เรียน .. เปลี่ยนโลก


เราจะวิ่งตามโลกให้เหนื่อยไปทำไม ในเมื่อชีวิตสามารถเลือกที่จะ .. หมุนตามโลกได้

 

เมื่อกระบวนทัศน์เปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน

Paradigm Shift : Thomas Kuhn
(The Structure of Scientific Revolutions, 1962)

 

 

     บุคคลคุ้นเคยหลายท่านมักหล่นความสงสัยออกมาเป็นคำถามปฏิพากย์ให้ผู้เขียนช่วยไขข้อข้องใจว่าอะไรที่ดลใจให้คนในวัยเฉียดเข้าไปใกล้หลักสี่ ที่ไม่มีตรงไหนใกล้เคียงกับคำว่าเฟรชชี่ อีกแล้ว  เกิดนึกอยากที่กลับไปนั่งเรียนในห้องเรียนอีกครั้ง และยังจะเรียนไปเพื่ออะไร

 

     .. เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ ..

 

     ผู้เขียนคงเลือกคำตอบที่ฟังดูดีประมาณนั้น  หากสาระสำคัญของความต้องการเข้ารับการศึกษาในครั้งนี้     เป็นเพียงวิชาความรู้ในแขนงที่ตนเองยังไม่ประสา สำหรับนำมาประดับใส่รอยหยักในสมอง ดีกว่าปล่อยให้มันรกร้างว่างเปล่า หรือสุมไว้ด้วย Junk Mail ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ให้บังเอิญเหลือเกินว่าปรารถนานั้นหาใช่เพราะสาระสำคัญดังที่ว่าไม่     ด้วยเหตุนี้คำตอบของผู้เขียนที่บอกเล่ากล่าวออกไป     จึงทำให้มิตรสนิทหลายคนอดไม่ได้ที่จะขบขันกับความอัศจรรย์ใจในอุดมคติที่พวกเขาคิดว่ามันช่างสุดโต่ง    จนคาดไม่ถึงว่าผู้เขียนจะกล้าหยิบยกขึ้นมาเป็นคำตอบ …


 
     ผมจะเรียนเพื่อเปลี่ยนโลก .. !!!

 

 

     จาก ‘โลกใบเดิม’ ที่มองเห็น สัมผัส  และใช้ชีวิตร่วมกันมาเกือบ  40 ปี โลกที่ความรู้ทั้งหลายจากตำรับตำราที่เพียรท่องเพียรอ่านมาตั้งแต่เล็กจนโต  ถูกแยกออกจากชีวิตจนแทบจะไม่มีบทบาทอะไร    ในวิถีทางดำรงชีพของตนเองในปัจจุบันเลย ปรับเปลี่ยนให้เป็น ‘โลกใบใหม่’ ที่กระบวนทัศน์จากการเรียนรู้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันจริงๆ   บนดุลยภาพของชีวิตและความรู้ในมิติที่เป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่  ‘เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง’ ของ ‘สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน’

 

 

     การศึกษาที่ ‘เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง’ รูปแบบการจัดการศึกษาชนิด ‘ทวนกระแส’ แต่ไม่  ‘ทวนโลก’  ที่ผสานความสมดุลทางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ชีวิต  ผู้สอน  และผู้เรียน’    เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมทางความรู้  ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถใช้ชีวิต ‘หมุนตามโลก’ ไปอย่างมั่นคง ด้วยทุนทางปัญญา ทุนทางสังคม และทุนทรัพยากรที่แต่ละคนมีอยู่ ไม่ว่าสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงดีร้ายประการใด

 

     ซึ่งต่างกับระบบการศึกษาที่  ‘ใช้ความรู้เป็นตัวตั้ง’ ที่ผู้เรียนต้องท่องจำเนื้อหาจากตำราเพื่อสอบวัดค่าความรู้ที่ตนเรียน กลายเป็นความรู้ที่ผลิตซ้ำในยุคอุตสาหกรรมความรู้  (Knowledge Industry)    ที่มีผลิตผลเข้าสู่ตลาดเป็น ‘จักรกลทางวิชาการ’    ที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคมได้อย่างคล่องปาก หากแต่ในวันที่เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของชนิดที่    ‘ไล่ตามโลก’ไม่ทัน ความรู้เหล่านั้นกลับนำมาใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย

 

 

การศึกษาที่ดีที่สุด คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน

มิให้ถูกครอบงำด้วยระบบการศึกษา     ที่ สร้างขึ้นมาเพื่อ

 ... ยัดเยียดให้แก่พวกเขา ...

 
Feyerabend, Against Method, 1975

 

     นานเท่าไหร่แล้ว ที่ค่านิยม สังคม และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ร่วมกันสถาปนาระบบจารีตความรู้ (Knowledge Tradition) กระแสหลัก   ที่แยก ‘ความรู้’ ออกจาก  ‘ชีวิต’ แยก  ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น’  ออกจาก  ‘การศึกษา’ ด้วยวาทกรรมที่ปรุงแต่งจนมีสีสันบาดตาคอยชี้นำให้ผู้คนคล้อยตามว่า    ‘มาตรฐานการศึกษา’ เช่นว่านั้นคือคำตอบของการเรียนรู้สำหรับชีวิตที่ดี ชีวิตที่ก้าวทันโลก ซึ่งทุกคนจำต้องเดินตาม

 

     สำหรับผู้เขียนซึ่งผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว    ทั้งในยุค ‘ฟองสบู่แตก’ และ ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่เพื่อนร่วมชะตากรรมหลายๆ คนรำพันให้ได้ยินในวันที่สิ้นหนทางที่จะนำความรู้ซึ่งอุตสาหะร่ำเรียนมา  ใช้เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนอีกต่อไปว่า …

 

     ไม่รู้จะเรียนมาเพื่ออะไร .. ???

 

     โดยส่วนตัวจึงต้องขอพัก  ที่จะผูกชีวิตไว้กับจารีตความรู้กระแสหลักทั้งหลายเหล่านั้น เพราะเข้าใจในชีวิตตนเองถึงวิถีที่ควรจะเป็นแล้วว่า ..

 

เราจะวิ่งตามโลกให้เหนื่อยไปทำไม

ในเมื่อชีวิตสามารถเลือกที่จะ .. หมุนตามโลกได้

 

 

บทความโดย

 

พรายพิลาศ

 

จันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖

พ.ศ. ๒๕๕๔

 

 

หมายเหตุ : สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน กำลังเปิดรับนักศึกษาในภาคเรียนที่ 1/2554 ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน และสาขาวิชาการจัการการเกษตรยั่งยืน (เฉพาะดับปริญญาตรี)จำหน่ายใบสมัครและรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2554

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.life.ac.th

 

 

หมายเลขบันทึก: 439535เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท