จากคุกมหันตโทษ สู่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์


จากคุกมหันตโทษ สู่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ 

นัทธี    จิตสว่าง

พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ซึ่งเป็นอาคารที่ดัดแปลงจากอาคารของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (เดิม) ตั้งอยู่ที่เลขที่ 436 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานที่ที่มิใช่เป็นเพียงที่เก็บรวบรวมเรื่องราวโบราณและวัตถุทางด้านการราชทัณฑ์เท่านั้น แต่สถานที่แห่งนี้ยังมีประวัติความเป็นมาที่เป็นจุดกำเนิดของการราชทัณฑ์สมัยใหม่ในหลายๆ ด้าน ซึ่งมีความเชื่อมโยงมาจนถึงปัจจุบัน


ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ทรงทำนุบำรุงและพัฒนาประเทศชาติในด้านต่างๆ   ได้ทรงมีพระราชดำริว่าการคุกการตะรางเป็นความสำคัญของประเทศสมควรจะได้ก่อสร้างสถานที่และให้มีระเบียบเป็นปึกแผ่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) เจ้ากรมกองตระเวนไปดูงานเรือนจำที่เมืองสิงคโปร์ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินตำบลตรอกคำสร้างคุกขึ้นใหม่ โดยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่าคุกเก่าหรือคุกหน้าวัดโพธิ์นั้นได้สร้างมานานปีแล้วและคับแคบไม่พอจะขยายการปลูกสร้างสถานที่สำหรับปฏิบัติการงานของคุกให้ดีขึ้นได้ และสิ่งที่มีอยู่ก็คร่ำคร่าพ้นสมัยแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างคุกขึ้นใหม่ที่ริมคลองหลังวัดสุทัศน์ ด้านหน้าจดถนนมหาชัยด้านหลังจดคลองเสาชิงช้าซึ่งได้ถมเป็นถนนศิริพงศ์ในขณะนี้  ด้านเหนือจดเขตวังเสด็จในกรมหมื่นพงศาดิศรมหิป  มีเนื้อที่ทั้งหมด  29 ไร่  3 งาน 72  ตารางวา  เป็นเนื้อที่ภายในเรือนจำ 21 ไร่ เนื้อที่ด้านนอกอีก 8 ไร่ เมื่อสร้างเสร็จแล้วทางราชการได้ให้ชื่อว่า เรือนจำกองมหันตโทษ โดยให้เป็นสถานที่สำหรับคุมขังนักโทษที่มีกำหนดโทษหนัก หรือความผิดฐานอุกฉกรรจ์มหันตโทษ แต่ประชาชนก็ยังคงเรียกว่า “คุก”อยู่ตามเคย  เติมท้ายว่า “ใหม่” รวมเข้าเป็น “คุกใหม่”จนตลอดมาหลายสิบปีเรือนจำกองมหันตโทษมีฐานะชั้นกรม มีผู้บังคับบัญชาเป็นตำแหน่งเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี และข้าราชการประจำกรมการปกครองบริหารงานตามหน้าที่ และมีตำแหน่งในทำเนียบสืบมาแต่โบราณอีกบางตำแหน่ง  เช่น พัศดี และพะทำมะรง (หัวหน้าผู้คุมทั้งปวง) เป็นต้น มีกองพลตระเวนสำหรับช่วยป้องกันรักษาเหตุการณ์ ฯลฯ(1)

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังได้ทรง     พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่ดินข้างศาลพระราชอาญา รวมกับที่ดินของหลวงที่มีอยู่และสร้าง ตะราง ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง (บริเวณศาลฎีกาตรงข้ามสนามหลวงในปัจจุบัน)


ในการก่อสร้างคุกและตะรางใหม่นั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค  ณ ป้อมเพชร) เมื่อครั้งยังเป็นพระอภัยพลภักดิ์ ซึ่งเคยไปรับราชการสถานทูตไทย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้คุมการก่อสร้างร่วมกับช่างชาวอังกฤษชื่อมิสเตอร์แกรซี เป็นรับเหมาก่อสร้างโดยนำแบบเรือนจำ Brixton อันเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุด (Maximum Security) มาสร้างขึ้นและพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตราได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการ (เวลานั้นเรียกว่า จางวาง) คนแรกของเรือนจำนี้ การสร้างคุกและตะรางทั้ง 2 แห่งนี้ ได้แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2433  (ร.ศ.109)  แต่อาคารบางอย่าง เช่น โรงงานอย่างเป็นทางการ ได้แล้วเสร็จในปีต่อมา


ในการก่อสร้างคุกกองมหันตโทษที่ตำบลตรอกคำ ถนนมหาไชย นั้น ได้แบ่งพื้นที่ก่อสร้างภายในกำแพงล้อมรอบเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโรงครัวสำหรับหุงต้มอาหารเลี้ยงพวกนักโทษ ส่วนหนึ่งเป็นตึกที่ขังนักโทษซึ่งมีทั้งหมด 4 หลัง ตึก 3 ชั้น จำนวน       2 หลัง ตึก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง  ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับนักโทษทำงาน มีการช่างต่างๆ เพื่อให้นักโทษได้ฝึกอาชีพและทำงานอย่างจริงจัง แลพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนนี้มีกำแพงกั้นเป็นส่วนๆ แลที่ประตูใหญ่มีชานมุงหลังคากระเบื้องตรงกัน 2 หลัง แลมีสะพานเดินตลอดถึงกันได้ แลมีหอคอยอยู่รอบนอกกำแพง 7 คอหอย ในการสร้างตึกขังนักโทษนั้นไม่มีการตอกเสาเข็มแต่ใช้การวางท่อนซุงใหญ่ๆ เพื่อเป็นฐานแทนการตอกเสาเข็ม


การก่อสร้างคุกนี้ได้เกิดปัญหาในระหว่างที่ทำการก่อสร้างหลายประการ ดังปรากฏในคำกราบบังคมทูลของคอมมิตตี กรมพระนครบาล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 109 ความว่า ด้วยคุกใหม่นั้นการใหญ่ทั้งปวงก็เสร็จแล้ว ยังค้างอยู่แต่ ที่สูบน้ำกับโรงครัวยังรอสูบน้ำ และท่อกับเครื่องเหล็ก เตาไฟ ที่เป็นของสั่งยังไม่เข้ามาถึงกับกองดินในคุกเมื่อเวลาทำงานนั้นยังสะสมอยู่มาก      ข้าพระพุทธเจ้าได้จัดนักโทษไปขนมูลดินถมที่ลุ่มแลฉาบที่ให้เรียบร้อยอยู่แล้ว ถ้าเครื่องเหล็กมาถึง การครัวและสูบน้ำแล้วเสร็จ ก็จะได้ย้ายนักโทษไป


แต่ในระหว่างนี้ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าว่า ไม่ควรเสียเวลาที่ทำการในคุก ที่จำเป็นจะต้องทำต่อไปนั้น คือ คุกพยาบาลนักโทษอย่างหนึ่งนั้นยังไม่มีเพราะเดิมคิดไว้ว่าคนป่วยจะย้ายมาไว้คุกย่อมที่จะขังนักโทษที่ทำครัวและทำการเบ็ดเสร็จในคุกแต่ห้องขังนั้นก็เหมือนคุกเก่า ไม่ได้มีฝาห้องโปร่งให้อากาศเดินได้สะดวก สำหรับการรักษาโรค ข้าพระพุทธเจ้าวิตกว่า คุกไม่ประกอบการรักษาโรคที่ป่วยไข้ นักโทษจะมีอันตรายมากกว่าหายอย่างหนึ่ง หรือถ้าจะหายป่วยก็ช้าไปอย่างหนึ่งไม่เหมือนที่มีอากาศเดินได้สะดวก อีกประการหนึ่ง ถ้าชาวยุโรเปียนมาดูการคุก เห็นว่า คุกพยาบาลนักโทษ ไม่สมควรรักษาโรคดังนี้ ก็จะเป็นข้อติเตียนได้อยู่ ข้าพระพุทธเจ้าจึงให้มิสเตอร์แกรซี ผู้รับเหมาทำการคุกอยู่นั้น คิดอย่างคุกพยาบาลนักโทษให้จุนักโทษได้ 80 คน มีหน้าต่างให้ลมเดินได้สะดวก ให้สมแก่การพยาบาลไข้ และเฉลียงนั้นก็ใช้เหล็กเป็นลูกกรงให้แน่นหนา เป็นที่ขังนักโทษป่วยไข้คุกหนึ่ง ประมาณราคาจะรับเหมาเป็นเงิน 360 ชั่ง 45 บาท สามสิบสองอัฐ ถ้าจะทำคุกนี้แล้ว ต้องทำกำแพงสกัดกั้นตอนที่ขังคนป่วยอีกสายหนึ่ง ประมาณราคา 10 ชั่ง 71 บาท รวมเป็นเงิน 371 ชั่ง 36 บาท สามสิบสองอัฐ


กับกำแพงคุกรอบนอกส่วนที่สำหรับนักโทษทำงานอีกอย่างหนึ่ง ยังต่ำอยู่กับกำแพงคุกที่ทำใหม่เดี๋ยวนี้ 3 ฟุต กับในส่วนหนึ่งยาวประมาณ 22 ฟุต นั้น ขาดอยู่ยังไม่รอบ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ทำเสียให้รอบติดกัน และเสริมกำแพงเดิมเสียให้เท่ากับกำแพงเดี๋ยวนี้ เงินที่จะทำประมาณ 13 ชั่ง 59 บาท 16 อัฐ


อนึ่ง การทำงานในคุกนั้น กำหนดว่า จะให้มีการเลื่อยไม้ด้วย เพราะการเลื่อยไม้นี้คงเป็นการที่ได้ทำโดยเสมอ ด้วยไม้นั้นใช้อยู่ทั่วกัน เมื่อมีการจะกระทำงานดังนี้แล้ว จะต้องเอาไม้เข้าไปในกำแพงคุกให้มีที่สำหรับเก็บไม้ที่จะเอาขึ้นเลื่อยได้โดยง่ายทุกเวลา แต่ช่วงที่จะเอาเข้านั้นต้องเจาะกำแพงเป็นประตูสำหรับเอาไม้เข้า ควรทำเสียแต่เมื่อนักโทษยังไม่ไปอยู่ในนี้ให้เสร็จ เมื่อนักโทษไปอยู่แล้วก็จะทำการได้ทีเดียว ไม่ต้องงดหรือเป็นห่วงการที่คุมขังในเวลากลางวันทำงาน เพราะมีกำแพงโดยรอบแน่นหนาแล้ว ประมาณการที่จะทำนั้นเป็นเงิน 53 ชั่ง 77 บาท 24 อัฐ


กับห้องที่สำหรับนักโทษที่จะต้องประหารชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ในคุกยังไม่มี ขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแก้ห้องในคุกๆ ละ 4 ห้อง ประมาณเงินที่จะใช้เป็นเงิน 24 ชั่ง 78 บาท 24 อัฐ (2)


เมื่อได้สร้างคุกและตะรางทั้ง 2 แห่งดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ย้ายผู้ต้องขังจากคุกเดิมที่หน้าวัดโพธิ์และจากตะรางต่างๆ ไปรวมยังคุกและตะรางที่สร้างใหม่นั้น  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์  ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งคอมมิตี้นครบาลทรงดำริเสนอว่า ถ้าจะย้ายผู้ต้องขังไปให้เสร็จในเวลากะทันหัน อาจไม่เป็นที่เรียบร้อยได้ โดยที่เจ้าพนักงานเรือนจำยังใหม่ต่อข้อบังคับและการควบคุม ซึ่งได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายไว้แล้ว  ข้อบังคับใหม่ตรงข้ามกับธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาแต่กาลก่อน จึงได้ผ่อนผันย้ายผู้ต้องขังจากคุกเก่าไปไว้คุกใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2433  (ร.ศ.109)  เพียง 200 คนก่อน แล้วย้ายไปในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนั้นอีก 9  คน ครั้นถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2434 (ร.ศ.110) ย้ายเพิ่มเติมไปอีก 92 คน และย้ายไปเดือนกรกฎาคมในปีนั้นอีก 490  คน หมดนักโทษที่คุกเก่าเพียงเท่านี้ และนอกจากนี้ก็มีนักโทษจากหัวเมืองส่งมาคุมขังที่คุกใหม่อีกด้วย  รวมนักโทษที่คุกใหม่หรือเรือนจำมหันตโทษในเวลานั้นทั้งสิ้น  1,001 คน ตายเสีย 1 คน คงเหลือนักโทษ 1,000 คน ส่วนตะรางที่สร้างใหม่ ได้รับนักโทษจากตะรางเก่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2433 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2434 (ร.ศ.110) รวมเวลา 1 ปี 2 เดือน จึงย้ายนักโทษจากตะรางต่างๆ ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง  กรม ต่างๆ มารวมไว้ตะรางที่สร้างใหม่แล้วเรียกว่า เรือนจำลหุโทษ


เรือนจำกองมหันตโทษนี้ มีอาคารที่กว้างขวางทันสมัยกว่าเรือนจำเก่ามาก โดย    มีสถานที่ทำการด้านต่างๆ รวมทั้งพื้นที่และโรงงานในการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ต้องขัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการฝึกอาชีพให้ผู้ต้องขังอย่างจริงจังและเป็นระบบตามหลักทัณฑวิทยาเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การทำงานของนักโทษเป็นการทำงานที่นักโทษใช้ฝีมือตนเองทำมาหาเลี้ยงชีพตามถนัดระหว่างถูกจำคุก เพราะนักโทษไม่ได้รับงบประมาณจากทางราชการต้องให้ผู้คุมนำไปขาย ณ สถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของเรือนจำที่เรียกกันว่า หับเผย นอกจากนี้ยังเป็นการทำงานที่เน้นการใช้แรงงานของนักโทษมากกว่าการมุ่งในการฝึกอาชีพ ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำริให้สร้างคุกสร้างตะรางขึ้นใหม่เพื่อที่จะรวมนักโทษจากตะรางต่างๆ และคุกเก่ามาไว้ ณ ที่แห่งเดียวกัน กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลในขณะนั้น ทรงมีแนวคิดในการปฏิรูปการใช้แรงงานของนักโทษให้เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน ทรงดำริทีจะสร้างโรงงาน เพื่อให้นักโทษได้ทำงานช่างฝีมือและช่างไม้จึงได้จัดสร้างโรงงานภายในเรือนจำมหันตโทษใหม่ที่สร้างขึ้นโดยมีโรงงานช่างเหล็ก ช่างไม้ และการช่างสิบหมู่  และได้มีการรื้อเอาไม้เก่าจากคุกหน้าวัดโพธิ์ที่รื้อถอนมาทำโรงงานให้เกิดประโยชน์ และทูลเกล้าฯถวายสิ่งของฝีมือของนักโทษเป็นตัวอย่างในครั้งนั้น ได้แก่ ดุมเสื้อสาบเป็นรูปตระกร้อทองคำ ทอง นาค เงิน สานขัดกัน เก้าอี้สำหรับนั่งอ่านหนังสือ กระดานที่พนักหลังถอดออกมา เก้าอี้เล็กสำหรับนั่ง ขันล้างหน้าลงหิน ที่ทำขึ้นสำหรับขายส่งไปเมืองลาวและต่างประเทศ คือ อินเดีย และพม่า โดยจัดให้มีระบบบัญชีและปิดหมายเลขจำนวนสิ่งของที่ผลิตในเรือนจำทุกชิ้น พร้อมตั้งราคาขาย รายได้นำเงินส่งพระคลังมหาสมบัติต่อไป(3)


การฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังของเรือนจำแห่งนี้ได้ดำเนินอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งมีโจรทิม ซึ่งต้องโทษจำคุกแล้วพัศดีจ่ายให้ทำงานในกองจักสานจนชำนาญ มีฝีมือดีกว่าผู้ต้องขังอื่นๆ ในคุกทั้งหมด จึงได้ทำสิ่งของสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวาย และขอพระราชทานอภัยโทษให้พ้นเวร และจะไปจำพรรษาออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาต่อไป ไม่ประพฤติชั่วร้ายเหมือนหนหลังตลอดชีวิต บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าต้องจำคุกมา 10 ปี ได้พยายามทำสิ่งของนั้นสำเร็จดังตั้งใจแล้ว ขอพระราชทานอภัยโทษสักครั้งหนึ่ง ถ้าความที่กราบทูลเป็นเท็จแต่ข้อใดข้อหนึ่ง ขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต...”
ในการนี้พระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรกาถังน้ำ เห็นเป็นฝีมืออย่างประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า “มันพูดจริง เราจะให้มันเห็นผลความจริง” จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานอ้ายทิม แล้วให้จัดการบวชเป็นนาคหลวงพระราชทาน(4)


ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าบ้านเมืองกำลังเดินเข้าสู่ความเจริญควรจะย้ายเรือนจำมหันตโทษออกไปตั้งอยู่นอกพระนคร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และกรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่จัดซื้อที่ดินตำบลบางขวาง ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอตลาดขวัญ จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันคือ ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี) เนื้อที่ 60378 ตารางวา แต่ยังไม่มีการก่อสร้างจนสิ้นรัชกาล


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายเรือนจำมหันตโทษไปตั้งที่ตำบลบางขวางตามพระราชดำริเดิมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ แต่เนื่องจากกรมราชทัณฑ์มีนโยบายว่าต้องสร้างเป็นเรือนจำขนาดใหญ่ จึงได้พิจารณาถึงที่ตั้งเรือนจำ ปรากฏว่าที่ดินที่ซื้อไว้แต่เดิม 60,378 ตารางวา ถูกแบ่งไปสร้างโรงเรียนราชวิทยาลัยเสีย 20,378 ตารางวา เหลือเพียง 40,000 ตารางวา ไม่พอที่จะใช้สร้างเรือนจำ จึงมีการของบประมาณและตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมแต่ยังไม่ทันก่อสร้างได้มีการยุบกระทรวงนครบาลไปรวมกระทรวงมหาดไทย และย้ายกรมราชทัณฑ์ไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม การก่อสร้างได้มาเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งได้เริ่มลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ.2470 ที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2474 จึงได้มีการย้ายผู้ต้องขังโทษสูงจากกองมหันตโทษไปคุมขัง เรียกชื่อเรือนจำนี้ว่า เรือนจำมหันตโทษ ต่อมาจึงเปลี่ยนเรียกชื่อว่า เรือนจำกลางบางขวาง มาจนปัจจุบันนี้ ส่วนเรือนจำกองมหันตโทษเดิมเปลี่ยนเรียกชื่อว่า เรือนจำลหุโทษ  โดยย้ายผู้ต้องขังทั้งหมดจากกอง ลหุโทษที่ถนนหับเผยซึ่งยุบเลิกมาคุมขังไว้ ส่วนที่ดินยกให้กระทรวงยุติธรรม ซึ่งต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ยกฐานะเรือนจำลหุโทษเป็น เรือนจำกลางคลองเปรมมีหน้าที่รับคุมขังผู้ต้องขังที่กำหนดโทษไม่เกิน 10 ปี ไว้อบรมและฝึกอาชีพ


เรือนจำกลางคลองเปรม (ลหุโทษเดิม) ได้เปิดดำเนินการเรื่อยมาโดยเป็นเรือนจำ ที่คุมขังผู้ต้องหาระหว่างพิจารณาคดีและคุมขังนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีจัดเป็นเรือนจำลหุโทษหรือเรือนจำสำหรับโทษเบานั้นเองทั้งผู้ต้องขังชายและหญิง ต่อมาในปี พ.ศ.2505 กรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่คุมขังหญิงภายในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม (ลหุโทษ) จังหวัดพระนคร ในขณะนั้นซึ่งก็คือแดน 8 หรือที่เรียกกันว่าขัง 8  ต้องเข้าออกทางเดียวปะปนกับสถานที่คุมขังชาย ไม่เป็นการเหมาะสมและไม่เป็นการสะดวกในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุม อบรมและฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของสหประชาชาติ พ.ศ. 2498  ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ต้องขังชาย และผู้ต้องขังหญิง พึงแยกไว้คนละแห่ง หากทัณฑสถานแห่งใดใช้ควบคุมผู้ต้องขังทั้ง 2 เพศ ก็ให้แยกสถานที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงไว้เป็นเอกเทศโดยเด็ดขาด และโดยที่เรือนจำกลางคลองเปรม หรือเรือนจำลหุโทษในสมัยนั้นมีผู้ต้องขังหญิงอยู่มากประมาณถึง 400 คน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแยกออกไปปลูกสร้างเรือนจำขึ้นโดยเฉพาะเป็นเอกเทศ เพื่อให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้ดำเนินไปโดยเหมาะสมตามหลักการราชทัณฑ์ยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากงบประมาณที่จะปลูกสร้างเรือนจำขึ้นใหม่ยังไม่อำนวยกรมราชทัณฑ์จึงเพียงทำการดัดแปลงอาคารที่อยู่เดิมขึ้น ซึ่งก็คืออาคารแดน 9 ของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน และสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมตั้งเป็นเรือนจำหญิง สร้างประตูผ่านเข้าออกโดยตรงทางด้านถนนมหาชัยเป็นเอกเทศ ไม่ปะปนกับผู้ต้องขังชายดังแต่ก่อนอีกต่อไป และเรียกชื่อเรือนจำแห่งนี้ว่า ทัณฑสถานหญิง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศกำหนดประเภทและอาณาเขตของ เรือนจำหญิงดังกล่าวนี้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 แล้ว นับว่าเป็นเรือนจำหญิงแห่งแรกที่ได้แยกเป็นเอกเทศ(5) โดยการติดต่อกับทัณฑสถานหญิง เช่น การเยี่ยมเยียนผู้ต้องขังก็ติดต่อได้ ณ ที่ทำการทัณฑสถานหญิง ถนนมหาชัย  และทัณฑสถานหญิงดังกล่าวข้างต้นนี้ ได้มีการเปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์การฝีมือต่างๆ ที่เกิดจากการฝึกวิชาชีพแก่ผู้ต้องขังหญิงด้วย นับเป็นการเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผู้ต้องขังหญิงขึ้นเป็น แห่งแรก ต่อมากรมราชทัณฑ์ได้ก่อสร้างเรือนจำกลางคลองเปรมขึ้นใหม่ที่แขวงลาดยาว เขตบางเขน ในปี พ.ศ. 2513  จึงได้ยุบเรือนจำกลางคลองเปรมโดยเปลี่ยนชื่อเป็น"เรือนจำนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ในครั้งสุดท้ายได้มีประกาศของคณะปฏิวัติที่ 335/2515  ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ปรับปรุงส่วนราชการกรมราชทัณฑ์ โดยให้เรียกชื่อใหม่ว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร  ในขณะเดียวกันเมื่อได้มีการย้าย ทัณฑสถานหญิงซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำแห่งนี้ไปยังทัณฑสถานหญิงที่สร้างใหม่ที่บางเขน ใกล้ๆ  กับเรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งปัจจุบันคือ ทัณฑสถานหญิงกลาง


ในปีพ.ศ. 2517 มูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ ได้มีการจัดตั้งบ้านกึ่งวิถี ซึ่งเรียกว่าบ้านสวัสดีขึ้นสำหรับสงเคราะห์ผู้พ้นโทษ ผู้ถูกคุมประพฤติของกรมราชทัณฑ์ โดยได้มีการปรับปรุงอาคารทัณฑสถานหญิงเดิม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (เดิม)  ถนนมหาไชย  เป็นอาคารที่พักอาศัยความจุ 13 คน เพื่อให้ผู้พ้นโทษที่ยังไม่มีที่ไปได้พักอาศัยอยู่  ณ บ้านแห่งนี้  ก่อนที่บ้านสวัสดีจะได้ไปอยู่ที่บริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ในปี พ.ศ. 2534  แต่ก็นับว่าสถานที่แห่งนี้มีความเกี่ยวพันกับงานสงเคราะห์หลังปล่อย (Aftercare) และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Reentry) ของกรมราชทัณฑ์มาก่อน(6)


เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  27 มกราคม 2530  ซึ่งต้องการปรับปรุงบริเวณที่ตั้งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ กรมราชทัณฑ์ได้มอบพื้นที่ทั้งหมดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครให้กรุงเทพมหานครยกเว้นอาคารด้านหน้า จำนวน 3 หลัง และอาคารแดน 9 ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้แล้ว และคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2543 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ให้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติและความเป็นมาของกิจการราชทัณฑ์ ส่วนพื้นที่ ที่เหลือจัดสร้างสวนสาธารณะเพื่อน้อมเกล้าถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษาในวันที่ 12  สิงหาคม  2535  และได้ย้ายสถานที่ตั้งเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปที่บริเวณทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน ถนนงามวงศ์วาน แขวงจตุจักร เขตลาดยาว กรุงเทพมหานคร  ตั้งแต่วันที่  22  มกราคม 2535 โดยการขนย้ายผู้ต้องขังก็ทยอยจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแห่งเดิม ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2534 เป็นต้นมา และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2535 หลังจากที่ได้ย้ายโอนเรือนจำพิเศษกรุงเทพออกไปแล้ว จึงได้มีการปรับปรุงอาคารของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเดิม เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ เมื่อได้ปรับปรุงแล้วเสร็จจึงได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ขึ้น โดยย้ายสิ่งของในห้องพิพิธภัณฑ์เดิมที่ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ นนทบุรี ไปไว้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยเมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปิดสวนสาธารณะสวนรมมณีนาถและอาคารพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ โดยมีข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร  กรมราชทัณฑ์  และประชาชนเฝ้ารับเสด็จ จำนวนมาก(7)


พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ประกอบไปด้วยอาคารด้านหน้าซึ่งเคยเป็นที่ทำการเรือนจำเก่าจำนวน 3 หลังเพื่อใช้เป็นที่แสดงประวัติความเป็นมาของกิจการราชทัณฑ์ ในอาคารทั้ง 3 รวมถึงอาคารแดน 9 ซึ่งเป็นอาคารเรือนนอนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเก่า (เคยเป็นแดนผู้ต้องขังหญิงเก่า) แสดงสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในอดีต    เช่น   การกินอยู่ หลับ นอน ลักษณะการก่อสร้างตัวอาคารเป็นการนำเอาแบบอย่างทางตะวันตกมาใช้อุปกรณ์ส่วนประกอบของประตูเหล็กมาจากบริษัทในสิงค์โปร์มีระบบการเปิดปิดห้องนอนผู้ต้องขังเป็นแบบรวม โดยยกคันเพียง 1 ครั้งจะสามารถเปิดห้องนอนได้ถึง 9 ห้อง 


ในปีพ.ศ. 2545  กรมราชทัณฑ์ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 111 ปี คุกสยาม 1ในความวิวัฒน์รัตนโกสินทร์ โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม  พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพร้อมทอดพระเนตรการแสดงแสงสี และพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์แห่งนี้ โดยมีข้าราชการจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร ตลอดจนประชาชนเฝ้ารับเสด็จฯ กันอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างคุกมหันตโทษแห่งนี้มาเป็นเวลา 111 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2433 และเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา12 สิงหาคม 2545 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อกรมราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังเพื่อเป็นการแสดงถึงวิวัฒนาการระบบการราชทัณฑ์ไทยจากอดีตที่มีพัฒนาการเรื่อยมาจากการลงโทษให้เข็ดหลาบไปสู่การพัฒนาพฤตินิสัย ให้ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีของสังคมเมื่อพ้นโทษ(8)

ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นสถานที่ที่แสดงเครื่องพันธนาการและเครื่องมือลงทัณฑ์โบราณตลอดจนเรื่องราว และประวัติความเป็นมา   ของกิจการราชทัณฑ์แล้ว ณ สถานที่ดังกล่าวยังมีประวัติความเป็นมา และเรื่องราวที่เชื่อมโยงมาถึงงานราชทัณฑ์ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยและพระบรมวงศานุวงค์ต่อกิจการราชทัณฑ์การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งถือกำเนิดทัณฑสถานหญิงเป็นแห่งแรกขึ้น ณ ที่แห่งนี้ การเปิดบ้านกึ่งวิถีเปิดมิติใหม่ด้านการเตรียมความพร้อมและการดูแลหลังปล่อย ตลอดจนการฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง ที่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบขึ้นที่เรือนจำแห่งนี้เป็นแห่งแรก


ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้กำลังจะได้รับการพิจารณาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระหว่างประเทศด้านการราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice) ที่มุ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ในการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบงานราชทัณฑ์ตามมาตรฐานของข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) และแนวทางในพระดำริภายใต้โครงการกำลังใจ ทั้งนี้ เนื่องจากที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีอาณาบริเวณและอาคารที่ทรุดโทรมยังใช้ประโยชน์เต็มที่ กระทรวงยุติธรรมจึงมีโครงการที่จะเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงอาคารบริเวณพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ให้เป็นการเรียนรู้ในระดับระหว่างประเทศและเป็นสถานที่ในการศึกษาดูงานการพัฒนางานราชทัณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหประชาชาติและแนวทางตามพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อันสืบเนื่องจากโครงการกำลังใจและให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ในระดับสากลรวมทั้งเป็นที่ตั้งของโครงการกำลังใจ ร้านกำลังใจคาเฟ่ ซึ่งเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์และบริการโดยผู้ต้องขังที่พ้นโทษ


ในปีพ.ศ. 2554 นี้ คุกใหม่หรือคุกกองมหันตโทษในอดีตก็จะมีวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่ได้เป็นเรือนจำที่คุมขังนักโทษดังเช่นสมัยก่อนแล้วก็ตาม แต่สถานที่แห่งนี้ก็ยังทรงคุณค่า และมีพัฒนาการที่ผูกพันกับงานราชทัณฑ์มาโดยตลอด ตราบเท่าทุกวันนี้และในอนาคตก็จะเป็นพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ระดับโลกที่เป็นที่กล่าวขานโดยทั่วไปในระดับสากล


**************************


เชิงอรรถ

1  พระยาราชเสนา “เรือนจำเก่าเล่าใหม่” วารสารราชทัณฑ์  ปีที่ 10 เล่มที่ 3 เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2504 หน้า 27 - 28. 

2 ผัน สีดา และปรียาพร ศรีมงคล “ความเป็นมาสวนรมณีนาถ” กรุงเทพ:บพิธการพิมพ์
จำกัด, 2533 หน้า 22 - 23.

3 สำนักพัฒนาพฤตินิสัย, “เล่าเรื่องนิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์” วารสารราชทัณฑ์  ปีที่ 54 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 หน้า 93.

4 สำนักพัฒนาพฤตินิสัย, เพิ่งอ้าง, หน้า 92.

5 รายงานประจำปีกรมราชทัณฑ์ พ.ศ. 2506 กรุงเทพ:โรงพิมพ์ราชทัณฑ์.

6 ย้อนอดีต, “ตำนานสู่ความเป็นสังคมสงเคราะห์”, วารสารราชทัณฑ์ ปีที่ 54 ฉบับที่ 2
พ.ศ. 2549 หน้า 29.

7 บรรหาร  ชลสินธุ์ และจุฑามาศ  เศรษฐบุตร (เรียบเรียง), พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์
กรุงเทพ:บพิธการพิมพ์ จำกัด,
2543.

8 ฝ่ายประชาสัมพันธ์  กรมราชทัณฑ์, “111 ปี คุกสยาม”  วารสารราชทัณฑ์      ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2545 หน้า 2.

 

 

หมายเลขบันทึก: 440788เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท