ตามหาดอกเข้าพรรษาจนเจอ


ดอกเข้าพรรษา เป็นชื่อที่ได้ฟังมาสองปีกว่าพร้อมๆกับการตามหาในยามโอกาสเอื้ออำนวยในที่สุดก็ได้เห็นดอกเข้าพรรษาจริงๆ

      "เข้าพรรษา" โดยปกติคำนี้จะทำให้คิดถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาซึ่งกำลังจะมาถึงในเร็วๆนี้ หากแต่การสนทนาของแม่กับเจ้าของร้านขายต้นไม้ทำให้เพิ่มความรู้เกี่ยวกับคำนี้ใหม่ว่า มี"ต้นเข้าพรรษา" ด้วย  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบสองปีแม่จะถามหาต้นไม้ชนิดนี้ทุกๆครั้งที่แวะเข้าร้านจำหน่ายพันธุ์ไม้ ทำให้ครูนกเริ่มหันมาสนใจที่จะสอบถามจากคนรอบๆตัวในที่ทำงาน ปรากฏว่า ส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก หรือรู้จักแต่ไม่มีพันธุ์ไม้นี้ที่บ้าน 

 
       เมื่อสองสามวันที่ผ่านมาแม่บอกครูนกว่า ต้นเข้าพรรษาออกดอกแล้ว  กลายเป็นครูนกตกข่าวเรื่องต้นเข้าพรรษาของแม่  เพราะแม่บอกว่าได้ซื้อหัวว่านเข้าพรรษามาจากกรุงเทพฯ แล้วลองเอามาเพาะปรากฏว่า ได้ผลเพียงแต่ต้นเดียวนอกนั้นตายหมด  ที่ไม่บอกครูนกเพราะอยากให้ประสบความสำเร็จในการเพาะก่อน
       ครูนกต้องรีบไปดูผลงานการทดลองของแม่ ลำต้นเล็กๆ เหมือนต้นขมิ้น แต่ใบจะคล้ายใบข่ามากกว่าขมิ้น ตอนนี้กำลังออกดอก ซึ่งถือว่าการจัดวางตำแหน่งกลีบดอกหรือสีสวยงามดังคำบอกเล่าของแม่ทำให้รู้สึกว่าการตามหา "ต้นเข้าพรรษา" คุ้มค่า
       จากนั้นครูนกค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ต่างๆ พบว่า ต้นเข้าพรรษา จะมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกมากมาย เช่น  “หงส์เหิน” (ไม่มั่นใจว่าจะสะกดว่า หงส์เหิน หรือหงส์เหิร)ตามลักษณะของรูปร่างของดอก เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์ กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย) และดอกเข้าพรรษา (สระบุรี)
       เข้าพรรษาเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง อยู่ในสกุล Globba sp. พืชในสกุลนี้แต่ละชนิดจะมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสันสวยงามมีตั้งแต่ขาว ชมพู ม่วง เหลือง ดอกจะบานในช่วงพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้จำนวน 40 ชนิด แต่ชนิดที่นิยมนำมาใช้ในการตักบาตรเข้าพรรษาคือ ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Globba winitii C.H.Wright.
        จากชื่อวิทยาศาสตร์จะพบคำว่า "winitii" ซึ่งสะท้อนให้ความเกี่ยวข้องกับภาษาไทยหรือประเทศไทยของเราแน่นอน  ดังนั้นจากการสืบค้นต่อพบว่าตั้งเป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร(โต โกเมศ)  บิดาแห่งพฤกษศาสตร์ของไทยทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้ประเทศไทยมี "หอพรรณไม้"
        ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นไม้พื้นล่างที่พบตามป่าโปร่งทั่วไป พืชชนิดนี้มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำคล้ายกระชายเรียงอยู่รอบหัว ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินคือส่วนของกาบใบที่อัดกันแน่นทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว รูปใบหอกคล้ายใบกระชาย แต่มีขนาดเล็กกว่าออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อจะโค้ง และห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอกมีสีเหลืองสดใส แต่จะมีกลีบประดับ (bract)ที่แตกต่างกันหลายรูปทรง และหลายสี
       ดอกเข้าพรรษาชนิด Globba winitii C.H.Wright. จะมีกลีบประดับขนาดใหญ่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามตามช่อ โดยรอบจากโคนถึงปลาย สีของกลีบประดับที่พบมีหลายสี ได้แก่ สีขาว สีม่วง สีเขียว และสีแดง มีก้านดอกย่อยยาวชูดอกออกมาเห็นชัดเจน ดอกจริงมีสีเหลืองลักษณะคล้ายรูปตัวหงส์ยืนกำลังจะเหินบิน มีลีลาสง่างามทำให้ช่อดอกมีสีสันสวยงามมากขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 10 - 20 ซม.
        ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพืชชนิดนี้คือมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยมด เมล็ดของพืชชนิดนี้มีเมือกที่มีลิปิด (ไขมันชนิดหนึ่ง) แป้งและโปรตีนสูงเกาะติดอยู่เรียกว่า “อีไลโอโซม” (elaiosome) ซึ่งเป็นสารดึงดูดให้มดมาขนไปเก็บไว้ในรัง จากการศึกษาพบว่ามีมดไม่น้อยกว่า 21 ชนิดที่ชอบขนเมล็ดของพืขในกลุ่มดอกเข้าพรรษาไปเก็บไว้ในรัง แต่ยังไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์นี้ ในการการศึกษายังพบว่า มดสามารถขนเมล็ดของพืชในกลุ่มเข้าพรรษาไปได้ไกลกว่า 8 เมตร จากต้นแม่
          การใช้ประโยชน์ของดอกเข้าพรรษาเกี่ยวกับทางยาค่อนข้างน้อย ที่พอพบเห็นคือนิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาสระผม สบู่ที่ใช้ในการรักษาอาการคันตามผิวหนังและทำให้หน้าขาว แต่ถ้าถือโอกาสเทศกาลบุญ คือการชำระล้างจิตใจที่ขุ่นมัวเต็มไปด้วยกิเลส ดังนั้นตลอดเทศกาลเข้าพรรษานี้มาตักบาตรดอกไม้ให้จิตใจงดงาม และมาช่วยกันขยายพันธุ์ดอกเข้าพรรษาให้เป็นไม้ประดับมากๆ เพราะขณะนี้มีการจำหน่ายหัวของดอกเข้าพรรษาไปทั่วโลกแล้ว
        สรุป "ต้นเข้าพรรษา" ทำให้ครูนกได้ความรู้และอยากรู้อีกมากมายเช่น ประวัติของพระยาวินิจวนันดร หรือการกระจายพันธุ์พืชชนิดนี้โดยมด ทำให้ครูนกมองเห็นแนวทางในการสอนวิชาทฤษฏีองค์ความรู้ (Theory of Knowledge) ที่มุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองสนใจ สืบค้นข้อมูลเพื่อหาคำตอบหรือข้อสรุปของตนเองให้ได้  นอกจากนี้ครูนกต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสีของดอกเข้าพรรษาว่าจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเมื่อใด และอย่างไร
ที่มา

       1.   http://www.vcharkarn.com/varticle/38901
       2.  http://www.doctor.or.th/
       3.  http://www.thaihof.org/

คำสำคัญ (Tags): #ดอกเข้าพรรษา
หมายเลขบันทึก: 441354เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2011 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

สวัสดีค่ะพี่ครูนก

ดาวเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่เคยเห็นค่ะ...สวยเหมือนหงส์เหินจริงๆ ด้วยนะคะ มีกลิ่นหอมมั้ยคะ??

สวัสดีค่ะ

เคยได้ยินชื่อดอกเข้าพรรษาค่ะ  แต่ไม่เคยเห็นดอกจริง ๆ สักครั้งค่ะ

 

มาอ่านบันทึกของคุณครูก็เพิ่งเห็นต้นเข้าพรรษาเป็นครั้งแรกนี่แหละ พอดีได้อ่านบทร้อยกรองของนักเรียนผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อน้ำค้าง ที่เรียนสายวิทย์ ที่โรงเรียนคุณครูนี่แหละ นักเรียนคนนี้มีความคิดดี คำกลอน หรือคำโคลงก็เพราะ แต่คำกลอนยังมีกลิ่นอายของความเป็นเด็กอยู่ แต่กลอนที่เขาเขียนไว้นั้นนานแล้ว และไม่เห็นเพิ่มบันทึกอะไรอีกเลย หากคนนี้สนใจในด้านนี้ เขียนกลอนให้เสมอต้นเสมอปลาย เชื่อแน่ว่าจะต้องเป็นคนหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญ และมีชื่อเสียงในด้านนี้ ก็ขออนุโมทนากับนักเรียนโรงเรียนของคุณครูไว้ในที่นี้ด้วย ขอคุณครูจงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง.

ชอบมดจังเลย ทำตัวมีประโยชน์

สวัสดีค่ะ น้องดาว

พี่นกยังไม่ได้กลิ่นเลยนะ แต่เพิ่งจะออกมาได้สองสามวัน ไว้จะมารายงานความคืบหน้าจ้า ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่คิม

เป็นไม้ที่แปลกทั้งชื่อและรูปร่างหน้าตาค่ะ....สวยมากในการจัดเรียงของกลีบดอก ครูนกก็เพิ่งจะเคยเห็นดอกเข้าพรรษาครั้งแรก

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจากทุกๆ ท่าน...(คุณยายธี..ขาขอบคุณค่ะ)

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

เด็กๆ เขาจะมีความคิดสร้างสรรค์หากมีเวทีให้แสดงออก มีผู้ใหญ่สนับสนุนก็ถือว่าเป็นโชคดีของเด็กๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์โสภณ

มดตัวน้อยตัวนิด...แต่มดก็มีหน้าที่สำคัญหลายประการในโลกนี้ และมดก็กลายเป็นพลังที่มหัศจรรย์ที่น่าทึ่งเช่นกันค่ะ

ขอบคุณกับความรู้ที่ได้เพิ่มเติมให้สมองนะคะ

ชื่อดอกก็แสนเพราะ"หงส์เหิน"

สวัสดีค่ะ คุณครูGui Chutima

ชื่อไพเราะ รูปก็งาม....เป็นพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจหลากหลายประเด็นค่ะ

น่าสนใจดีนะคะ

เพิ่งรู้เหมือนกัน

ดอกพรรษา

ขอบคุณค่ะดวงเกษมสุขที่แวะมาชมดอกเข้าพรรษา..ครูนกนั่งเฝ้ามองดอกเข้าพรรษา ยังคงเป็นสีเดิมคือสีขาวอยู่...แต่บานนานมากเลยค่ะจะรอดูการเปลี่ยนแปลงต่อไป

ปลูกต้นเข้าพรรษามา3ปีแล้วค่ะ เอามาจากสระบุรี 2ปีที่ผ่านมาออกดอกเป็นสีชมพูตั้งแต่เริ่มผลิกลีบ แต่ปีนี้บานมา1อาทิตย์แล้วเป็นสีขาวอ่ะ เห็นทีแรกก็ตกใจคิดว่ากลายพันธุ์ ใครรู้ช่วยอธิบายที ปรกติไม่ต้องคอยเฝ้าดูนะสีเค้าจะมาชมพูแจ๋เลย เพื่อนที่สระบุรีก็บอกแบบนี้ ทฤษฏีของครูนกถูกต้องหรือปล่าว หรือมันจะมีอะไรมากกว่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท