การตั้งชื่อ


ประวัติความเป็นมา

การตั้งชื่อตามวัฒนธรรมไทยพุทธ

  วัฒนธรรมในการตั้งชื่อเพื่อเรียกขานกันนั้นสะท้อนให้เห็นพัฒนาการในการใช้ภาษาและวัฒนธรรมด้านอื่นๆ บางประการหลักฐานที่พอจะช่วยให้เห็นแนวนิยมในการตั้งชื่อบุคคลระดับชาวบ้านคือ  ชื่อบุคคลที่ปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่ว่าด้วยผู้สร้างวัด สร้างไร่นา และเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องกัลปนา  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีรายชื่อประเพณีเป็นจำนวนมากพอ  นอกจากนี้ก็มีชื่อเจ้าเมืองและบรรดาศักดิ์ที่แต่งตั้งมาจากส่วนกลางซึ่งมีแนวนิยมต่างไปอีกลักษณะหนึ่งครั้นถึงสมัยรัชการที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการตั้งชื่อสกุลมีการพระราชทานนามและพระราชทานนามสกุล แนวนิยมตั้งชื่อจึงเป็นเช่นเดียวกับภาคกลางและภาคอื่นๆ ของประเทศ

  รายชื่อชาวบ้านที่พบในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่เป็นคำไทยแท้ มีทั้งที่เป็นพยางค์เดียวและคำผสมมีมากกว่าหนึ่งพยางค์ เช่น สุก คำ ดำ แกล้ อ่อน เกลี้ยง เรือง กองทอง พานทอง อยู่ผอง จันเลาทอง รัดเมือง ที่เป็นคำภาษาบาลีสันสกฤตก็มีบ้าง เช่น ราช เพชร บุญ เทศ ประภาวดี ศรีราชา

  เรื่อง “ยอเข้าตำราเหมือนตราพระธรรมวิลาสเอาไปวิวาทเป็นหัวเมือง”  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกัลปนาวัดพะโคะ  เมืองพัทลุง(สทิงพระ)  ปรากฏว่ามีรายชื่อบรรดาเทือกเถาหล่ากาของคนทาน  มีการใช้คำ “นาง” (มี ๔๙ รายชื่อ) และใช้คำ  “ออ” นำหน้าเพศชาย (มี ๓๖ รายชื่อ) ส่วนใหญ่เป็นคำภาษาไทยและเป็นคำภาษาถิ่น ชื่อเพศชายได้แก่ ออโสม ออบุตร ออไชย อองั้วกาน ออเทพ ออวัง ออเย (๒ ชื่อ) ออราชศรียศ ออเทพกุมาร ออสอนมลิ ออตน ออพรหม ออนิยาย ออรัตแก้ว ออแก้วสะคอน อองาย ออไชยปัญญา ออแก้ว ออหอม ออสอนวงราช ออกรทอง ออไชยศรี ออมะคน ออสี ออสวน ออราช ออเพชร ออดี ออพรหมกุมาร อออินหมู ออชาย ออชาย ออศรี ออไทย ออขาน

  ปรากฏว่าคำทั้งหลายคำที่ใช้ทั้งที่เป็นชื่อผู้หญิงและชื่อผู้ชาย เช่น นางหอม ออหอม นางแก้ว ออแก้ว นางดี ออดี นางสี ออสี เป็นต้น

  เป็นที่หน้าสังเกตว่ารายชื่อนายประเพณีและหัวงานในเรื่องยอเข้าตำราฯ ฉบับนี้ ซึ่งมีอยู่ ๑๑๐ รายชื่อ จำแนกได้เป็นรายชื่อสันสกฤตถึง ๔๕ รายชื่อ (ในจำนวนนี้อาจเป็นไปได้ทั้งคำบาลีและสันสกฤตอยู่ ๑๐ ชื่อ) เป็นคำประสมระหว่าคำภาษาบาลีกับภาษาสันสกฤต ๘ ชื่อ เป็นคำภาษาบาลี ๘ ชื่อ คำไทยแท้ ๓๖ ชื่อ และเป็นคำภาษาอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ๑๓ ชื่อ ซึ่งทำให้เห็นว่าชขื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสงฆ์อย่างใกล้ชิดในยุคนั้น (ราวสมัยอกาทศรถ) นิยมใช้ภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลีและมากกว่าภาษาไทยแท้ ตัวอย่างชื่อที่เป็นสันสกฤต เช่น พรหม พิจิตร ยศ อินทร์ ศรีสงคราม ศรีชาติ ราชไมตรี เทศ จันทร หงส์ เพชร ศรีโสต พรหมบุตร ราชศรียศ ศุข ศรีกุมาร ชื่อที่เป็นภาษาอื่น (ไม่แน่ใจว่าเป็นภาษอะไร) เช่น โสมมะคน มะพล ศรีชายตรอย ศรีชายกะมาน ศรีกะมาน พรหมสะดัน (ซึงล้วนมีรุปคำสันสกฤตประสมอยู่ด้วย)

 

   การที่รายชื่อผู้ใกล้ชิดกับศาสนานิยมใช้ภาษาสันสกฤตเช่นนี้  อาจสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของภาษาสันสกฤตที่ใช้ในพุทธศาสนาลัทธิมหายานซึ่งแพร่หลายในภาคใต้ก่อน พุทธศาสนาลังกาวงศ์วงศ์จะเข้ามาสู่แถบนี้ก็เป็นได้ แม้ว่าหลักฐานที่อ้างถึงนี้พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จะแพร่หลายในภาคใต้มานานแล้วก็ตาม อนึ่งแม้แต่ภาษาพูดทั่วไปก็พบว่านิยมคำสันสกฤตประสมอยู่มากมาย

   ในแง่ความหมายของชื่อชาวภาษาใต้ที่เป็นไทยพุทธบางท้องถิ่นนิยมตั้งชื่อเด้กเล็กหรือเมื่อเป็นทารก  ซึ่งเรียกชื่อว่า “น้ำนม” ให้ความหมายในทางไม่ดี เพื่อไม่ให้ผีรัก ไม่ให้ผีพอใจ เช่นชื่อ หมา ขี้หมา แมว ขี้กลา(น้ำครำ) ก้างปลา เป็นต้นและมากรายชื่อน้ำนมนั้นได้เรียกไปตลอดชีวิต

   ขนบนิยมการตั้งชื่อน้ำนมนี้ของจีนก็มี ภาษาจีนแต๋จิ๋วเรียกชื่อน้ำนมว่า  “เล่อเมี่ย”  เช่นชื่อ  “เหยียง” ของพระยาวิเชียรคิรี ต้นสกุล ณ สงขลา ก็เป็นชื่อน้ำนม แต่คำเหยียงเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน (ดู ณ สงขลาฒต้นตระกูล)

  เดโช สวนานนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อเจ้าเมืองหรือบรรดาศักดิ์มักจะระบุถึงความสำคัญและศักดิ์ของเมืองนั้นๆ อยู่เสมอ เช่น เจ้าเมืองไชยา”พระศรีราชสงครามรามภักดี” ระบุว่าเป็นผู้ใหญ่มีภารกิจในการรบ เพราะเป็นเมืองที่ต้องรบทัพจักศึกอยู่ตลอดเวลา เจ้าเมืองระนองมีราชทินนามว่า  พระยารัตนเศรษฐี เพราะเมืองระนองเป็นเมืองที่เกี่ยวกับการเงินการทอง เกี่ยวกับภาษีอากรเป็นสำคัญ เจ้าเมืองภูเก็ตมีศักดิ์ว่า พระยาภูเก็ตเกษตรารักษ์ เพราะเมืองภูเก็ตมีแร่โลหะเป็นสำคัญ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองพระหรือเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาตำแหน่งปลัดเมืองได้ชื่อว่า พระศิริธรรมบริรักษ์ หรือเจ้าเมืองเป็น พญาศรีธรรมาโศกราช เป็นต้น

  เมื่อธรรมเนียมการตั้งชื่อตามหลักโหรศาตร์แพร่หลายมีตำราตั้งชื่อเกิดขึ้น (เช่น ตำราพรหมชาติ) มีเกณฑ์การตั้งชืท่อตามอักษรวันเกิดตามนามกำเนิด และตามนามปีเกิด ผู้ที่เป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองจึงไปให้ผู้รู้ผู้เข้าใจในการตั้งชื่อช่วยคิดและตั้งชื่อให้ลูกกุลบุตรกุลธิดาตามธรรมเนียมการตั้งชื่อในทางโหรศาตร์ ซึ่งถือว่าดาวเคราะทั้ง ๘ เป็นนามกำเนิดเป็น นามชาย นามหญิง ไว้คนละฝ่าย แล้วกำหนดอักษร ๘ หมู่ประจำวันพระเคราะห์นั้นๆ ผู้เกิดวันไหนก็เอาอักษรประจำวันนั้นมาตั้งชื่อ คือ ผู้เกิดวันอาทิตย์ ให้นำอักษร อ อา อิ อี อุ อูเอ โอ มาตั้ง ถ้าเกิดวันจันทร์ นำอักษร ก ข ค ฆ ง มาตั้ง วันเกิดวันอังคาร นำอักษร จ ฉ ช ฌ ญ มาตั้ง เกอดวันพุทธ นำอักษร ฏ ฐ ฑ ฒ ณ มาตั้ง เกิดวันพฤหัสบดี นำอักษร ส ห ฬ อ มาตั้ง เกิดวันเสาร์ นำเอา ต ถ ท ธ น มาตั้ง นอกจากนี้ยังมีนิยมตั้งชื่อตามทักษาปกรณ์ คือ ดาวเคราะห์ที่จัดให้เป็นระเบียบเป็น บริวาร อายุ เดช ศรี มูละ อุตสาหะ มนตรี กาลกรรณี โดยเวียนขวาไปตามทิศทั้ง ๘ คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน ชายเกิดวัรอะไรให้นับวันนั้นขึ้นต้นเป็นบริวาร แล้วนับต่อไปเป็นอายุ เดช ศรี มูละ ฯลฯ นามชายนิยมอักษรวรรคเดช นามหญิงนิยมใช้อักษรวรรคศรีหรือวรรคอื่นๆ เว้นแต่กาลกรรณี เหล่านี้เป็นต้น

    เนื่องจากการตั้งชื่อตามคติโหราศาตร์ค่อนข้างซับซ้อนให้ตั้งชื่อตามมงคลนาม หมายดีได้ตามความเข้าใจ

   อนึ่งในสมัยรัชการที่ ๖ ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานนามและสกุลแก่ข้าราชบริพาร และโปรดที่จะใช้คำภาษาบาลีหรือสันสกฤต ดังเช่นเมืองวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๘ เสด็จประทับ  ณ วัดพระมหาธาตุ ฯเมืองนครศรีธรรมราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระหัตถเลขาขนานนามสกุลเป็นสวัสดิมงคลแก่ข้าราชการ คือ อำมาตย์เอก พระยาประชากิจกรจักร (ทับ) พระราชทานนามสกุลว่า “มหาเปารยะ” อำมาตย์โท หลวงธรรมรัฐธุราทร (คล้าย) พระราชทานนามสกุลว่า “โกไศยกานนท์” รองอำมาตย์เอก หลวงสิทธิศักดิ์ภักดี (ปาน) พระราชทานนามสกุลว่า “ขัมพานนท์” รองอำมาตย์เอก หลวงประจันต์จุธารักษ์ (สา) พระราชทานนามสกุลว่า “สวรรณสาร” รองอำมาตย์โท หลวงบุรธนพิทักษ์ (ใหญ่) พระราชทานนามสกุลว่า “สุทธิเศวต” รองอำมาตย์โท ขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ (เขียน) พระราชทานนามสกุลว่า “มาลยานนท์” รองอำมาตย์โท ขุนพยัคพยูนการ (เต่า) พระราชทานนามสกุลว่า “ศตะกูรมะ” นายบุญเล็กมหาดเล็ก พระราชทานนามสกุลว่า “หุตินันทน์” นายร้อยโทฟู พระราชทานนามสกุลว่า “มหากนิษฐ์”

   นับแต่นั้นมาเกิดนิยมเปลี่ยนชื่อนามสกุลเป็นคำภาษาบาลีและสันสกฤตกันอย่างกว้างขวาง เช่น ขาว เป็น “เศวต” แก้ว เป็น “รัตน์” เป็น “ มณี” หนู เป็น “มุสิ” บัว เป็น “โกมล” เป็น “ปทุม” เป็น “อุบล” บัวเขียว เป็น “นิลุบล” เป็น “นิโลบล” สีทอง เป็น “กนกวรรณ” ฯลฯ และความนิยมตั้งชื่อเป็นภาษาบาลีคำสันสกฤตให้นิยมกันมาจนถึงปัจจุบัน

คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมไทย
หมายเลขบันทึก: 442625เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท