คำนิยมหนังสือ "หลุด"


แปลจาก Freedom โดย Osho

ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ได้มาขอให้ผมเขียนคำนิยมหนังสือ "หลุด" ซึ่งแปลจากหนังสือชื่อ Freedom เขียนโดย Osho   ผมเชื่อว่าจะขายดีไม่แพ้ "ปัญญาญาณ"  โดยผมได้เขียนคำนิยมดังนี้

คำนิยม
หนังสือ “หลุด”
แปลและเรียบเรียงโดย ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด
          รูปแบบการจัดการความรู้ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กำลังส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน   เริ่มด้วยการฝึกให้ผู้ปฏิบัติงานรู้จักคิดแบบอิสระ   หลุดจากกรอบความคิดเดิม ๆ   มีความมั่นใจที่จะบอกความในใจของตนออกมาโดยไม่กลัวว่าจะผิดหรือจะถูกคนอื่นว่าโง่   และพร้อม ๆ กันนั้นก็ฝึกให้ความเป็นอิสระแก่เพื่อนร่วมงาน   โดยการฝึกฟังโดยไม่ตัดสิน   ฟังให้เข้าใจความหมายลึก ๆ ที่เพื่อนต้องการบอก   และนอกจากฟังสาระที่เพื่อนบอกแล้ว   ยังฝึกฟังให้ลึกเข้าไปเห็นตัวตนของเพื่อน
          การจัดการความรู้คู่กันกับความคิดสร้างสรรค์   หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นสิ่งเดียวกันก็ได้   และความคิดสร้างสรรค์คู่กันกับจิตที่มีอิสรภาพ   ทีมงานจัดการความรู้ที่ดีต้องเป็นผู้มีจิตอิสระ 2 ด้าน   ด้านหนึ่งคือจิตอิสระในตนและอีกด้านหนึ่งคือการยอมรับจิตอิสระของเพื่อนร่วมงาน   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ   รู้จักมีและรู้จักให้ความเป็นอิสระ   มีความเป็นอิสระในจิตใจของตนและให้ความเป็นอิสระแก่ผู้อื่น
          ผู้มุ่งมั่นใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือพัฒนางาน   พัฒนาตน   และพัฒนาองค์กร   จึงควรทำความเข้าใจความเป็นอิสระ   นำมาทดลองปฏิบัติแล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน   เป็นหัวข้อย่อย (ที่ยิ่งใหญ่) หัวข้อหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          ผมจึงมีความยินดีเป็นพิเศษ   ที่จู่ ๆ ดร. ประพนธ์  ก็นำต้นฉบับหนังสือ “หลุด” มาขอให้ผมเขียนคำนิยม   เพราะจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่ายิ่งต่อวงการจัดการความรู้
          ความเป็นอิสระในด้านการจัดการความรู้   เป็น “อิสระแบบไม่อิสระ”  คือต้อง “ยึดมั่น” อยู่กับเป้าหมายหรือปณิธานความมุ่งมั่นขององค์กรหรือหน่วยงาน   แต่มีอิสระที่จะคิดวิธีทำงานใหม่ ๆ เพื่อพัฒนางานในความรับผิดชอบของตน
          ความเป็นอิสระในระดับ “หลุดพ้น” ไม่ได้อยู่ลอย ๆ   ไม่ใช่หลุดแบบล่องลอย   แต่เป็นการ “หลุด” จากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง   สภาพที่เราต้องการหลุดพ้นคือการถูกพันธนาการ   ถูกตีกรอบ   การยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งปลอม
          อิสรภาพมีหลายมิติ   ทั้งมิติทางกาย   ทางจิตใจ   และทางวิญญาณ     ในทางจิตใจ  ยังมีมิติของอิสรภาพในจิตสำนึก   จิตใต้สำนึก   และจิตเหนือสำนึก   และอิสรภาพน่าจะมีหลายระดับ
          ในความเชื่อของผม   อิสรภาพทางทฤษฎีไม่สำคัญเท่าอิสรภาพทางปฏิบัติ   การเรียนรู้อิสรภาพต้องเรียนรู้แบบควบคู่   คือเรียนรู้โดยการปฏิบัติควบคู่กับทฤษฎี
          พวกเราที่ สคส. และภาคีพันธมิตรเป็น “นักเรียน” ฝึกปฏิบัติ    “หลุด” ชนิด “หลุดแต่ไม่ล่องลอย”   และหนังสือ “หลุด” เล่มนี้คงจะเป็นคู่มือเรียนรู้ของพวกเราตลอดไป
                                                                   วิจารณ์  พานิช
                                                สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
                                                                   www.kmi.or.th
                                                          http://thaikm.gotoknow.org
                                                                   22 กันยายน 2548

คำสำคัญ (Tags): #km#กับ#อิสรภาพ
หมายเลขบันทึก: 4418เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2005 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท