เพลงอีแซว สื่อสาร ตอนที่ 1 งานฌาปนกิจ


เพลงพื้นบ้านได้ไปสื่อสารเนื้อหาสาระของผู้ที่ล่วงลับไปยังท่านที่มาร่วมงานในรูปแบบของการแสดงเพลงอีแซว

เพลงอีแซว สื่อสาร

ตอนที่ 1 งานฌาปนกิจ

ที่วัดช่องนนทรี 

เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

 

            เพลงอีแซว เป็นศิลปะพื้นบ้านแขนงหนึ่งที่นิยมเล่นกันในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะที่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดนครปฐม และในจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี  บางท่านคิดว่า เพลงอีแซวเป็นเพลงเล่นสนุกและใช้คำร้องสองแง่สองง่าม หยาบคายไม่เหมาะสมที่จะแสดงในงานมงคล งานที่เป็นทางการ ความจริงไม่ใช่อย่างที่คิด
           ยังมีความเข้าใจผิดในศิลปะการแสดงเพลงอีแซวอีกหลายประเด็น และในบางประเด็นก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เสียแล้วเพราะได้เข้าไปฝังลึกอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับความรู้ไปแบบผิด ๆ จนติดตาและอยู่ในความทรงจำอย่างแน่นหนา ผมขอยกเอาบางประเด็นมากล่าวพอเป็นสังเขป ครับ ในความเข้าใจผิดจนถึงนำเอาไปปฏิบัติไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่านี้ ได้แก่
          1.  ความเข้าใจที่ว่าเพลงอีแซวเป็นเพลงรำ ความจริงไม่ใช่ ในสมัยก่อนนักแสดง ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเขาไม่ได้โชว์การร่ายรำ เป็นแต่เพียงวาดลวดลายบ้าง ยกมือยกแขนเคลื่อนที่ไหวตัวไปตามบทเพลง (เรียกว่า ตีบท) หรือจะรำบ้างก็เมื่อตอนฝ่ายชายป้อเข้าหาฝ่ายหญิงก็รำเล่นด้วยแล้วก็วางมือไป ส่วนนักแสดงที่รำสวยก็มีการรำบ้างแต่มิใช่รำตลอดเวลาที่ร้องอย่างที่เห็นในวันนี้ คนร้องนำด้านหน้าร้องด้วยรำด้วย ผู้แสดงประกอบแถวหลังรำกันตลอดเวลา
          2.  ความเข้าใจที่ว่า เพลงอีแซวมีเสน่ห์ที่สำเนียงเสียงเหน่อ แบบคนสุพรรณฯ เพลงอีแซวมีเสน่ห์ที่ใช้คำง่าย ๆ แต่คิดได้หลายอย่าง (สองแง่สองง่าม) เน้นที่ความสนุกสนานบันเทิงเป็นหลัก ความคิดและความเข้าใจนี้ก็ไม่ตรงเสียทีเดียว แต่ก็ยังดีที่ไม่ผิดเพี้ยนไปมาก เพราะในความเป็นจริงแล้วเสน่ห์ของเพลงพื้นบ้านทุกชนิด คนรุ่นครูเพลงเก่า ๆ ท่านเขียนบทร้องเอาไว้ไพเราะ น่าฟังมาก และที่สำคัญที่สุดคือท่านได้ฝากแง่คิด คติสอนใจเอาไว้ในบทร้องบางช่วงบางตอนหรือในตอนสุดท้ายของบทร้องทุกบท เมื่อได้รับฟังรับชมผ่านความสนุกสนานมาถึงคำสอนที่ฝากเอาไว้ให้ได้อย่างกลมกลืน มีประโยชน์ต่อสังคม
           3.  ความเข้าใจที่ว่า เพลงอีแซวจะต้องใช้เครื่องดนตรีตะโพนเป็นหลักเท่านั้น บางท่านถึงกับบังคับว่า จะต้องใช้ตะโพนไทยเท่านั้น (ความจริงบางคณะท่านใช้ตะโพนมอญก็มี) และการตีจังหวะจะต้องตีน่าทับลาวเท่านั้น (ความจริงคนรุ่นเก่า ๆ เขาบอกว่าตะโพนตีจังหวะสนุก ๆ ตีจังหวะหนึ่งสอง) คนเก่า ๆ เขานับเป็นตัวเลข หนึ่งสองหนึ่งสอง (ไม่มีโน้ตกำกับ) ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้กับเพลงอีแซวเพิ่งจะมีการนำเอาตะโพนมาใช้เมื่อปี พ.ศ.2524 นี่เอง เท่าที่ผมได้ชมการแสดงและคลุกคลีอยู่กับวงเพลงอีแซวมาตั้งแต่ปี 2513 ผมพบว่าเครื่องดนตรีที่ใช้ในการให้จังหวะ มี ฉิ่ง กรับ (ของเก่า) ต่อมามีการนำเอาตะโพนมาใช้ กลองทอม  กลองแขก  โทน  รำมะนา  กลองชุด  กลองไฟฟ้า บล็อกจังหวะ ฯลฯ คนเก่า ๆ เขาไม่ได้ตีกรอบเอาไว้เลย เพราะเพลงพื้นบ้านเป็นเพลงเปิด (เปิดโอกาสให้ใครมีอะไรก็นำเอามาร่วมแสดงได้)
             เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2554 ผมได้รับการติต่อจากบุคคลผู้หนึ่งใช้นามว่า คุณแมว ในการสนทนากันทางโทรศัพท์ คุณแมวมีความต้องการที่จะให้ผมนำวงเพลงอีแซวไปแสดงในงานฌาปนกิจศพ คุณพ่อของท่าน ตั้งศพเอาไว้ที่วัดช่องนนทรี ถนนพระราม 3 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ที่สำคัญคุณแมวถามผมว่า “เพลงวงของอาจารย์นักแสดงมีความสามารถด้นกลอนสดได้ทุกคนไหม ผมจะให้นำเสนอเนื้อหาประวัติของผู้วายชน (คุณพ่อ) โดยเฉพาะ” ผมตอบคุณแมวไปว่า “เด็ก ๆ มีความสามารถร้องกลอนสด ๆ ได้เกือบทุกคน” เป็นอันว่า คุณแมวตกลงให้ผมนำชาวคณะไปแสดงที่วัดช่องนนทรี ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 เวลา ประมาณ 14.00 น.หรืออาจจะ 15.00 น. เริ่มทำการแสดง โดยใช้เวลาในการแสดง 1.30 ชั่วโมง
             เช้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ผมนัดหมายเด็ก ๆ เอาไว้ในเวลา 09.30 น.ออกเดินทางจากโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ (เมื่อคืนวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 มีงานแสดงเลิกดึกพอสมควร กลัวว่าเด็ก ๆ จะนอนหลับเพลินไม่ตื่น มาไม่ทันเวลา) แต่พวกเขาก็รักษาเวลากันได้ดี คณะของเราเดินทางไปวัดช่องนนทรีโดยรถรับจ้าง ไปถึงวัดช่องนนทรี เวลา 12.15 น. คุณแมวซึ่งเป็นเจ้าภาพมาให้การต้อนรับและจัดโต๊ะอาหารเอาไว้รับรองนักแสดงทั้ง 14 คน เป็นอย่างดี ที่วัดวันนี้มีการตั้งศพเพียง 1 ศาลา (มี 3 ศาลา) ที่ด้านในมีวงดนตรีไทยบรรเลงด้วยความไพเราะน่าฟังมาก
             
             
              
             คุณแมวบอกกับผมว่า “อาจารย์พักผ่อนสักครู่ค่อยเตรียมตัว เพราะว่า การแสดงจะเริ่มหลังจากที่พระท่านเทศนาเสร็จแล้ว ยังมีเวลาเตรียมตัว กะว่าราว ๆ บ่าย 3 โมง (15.00 น.) เริ่มแสดง คุณแมวให้เวลาแสดงมา 1.15 - 1.30 ชั่วโมง” เพราะว่าต่อจากนั้นจะเป็นการทอดผ้า และพิธีประชุมเพลิงในเวลา 17.00 น.
             เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้คนที่เป็นที่รักเคารพของทางเจ้าภาพเริ่มทยอยมาถึงวัดช่องนนทรีกันเรื่อย ๆ จนที่จอดรถลานด้านหน้าศาลตั้งศพเต็ม เก้าอี้ที่นั่งที่จัดเตรียมเอาไว้มีแขกท่านผู้มีเกียรติเข้ามานั่งจนเต็ม ผมเห็นเจ้าภาพยกมือไหว้ทักทายแขกที่มาในงานอย่างทั่วถึง ความอบอุ่นมีมาก ทั้งญาติพี่น้องเพื่อน ๆ และที่ประทับใจมากคือ ลูกศิษย์ลูกหาของคุณพ่อหอม จันทร์ผา มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก
             เวลา 15.00 น. เพลงอีแซวเริ่มแสดงที่หน้าเครื่องตั้งศพ คุณพ่อหอม จันทน์ผา ด้วยบทร้องและการแสดงที่รัดกุมสอดคล้องกับงานฌาปนกิจศพ โดยเริ่มจาก
             -  ท็อป – ธีระพงษ์ พูลเกิด ร้องเชิญเทวา ด้วยทำนองเสภา ลาวเสี่ยงเทียน
             -  บทร้องบูชาครู ระลึกถึงครู อาจารย์ที่สอนเพลงอีแซวตั้งแต่รุ่นเก่าถึงปัจจุบัน
             -  บทร้องประกอบการแสดง เรื่องวันเดือนปี ตั้งแต่เกิดจนดับ
             -  บทร้องประกอบการแสดง เรื่องสังขารา ความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต
             -  ด้นกลอนสด โดย นายชำเลือง มณีวงษ์ เรื่องตามที่เจ้าภาพบันทึกมาให้
             -  นักแสดงในทีมงานเกือบทั้งวงด้นสด อาลัยคุณปู่หอม จันทน์ผา ผู้จากไป
             -  ท็อป และครูชำเลือง มณีวงษ์ร้องลา ขอบคุณเจ้าภาพ แขกที่มาในงานทุกท่าน
               
               
               
               
               
             การาแสดงจบลง เมื่อเวลาประมาณ 15.15 น. ตามที่ท่านเจ้าภาพให้เวลาไว้ งานนี้ผมต้องขอขอบคุณท่านเจ้าภาพทั้ง 3 ครอบครัวซึ่งเป็นบุตรของคุณพ่อหอม จันทน์ผา ที่ได้ร่วมกันจัดงานอุทิศส่วนกุศลไปให้บิดา ผู้ล่วงลับอย่างสมเกียรติ ท่านเจ้าภาพ ประกอบด้วย
            1. นางศิริวรรณ  โตประสิทธิ์  ทำงานธุรกิจส่วนตัว
            2. นายธีรศักดิ์   จันทน์ผา (แมว) ทำกิจการค้าขาย
            3. นายศักดิ์รินทร์  จันทน์ผา  ทำงานบริษัท  (บวชอุทิศส่วนกุศลให้บิดา)
            คุณพ่อหอม จันทน์ผา เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2469 ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2554 รวมอายุได้ 85 ปี การที่พ่อหอมเป็นคนใจดี มีน้ำใจ ให้การช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนเข้ามาพึ่งพา โดยไม่คิดราคาค่าจ้าง บุญกุศลที่ผู้ล่วงลับได้สร้างเอาไว้ ยังคงปรากฏให้เห็นที่ลูกศิษย์และญาติพี่น้องที่มาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก ชีวิตของคนเรา เมื่อถึงวันหมดลมหายใจ ไม่มีอะไรที่จะเหลือติดตัวไป มีเพียงความดีที่ได้สร้างเอาไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลังได้กล่าวถึงกันต่อไปอีกตราบนานเท่านาน
            ผมต้องขอขอบคุณ คุณแมว (นายธีรศักดิ์  จันทน์ผา) เป็นกรณีพิเศษ ที่ให้ความเมตตาและให้โอกาสเพลงพื้นบ้านได้ไปสื่อสารเนื้อหาสาระของผู้ที่ล่วงลับไปยังท่านที่มาร่วมงานในรูปแบบของการแสดงเพลงพื้นบ้าน – เพลงอีแซว เอาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
 
หมายเลขบันทึก: 440551เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท