AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

กุ๋ม


เวลาสำหรับการสวดกุ๋ม ในเวลาพลบค่ำ ด้วยเชื่อว่า ในระหว่างที่โลกมีแสง ๒ สี คือช่วงที่วิญณาณผีต่าง ๆ กำลังเดินทางกลับไปยังที่ตนเองจากมา หรือต้องการจะไป
     “กุ๋ม” เป็นคำในภาษาล้านนา หรือ “กำเมือง” ที่หมายถึง “การคุม” "การจับประคองไว้ให้ตั้งมั่น" หรือ การสุม (เช่น กุ๋มถ่าน = การเผาไม้เอาถ่าน)
    
     แต่ “กุ๋ม” ที่จะนำมาเล่าให้ฟังในครั้ง หมายถึง พิธีกรรมการสวดอย่างหนึ่งที่ทำโดยพระสงฆ์ (ทั้งภิกษุและสามเณร) โดยมีจุดประสงค์เพื่อปัดเป่าโรคภัย ไล่สิ่งอัปมงคลที่มีอยู่ในตัวตน หรือที่มากระทำให้คน ๆ หนึ่งต้องป่วยไข้ โดยอาศัยพระพุทธคุณผ่านบนสวดต่าง ๆ ที่เรียกว่า มนต์ ๘ ตำนาน หรือ ๑๒ ตำนาน  ตามอย่างจารีตนิยมของพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแบบล้านนา
    
     การ “กุ๋ม” จะเริ่มต้นด้วยการที่บ้านใดก็ตามที่สมาชิกในบ้านเกิดล้มป่วยเป็นไข้อิด ๆ ออด ๆ ไม่หาย หรือใกล้หายแล้วก็ตาม ผู้นำครอบครัว โดยมากเป็น ผู้ชายจะทำ “สวยข้าวตอกดอกไม้” ไปนิมนต์ พระสงฆ์องค์เจ้าที่วัด ให้มาทำการสวดกุ๋มให้กับคนป่วย  ซึ่งเวลาในการสวดกุ๋มนั้นจะกระทำเฉพาะตอนพลบค่ำตะวันใกล้ตกดินเท่านั้น
 
     หลังจากที่ไปกราบนิมนต์พระสงฆ์แล้ว หัวหน้าครอบครัวก็จะกับมาที่บ้านเพื่อเตรียมชุดเครื่องที่จะใช้ในพิธีกรรม ประกอบด้วย 
 
     (๑) กระบอกไม้ไผ่บรรจุน้ำ (ทางเหนือเรียกว่า ไม้เฮี้ย มีลักษณะผิวบาง เลาตรง แตกง่าย ส่วนที่แตกจะคมมากบาดเนื้อได้สบาย) เจาะรูร้อยด้วยเชือกกล้วยหรือด้ายตรงปากกระบอก จำนวน ๔ กระบอก
     (๒) ก้านไม้ไผ่เหลาแล้ว จำนวน ๔ ก้าน ความสูงประมาณเลยเอวนิดหน่อย
     (๓) ซองปัจจัยสำหรับพระสงฆ์ที่มาสวด จำนวน ๔ ซอง (จะมีหรือไม่ก็ได้)
     ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนที่ครอบครัวของผู้ป่วยเป็นผู้เตรียมเองทั้งหมด จากนั้นก็รอเวลา
     เมื่อถึงเวลาที่เหมาะแล้ว พระสงฆ์ก็จะเดินไปที่บ้านของคนป่วย โดยจะเตรียมสิ่งของไป ๒ อย่าง คือ  (๑) จีวรพระ ๑ ผืน และ (๒) บาตร ๑ ลูก
     เมื่อไปถึงที่บ้านของคนป่วยแล้ว ก็จะเรียกให้ คนป่วยออกมานอกบ้าน (พิธีกรรมนี้จะไม่ทำการสวดในเขตรั้วบ้าน) พร้อมกับหาที่นั่งเป็นเก้าอี้ต่ำ หรือที่เรียกว่า “ก่อม” มาด้วย จุดที่เหมาะแก่การทำพิธี โดยมากก็ตรงประตูรั้วทางเข้าบ้าน
 
     เมื่อพร้อมแล้ว ให้คนป่วยนั่งลงหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและพนมมือพระสงฆ์จะเข้าประจุด ๔ จุด และนำจีวรที่นำมาด้วย กางออกเหนือหัวคนป่วย โดยไม่ให้ผ้าจีวรสัมผัสกับศีรษะ เอาบาตรวางคว่ำลงไปให้ตรงกับศีรษะคนป่วย หัวหน้าครอบครัวหรือคนในครอบครัว นำชุดไม้และกระบอกน้ำมาถวายให้พระสงฆ์รูปละ ๑ ชุด จากนั้นพระสงฆ์จะถอดรองเท้า และเริ่มสวดมนต์เริ่มต้นด้วย บทสรรเสริญพระพุทธคุณ คือ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ เรื่อยไปจนครบบทสวดที่เรียกว่า ๘  ตำนาน หรือ ๑๒ ตำนาน
     เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์มาถึงส่วนที่ใช้สำหรับการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ดวงวิญญาณ พระสงฆ์จะหลั่งน้ำในกระบอกไม้ไผ่ลงพื้นดินจนหมด (เรียกว่า หยาดน้ำ) แล้วก็จะทิ้งกระบอกไม้ไผ่ลงใกล้กับที่ยืนอยู่ แล้วเหยียบให้แตก เมื่อสวนมนต์ครบถ้วนทุกบทแล้ว ก็ถือว่าเป็นอันเสร็จพิธี พระสงฆ์เก็บบาตร พับจีวร  แล้วเดินทางกลับวัด เป็นอันเสร็จการประกอบพิธีกรรม “กุ๋ม”
     หลังจากที่พระสงฆ์กลับไปแล้ว โดยมากครอบครัวผู้ป่วยจะทำการ “เลี้ยงผี” ต่อจากนั้น ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะทำหรือไม่
 
นัยยะเชิงคติธรรม
     (๑) การหันหน้าไปทางทิศตะวันตกของคนป่วย หมายถึง สิ่งชั่วร้าย วิญญาณร้ายที่กระทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย  ให้ตกหายไปพร้อมกับด้วยตะวัน
     (๒) เวลาสำหรับการสวดกุ๋ม ในเวลาพลบค่ำ ด้วยเชื่อว่า ในระหว่างที่โลกมีแสง ๒ สี คือช่วงที่วิญณาณผีต่าง ๆ  กำลังเดินทางกลับไปยังที่ตนเองจากมา หรือต้องการจะไป
     (๓) พระสงฆ์ยืน ๔ มุม ก็มีนัยยะ ที่หมายถึงการประคับประคองขวัญและกำลังใจคนป่วย และเป็นการอาศัยคติธรรมของพราหมณ์ว่าด้วยเรื่องเทพประจำทิศทั้ง ๔
     (๔) จีวร และบาตร เป็นสิ่งที่สูงค่า บริสุทธิ์  เป็นบริขารที่พระสงฆ์จำเป็นต้องใช้ในการดำชีพ
 
ปัจจุบันนี้
     ผู้เขียนไม่ค่อยพบเห็นพิธีกรรมนี้ในหมู่บ้านของผู้เขียนเลย อาจจะเป็นเพราะ ความเชื่อที่เริ่มเสื่อมหาย กระบวนการรักษาด้วยการแพทย์แผนใหม่ตะวันตก และการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีมากยิ่งขึ้น เลยทำให้ พิธีกรรมนี้เป็นพิธีกรรมที่หายาก และหากใครพบเห็นก็จะเกิดความกลัว เพราะว่าดูลึกลับ น่ากลัว ยิ่งต้องทำในเวลาพลบค่ำแล้วด้วย  ก็ยิ่งเพิ่มระดับความน่ากลัวยิ่งขึ้น
 
     ครั้งหน้าจะมาเล่าเกี่ยวกับ “พิธีตัดพราย”   และ “พิธีตานขั๋ว” ให้ได้อ่านกัน
 
 
 
 
หมายเลขบันทึก: 442459เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ได้มาอ่านความรู้ใหม่ค่ะ

ขอบคุณมาก

เรียน อาจารย์ลำดวน

ขอบพระคุณครับที่แวะมาแอ่ว .. เป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ผมเคย "ยืนกุ๋ม" อยู่ มุมใดมุมหนึ่ง อยู่หลายครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท