ประเภทของการประเมินโครงการ


 

 

ประเภทของการประเมินโครงการ  

การแบ่งประเภทการประเมินโครงการคงมิใช่เป็นการกำหนดเกณฑ์เด็ดขาด  แต่จำเป็นต้องอาศัยเกณฑ์หลายชนิดมาจำแนกประเภท  เช่น  ใช้เวลา  วัตถุประสงค์  วิธีการ  และรูปแบบการประเมินมาบ่งบอกถึงประเภทของการประเมิน  ซึ่งในที่นี้อาจจำแนกการประเมินโครงการออกเป็น  4  ประเภท  ดังนี้  

1. การประเมินโครงการก่อนดำเนินการ (Preliminary  Evaluation)  เป็นการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Study)  ก่อนที่จะเริ่มโครงการใดโครงการหนึ่ง ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่การตัดสินว่า จะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่ อย่างไร  โดยทำการศึกษาถึงสภาพแวดล้อมเชิงปฏิบัติการ (Operating Environment) ของโครงการ ความพร้อมและความเหมาะสมของปัจจัยนำเข้า อันได้แก่ ขีดความสามารถ ประสิทธิภาพ และความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ งบประมาณและกระบวนการงบประมาณ รวมไปถึงสมรรถนะในการบริหารจัดการ ทั้งยังต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของกระบวนการที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการโครงการ ตลอดจนปัญหา อุปสรรค  และความเสี่ยงของการดำเนินโครงการ  รวมไปถึงประสิทธิผลที่คาดว่าจะได้รับ  แต่ในขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการ ในด้านต่าง ๆ  อาทิ  การประเมินผลกระทบด้านสังคม (Social Impact Assessment, SIA),  การประเมินผลกระทบด้านนิเวศ (Ecological Impact Assessment, EIA),  การประเมินผลกระทบด้านการเมือง (Political Impact Assessment, PIA),  การประเมินผลกระทบด้านเทคโนโลยี (Technological Impact Assessment, TIA),  การประเมินผลกระทบด้านประชากร (Population Impact Assessment, PIA),  การประเมินผลกระทบด้านนโยบาย (Policy Impact Assessment, POIA),  การประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Impact Assessment)  เป็นต้น

2. การประเมินระหว่างดำเนินโครงการ (Formative Evaluation)  เป็นการประเมินผลเพื่อการปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ ผลที่ได้จากการประเมินระหว่างดำเนินโครงการนั้น อาจจะกระทำในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาโครงการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objectives) ของโครงการ เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล  ยิ่งไปกว่านั้น การประเมินระหว่างดำเนินโครงการ อาจจะกระทำในระหว่างขั้นตอนการดำเนินโครงการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยตรวจสอบว่า โครงการได้ถูกดำเนินการไปตามแผนของโครงการหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า Implementation Evaluation   อย่างไรก็ดี การประเมินระหว่างดำเนินโครงการนี้ อาจเป็นการตรวจสอบความก้าวหน้าของโครงการว่า โครงการได้ถูกดำเนินการไปอย่างได้ผลดีหรือไม่ เพียงใด ซึ่งเรียกอย่างเฉพาะเจาะจงว่า  Progress Evaluation

3. การประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Summative Evaluation)  หรืออาจเรียกว่า การประเมินผลผลิต เป็นการประเมินผลรวมสรุปภายหลังจากสิ้นสุดการดำเนินโครงการ  ในการรวมสรุปข้อมูลอันเกิดจากโครงการระยะยาวนั้น จะรวบรวมจากผลของการประเมินระหว่างดำเนินโครงการ (Formative Evaluation) ทำให้เป็นผลของการประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการ (Summative Evaluation)  ซึ่งผลรวมสรุปที่ได้จะนำสู่การรายงายว่า โครงการได้บรรลุเป้าประสงค์ขององค์การ (Corporate Goals) หรือไม่ อย่างไร ตลอดจนการรายงานถึงสถานภาพของโครงการว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร พบปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการดำเนินโครงการ เพื่อปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการโครงการของหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นในการดำเนินโครงการนี้ หรือโครงการอื่น ๆ ต่อไป

4. การประเมินประสิทธิภาพ (Efficiency Evaluation)  เป็นการประเมินโครงการที่มุ่งเน้นตรวจสอบผลผลิตและกระบวนการได้มาซึ่งผลผลิต และมุ่งที่จะทราบความสำเร็จหรือความล้มเหลว รวมไปถึงความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการนั้น ๆ  ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ให้บริหารโครงการหรือผู้ให้ทุนว่า จะการยุติหรือขยายการดำเนินโครงการ  ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน การประเมินประสิทธิภาพโครงการยังมีความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการประเมินประสิทธิภาพโครงการนั้นเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)  ในแง่ของประสิทธิภาพในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐกิจ ซึ่งถือเป็นแนวคิดกระแสหลักในการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management, NPM)

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ 

  


หมายเลขบันทึก: 440830เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท