ขั้นตอนของการประเมินโครงการ


 

 

ขั้นตอนของการประเมินโครงการ 

การประเมินโครงการมีความสำคัญสำหรับผู้บริหารหรือผู้สนับสนุนงบประมาณ ในการตัดสินใจปรับปรุงหรือล้มเลิกโครงการ การกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ในการวิจัยประเมินโครงการ จึงมีความจำเป็นและควรให้มีลักษณะที่เอื้ออำนวยและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ผลการประเมิน ผู้ใช้ผลการประเมินแต่ละระดับมีความต้องการและความสนใจที่แตกต่างกัน  เช่น ผู้บริหารระดับสูงสนใจข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย ระดับรองลงมาสนใจข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผน ระดับปฏิบัติการสนใจข้อมูลในขั้นตอนการดำเนินโครงการ การดำเนินงานประเมินโครงการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่เหมาะสมจึงจะทำให้ผลการประเมินมีคุณภาพ (เชาว์  อินใย, 2553 : น. 17) 

เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี ได้จำแนกขั้นตอนของการะประเมินโครงการออกเป็น 6 ขั้นตอน (เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี, 2546 : น. 279 - 288  อ้างถึงใน เชาว์  อินใย, 2553 : น. 17)  ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  การศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  ก่อนทำการประเมินโครงการผู้ประเมินจะต้องศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  เช่น โครงการที่เสนอขออนุมัติ ถ้าเป็นโครงการนำร่อง ก็ควรศึกษาเอกสารรายงานความก้าวหน้าของโครงการ หรือถ้ามีรายงานผลการประเมินโครงการฉบับสมบูรณ์ ก็ควรนำมาศึกษา จะทำให้ผู้ประเมินได้เข้าใจความเป็นมาของโครงการ สภาพแวดล้อม วัตถุประสงค์ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ  ซึ่งจะทำให้ผู้ประเมินสามารถกำหนดประเด็นการประเมินและตัวชี้วัดต่อไปได้

ขั้นตอนที่ 2  การกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน  ในขั้นตอนนี้ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า  จะประเมินโครงการอะไร ประเมินทำไม เพื่อใคร หรือใครเป็นผู้ใช้ผลการประเมิน ข้อมูลที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการ สัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบโครงการ ผู้สนับสนุนโครงการ

ขั้นตอนที่ 3  การกำหนดขอบเขตของการประเมิน  เป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะทำให้การประเมินโครงการสามารถดำเนินการได้ และบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่จะทำการประเมิน หน่วยงานที่ต้องการติดตาม บุคคลที่ผู้ประเมินต้องสัมภาษณ์ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4  การพิจารณากำหนดตัวบ่งชี้และแหล่งข้อมูล  การกำหนดตัวบ่งชี้ในการประเมินสามารถกำหนดได้จากวัตถุประสงค์ของโครงการ หรือจากตัวแบบการประเมินเชิงทฤษฎี  เช่น การกำหนดตัวบ่งชี้จากรูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model หรืออาจจะพิจารณาจากความคาดหวังของผู้ใช้ผลการประเมินก็ได้ ตัวบ่งชี้มีทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ  ในเชิงปริมาณนั้นเช่น จำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละของนักศึกษาที่มีบุตร อัตราส่วนจำนวนนักเรียนต่อครู เป็นต้น  ส่วนในเชิงคุณภาพนั้นเช่น ความเหมาะสม ความสอดคล้อง ประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น

การกำหนดแหล่งข้อมูลนั้น จะต้องสอดคล้องกับตัวบ่งชี้  เช่น นักประเมินต้องการวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการจากการวัดความรู้ของผู้เข้ารับการอบรม แต่ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวัด ซึ่งก็ไม่เหมาะสม ข้อมูลที่ต้องการอาจมีการบันทึกไว้แล้ว หรือต้องทำการเก็บรวบรวมขึ้นมาใหม่  เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี (2546 : น. 283  อ้างใน เชาว์  อินใย, 2553 : น. 17) ได้กล่าวว่า การพิจารณาคัดเลือกกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพื่อทำการสอบถามหรือสัมภาษณ์ มีแนวทางพิจารณาได้ 2 รูปแบบ คือ

(1)       รูปแบบ “จากบนสู่ล่าง” (Top Down) หมายถึง การรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นจากผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ และบุคลากรในเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ๆ  จากผู้รับผิดชอบระดับสูงไปสู่ระดับต่ำ

(2)       รูปแบบ “จากล่างสู่บน” (Bottom Up) หมายถึง การรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ รวมทั้งกลุ่มบุคคลเป้าหมายของโครงการและกลุ่มบุคคลที่น่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ โดยเริ่มจากผู้รับผิดชอบระดับผู้น้อยหรือระดับล่างไปสู่ผู้รับผิดชอบระดับชั้นผู้ใหญ่หรือระดับบน

ขั้นตอนที่ 5  การวิเคราะห์ข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ผู้ประเมินเก็บรวบรวมมา  ตัวอย่างเช่น ข้อจำนวนผู้เข้าร่วมอบรม ใช้ค่าร้อยละ ความคิดเห็นต่อโครงการที่อยู่ในรูปมาตราส่วนประมาณค่า ใช้ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากเอกสาร การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม ฯลฯ  ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา  

ขั้นตอนที่ 6  การสรุปผลการประเมิน  การสรุปผลการประเมินโครงการ ผู้ประเมินควรเน้นประเด็นที่สำคัญดังนี้คือ ผลผลิตจากโครงการ ปัญหา และข้อจำกัดของการดำเนินโครงการ ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงโครงการ  นอกจากนั้นควรสรุปผลโครงการไปในด้านอื่น ๆ ด้วย (เยาวดี รางชัยกุล วิบูลย์ศรี, 2546 : น. 287  อ้างใน เชาว์  อินใย, 2553 : น. 18)  เช่น

(1)       การยอมรับในคุณค่าของโครงการจากกลุ่มเป้าหมาย 

(2)       การขยายผลโครงการและความต้องการของโครงการที่ต่อเนื่อง  

(3)       การก่อให้เกิด “สิ่งใหม่” เช่น เทคโนโลยีหรือเอกสารทางวิชาการ  

(4)       การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางกายภาพหรือทางสังคม  

(5)       การเรียนรู้จากการปฏิบัติโครงการที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคล  

(6)       การแพร่กระจายผลให้เป็นสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ

(7)       การพัฒนาศักยภาพหรือประสิทธิภาพของโครงการในด้านอื่น ๆ

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 


หมายเลขบันทึก: 440829เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท