่เป็นดินแดนแห่งความเหลือเชื่อ สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยความหลากหลายในทุกๆ เรื่องได้โดยเป็นประชาธิปไตยที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก

ความจริงประเทศในฐานะเมืองพุทธ น่าจะเป็นสังคมที่มีการดูแลผู้พิการได้ดีประเทศหนึ่งเท่ากับกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ด้วยหลักศีลและธรรมว่าด้วยเมตตา กรุณา คนพิการในประเทศไทยน่าจะโชคดีกว่าผู้พิการในหลายประเทศ

ความเอาใจใส่ของรัฐในสังคมบ้านเราคงไม่ต้องถามและตอบ เพราะทุกคนทราบกันดีแล้วว่าสังคมไทยเอิ้ออาทรผู้พิการมากน้อยเพียงใด หากจะขอก็ขอให้ลองเพิ่มความใส่ใจมากขึ้นอีกสักนิดก็คงจะดี ยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้ง จะใช้คนพิการหาเสียงก็ไม่ว่ากัน แต่เมื่อได้รับเลือกเข้าไปเป็นนักการเมืองแล้วโปรดอย่าลืมสัญญาที่ให้ไว้กับคนพิการ เขาไม่ลืมหรอกครับ

ท่านทูตพิศาลได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่าการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้อย่างเป็นรูปธรรรมน่าจะอยู่ที่การประสานและดำเนินการ(เข้าถึง)โดยตรงกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสังคมโดยเฉพาะเอกชน เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ได้คำนึงที่จะออกแบบรถเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ได้ด้วยหรือไม่ หากไม่ก็ขอให้พิจารณาด้วย หรือ ขสมก. ก็ขอให้ปรับรถเมล์เพื่อให้คนพิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกด้วย เป็นต้น

จากการสนทนาทำให้ทราบว่าคนพิการในเมืองไทยนั้น ตามตัวเลขอาจบอกว่ามีเพียง 2 ล้านคน แต่จริงๆ แล้ว อาจมีมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นอกจากนั้น การที่ผู้พิการจะได้รับฐานะเป็นผู้พิการที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการจะต้องไปลงทะเบียนเป็นผู้พิการซึ่งตรงนี้ยังเป็นปัญหาสำหรับคนพิการส่วนใหญ่เพราะไม่สะดวกที่จะดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและท้องถิ่นที่ห่างไกล ก็อีกนั้นแหละ ความเอาใจใส่ของคนปรกติที่มักจะเป็นผู้มีอำนาจดูแลกิจการคนพิการยังไม่มากพอที่จะทำให้ปัญหาของคนพิการน้อยลง

 

การที่คณะนี้มาร่วมประชุมวิชาการที่เดลี ผมมองเห็นพลังของคนพิการในการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เพิมขึ้นในการที่จะอยู่กับสังคมของคนทั่วไป ซึ่งนับวันคนทั่วไปซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสังคมนี้จะมีระดับพิการทางใจมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งชิงดีกันและการเอาตัวรอดในวิถีและสภาพของสังคมที่เสื่อมโทรมมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นทางออกหนึ่งที่คนพิการจะทำได้ก็คือการรวมตัวกันของคนพิการให้เหนียวแน่น ไม่ใช่เพื่อคนพิการเท่านั้นแต่เพื่อคนทั้งปรกติและพิการ เพื่อสร้างสังคมที่คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน

ผมดีใจที่ยังมีคนไทยที่พิการแต่กายแต่ใจไม่พิการได้ต่อสู้และทำงานในระดับสากลได้ บุคคลเหล่านี้มิได้เป็นตัวแทนประเทศเท่านั้นแต่เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้รักสันติ รักความสุขและทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นอีกมาก เพราะพลังใจของเขาทำให้เราต้องคิดและเกิดแรงบันดาลใจและกำลังใจว่า ไม่ว่าชีวิตจะมีความยากลำบาก มีอุปสรรคใดๆ ก็ต้องฝ่าฝันและสู้ไปให้ได้ มิฉะนั้นเราอาจจะต้องใช้คำว่าใจพิการ.......บ้าง......ก็เป็นได้

ขอสนับสนุนการต่อสู้ของ Disabled Peoples’ International ทุกท่านในทุกประเทศครับ และขอให้ตระหนักว่า ใจเท่านั้นที่เป็นใหญ่ ถ้าใจมีพลัง คิดบวกแล้ว อะไรก็ทำได้สำเร็จเสมอ ไม่ได้อยู่ที่ความพิการเลย

9 มิถุนายน 2554

 

หมายเลขบันทึก: 443213เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ครับ บางคนอาจสามารถใช้ความพิการเป็นประโยชน์

จนกล่าวได้ว่า "โชคดีที่พิการ" 


Ico48

ขอบคุณ อจ.โสภณครับ

เห็นด้วยครับ ซึ่งก็หมายความว่าโชคดีมีได้กับคนทุกฐานะและทุกสภาพและในที่สุด ก็ต้องบอกว่า เราโชคดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ครับ

ผมทราบจากบุคคลพิการเหล่านี้ว่าคนพิการมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุ จากความเจริญและทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้คนปรกติ อาจกลายเป็นคนพิการได้ในพริบตา

ฟังแบบนี้เล้ว ก็สะท้อนใจครับว่า นอกจากความตายที่มาเยือนเราได้เสมอแล้ว สิ่งที่น่ากลัวอาจจะเป็นภัยแบบอุบัติเหตุนี่ละครับ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ วันหน้าเกิดเราต้องกลายเป็นพิการ ก็คราวนี้ละครับ...เราจะเข้าใจหัวอกของคนพิการ...บ้าง

ขอบคุณสำหรับดอกไม้และความคิดเห็นนะครับ

น้องชายเคยพูดว่า

หากเราเลี้ยงตัวเองได้ เราก็ไม่อยากเป็นภาระของใคร

 

คำพูดนี้ เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ทุกวันนี้

ทั้งครอบครัวหรือหน่วยงานภาครัฐ ไม่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือในรูปแบบของตัวเงิน

 

แต่สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุน อย่างชัดเจน คือเรื่องของ การอยู่ร่วมกันโดยเอื้อสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้สิทธิพิเศษในการได้รับบริการจากภาครัฐ ที่ชัดเจนไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก  จนขาดการเข้าถึงบริการอย่างสิ้นเชิง

 

ขอบคุณอาจารย์พลเดช  มากนะครับที่เขียนบันทึกนี้

Ico48

คุณแสงแห่งความคีครับ เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุน อย่างชัดเจน คือเรื่องของ การอยู่ร่วมกันโดยเอื้อสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้สิทธิพิเศษในการได้รับบริการจากภาครัฐ ที่ชัดเจนไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก  จนขาดการเข้าถึงบริการอย่างสิ้นเชิง

ผมได้บอกคุณเสาวลักษณ์ว่า จะมีไหมที่ภาครัฐเปิดโอกาสให้ผู้พิการเป็นผู้บริหารงานคนพิการได้ จะมีไหมที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการเป็นนักการเมืองได้ ...เพื่อที่จะได้มีผู้แทนในกลไกบริหารของรัฐ จะมีไหมที่ผู้พิการเป็นสถาปนิก เพราะจะได้ออกแบบสิ่งของต่างๆ ที่เอื้ออาทรกับผู้พิการ....คำตอบของคุณเสาวลักษณ์ก็คือไม่เห็นมี

สิ่งที่ผมสะท้อนใจก็คือ มนุษย์เราจะมองเห็นไหมว่าชีวิตคนเรานั้นไม่แน่นอน เป็นอนิจจัง เราคิดว่าเราเป็นคนปรกติ ก็โชคดีของเรา แต่ใครจะทราบว่า ในชั่วระยะเวลาข้างหน้าที่เข้ามาเยือนทุกวันนั้น จะเกิดอะไรกับเรา....พระพุทธองค์จึงทรงเตือนพวกเราไม่ให้ประมาทในการดำเนินชีวิต ดังนั้นถ้าคิดยาวๆ การใส่ใจกับคนพิการก็คือการสร้างสังคมที่ไม่ประมาทเพราะคนปรกติก็สามารถเป็นผู้พิการได้ทุกเมื่อ และการจะทำอะไรเพื่อคนพิการมีโอกาสมากขึ้นก้คือการทำเพื่อตัวเรา ลูกหลานเราเองในอนาคตด้วย

สำหรับผม การพิการไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้หรือเข้าถึงปัญญาเลยครับ แน่นอนยังมีการเข้าถึงความรู้ของคนพิการที่ยังไม่เสมอภาคกันแต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้แจ้งได้เทียมกันครับ (เพราะมีรูปกับนามเหมือนกัน)

สำหรับผู้พิการเองนั้น มีโอกาสที่จะจรรโลงสังคมด้วยการให้ความรู้ ประสบการณ์ชีวิตที่มากมายมหาศาล จึงได้เชิญชวนคุณเสาวลักษณ์ให้มาเปิดบล๊อคในโกทูโนแล้วครับ ผมว่าที่ผมยังคงบันทึกเรื่องราวในโกทูโน นอกจากจะเป็นเว็บสีขาว ให้ความรู้มากมายแล้ว ก็ยังเป็นเว็บที่ถือว่าสมาชิกมีโอกาสเผยแพร่ความรู้ของตนเท่าเทียมกันครับ(ไม่ว่าจะพิการหรือปรกติ)

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

Ico48

ขออนุญาตแวะมาชื่นชมครอบครัว"แสงศรี" ด้วยความจริงใจ โดยเฉพาะผู้เป็นผู้นำครอบครัว เป็นการสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยธรรมะ ที่ต้องใช้คุณธรรมต่างๆ มากมาย เป็นกลไกหนึ่งที่ดีของสังคมอีกนานแสนนาน...ชื่นชมครับ

ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า โดยไม่เป็นภาระของใคร

Ico48

ผอ.ชยันต์ครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจ

ผมเห็นด้วยกับประโยคที่คุณแสงแห่งความดียกมา เป็นความทรนงของคนที่ชอบความอิสระในชีวิต ซึ่งผมเองก็เป็นบ่อยๆ

แม้ลึกๆ แล้ว มนุษยเราเกิดมาย่อมมีภาระและเป็นภาระ....ไม่ว่ากับตัวเอง กับผู้คนรอบข้างในรอบวงต่างๆ วงกันจนถึงระดับโลกที่ต้องมีภาระโดยรวมรักษ์โลก ผมก็ยังชอบประโยคนั้นอยู่ดีครับ

สำนึกของการมีหน้าที่ช่วยผู้อื่นต้องมาจากใจจริงครับ ถ้าตัดความพิการออกไป ผมเห็นว่ามนุษย์ทุกคนสามารถช่วยเหลือสังคมได้เสมอไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง

ภาระหน้าที่ของท่าน ผอ. ก็ท้าทายนะครับ ขอส่งกำลังใจมาให้ ณ ที่นี้ครับ

Ico24 ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ขอบคุณครับสำหรับดอกไม้กำลังใจ มีความคืบหน้าล่าสุดครับ ท่านผุสดี ตามไทท่านแวะไปเดลี ผมจึงยกเรื่องนี้สนทนา ท่านเห็นด้วยและได้นำเรื่องนี้ไปให้คณะรรมาธิการในสภา จึงปรากกว่าอาจจะจัดให้คนพิการไปสังเวชนียสถานกับคณะผู้แสวงบุญทั่วไป โดยเริ่มจากคนพิการสัก 2-3 คนก่อน หากได้เรียนรู้ประสบการณ์การนำผู้พิการไปสังเวชนียสถานแล้ว ในปีต่อๆ ไป อาจจะจัดเฉพาะผู้พิการก็เป้นได้ ......ก้น่าดีใจแทนครับที่มีผู้สนใจห่วงใยผู้พิการในการไปแสวงบุญ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท