จับความจากยอดครูฝรั่งนำมาฝากครูเพื่อศิษย์ : ๙. เตรียมพร้อมรับ “การทดสอบครู” และสร้างความพึงใจในการเรียนของศิษย์


 

          จับความจาก Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LouAnne Johnson
 
          นักเรียนเป็นคน คนคือสิ่งมีชีวิตที่คาดเดาพฤติกรรมยาก   แต่นักเรียนอยู่ในวัยที่คาดเดาพฤติกรรมยากกว่า   ครูจึงต้องเตรียมพร้อมเผชิญพฤติกรรมแปลกๆ   ซึ่งบางกรณีเป็นการท้าทายความสามารถของครู

          คำแนะนำต่อไปนี้เป็นบริบท หรือวัฒนธรรมอเมริกัน หากจะนำมาใช้กับบริบทไทยควรปรับเสียก่อน

          สิ่งที่ครูต้องไม่อดทน ต้องจัดการคือ พฤติกรรมที่รบกวนการเรียนรู้ของชั้นเรียน  อาจเกิดขึ้นในวันแรกๆ ของปีการศึกษา   ซี่งหากไม่จัดการให้เรียบร้อย ชั้นเรียนก็จะเละเทะตลอดปี   ทำลายผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนทั้งชั้น   วิธีการแรกที่ครูเลาแอนน์ใช้คือจ้องหน้านักเรียนคนที่แสดงพฤติกรรมไม่ดีนั้น โดยไม่พูดอะไร ท่ามกลางสายตาของเด็กทั้งชั้น   หากเด็กหยุดก่อกวน ก็พูดคำว่าขอบคุณ   หากเด็กยังทำต่อ ก็ให้เปิดประตูห้องบอกให้เด็กออกจากห้อง   แล้วออกไปพูดกับเด็กนอกห้อง เพื่อปิดโอกาสที่เด็กจะแสดงวาทะอวดเพื่อน   คือครูต้องไม่ทะเลาะกับเด็ก ไม่โต้แย้งกับเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ   หากเด็กยอมรับผิดและขอโทษ จะไม่ทำอีก ก็ยกโทษให้ ให้กลับเข้าห้อง   หากเด็กยังแสดงความก้าวร้าว หรือไม่ยอมออกจากห้อง ก็เรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมารับเด็กไปส่งครูใหญ่หรือฝ่ายวินัย  

          จุดสำคัญคือ ครูต้องแสดงหน้าตาท่าทางที่ไม่หวั่นไหวต่อสถานการณ์   เพื่อข่มขวัญนักท้าทายรายต่อไป

          ถ้อยคำที่ผมยกย่องครูเลาแอนน์อย่างยิ่งก็คือ คำแนะนำว่า อย่าโกรธเด็ก   เด็กคนที่ก่อความวุ่นวายหรือรบกวนชั้นเรียนเป็นคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ   เพราะเป็นคนมีความอ่อนแอ หรือบาดแผลทางใจ   ครูต้องไม่รังเกียจเด็กเหล่านี้   ต้องแสดงให้เห็นว่าครูรังเกียจพฤติกรรมไม่ดี   แต่ไม่รังเกียจตัวเด็ก   และต้องการช่วยเด็กให้ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี   กลายเป็นคนดีต่อไปในภายหน้า

          อย่ารังเกียจตัวเด็ก   ให้รังเกียจตัวพฤติกรรม  และหาทางช่วยเหลือเด็กให้หลุดพ้นจากพฤติกรรมนั้น  นี่คือหลักของ “ครูเพื่อศิษย์” 

          นอกจากกำหราบเด็กเกเร เด็กก่อกวน แล้ว   ครูเลาแอนน์ แนะนำให้ทำอีก ๘ อย่างในสัปดาห์แรก

 

๑. แนะนำให้เด็กรู้จักกัน   โดยใช้วิธีเล่นเกม ให้ทั้งความสนุกสนาน และให้เด็กได้รู้จักกันทั้งห้อง   เวลานี้มีเกมเพื่อให้คนกลุ่มเล็กๆ รู้จักและสนิทสนมกันมากมาย

๒. กำหนดวิธีการขานคำตอบ   เวลาครูสอน ครูจะตั้งคำถามให้เด็กตอบด้วยวาจาเป็นครั้งคราว   ครูเลาแอนน์ แนะนำให้ครูกำหนดวิธีขานคำตอบ ๓ วิธี  ได้แก่ โค้ด ๑ นักเรียนยกมือให้ครูชี้ว่าจะให้ใครตอบ  โค้ด ๒  นักเรียนตะโกนตอบได้ทันที กี่คนก็ได้   โค้ด ๓  ทุกคนนิ่งคิด ๑ นาที (หรือ ๓๐ วินาที – ๒ นาที แล้วแต่จะตกลงกัน) โดยอาจเขียนร่างความคิดในกระดาษก็ได้  แล้วคนที่ต้องการตอบยกมือ   เวลาครูตั้งคำถาม จะบอกโค้ดสำหรับขานคำตอบด้วยเสมอ เป็นที่รู้กัน

๓. ทดสอบพื้นความรู้ของเด็ก   เด็กแต่ละคนมีพื้นความรู้ไม่เท่ากัน   ครูควรใช้เวลา ๒ วันแรก ให้เด็กทำแบบทดสอบ หรือการบ้าน หลากหลายแบบ เพื่อให้ครูได้วินิจฉัยหรือทำความรู้จักเด็กเป็นรายคน ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ จุดอ่อน จุดแข็ง   โดยบอกเด็กว่าให้ตั้งใจตอบให้ดีที่สุด แต่ไม่ต้องกังวลเรื่องคะแนน   เพราะจะยังไม่นับเป็นคะแนนสำหรับให้เกรด   ครูต้องเตรียมข้อสอบหลากหลายแบบเพื่อทดสอบนักเรียน   และข้อสอบ ๒ แบบที่ควรมี คือ  (๑) หาบทความ ซึ่งอาจเป็นบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ ที่เหมาะต่อชั้นเรียนและวัยของเด็ก   เป็นบททดสอบ ให้เด็กอ่านและเขียนความเห็นของตนต่อข้อเขียนนั้น  บททดสอบนี้ เป็นการทดสอบความสามารถในการอ่าน การทำความเข้าใจ ความคิด และความสามารถในการเขียน   (๒) ให้เด็กเขียนเรียงความในหัวข้อที่กำหนด  เป็นการทดสอบความสามารถในการแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นการเขียน


๔. แจกใบต้อนรับ และแฟ้มประจำตัวนักเรียน   ควรแจกใบต้อนรับในวันที่ ๔ หรือ ๕ ของสัปดาห์  หลังจากคาดว่าไม่มีนักเรียนเพิ่มหรือย้ายห้องเรียนแล้ว   นอกจากแจก ครูต้องอ่านดังๆ ให้นักเรียนฟังทุกคน   ตรงนี้ผมคิดว่าอาจให้นักเรียนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยครูในบางตำแหน่งทำหน้าที่อ่านก็ได้   โดยเมื่ออ่านจบแต่ละข้อ หยุดให้นักเรียนถาม เพื่อให้เข้าใจตรงกัน   เมื่อจบแล้ว ให้นักเรียนตอบ “ข้อสอบ” เพื่อซักซ้อมวิธีปฏิบัติตัวในโอกาสต่างๆ   เช่น ครูเตรียม “ข้อสอบ” multiple choice จำนวนหนึ่ง   ฉายขึ้นกระดานทีละข้อ ให้นักเรียนตอบ  เช่น 
   ๑. นักเรียนควรนำสิ่งใดบ้างมาโรงเรียน
     ก. ขนม, เกม, เครื่องเล่น ซีดี, งู
     ข. ปากกา ดินสอ ยางลบ และหนังสือ
     ค. สุนัข ถุงเท้าเหม็นๆ ๑ คู่  และเป๊บซี่ ๒ ขวด
     ง. หนังสือการ์ตูน  ชุดแต่งหน้า  ขนตาปลอม 
   นักเรียนจะหัวเราะคิกคัก  ช่วยให้บรรยากาศไม่เครียด  และช่วยทบทวนความเข้าใจเรื่องกติกาของชั้นเรียนไปในตัว
  
   ในวันเดียวกัน แจกแฟ้มประจำตัวนักเรียน   เพื่อให้เด็กมีแฟ้มเก็บใบต้อนรับ และเอกสารอื่นๆ ที่ได้รับแจก  และแนะนำเด็กว่า นี่คือเครื่องมือชิ้นหนึ่งสำหรับเรียนรู้ ฝึกฝน วิธีจัดการการเรียนรู้ของตนเอง   การเก็บเอกสารให้เป็นระเบียบหาง่าย จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียน   และฝึกฝนความเป็นระเบียบ 

๕. มอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้เด็กบางคนช่วยครู   เพื่อลดภาระของครู และเพื่อฝึกนักเรียน   ครูจะได้มีเวลาทำงานสำคัญ   ตัวอย่างงานที่จะมอบให้เด็กช่วย เช่น เหลาดินสอ (ตั้งชื่อให้เก๋ เช่น president of pencil sharpening )   เก็บขยะให้ห้องไม่รกทุกๆ สิ้นคาบเรียน  กวาดถูห้องเรียนหลังเลิกเรียนตอนเย็น (อาจจัดเป็นทีมอาสา ๔ คน หมุนเวียนกัน)   ขานชื่อผู้มาเรียน-ขาดเรียนและลงบันทึก   งานบางอย่างอาจมีเครดิตให้   หน้าที่ของครูคือ ต้องทำให้การทำงานเป็นการเรียนรู้ด้วยเสมอ
 
๖. เรียนรู้ว่าชีวิตมีทางเลือก   ในสัปดาห์แรก จัดบทเรียนให้เด็กได้เข้าใจว่าตัวเราเองลิขิตชีวิตของเราได้  ไม่ใช่รอหรือมอบให้พรหมลิขิต   มีหลายเรื่องไม่ทำชีวิตก็อยู่ได้   ที่ไม่ทำแล้วตายมีเพียง ๕ อย่างคือ หายใจ กิน ดื่มน้ำ นอน และถ่ายอุจจาระ                          เพื่อเรียนบทเรียนนี้ (ชื่อ พลังทางเลือกในชีวิต) ด้วยตนเอง  ครูให้นักเรียนแต่ละคนเติมความในประโยค ๒ ประโยค  (๑) ฉันจำใจต้อง ....  (๒) ฉันไม่สามารถ ....  แล้วเอามาอภิปรายกัน   โดยครูอธิบายล่วงหน้าว่าบทเรียนนี้ไม่มีคะแนน เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เห็นว่าแต่ละคนเลือกชีวิตของตนเองได้มากกว่าที่คิด   โดยต้องลงมือทำบางเรื่อง หรือบังคับตัวเองให้ไม่ทำบางเรื่อง   ผมเข้าใจว่านี่คือบทเรียนเพื่อฝึกฝน personal mastery

๗. ช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง   เด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น จะสนใจตนเอง และสนใจซึ่งกันและกันมากกว่าวัยอื่นๆ   และในขณะเดียวกันก็สับสนเกี่ยวกับตนเองมากด้วย   ความสับสนนี้เองนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน และในชีวิตของเด็ก   วิธีช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง ทำโดยอธิบาย Maslow’s Theory ให้ฟัง

๘. สอนให้เด็กเรียนรู้วิธีคิด  โดยใช้ Bloom’s Taxonomy of Cognitive Domains   คือการเรียนรู้ ๖ ระดับ ได้แก่ knowledge – รู้, comprehension – เข้าใจ, application – ประยุกต์, analysis – วิเคราะห์, synthesis – สังเคราะห์, evaluation – คุณค่า    ครูเอาทฤษฎีนี้มาคุยกับเด็กเพื่ออธิบายว่า ทำไมครูจึงมีแบบฝึกหัดอย่างโน้นอย่างนี้ให้นักเรียนทำ   เป้าหมายก็เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ลึกถึงระดับที่ ๖ ด้วยตัวเอง   ไม่ใช่ครูเอาแบบฝึกหัดมาแกล้งเด็ก  หรือเล่นสนุกกับความรู้สึกยากลำบากของเด็ก

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ เม.ย. ๕๔

                         

 

หมายเลขบันทึก: 440664เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 เมษายน 2014 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

   ดิฉันได้รับ Blog ของท่านเข้าใน Plannet "Education" จึงสามารถติดตามอ่านบันทึกของท่านได้ตลอด ซึ่งทุกเรื่องมีประโยชน์สำหรับครูอาจารย์มากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการทดสอบเพื่อให้ครูรู้พื้นฐานของผู้เรียนเป็นรายบุคคล การช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง และการพัฒนาทักษะการคิด (ซึ่งดิฉันเองก็ได้ทำในทุกกิจกรรมดังกล่าวในการสอนทุกรายวิชาในระดับปริญญาตรี) ค่ะ จึงขอขอบพระคุณท่านที่เขียนบันทึกแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์เป็นวิทยาทานแก่ครูอาจารย์

  อยากจะขอเสริมเรื่องท่าทีและการจัดการของครูต่อพฤติกรรมก่อกวนของนักเรียนนักศึกษา ที่ในทางจิตวิทยาจะใช้คำว่า "การปรับพฤติกรรม" ซึ่งจะมีอยู่หลายวิธี ครูเลาแอนน์มีท่าทีต่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมก่อกวน ว่าเด็กที่ก่อกวนเป็นคนที่น่าสงสาร น่าเห็นใจ เพราะเป็นคนมีความอ่อนแอ หรือบาดแผลทางใจ (ในทางจิตวิทยาถือว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ) ครูต้องไม่รังเกียจเด็กเหล่านี้   ต้องแสดงให้เห็นว่า ครูรังเกียจพฤติกรรมไม่ดี   แต่ไม่รังเกียจตัวเด็ก   และต้องการช่วยเด็กให้ไม่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี   จะได้กลายเป็นคนดีต่อไปในภายหน้า และในการจัดการกับปัญหา ครูจะไม่ทะเลาะกับเด็ก ไม่โต้แย้งกับเด็กต่อหน้าเพื่อนๆ แต่นำเด็กออกไปพูดคุยนอกห้องเรียน ซึ่งเป็นท่าทีและการจัดการที่พึงประสงค์ แต่ครูบ้านเราเท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะมีลักษณะตรงกันข้าม คือเวลาผู้เรียนมีพฤติกรรมก่อกวนในชั้นเรียน ครูอาจารย์จะควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แสดงอารมณ์ฉุนเฉียว กลายเป็นทะเลาะกับผู้เรียนคนนั้นต่อหน้าเพื่อนๆ ซึ่งจะแก้ปัญหาพฤติกรรมก่อกวนไม่ได้ ทั้งยังจะทำให้ผู้เรียนขาดความศรัทธาในตัวครูอีกด้วย จึงควรนำท่าทีและการจัดการตามแนวของครูเลาแอนน์ไปประยุกต์ใช้เป็นอย่างยิ่ง      

อ่านบทความครูเลาแอนน์แล้ว ขออนุญาตนำไปแบ่งปันครูในโรงเรียนนะคะ แม้ว่าจะพบบทความล่าช้าไปหน่อย(เปิดเทอมมา 1 สัปดาห์แล้ว) แต่ก็ไม่สายเกินไป ครูอีกเยอะแยะค่ะที่ปรารถนาดีต่อเด็ก แต่ยังไม่เข้าใจวิธีการดำเนินการ โดยเฉพาะครูสูงวัยที่รักศิษย์เมตตาศิษย์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ศิษย์เชื่อ เพราะเด็กสมัยใหม่เชื่อผู้ใหญ่ยากกว่าสมัยก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท