การปลูกฝังประชาธิปไตยแก่เยาวชน


การปลูกฝังประชาธิปไตยแก่เยาวชน

การปลูกฝังประชาธิปไตยแก่เยาวชน

 

              การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นคำที่คนไทยแทบทุกคนดูจะคุ้นเคยเพราะเหตุที่เป็นการปกครองประเทศที่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาไม่น้อยกว่า 79 ปีแล้ว  หากจะดูความหมายโดยรวมจะเห็นได้ว่ามีความหมาย

อย่างกว้างๆ คือ “อำนาจตัดสินใจทางการเมือง และหรือที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะเป็นของประชาชน”

และถึงวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองที่มีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกและสังคมไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ในความเป็นจริงของสังคมประชาธิปไตยบ้านเราดูจะพบเจออุปสรรค ลุ่มๆดอนๆ แต่เราก็ผ่านมันมาได้ตลอดระยะเวลา 70 กว่าปี แม้บางช่วงเวลาเราชอบที่จะใช้คำว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ แทนการใช้ประชาธิปไตยแต่เพียงคำเดียว เพราะในทางปฏิบัติแล้วบริบทความเป็นจริงของแต่ละสังคมย่อมมีรายละเอียดแตกต่างกัน ทั้งในด้านการศึกษาของคนในชาติ ทรัพยากร สภาพภูมิประเทศ รวมถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งไม่มีสังคมใดที่มีรูปแบบเหมือนกันทุกอย่าง และแต่ละสังคมก็เลือกใช้ในสิ่งที่เหมาะที่สุดกับสังคมของตน

              ในส่วนของสังคมไทยก็เช่นเดียวกันเราก็มีลักษณะเฉพาะของไทยเราที่ย่อมแตกต่างจากสังคมอื่นเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เป้าหมายหลักของการปกครองแบบประชาธิปไตยย่อมมีสิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือเป็นสังคมแห่งสิทธิและการให้โอกาส ซึ่งสังคมแบบนี้ต้องเป็นสังคมแห่งการให้สิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันแก่คนทุกคนในสังคม และสังคมนั้นต้องมอบโอกาสที่ดี โอกาสที่จะมีชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพให้แก่ทุกคนในสังคม ซึ่งการที่เราจะได้สังคมแบบประชาธิปไตยในแบบนี้ได้นั้น ต้องเริ่มจากการที่คนทุกคนในสังคมต้องได้รับการปลูกฝังให้รู้และเข้าใจสิทธิ บทบาทหน้าที่ของตนถูกต้องตามวิถีทางของประชาธิปไตย ซึ่งท้ายสุดสังคมก็คงต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของสถานศึกษา และหากจะให้ได้ผลดีที่สุดนั้น ทุกฝ่ายต้องมองเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการฝึกเพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย เพราะแนวคิดหลักของการปลูกฝังประชาธิปไตยนั้นสถานศึกษาหรือครูผู้สอนจะต้องเน้นฝึกฝนให้นักเรียนและเยาวชนในสังคมให้รู้จักสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบและที่สำคัญจะต้องสร้างจิตสำนึกในประชาธิปไตยด้วยการเรียนรู้ทฤษฎีควบคู่ไปกับกระบวนการปฏิบัติในชีวิตจริง ตั้งแต่เด็กเล็กๆ ในวัยอนุบาลจนถึงเด็กโตในระดับอุดมศึกษา

             ท้ายที่สุดหัวใจสำคัญของแนวคิดแบบประชาธิปไตย คือ ต้องอบรมสั่งสอนความเป็นประชาธิปไตยด้วยการฝึกฝน ให้เยาวชนรู้จักเคารพผู้อื่น เคารพกติกา โดยเริ่มต้นที่ตัวเอง เพราะการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของความรู้ แต่ต้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติจริงด้วยจึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนให้คนมองคนเสมอภาคกัน และเริ่มต้นโดยใช้กติกาและฝึกให้เคารพกติกา เพื่อนำกติกานั้นมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงทั้งในส่วนชีวิตตนเอง และในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม

 

 

   อาจารย์สุภลัคน์ ทุ่งสะโร (สาขางานสามัญ)

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 443139เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2011 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท