งานศึกษา 1 > ตอนที่ 6 บทสรุปการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน


บทสรุปการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน

       ^_^

       สวัสดีค่ะ ในส่วนของบทสรุปของการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้ ข้าพเจ้าสรุปในภาพรวมของงานวิจัยและบทสรุป ดังนี้ค่ะ

        ในการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ใช้วิธีดำเนินการวิจัย โดยมี ประชากรเป็นนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมวกเหล็กวิทยา สังกัดสำนักเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรีเขต 2 อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จำนวน 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 45 คน เป็นประชากรนักเรียนรวมทั้งสิ้น 180 คน ซึ่งยังไม่เคยเรียนบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษมาก่อน และได้ กลุ่มตัวอย่าง จากการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (simple random sampling) จากประชากรซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนมวกเหล็กวิทยาที่เรียนวิชาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันเป็นจำนวน 4 ห้องเรียน จับสลากมา 1 ห้องเรียน จำนวน 45 คน จากนั้นนำห้องเรียนที่จับสลากได้แล้ว 1 ห้องเรียนจำนวน 45 คน ทำการจับสลากอีกครั้งให้ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน

         ใช้เครื่องมือในการวิจัย คือ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยเป็นบทเรียนแบบ drill and practice โดยนักเรียนจะเรียนในห้องเรียนก่อน และนำเสนอเนื้อหาและการฝึกทักษะ แบบทดสอบทางจอภาพ ได้นำหลักการออกของกาเย่มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบบทเรียน ให้สามารถตอบสนองนักเรียนในลักษณะการเรียนโดยคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เสมือนครู มีการเสริมแรงด้วยรูปภาพ คะแนนและเสียงทางจอภาพบทเรียนประกอบด้วยเนื้อหา 4 ตอน คือ Food and Drinks, People and Occupations, Places และ Things we do และใช้แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นแบบเลือกคำตอบ จำนวน 30 ข้อ

         โดยในการสร้างเครื่องมือนั้น ได้ดำเนินการสร้างตามระเบียบวิจัย และได้ผลการวิจัยดังนี้

          ผลการวิเคราะห์ข้อมูลและแบบสอบถามการประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหา พบว่า ด้านเนื้อหาได้คะแนนเฉลี่ย 4.88 ด้านเทคนิคการออกแบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้คะแนนเฉลี่ย 4.70 คะแนนเฉลี่ยทั้ง 2 ด้าน 4.79 สรุปว่าบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษมีความเหมาะสมมากที่สุด

          ผลการทดลองกับผู้เรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน เมื่อทำข้อสอบ ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 81.66 ดังนั้นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ผู้วิจัยได้ปรับปรุงแก้ไขแล้วมีประสิทธิภาพถึงเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80 ตัวแรก สามารถนำไปใช้ได้

        ผลการทดลองกับผู้เรียนที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน เมื่อทำข้อสอบข้อสอบรายข้อหลังเรียนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 81.66 ถึงเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80 ตัวหลัง

        ดังนั้นบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนนี้ถึงเกณฑ์ 80/80 จึงสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นบทเรียนทดลองได้

        และเมื่อทำการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับคะแนนทดสอบก่อนเรียน ได้ผลดังนี้

        คะแนนรวมของแบบทดสอบก่อนเรียนเท่ากับ 419

        คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 13.97 

        คะแนนรวมของแบบทดสอบหลังเรียนเท่ากับ 599
 
        คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 19.97

        และค่า t ที่ได้ จากการคำนวณ คือ 22.22 ซึ่งมีค่ามากกว่าค่า t ที่ได้จากการเปิดตารางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 df = 29 ซึ่งมีค่า = 1.699 นั่นคือ ผลของการทดสอบหลังเรียนของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษ มีความแตกต่างกัน โดยที่คะแนนทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 

แสดงว่าการเรียน ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ทำให้คะแนนของกลุ่มตัวอย่างดีขึ้นซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้

       ผลการวิจัยนั้น ได้ประสิทธิภาพของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ได้ตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนด และคะแนนของนักเรียนหลังจากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ สูงกว่าคะแนนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เป็นไปตามสมมติฐาน

ที่ตั้งไว้

        นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะในเรื่องทั่วไปดังนี้ บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เป็นสื่อการเรียนการสอนที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มทักษะทางภาษาอังกฤษโดย ผู้เรียนสามารถเรียนรู้คำศัพท์จากบทเรียนและฝึกฝนจากแบบฝึกหัด ทดสอบความรู้หลังจากที่เรียนแล้ว คำศัพท์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยทั่วไปเป็นคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการนำเสนอภาพคำศัพท์ จะมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความกระจ่างและชัดเจนในเนื้อหาบทเรียน ยังผลให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้เรียนได้เป็นอย่างดีและสามารถนำไปใช้บูรณาการในวิชาต่าง ๆ เช่น การวาดภาพในวิชาศิลปะ เป็นต้น และการนำเสนอภาพในบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ในเรื่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ภาพที่นำมาเสนอต้องใกล้เคียงหรือเหมือนจริง ทั้งขนาดและลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในภาพที่นำเสนอและสามารถนำไปสังเคราะห์ใช้ได้เมื่อพบเห็นของจริง นอกจากนั้นยังกล่าวถึงในเรื่องที่สามารถพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยเพิ่มเนื้อหาบทเรียนให้มากขึ้น หรือเพิ่มเนื้อหาคำศัพท์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ด้านกีฬา เสื้อผ้า ผักและผลไม้เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาทักษะด้านคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น และสามารถนำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง คำศัพท์ภาษาอังกฤษ ไปใช้ร่วมในการสอนในสถานศึกษาอื่น ๆ ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องคำศัพท์ หรือนำไปเป็นแนวทางให้ผู้สอนหรือวิทยากรนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนได้ต่อไป สำหรับการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ชว่ยสอนครูผู้สอนยังคงมีบทบาทสำคัญที่ต้องคอยชี้แนะ แนะนำการใช้บทเรียน ให้เรียนอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ก่อให้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้เรียนศึกษาหาความรู้จากบทเรียนคอมพิวเตอร์ในเรื่องต่าง ๆ และโปรแกรมที่ใช้ คือ Swish MAX ที่สามารถออกแบบให้มีการดำเนินบทเรียนได้เช่นเดียวกับโปรแกรม Flash แต่ใช้คำสั่งง่ายกว่าซึ่งก็สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวและตัวอักษรให้เคลื่อนไหวได้ วางลำดับขั้นตอนโดยใช้ time line ในการดำเนินบทเรียน

        และมีข้อเสนอแนะสำหรับการทำวิจัยในครั้งต่อไปสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องการพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ ในการสร้างบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ควรเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ให้พร้อม เช่น เนื้อหา ภาพ เสียงประกอบ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสร้างบทเรียน และควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมที่จะใช้ในการสร้างบทเรียน ข้อดี และข้อจำกัด และความเหมาะสมของการใช้โปรแกรมในการจัดทำบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เพื่อให้การดำเนินเนื้อเรื่อง บทเรียน แบบฝึกหัด และแบบทดสอบเป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งจะส่งผลให้บทเรียนนั้นเกิดประสิทธิภาพกับผู้เรียนอย่างแท้จริง นอกจากนั้นควรสนับสนุนให้มีการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในสาระต่าง ๆ หรือควรผลิตสื่อในรูปแบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในระดับชั้นอื่น ๆ รวมทั้งใช้ในการสอนซ่อมเสริมเพื่อผู้เรียน สามารถเรียนรู้โดยไม่จำกัดเวลา และสามารถเรียนได้ตามความสามารถของตนเอง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแสวงหาความรู้ได้โดยไม่จำกัด และควรศึกษาปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพทางการเรียนของผู้เรียน ศึกษารูปแบบและวิธีการนำเสนอที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ตามความสามารถของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม เจตคติทางการเรียน ความคงทนในการจำเนื้อหาวิชาของผู้เรียนในการเรียนจากบทเรียนคอมพิวเตอร์ หรือสื่อประสมในลักษณะเดียวกัน ควรพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในลักษณะ e-learning โดยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ และพัฒนาเป็น m-learning ^_^

         บุญรักษา สวัสดีค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 441896เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วันนี้อาจารย์ถามหาค่ะ ได้ข่าวว่าจะได้ A เป็นคนแรก

O.K. มาก ๆ สำหรับเนื้อหา และผู้สรุปเนื้อหาจ้ะ เก่งมาก

^0^ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ขออนุญาตนำบันทึก Power of the red pen ของ อ.รักษิณา ตอบโจทย์แบบทดสอบ ข้อที่ 6 นะค่ะ ^_^ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท