ใบความรู้ที่ 6 เรื่องการศึกษาค้นคว้าและการเขียนรายงาน (ตอนที่ 2)


วิชาการใช้ห้องสมุด

11.ลักษณะของรายงานทางวิชาการที่ดี 

           รายงานทางวิชาการที่ดีควรมีลักษณะดังนี้        

           6.1  เนื้อหาตรงกับหัวข้อเรื่อง หรือชื่อเรื่องของรายงาน และครอบคลุมครบถ้วนตามหัวข้อ            ที่กำหนดเอาไว้  เรียงเนื้อหาไว้อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ

           6.2  เนื้อหามีประโยชน์ทั้งต่อผู้ศึกษา  ผู้อ่าน และต่อสังคมส่วนรวม

           6.3  เนื้อหาถูกต้อง  เที่ยงตรง กล่าวคือต้องรวบรวมข้อมูลจากแหล่งสารนิเทศต่างๆ ที่เชื่อถือได้

           6.4  ควรมีรูปภาพ  ตาราง  แผนภูมิ  สถิติต่างๆ ประกอบเนื้อหาเพื่อที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ง่ายและเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น รูปภาพหรือตารางที่ใช้ประกอบนั้นต้องมีความถูกต้อง  ชัดเจน เหมาะสมกับเนื้อเรื่องพร้อมทั้งต้องมีคำอธิบายประกอบที่มีความยาวเหมาะสม

           6.5 อ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลไว้อย่างชัดเจนและเป็นแบบเดียวกันตลอดทั้งเล่ม เช่น  ใช้การอ้างอิงแบบแทรกปนในเนื้อหา ใช้แบบเชิงอรรถท้ายหน้า  อ้างอิงท้ายบท อ้างอิงท้ายเล่ม  การเขียนอ้างอิง และบรรณานุกรมถูกต้องตามกฎเกณฑ์แบบแผนของการเขียนโดยทั่วไป

           6.6  ใช้ภาษาได้ถูกต้องเป็นวิชาการ สำนวนโวหารสละสลวย  เขียนได้ถูกต้องตามหลักภาษา  สั้นกะทัดรัดเข้าใจง่าย เข้าใจได้ชัดเจนและเข้าใจตรงตามความหมายที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ

           6.7 การจัดเรียงลำดับเนื้อหาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กันตามลำดับ ชวนให้ติดตาม           อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เรียบเรียงไว้อย่างกระชับรัดกุม เมื่อกล่าวถึงสิ่งใดก็มีหลักฐานอ้างอิง                    อย่างเพียงพอ  ให้ความรู้ตรงตามหัวข้อเรื่อง

           6.8  รูปแบบการเขียนหรือพิมพ์ถูกต้อง  เช่น ตัวอักษรอ่านง่าย  ชัดเจน  พิมพ์ถูกต้อง การเว้นระยะพิมพ์  การย่อหน้า  การวางหัวข้อ การพิมพ์ตาราง  การแสดงรูปภาพประกอบ  ถูกต้องทุกส่วน

           6.9  รูปเล่มที่นำเสนอมีขนาดมาตรฐาน  สะอาด ประณีต  เรียบร้อย พิมพ์ด้วยกระดาษ               ที่มีคุณภาพ  เรียงลำดับเลขหน้าต่อเนื่องกัน มีส่วนประกอบถูกต้องครบถ้วนตามแบบมาตรฐาน           ของการเขียนรายงานแต่ละประเภท  หรือตามที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้น ๆกำหนด

 12.ข้อบกพร่องที่พบบ่อยในการเขียนรายงาน 

            7.1  สะกดคำผิด

           7.2  คัดลอกข้อความ หรือตัวเลขจากแหล่งข้อมูลเดิมมาผิด  หรือพิมพ์ไม่ถูกต้อง

           7.3  ใช้คำ  และสำนวนภาษาไม่เหมาะสม

           7.4  เว้นวรรคตอนไม่ถูกต้อง

           7.5  รูปเล่มไม่เรียบร้อยสวยงาม  ไม่น่าอ่าน

 

  13.ขั้นตอนการทำรายงาน

           การเขียนรายงานทางวิชาการนั้น  ไม่ว่าจะเป็นรายงานประเภทใด เน้นในเรื่องส่วนประกอบและการจัดรูปเล่มมาก  ดังนั้น ผู้ที่จะเขียนรายงานจึงจำเป็นต้องทราบถึงรูปแบบ  ส่วนประกอบต่างๆ  ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อจะได้เขียนรายงานได้ถูกต้องตามแบบแผน อีกทั้งยังช่วยให้รายงานนั้น             มีความสมบูรณ์เพิ่มคุณค่ายิ่งขึ้น

           การเขียนรายงานทางวิชาการแต่ละประเภทมีส่วนประกอบแตกต่างกันออกไป ซึ่งสถานศึกษาแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะเรื่องขึ้นเอง ผู้เขียนรายงานต้องปฏิบัติ               ตามที่กำหนด ในการเขียนรายงานจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง และเป็นไปตามลำดับขั้นตอนต่อไปนี้

           8.1  การเลือกหัวข้อเรื่องรายงาน การเลือกเรื่องที่จะเขียนรายงานนั้น ควรมีหลัก                      ในการพิจารณา  ดังนี้

                   8.1.1  เป็นเรื่องที่ตนเองสนใจ มีความถนัด  มีความรู้  มีประสบการณ์ เพื่อเป็นแรงจูงใจ ในการค้นคว้าอย่างจริงจัง

                   8.1.2  มีสารประโยชน์ ส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ หรือมีความเกี่ยวข้องกับ                      รายวิชาที่เรียนอยู่

                   8.1.3 ขอบเขตของเนื้อเรื่องไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป

                   8.1.4 สามารถสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศหรือวัสดุอ้างอิงจากแหล่งสารสนเทศอื่น ๆ           ได้อย่างเพียงพอ 

           8.2  การรวบรวมสารสนเทศ ผู้เขียนรายงานจำเป็นต้องรู้แหล่งในการเข้าถึงสารสนเทศ          ทุกประเภท  เพื่อจะได้เนื้อหาวิชามาประกอบการเขียนรายงาน โดยเริ่มค้นคว้าจากสื่อสิ่งพิมพ์             และสื่อความรู้ต่างๆ จากห้องสมุด  และแหล่งสารสนเทศอื่น ๆโดยการใช้เครื่องมือในการสืบค้น  เช่น  บัตรรายการ ฐานข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต  หนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง  วารสาร  นิตยสาร  หนังสือพิมพ์ และสื่อโสตทัศนวัสดุต่าง ๆและยังสามารถใช้หนังสืออ้างอิงท้ายเล่มของหนังสือ        เล่มนั้นค้นคว้าเพิ่มเติมได้อีกด้วย

           8.3  การวางโครงเรื่อง ก่อนการวางโครงเรื่อง ผู้เขียนรายงานควรดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

                   8.3.1 นำทรัพยากรสารสนเทศที่ได้รวบรวมมาอ่านเนื้อหาเพื่อสำรวจข้อมูล และนำไปพิจารณาหาหัวข้อย่อยของเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า ในการอ่านเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้ทำรายงานลำดับเรื่องราว เพื่อเป็นแนวทางในการวางโครงเรื่องในลำดับต่อไป

                   8.3.2 จำกัดขอบเขตของเรื่องที่จะเขียนรายงาน เป็นตัวกำหนดขอบเขตของเรื่องให้กระชับ

                  8.3.3 วางโครงเรื่องเพื่อช่วยให้การค้นคว้าและการเขียนรายงานมีหัวข้อต่าง ๆครอบคลุมเนื้อหาและสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกัน และเพื่อความสะดวกในการวางโครงเรื่อง  ควรดำเนินการดังนี้

                               8.3.3.1  ใช้ตัวเลขสลับตัวอักษร

                                               8.3.3.1  ใช้ตัวเลขกำกับหัวข้อใหญ่

                                               8.3.3.2  ใช้ตัวอักษรกำกับหัวข้อรอง โดยการย่อหน้าลึกกว่าหัวข้อใหญ่ หัวข้อที่สำคัญเท่ากันให้ย่อหน้าเท่ากัน

                                               8.3.3.3 ใช้ตัวเลขและเครื่องหมายวงเล็บเล็กกำกับหัวข้อย่อยลงมาอีกย่อหน้า        ลึกกว่าหัวข้อรอง  หัวข้อที่สำคัญเท่ากันให้ย่อหน้าเท่ากัน

                                               8.3.3.4 ใช้อักษรและเครื่องหมายวงเล็บเล็กกำกับหัวข้อย่อยสุดท้าย              และย่อหน้าให้ลึกกว่าหัวข้อย่อยข้างต้น หัวข้อเท่ากันให้ย่อหน้าเท่ากัน  เพื่อป้องกันความสับสน       ไม่ควรแบ่งหัวข้อย่อยมากเกินไป

                               8.3.3.2  ใช้ตัวเลขล้วน  ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ 8.3.3.1  แต่ใส่จุดเครื่องหมายมหัพภาค  (.) คั่นระหว่างตัวเลขเมื่อถึงหัวข้อรอง เพิ่มเครื่องหมายดังกล่าวคั่นระหว่างตัวเลข             เมื่อถึงหัวข้อย่อย  และหัวข้อย่อยสุดท้าย 

 

ตัวอย่าง

           1. ..........................................................................................     (หัวข้อใหญ่)

                1.1 ..................................................................................      (หัวข้อรอง)

                       1.1.1 .......................................................................         (หัวข้อย่อย)

                               1.1.1.1 ............................................................               (หัวข้อย่อยสุดท้าย)

                               1.1.1.2 ............................................................               (หัวข้อย่อยสุดท้าย)

           ผู้เขียนรายงานสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องใช้แบบเดียวกันทั้งรายงาน  แต่ที่นิยมกันส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลขมากกว่า

           8.4  การรวบรวมและการบันทึกข้อมูล การรวบรวมและจดบันทึกข้อมูลมี  2  ขั้นตอน คือ

                   8.4.1 อ่านเนื้อหาจากทรัพยากรสารสนเทศที่ได้สำรวจและรวบรวมไว้ เพื่อเลือกเนื้อหา          ที่ตรงกับหัวเรื่องที่วางไว้ในโครงเรื่อง โดยการจดบันทึกข้อมูลสารสนเทศเพื่อจะนำมาเรียบเรียง          เป็นเนื้อหาของรายงาน

                   8.4.2 หลังจากนั้นจดบันทึกเนื้อหาลงในกระดาษบันทึกขนาด  3x5 นิ้ว  หรือ  4x6  นิ้ว  หรือ  5x7 นิ้ว  ในการจัดบันทึก นอกจากจะต้องบันทึกข้อมูลที่จำเป็นให้ครบถ้วนแล้ว ยังต้องใช้รูปแบบและวิธีการจดที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการเรียบเรียง โดยทั่วไปจะบันทึกข้อมูลออกเป็น            3 ส่วน  คือ

                               8.4.2.1  หัวข้อที่ตรงกับโครงเรื่อง บันทึกไว้ที่มุมบนด้านขวาของบัตร เพื่อสะดวกในการเรียบเรียงรายงาน

                               8.4.2.2  ข้อมูลทางบรรณานุกรมของทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วย               ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ  ครั้งที่พิมพ์  สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์  ปีที่พิมพ์  เลขหน้า เพื่อนำข้อมูล           ไปเขียนเชิงอรรถและบรรณานุกรมได้

                               8.4.2.3  บันทึกข้อความตามที่ต้องการ ซึ่งวิธีการจดบันทึกข้อมูลมี  3  วิธี  คือ

                                               1)  บันทึกแบบถอดความ คือการเขียนขึ้นใหม่ให้ได้ใจความครบถ้วน          โดยใช้คำ  หรือภาษาที่ผู้บันทึกเข้าใจ

                                               2)  บันทึกแบบสรุปความ คือการบันทึกใจความสำคัญโดยใช้คำพูด           หรือภาษาที่ผู้บันทึกเข้าใจ

                                               3)  บันทึกแบบคัดลอกข้อความ คือการบันทึกข้อความที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งไม่อาจสรุปให้ได้ใจความเดิม หรืออาจทำให้ข้อความนั้นมีความหมายต่างออกไปจากเจตนา             ของผู้เขียน การคัดลอกต้องคัดลอกให้ถูกต้องตามต้นฉบับและต้องใส่เครื่องหมายอัญประภาษ      คร่อมข้อความที่คัดลอกด้วย

           8.5  การเรียบเรียงเนื้อหา เมื่อรวบรวมและจดบันทึกข้อมูลได้ครบถ้วนตามต้องการแล้วต้องนำบันทึกเหล่านั้นมาเรียงตามลำดับหัวข้อในโครงเรื่องและลำดับข้อความให้สัมพันธ์กัน และครอบคลุมตั้งแต่หัวข้อแรกจนถึงหัวข้อสุดท้าย ทั้งนี้ต้องใช้ภาษาที่สื่อความหมายที่ชัดเจน ไม่ควรใช้อักษรย่อ การเขียนตัวสะกดควรให้ถูกต้องตามแบบพจนานุกรม ข้อความตอนใดที่มีการสรุปความ  ถอดความ หรือคัดลอกข้อความมาจากหนังสือ  และสื่ออื่น ๆ จะต้องแสดงแหล่งที่มาไว้ในเชิงอรรถหรือบรรณานุกรมเสมอ

                   8.5.1 ขั้นตอนในการเรียบเรียงรายงาน 

                            8.5.1  รวบรวมบัตรบันทึกข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ เรียงตามลำดับหัวข้อในโครงเรื่อง

                             8.5.1  เรียงบัตรบันทึกในแต่ละหัวข้อตามลำดับเนื้อหา

                             8.5.1  เขียนรายงานฉบับร่าง

                            8.5.1  ตรวจแก้ไขรายงานฉบับร่างและสรุป

                             8.5.1  เขียนรายงานฉบับสมบูรณ์

           8.6  การเขียนรายการอ้างอิง  การอ้างอิง หมายถึง วิธีการบอกรายละเอียดของที่มาของแหล่งสารสนเทศที่นำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า ที่นำมาเรียบเรียงไว้ในรายงาน  ภาคนิพนธ์ วิทยานิพนธ์  ฯลฯ

14.ส่วนประกอบของรายงานทางวิชาการ   

            9.1  ส่วนประกอบตอนต้น เป็นส่วนประกอบที่อยู่ตอนต้นเล่มของรายงานก่อนถึงเนื้อเรื่อง ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ  ดังนี้

                   9.1.1  ปกนอก (Cover  หรือ Binding) คือส่วนที่เป็นปกหุ้มรายงานประกอบด้วยปกหน้า  สัน และปกหลัง  ควรเป็นกระดาษแข็งพอสมควร สีสันเหมาะสมกับเนื้อหา หรืออาจใช้ปกของแต่ละสถานศึกษาซึ่งได้จัดทำสำเร็จไว้แล้วก็ได้ ข้อความที่ปรากฏบนปกนอก  ประกอบด้วย

                               9.1.1.1  ชื่อเรื่องของรายงาน อยู่ห่างจากขอบบนของหน้ากระดาษลงมาประมาณ  1.5-2 นิ้ว  และควรกะให้อยู่กึ่งกลางพอดี (ไม่มีคำว่ารายงานเรื่อง)

                               9.1.1.2  ชื่อผู้เขียนรายงาน ให้อยู่ตรงส่วนกลางของหน้ากระดาษ เขียนหรือพิมพ์ชื่อและนามสกุลของผู้เขียนรายงาน ในกรณีที่รายงานนั้นมีผู้เขียนหลายคนให้ใส่ชื่อทุกคนโดยจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร

 

                               9.1.1.3  ส่วนล่างของหน้าปก ประกอบด้วยข้อความตามลำดับ  ดังนี้

                                               1)  ชื่อของรายวิชาที่กำหนดให้เขียนรายงาน

                                               2)  ชื่อของแผนกหรือสาขา ชื่อชั้นเรียนหรือคณะที่นักศึกษาสังกัด

                                               3)  ชื่อของสถานศึกษา

                                               4)  ภาคเรียน  ปีการศึกษาที่ทำรายงาน

                  บรรทัดล่างสุดของส่วนล่างปกควรห่างจากขอบล่าง  1.5-2 นิ้ว บทนิพนธ์ของแต่ละสถาบันอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดตามที่สถานศึกษากำหนด

                   9.1.2  หน้าปกใน (Title  Page) อยู่ต่อจากปกนอกและมีข้อความเช่นเดียวกับปกนอก

                   9.1.3  หน้าอนุมัติ เป็นรายชื่อคณะกรรมการที่ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ซึ่งจะต้องลงนามกำกับ

                   9.1.4  หน้าบทคัดย่อ เป็นการสรุปความของเนื้อหาวิทยานิพนธ์ ควรเขียนให้สั้นกะทัดรัด  ชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจในเนื้อหา  ประกอบด้วย  วัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย  ขอบเขตการวิจัย  วิธีวิจัย และผลของการวิจัย

                   9.1.5  หน้าประกาศคุณูปการ หรือกิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) เป็นคำกล่าวแสดงการขอบคุณผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ให้ผลงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี (มักนิยมใช้กับวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์)

                   9.1.6  คำนิยม เป็นคำยกย่องเกี่ยวกับผลงานนั้น ๆ ของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น (ส่วนมากมีในหนังสือและตำรา)

                   ทั้งประกาศคุณูปการ และกิตติกรรมประกาศ  เมื่อเขียนเสร็จแล้วให้ลงชื่อผู้เขียน               พร้อมลงวันที่ เดือน  ปี  ที่เขียนกำกับเอาไว้ด้วย

                   9.1.7  คำนำ (Preface) ให้เขียนหรือพิมพ์คำว่า  “คำนำ” ด้วยอักษรตัวใหญ่ไม่ขีดเส้นใต้ไว้กลางหน้ากระดาษห่างจากขอบบนลงมา 2  นิ้ว  ผู้เขียนรายงานเขียนขึ้นเพื่อบอกถึงเหตุผล               หรือสาเหตุที่สนใจจะทำรายงานในเรื่องนั้น บอกขอบเขตของเนื้อหา  บอกวิธีการค้นคว้าในเล่ม พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณผู้ให้ความช่วยเหลือในการทำรายงานให้เสร็จสมบูรณ์ คำนำอาจมีเพียง            ย่อหน้าเดียว  สอง  หรือสามย่อหน้าก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหา และเมื่อเขียนจบแล้วให้ลงชื่อผู้เขียนพร้อมลงวันที่  เดือน (เขียนเต็มไม่เขียนย่อ)  ปี  (ไม่ต้องมี  พ.ศ.) กำกับไว้ด้วย

                    9.1.8  สารบัญ  (Table  of Contents)  ให้เขียนหรือพิมพ์คำว่า “สารบัญ” ด้วยอักษร          ตัวใหญ่ไว้กลางหน้ากระดาษห่างจากขอบบนลงมา  2  นิ้ว มีลักษณะคล้ายโครงเรื่องอยู่หลังคำนำ จัดทำเมื่อเขียนหรือพิมพ์รายงานเสร็จแล้ว  เป็นหน้าที่บอก ชื่อตอน  บท  หัวข้อใหญ่  หรือหัวข้อย่อย เรียงตามลำดับเนื้อหาในเล่ม มีเลขหน้าเริ่มต้นกำกับอยู่ด้านขวามือ  พิมพ์ห่างขอบประมาณ 1  นิ้ว ข้อความในหน้าสารบัญให้เขียนหรือพิมพ์ห่างจากขอบซ้ายของหน้ากระดาษ 1.5  นิ้ว

                   9.1.9  สารบัญตาราง หรือบัญชีตาราง  (List  of Tables)  จัดทำเมื่องานเขียนนั้นมีตารางจำนวนมาก และตารางเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเนื้อหา (ถ้างานเขียนนั้นทั้งเล่มมีตาราง              เพียงหนึ่งหรือสองตารางก็ไม่จำเป็นต้องทำหน้าสารบัญตาราง) เรียงไว้ต่อจากหน้าสารบัญ เ                 ป็นหน้าที่แสดงให้ทราบถึงจำนวนตารางทั้งหมดในเนื้อเรื่อง เรียงตามลำดับที่ปรากฏในรายงาน            ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านค้นหาได้สะดวก จัดหน้าลักษณะเดียวกับสารบัญ โดยพิมพ์ไว้กลางหน้ากระดาษห่างจากขอบบนลงมา  2  นิ้ว พิมพ์คำว่า  “บัญชีตาราง”  หรือ “สารบัญตาราง”  และเปลี่ยนคำว่า “บทที่”  เป็น “ตารางที่”

                   9.1.10  สารบัญภาพประกอบ หรือบัญชีภาพประกอบ  (List  of Illustrations)  อยู่ต่อจากหน้าบัญชีตาราง (ถ้ามี)  เป็นหน้าที่บอกให้ทราบถึงจำนวนภาพประกอบ แผนผัง  แผนที่  กราฟ  แผนภาพทางสถิติต่าง ๆ หรือแผนภูมิ  ทั้งหมดในเรื่องไปจนถึงภาคผนวก พิมพ์คำว่า  “บัญชีภาพประกอบ”  “สารบัญภาพ” “สารบัญแผนภูมิ”  และเปลี่ยนคำว่า “บทที่”  เป็น “ภาพที่”

                   การกำกับหน้าในส่วนประกอบตอนต้นนั้น ให้เริ่มนับตั้งแต่หน้าปกในเป็นต้นไปโดยใช้ตัวอักษรกำกับ งานเขียนภาษาไทยใช้  ก  ข  ค  ... และงานเขียนภาษาอังกฤษใช้เลขโรมัน  I  II  III … เรียงไปตามลำดับ

           9.2  ส่วนประกอบตอนกลางหรือส่วนเนื้อหา (Text) เป็นส่วนที่เป็นเนื้อหาโดยละเอียด           ซึ่งผู้ทำรายงานได้เรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้า จึงถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของงานเขียน           ทางวิชาการทุกประเภท  ประกอบด้วย

                  เนื้อหา เป็นเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้นจากการศึกษาค้นคว้า โดยแบ่งออกเป็นบท  หัวข้อใหญ่  หัวข้อย่อย ตามลำดับ  ประกอบด้วยส่วนสำคัญต่าง ๆ  ดังนี้

                   9.2.1  บทนำ ต่างจากคำนำคือ  การเขียนบทนำจะอธิบายเนื้อหาอย่างกว้าง ๆ เป็นการนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อหา เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเบื้องต้น  หรือเป็นการแนะนำปัญหา (เรื่อง)  ที่กำลังดำเนินการศึกษาค้นคว้า ซึ่งได้แก่วัตถุประสงค์  ขอบเขต  วิธีการศึกษา ประโยชน์ที่จะได้รับ

                    บทนำ  ประกอบด้วย  ความเป็นมาของเนื้อเรื่อง ความสำคัญของปัญหา  ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า (หากมีหลายประเด็นควรแยกเป็นข้อ ๆ  เรียงตามลำดับ) ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้าว่าจะทำอะไรแค่ไหน มีข้อจำกัดอะไรบ้าง  ระบุสมมุติฐาน (คือการคาดคะเนหรือเดาเหตุการณ์ในผลที่จะได้ไว้ล่วงหน้า) วิธีดำเนินการค้นคว้า  เช่น  โดยการทดลอง ศึกษาค้นคว้า        จากเอกสาร  ศึกษาข้อมูลสนาม  ประโยชน์ที่ได้รับ คำนิยามศัพท์เฉพาะ  เอกสารที่เกี่ยวข้อง

                   หัวข้อต่าง ๆในบทนำนี้อาจไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงทุกหัวข้อ ขึ้นอยู่กับลักษณะ                   ของงานเขียน

                   9.2.2  ตัวเนื้อหา คือส่วนที่เสนอข้อมูลที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า เรียบเรียงไว้อย่างมีเหตุผล และเป็นระเบียบเรียงตามลำดับที่แจ้งไว้ในสารบัญ อาจแบ่งเป็นบทหรือตอนขึ้นอยู่กับ       ความสั้นยาวของเรื่อง ถ้าสั้นไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นบทหรือตอนก็ได้ เพียงแต่แบ่งตามหัวข้อสำคัญ ๆ ของเนื้อเรื่องให้เหมาะสม เนื้อหาของรายงานจะสมบูรณ์ได้ควรประกอบด้วย

                               9.2.2.1  อัญประภาษ (Quotation) คือข้อความที่คัดลอกมา  แปลมา  ถอดความมา หรือสรุปความมาจากคำพูด หรือข้อเขียนของผู้อื่นนำมาเรียบเรียงไว้ในรายงานเพื่อให้เนื้อหา              ของรายงานมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น  แบ่งได้เป็น  2 ประเภท  คือ

                                               1)  อัญประภาษตรง  (Direct  Quotation) เป็นการอ้างถึงโดยตรง ซึ่งจะคัดลอกมาเหมือนต้นฉบับเดิมทุกประการ อาจเป็นข้อความที่สำคัญมาก  หรือข้อความที่เขียนไว้ดีมาก และผู้เขียนนำมาอ้างอิงเพื่อสนับสนุนความคิดของตน ควรเป็นข้อความที่ยาวไม่เกิน  4  บรรทัด           และพิมพ์ไว้ในเครื่องหมาย อัญประกาศ  (“..............”) ถ้าค่อนข้างยาวให้ขึ้นย่อหน้าใหม่โดยเว้น                    1 บรรทัด  และไม่ต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ และถ้าต้องตัดข้อความออกให้ใส่จุด  3  จุด (...)  ตรงข้อความที่ตัดออก ส่วนบนเยื้องไปทางขวาตัวอักษรสุดท้ายของอัญประภาษให้ใส่ตัวเลขกำกับ       ให้ตรงกับตัวเลขของเชิงอรรถ

                                               2)  อัญประภาษรอง  (Indirect  Quotation) เป็นการอ้างถึงโดยอ้อม  คือไม่ได้ยกข้อความนั้นมาโดยตรง  แต่เป็นการถอดความ สรุปความ หรือย่อความโดยใช้สำนวน           ภาษาของผู้เขียนเอง เมื่อนำมาเรียบเรียงในรายงานให้เขียนต่อเนื่องไปกับเนื้อหาได้เลยโดยไม่ต้องใส่ข้อความไว้ในเครื่องหมายอัญประกาศ

                               9.2.2.2  การอ้างถึง คือการบอกแหล่งที่มาของข้อความที่นำมาอ้างอิงในรายงาน         ซึ่งเนื้อเรื่องบางตอนอ้างอิงถึง หรืออ้างอิงในลักษณะของอัญประภาษ  ถือเป็นส่วนสำคัญ                 เพราะจะทำให้รายงานนั้นมีความน่าเชื่อถือ โดยมีหลักฐานว่าผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดี และยังแสดงถึงความมีจริยธรรมทางวิชาการอีกด้วย การอ้างอิงทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับ                      ความเหมาะสมหรือสถาบันนั้น ๆ กำหนดให้ใช้วีการเขียนอ้างอิงแบบใด  ได้แก่

                                               1)  อ้างอิงแบบแทรกในเนื้อหา คือการอ้างอิงโดยการใช้วงเล็บต่อจากเนื้อความ หรือเรียกว่าระบบ  นาม-ปี 

ตัวอย่าง

               ลักษณะของห้องสมุดที่ดี  (ทิพวรรณ  หอมพูล  2542 :4)  หรือ

               รัถพร  ซังธาดา  (2539 : 62) ให้ความหมายของบัตรรายการไว้ว่า ...

                                               2)  อ้างอิงแบบแยกจากเนื้อหา  ทำได้  3 ลักษณะ  คือ

                                                    2.1) อ้างอิงไว้ส่วนล่างหน้ากระดาษ  หรือเรียกว่า “เชิงอรรถ”               (Foot Note) การทำอ้างอิงแบบนี้จะมีเส้นคั่นระหว่างเนื้อเรื่องกับเชิงอรรถยาวประมาณ 2  นิ้ว  หรือไม่เกินครึ่งหน้ากระดาษ บรรทัดสุดท้ายของเชิงอรรถจะต้องอยู่ห่างจากขอบล่างกระดาษ 1  นิ้ว ข้อความที่ลงไว้อาจบอกแหล่งที่มาของข้อมูลซึ่งเรียกว่าเชิงอรรถอ้างอิง หรือเป็นการอธิบายความเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรียกว่าเชิงอรรถเสริมความ หรือเป็นการบอกแหล่งข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องเรียกว่าเชิงอรรถโยง

                                                   2.2)  อ้างอิงไว้ท้ายบท แบบนี้จะเรียงตามลำดับการอ้างอิงในเนื้อหา      โดยมีตัวเลขกำกับ  (ไม่เรียงตามลำดับตัวอักษร) และรวมไว้ท้ายบทของแต่ละบท แยกหน้าต่างหาก            โดยเขียน  หรือพิมพ์หัวกระดาษว่า “อ้างอิง”  หรือ “การอ้างอิง”

                                                   2.3)  อ้างอิงไว้ท้ายเล่ม มีลักษณะเหมือนกับการอ้างอิงท้ายบท                แต่จะแตกต่างกันตรงที่ตัวเลขที่ใช้ในการเรียงลำดับนั้นจะต่อเนื่องกันตลอดทั้งเล่ม

                               9.2.2.3  ภาพประกอบ (Illustration) คือภาพที่สามารถใช้ประกอบการอธิบายเนื้อหาเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ชัดเจน  รวดเร็ว  และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ได้แก่ ภาพวาด              ภาพลายเส้น ภาพเขียน  ภาพพิมพ์  ภาพถ่าย  แผนที่ แผนผัง  แผนภูมิ  กราฟ  เป็นต้น        

หมายเลขบันทึก: 440952เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2011 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท