การปฏิวัติการศึกษา : ถึงเวลาหรือเลยเวลา


นักการศึกษาต่างประเทศกล่าวว่าเมืองไทยต้องปฏิวัติการศึกษา เพราะปฏิรูปการศึกษาไม่พอ นักการศึกษาไทยถูกตั้งคำถามหรือรู้คำตอบอยู่แล้วว่า ถึงเวลาปฏิวัติหรือเลยเวลาปฏิวัติมาแล้ว

นักการศึกษาต่างประเทศกล่าวว่าเมืองไทยต้องปฏิวัติการศึกษา เพราะปฏิรูปการศึกษาไม่พอ  นักการศึกษาไทยถูกตั้งคำถามหรือรู้คำตอบอยู่แล้วว่า ถึงเวลาปฏิวัติหรือเลยเวลาปฏิวัติมาแล้ว  เพราะปัญหาการศึกษาของประเทศไทยสะสมมาหลายสิบปีจนฝังรากลึก  ชนิดต้องถอนรากถอนโคนในบางอย่าง แต่ใครจะสนใจเพราะแม้แต่บอกว่ากำลังปฏิรูปรอบสอง คนฟังยังเฉย ๆ

.........................................................................................................

เมืองไทยถึงเวลา “ปฏิวัติ”การศึกษา

เดลินิวส์  วันพุธ ที่ 18 พฤษภาคม 2554 เวลา 16:56 น

วันนี้ (18 พ.ค.) ที่ห้องประชุม 101 อาคารประชุมสุข อาชวอำรุง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.เจอรัลด์ ดับเบิลยู ฟราย จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา บรรยายพิเศษเรื่อง ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปการศึกษา โดยมีผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาไทย ตลอดจนอาจารย์ นิสิตคณะครุศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเข้ารับฟัง ตอนหนึ่งว่า จากที่ตนได้ติดตามนโยบายการศึกษาของประเทศไทยทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบันจะเห็นว่า มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนนับได้ว่าขณะนี้นโยบายการศึกษาของไทยก้าวหน้ามาก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการศึกษาตลอดชีวิต นโยบายเรียนฟรี 15 ปี นโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษา ฯลฯ แต่นโยบายดังกล่าวยังอยู่ในอุดมคติ คือไม่เป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย

  ส่วนตัวขอใช้คำว่าต้องปฏิวัติการศึกษาไทย มากกว่าที่จะแนะนำให้ปฏิรูป เพราะปัญหาของระบบการศึกษาไทยมีหลายส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเด็กไทย การกระจายอำนาจการศึกษา ไม่จำกัดโรงเรียนดีหรือเด็กเก่งให้อยู่แค่ในเมืองหลวง การมุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ให้มากกว่าการพัฒนาทางวัตถุ เช่น ความสวยงามของสถานศึกษา หรือการพัฒนาความหรูหราของห้องสมุดโดยไม่คำนึงถึงปริมาณหนังสือที่มีคุณค่าในห้องสมุด เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการคือการพัฒนาครู ด้วย 2 วิธีการควบคู่กัน คือ การทำอย่างไรให้คนเก่งมาเป็นครู และทำอย่างไรให้ครูที่มีอยู่แล้วมีความสามารถมากขึ้น”

“นโยบายครูพันธุ์ใหม่ของรัฐบาล นับว่าเป็นความคิดที่ดีมาก เพราะถ้าทำได้จริงจะเป็นการดึงดูดให้ได้คนเก่งมาเป็นครู ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือการทำอย่างไรให้ได้ครูที่สามารถสอนเด็กให้มีคุณภาพ ให้รู้จักคิด วิเคราะห์เป็น ไม่ใช่สอนให้เด็กท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองเหมือนที่ผ่านๆ มา นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกมากเกี่ยวกับครูในระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครูในชนบท ตลอดจนปัญหาการคอร์รัปชั่นในระดับสถาบันอุดมศึกษา เช่น กรณีการซื้อขายวุฒิการศึกษา ป.บัณฑิต ที่เป็นข่าวโด่งดัง” ศ.ดร.เจอรัลด์ กล่าว
 
ศ.ดร.เจอรัลด์ ยังกล่าวว่า จากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่ารัฐบาลไทยให้งบประมาณด้านการศึกษาเป็นจำนวนมากเป็นลำดับที่ 2 ใน 44 ประเทศ แต่เมื่อไปดูผลลัพธ์ที่ได้กลับเป็นในทางตรงกันข้าม คือคุณภาพของสถาบันการศึกษาไทยไม่สามารถทัดเทียมกับประเทศอื่น ที่ไม่ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมากได้ เช่น อินเดีย เวียดนาม และเกาหลี เป็นต้น ทั้งนี้ระบบการเมืองที่มีผลให้เปลี่ยนรมว.ศึกษาธิการและส่งผลต่อการปรับนโยบายบ่อยครั้งเป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน สำหรับระบบสารสนเทศในไทยก็จัดว่ามีความพร้อม แต่บุคลากรการศึกษากลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความพร้อมได้อย่างเต็มที่ เช่น จำนวนครูกว่าครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้สารสนเทศในการสอน ขณะที่เด็กไทยส่วนใหญ่ก็ใช้สารสนเทศต่างๆ เพื่อความบันเทิงเท่านั้น.

หมายเลขบันทึก: 439717เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท