สสค เส้นทางและโอกาสของการพัฒนานวัตกรรมด้านการเรียนรู้ของเด็ก


ข้อความจริงที่ ๑ ความน่าสนใจของ สสค. ในฐานะการสร้างเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ ข้อความจริงที่ ๒ การสร้างความรู้ในการพัฒนาโครงการให้กับครูเพื่อเสนอโครงการที่มีประสิทธิภาพ ข้อความจริงที่ ๓ เราต้องเตรียมการ เตรียมความรู้ให้กับครูก่อนเสนอโครงการ และ เตรียมสร้างประชาคมครูหลังเสร็จสิ้นโครงการ

เมื่อวันศุกร์ และเสาร์ที่ ๒๑ ถึง ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปนั่งอ่านโครงการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ ระดับประถมศึกษา ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนกว่า ๗๐ ท่าน ที่บ้านผู้หว่าน จังหวัดนครปฐม ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. หลังจากการอ่านข้อเสนอโครงการที่โรงเรียนระดับประถมศึกษาได้เสนอเข้ามาใน ๓ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) การสร้างเสริมสมรรถนะการอ่าน (๒) การสนุกกับการเรียนรู้ และ (๓) คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของเด็ก เยาวชน ทำให้เห็นถึงข้อความจริงสำคัญ เรื่อง

ข้อความจริงที่ ๑   ความน่าสนใจของ สสค. ในฐานะการสร้างเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ ความน่าสนใจของ สสค. ก็คือ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ นั่นหมายความว่า สสค.เป็นโครงสร้างที่จะเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนา “กระบวนการ” หรือ “เครื่องมือ” ในการส่งเสริมคุณภาพของเด็กนักเรียนให้กับครู เท่ากับว่า ครูสามารถที่จะคิดริเริ่ม ทดลอง กระบวนการในการสร้างสรรค์กิจกรรม หรือ เครื่องมือ เพื่อทำให้เด็กนักเรียนของตนมีศักยภาพในด้านการเรียนรู้มากขึ้น แบบที่ไม่ต่องยึดติดในแบบพิธีเดิมที่เคยเป็นมา

ยิ่งเมือกลับไปพิจารณาแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ หรือ 21st Century Learning ซึ่งมีการกำหนดกรอบแนวคิดใน ด้านผลลัพธ์ที่ควรจะเป็นโดยมุ่งเน้นที่เด็กนักเรียนมีทักษะความรู้ในด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะในการแก้ไขปัญหา ทักษะในการสื่อสาร รวมทั้ง ทักษะในด้านการบูรณาการ และ มีการกล่าวถึงบทบาทของครูในฐานะผู้สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะมากกว่าการเป็นผู้สอน ทำให้ยิ่งต้องมองหา “เครื่องมือ” และ “ต้นแบบ” ในการทำงานที่จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายปลายทาง

ประกอบกับ การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยี ทำให้ครูมีโอกาสในการพัฒนาเครื่องมือในการทำงานได้มากขึ้น แต่ ขึ้นอยู่กับว่า จะมีตัวช่วยให้ครูสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด

เท่ากับว่า สมการในการพัฒนาศักยภาพเด็กนักเรียนให้สามารถคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา สามารถสื่อสาร และ บูรณาการความรู้ได้ ในเวลานี้จำเป็นที่จะต้อง เปิดโอกาสให้ครูได้พัฒนา สร้างสรรค์กิจกรรมเชิงรุก ที่ไม่ยึดติดภายในกอบเดิม ซึ่งคงต้องอาศัยพลังความรู้ และ พลังทางชุมชน เข้ามาสนับสนุนการทำงาน ประกอบกับ การสร้างแรงจูงใจให้กับครู ซึ่งคงต้องอาศัยพลังทางนโยบายในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ข้อความจริงที่ ๒    การสร้างความรู้ในการพัฒนาโครงการให้กับครูเพื่อเสนอโครงการที่มีประสิทธิภาพ

หลังจากได้อ่านพิจารณาข้อเสนอโครงการจากครูที่เสนอเข้ามาเพื่อขอรับทุนในการดำเนินการ กว่า ๒๔ โครงการที่รับผิดชอบในการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งจะต้องมีการแบ่งระดับของความน่าสนใจของโครงการเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับดี (น่าจะหมายถึง ผ่าน) ระดับปานกลาง (น่าจะหมายถึง ผ่านแบบมีเงื่อนไขต้องไปปรับปรุง) และ ระดับพอใช้ (น่าจะหมายถึง ไม่ผ่านการประเมิน) ทำให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่น่าจะเป็นเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ดังนี้

๒.๑       ในแง่ของเป้าหมายของการทำงานของโครงการ พบว่า หลายโครงการจัดทำข้อเสนอโครงการตามแบบพิธี แต่ขาดจิตวิญญาณของการทำงาน หมายถึง อ่านแล้วนึกไม่ออก และ มองไม่เห็นประกายของครูที่มีแรงบันดาลใจในการที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อทำให้เด็กนักเรียนของตนได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการเรียนรู้ ข้อเสนอโครงการในส่วนของหลักการและเหตุผลส่วนใหญ่จึงเน้นการนำเสนอข้อมูลในภาพรวมของประเทศ แต่ไม่ค่อยให้นำหนักของสถานการณ์ของโรงเรียนของตนเอง

๒.๒       ในแง่ของกิจกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ เข้าใจว่าคุณครูน่าจะพอมีข้อมูลสถานการณ์อันเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับหนึ่ง ดังนั้น ข้อเสนอโครงการน่าจะต้องนำเสนอถึง ตัวอย่างกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อกิจกรรมในการทำงานของโครงการ และ ตัวอย่างกิจกรรมนี้เอง จะเป็นแนวทางในการสร้างเครื่องมือ รวมไปถึง การสร้างการต่อยอดเครื่องมือในการทำงาน อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม

๒.๓       ในแง่ของการออกแบบเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่ายครู น่าจะต้องทำให้คุณครูในโรงเรียนเดียวกันสามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อทำให้เกิด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลจากการทำงาน และ การถอดประสบการณ์ในการทำงาน ของครูในกลุ่มสาระเดียวกัน และ ต่างสาระกัน

๒.๔       ในส่วนของการติดตามประเมินผล ควรจะต้องให้ครูมีการประเมินผลเป็นระยะ และ ต้องมีการประเมินผลรายกิจกรรม ว่าแต่ละกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้อย่างไร ดีขึ้นหรือไม่

ข้อความจริงที่ ๓    เราต้องเตรียมการ เตรียมความรู้ให้กับครูก่อนเสนอโครงการ และ เตรียมสร้างประชาคมครูหลังเสร็จสิ้นโครงการ

ความน่าสนใจของการทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการของ สสค. และ การทำงานของ สสค. นั้น ในการประชุมนัดแรกของผู้ทรงคุณวุฒิได้มีการพูดถึงการให้คณะกรรมการกลั่นกรองลงไปติดตามการดำเนินโครงการเพื่อ “สร้างการเรียนรู้ไปพร้อม”กับครู รวมถึง การสร้างประชาคมเครือข่ายนักปฏิบัติ ผ่านการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประจำปี ซึ่งน่าจะต้องมี

๓.๑       การทำงานเพื่อทำให้ครูที่เสนอโครงการแล้วไม่ผ่านในรอบแรก หรือ ผ่านแบบมีเงือนไข ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่สร้างสรรค์และสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนได้อย่างแท้จริง

๓.๒       การจัดกิจกรรมหรือพื้นที่เพื่อนำเสนอผลงานของการทำงานที่เกิดขึ้น รวมทั้ง การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องมือ ความรู้ เทคโนโลยีในการทำงาน และ เครือข่าย ที่สำคัญ คือ การถอดประสบการณ์ในการเรียนรู้ของเหล่าเครือข่ายครู

๓.๓       การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาโครงการให้กับครูที่จะเสนอโครงการเข้ามาใหม่เพื่อให้ข้อเสนอโครงการมีความเป็นไปได้ในการตอบสนองต่อการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน พูดง่ายๆก็คือ พัฒนาศักยภาพของการทำข้อเสนอให้กับครู เพื่อทำให้ข้อเสนอโครงการสามารถผ่านแบบมีเงื่อนไข หรือ ผ่านโดยไม่มีเงื่อนไขในปริมาณมากในรอบแรกๆ

หมายเลขบันทึก: 440519เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท