ตัวแบบการประเมินโครงการ : ตัวแบบซิป (CIPP Model)


 

ตัวแบบการประเมินโครงการ : ตัวแบบซิป  (CIPP  Model)

ตัวแบบในการประเมินโครงการมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ตัวแบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดตัวแบบหนึ่งคือ ตัวแบบซิป (CIPP Model)  

ในปี  ค.ศ.  1966  แดเนียล สตัฟเฟิลบีม (Daniel Strufflebeam) และคณะได้สร้างตัวแบบสำหรับใช้ในการประเมินผลโครงการสาขาการบริหารการศึกษา และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประเมินออกมาหนึ่งเล่มชื่อว่า “Educational Evaluation and Decision-making” ในปี ค.ศ.1971  หนังสือเล่มนี้ได้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการศึกษาของไทย เพราะได้ให้แนวคิดและวิธีการในการวัดและประเมินผลการศึกษาที่น่าสนใจและไม่ล้าสมัยอีกด้วย   นอกจากนั้น สตัฟเฟิลบีม ก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการประเมินและรูปแบบของการประเมินอีกหลายเล่มอย่างต่อเนื่อง จึงอาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีการประเมิน จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป  ทั้งนี้มีพัฒนาการในการสร้างตัวแบบซิป (CIPP Model)  โดยสังเขปดังต่อไปนี้ 

สตัฟเฟิลบีม และคณะ ได้สร้างตัวแบบ CIPP ขึ้นในปี ค.ศ.1966  สำหรับใช้ในการประเมินผลโครงการสาขาการบริหารการศึกษา โดยเป็นการศึกษาโครงการแบบเน้นกระบวนการ (Formative Approach)  จากปัจจัยนำเข้าที่เข้าสู่กระบวนการ และจากกระบวนการก่อให้เกิดผลผลิต ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ ในบริบทของสภาพแวดล้อม

ต่อมาในปี 1967 สตัฟเฟิลบีม ได้พัฒนาตัวแบบ CIPP  โดยเน้นการกำหนดเป้าประสงค์ (Corporate Goal-setting)  จากการวิเคราะห์ (Context)  หรือสภาพแวดล้อม รวมถึงการประเมินความต้องการ (Needs Assessment)  และการวางแผนจากการศึกษาความมีอยู่ของปัจจัยนำเข้า และการประเมินยุทธศาสตร์เพื่อเป็นการกำหนดยุทธวิธีหรือแผนงาน

สตัฟเฟิลบีม ได้พัฒนาตัวแบบ CIPP  เป็นครั้งที่ 3  ในปี ค.ศ.1971  โดยเพิ่มเติมการนำผลของการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงยุทธวิธีหรือแผนงาน  จากนั้นในปี ค.ศ.1972  ก็ได้พัฒนาตัวแบบ CIPP เป็นครั้งที่ 4  ซึ่งได้ให้น้ำหนักกับวิธีการศึกษาแบบเน้นผลรวมสรุปของโครงการ (Summative Approach) ไปพร้อม ๆ กับการศึกษาแบบเน้นกระบวนการดำเนินโครงการ (Formative Approach)  และในการพัฒนาครั้งที่ 5  เขาได้ขยายขอบเขตของแนวคิดเกี่ยวกับผลผลิต (Product) ออกไปสู่ยุทธวิธีหรือแผนงานระยาวที่เหมาะสม (Stufflebeam, 2002 : P. 1  อ้างถึงใน วัฒนา วงศ์เกียรติรัตน์, 2554 : น. 147 - 148) 

การพัฒนาตัวแบบ  CIPP ครั้งที่ 5  ของ สตัฟเฟิลบีม ได้กำหนดให้มีการประเมิน 10 หมวด ดังต่อไปนี้ (Stufflebeam, 2002 : P. 3 - 12  อ้างถึงใน วัฒนา วงศ์เกียรติรัตน์, 2554 : น. 148)

(1)       การจัดทำข้อตกลงระหว่างผู้ประเมินกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Contractual Agreements) เกี่ยวกับระเบียบวิธี งบประมาณ การวางแผนกิจกรรมร่วมกัน

(2)       การประเมินผลบริบท (Context Evaluation) เกี่ยวกับความต้องการ ผลประโยชน์ และปัญหาภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนด

(3)       การประเมินผลปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) เกี่ยวกับการวางแผนกิจกรรมและงบประมาณ

(4)       การประเมินผลกระบวนการ (Process Evaluation) เกี่ยวกับการจัดทำกิจกรรม การบันทึกผลการปฏิบัติงาน และการติดตามผล

(5)       การประเมินผลกระทบ (Impact Evaluation) เกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชน

(6)       การประเมินประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) เกี่ยวกับผลลัพธ์จากการดำเนินกิจกรรม

(7)       การประเมินความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) เกี่ยวกับความต่อเนื่องในอนาคต

(8)       การประเมินการแพร่กระจาย (Transportability Evaluation) เกี่ยวกับการแพร่กระจายไปยังชุมชนอื่น

(9)       การประเมินผลสรุปรวบยอด (Meta Evaluation) เป็นการสรุปผลรวบยอดจากรายงานการประเมินผลที่ใช้ระเบียบวิธีที่มีความแตกต่างกัน

(10)     การนำเสนอบทเรียนสุดท้าย (Final Synthesis Report) เกี่ยวกับสิ่งที่จัดทำ ผลสำเร็จ และบทเรียนจากประสบการณ์

กล่าวโดยสรุป ตัวแบบซิป (CIPP Model)  ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่  1) บริบท (Context)  2) ปัจจัยนำเข้า (Input)  3) กระบวนการ (Process)  และ 4) ผลผลิต (Product)  ซึ่งในแต่ละองค์ประกอบนั้น มีมิติในการพิจารณาสำหรับการประเมินดังนี้

(1)       การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation)  เป็นการศึกษาสภาพแวดล้อมและปัจจัยพื้นฐานของโครงการ อันได้แก่  นโยบาย วิสัยทัศน์ ปัญหา แหล่งทุน สภาพความผันผวนทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตลอดจนแนวโน้มการก่อตัวของปัญหาที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการ เป็นต้น

(2)       การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ซึ่งจำแนกเป็นบุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ขีดความสามารถทางการบริหารงาน ซึ่งแต่ละปัจจัยก็ยังจำแนกย่อยออกไปอีก  เช่น บุคลากร อาจพิจารณาถึง เพศ อายุ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ความพึงพอใจ ความคาดหวัง ทัศนคติ ความรู้ ความสามารถ ศักยภาพ ประสบการณ์ วุฒิการศึกษา  ถิ่นที่อยู่ และลักษณะของกลุ่มทางสังคม เป็นต้น

(3)       การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการศึกษาการดำเนินการตามยุทธวิธีหรือแผนงานนั้นว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ถูกกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร  อีกทั้งยังเป็นการศึกษาค้นหาข้อบกพร่อง จุดอ่อนหรือจุดแข็งของกระบวนการบริหารจัดการโครงการ โดยพิจารณาจุดเน้นที่ว่า กระบวนการของโครงการจะทำให้โครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

(4)       การประเมินผลผลิต (Product Evaluation) เป็นการตรวจสอบประสิทธิผลของโครงการ โดยเฉพาะความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ที่ได้ถูกำหนดไว้กับผลผลิตที่ได้ออกมา จากนั้นจึงนำเกณฑ์การวัดผลที่ได้กำหนดไว้ไปใช้ตัดสิน  อนึ่ง เกณฑ์การวัดผลที่ได้กำหนดไว้ดังกล่าวนั้น อาจเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่บุคคลหรือหน่วยงานอื่นได้กำหนดไว้ หรืออาจเป็นเกณฑ์การวัดผลที่กำหนดขึ้นเองก็ได้ 

นอกจากจะทำการประเมินโครงการโดยพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 4 ประการดังกล่าวแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักคิดในการประเมินโครงการอีกด้วย โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปทำการประเมินโครงการในทุก ๆ องค์ประกอบ และในทุก ๆ มิติที่ทำการประเมินโครงการตามตัวแบบซิป (CIPP Model) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว  ทั้งนี้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นประกอบด้วย  หลัก 3 ห่วง  2 เงื่อนไข  โดยหลัก 3 ห่วงนั้น ประกอบด้วย  1) ความพอประมาณ   2) ความมีเหตุ-มีผล  และ  3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  ส่วน 2 เงื่อนไขนั้น ประกอบด้วย  1) เงื่อนไขความรู้  และ  2) เงื่อนไขคุณธรรม  ซึ่งจะสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น เมื่อศึกษาจากแผนภาพต่อไปนี้

 

 

ที่มา : ‘3 ห่วง 2 เงื่อนไขหัวใจเศรษฐกิจพอเพียง (ทาคุ, 2550)

 

หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไขดังกล่าว ให้หลักคิดสำหรับการประเมินโครงการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ดังนี้คือ  1) ความพอประมาณ หมายถึง งบประมาณของรัฐที่หน่วยงานภาครัฐกิจต่าง ๆ ได้รับการจัดสรรให้ไปใช้จ่ายในการบริหารจัดการ จะต้องไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป พอเหมาะพอสมกับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอยู่ในเงื่อนไข “ความรู้” และ เงื่อนไข “คุณธรรม” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  2) ความมีเหตุ-มีผล หมายถึง ได้รับจัดสรรงบประมาณของรัฐที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล ใช้จ่ายในสิ่งที่สมควร และไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่สมควร ซึ่งอยู่ในเงื่อนไข “ความรู้” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งอยู่ในเงื่อนไข “คุณธรรม” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้เกิดแก่ส่วนรวม  และ  3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐไปเพื่อการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และการบรรเทาปัญหา ที่จะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้บริหารภาครัฐกิจแลเห็นได้ด้วยวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกล ลึกซึ้ง และรอบคอบ

 

 

 

สรุป

การประเมินโครงการมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้หน่วยงานภาครัฐกิจได้เห็นภาพสะท้อนของตนเองในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในทุก ๆ ห้วงเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ หรือโครงการที่จะดำเนินการต่อไป ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือธรรมาภิบาล (Good Governance)  อีกทั้งยังเป็นการดำเนินโครงการที่ตั้งอยู่บนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อผลของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน


ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 


 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 440828เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนและใช้จ่ายเงินให้ได้มาอย่างพอเพียงและประหยัด ตามกำลังเงินของบุคคลนั้น โดยปราศจากการกู้หนี้ยืมสินและถ้ามีเงินเหลือเก็บก็แบ่งออมไว้บางส่วน ช่วยเหลือคนอื่นบ้างบางส่วนและอาจจะใช้จ่ายมาเพื่อปัจจัยเสริมอีกบางส่วน

เห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการค่ะ ในเมื่อเราทำการประเมินโครงการเมื่อพิจารณาแล้ว และเราก็เอาแนวคิดพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวคิดในการประเมินโดครงการอีกด้วย ถ้าเราจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเราควรจะยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อผลของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

นางสำรวย ทองโป้ย เห็นด้วยกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่รัฐบาลต้องนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ตามหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทำให้ประเทศไทยเราพัฒนายิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินโครงการของรัฐต้องมีความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพมากที่สุด

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท