ทบทวนความคิดกับชีวิตนักศึกษาปีแรก


เริ่มรู้ว่าความคิดความเห็นและแรงบันดาลใจของตัวเองอยู่ตรงไหนในโลกที่คุย กันด้วยวิชาการอย่างเข้มข้น เป็นการเชื่อมโยงกับ “โลก” และเชื่อมโยงกับ “วิชาการ” โดยมี “ตัวเอง” เป็นฐานที่สำคัญจริง ๆ

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

 

วันนี้เป็นวันอาทิตย์แรกที่ฉันเดินทางไปวัดด้วยความโล่งใจว่าได้ผ่านความยากลำบากของการเป็นน้องใหม่สำหรับชีวิตมหาวิทยาลัยปีแรกไปแล้ว พูดว่าเป็น “น้องใหม่” คงดูแปลกสำหรับอายุ แต่คงไม่แปลกสำหรับคนที่นี่ที่มาเริ่มเรียนรู้กันใหม่อย่างหลากหลายมาก บางคนเข้ามาเรียนตอนอายุมาก (เหมือนฉัน?) ด้วยมีโจทย์สำคัญบางอย่างอยากค้นหา อย่างน้อยก็หาว่า ชีวิตนี้จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับโลกได้มากขึ้นบ้าง อีกอย่างฉันมาที่นี่ด้วยความเป็นคนไม่รู้ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาวิชาการ ปีแรกก็เลยเป็นเหมือนการเรียนรู้เพื่อจะปรับตัว คิดแล้วก็รู้สึกนับถือคนที่ใช้เวลาเรียน Master เพียงปีเดียวที่นี่ หรือพี่ ๆ น้อง ๆ หลาย ๆ คนที่ใช้เวลาแค่ 3 ปีแต่สามารถจบ Ph.D. เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษได้เป็นเล่ม ๆ หนึ่งปีสำหรับฉันดูมันน้อยแสนน้อย ตอนนี้เพิ่งเริ่มเข้าใจ เพิ่งเริ่มอ่านได้ ฟังเป็น แสดงจุดยืนและความเห็นของตัวเองได้บ้าง แบบที่เรียกว่ากระโดดเข้าร่วมวงสนทนา (Enter to the conversation.) ในโลกวิชาการกับเขาได้ เริ่มรู้ว่าความคิดความเห็นและแรงบันดาลใจของตัวเองอยู่ตรงไหนในโลกที่คุยกันด้วยวิชาการอย่างเข้มข้น เป็นการเชื่อมโยงกับ “โลก” และเชื่อมโยงกับ “วิชาการ” โดยมี “ตัวเอง” เป็นฐานที่สำคัญจริง ๆ

 

ที่ว่าเชื่อมกับ “โลก” ไม่ใช่เพราะชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา แต่เป็นเพราะความใส่ใจในการสร้างชุมชนทางวิชาการที่กว้างขวางและหลากหลายมากกว่า ได้เห็นว่านักคิดที่อยู่แนวหน้าของชุมชนโลกวิชาการนั้นเขาทำอะไร สิ่งที่เห็นคือ ความจริงจัง (Serious) ที่อาจารย์ที่ปรึกษาของฉัน (Prof. Arthur Kleinman) บอกว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญของ “นักวิชาการ” (ที่จริงฉันอยากใช้คำว่า “ปัญญาชน” แทน อย่างความหมายที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน เคยสอนว่า ปัญญาชนเป็นคนมีความรู้ที่เอาความรู้ไปลงมือทำประโยชน์ให้สังคม มากกว่าเป็นนักวิชาการที่ว่ายวนอยู่ในอ่างของความรู้...ถ้าใช้คำบ่น (jargon) แบบวิชาการ อาจเรียกว่า ไม่ได้เป็น Docile body แต่เป็น Agency ด้วย) ด้วยความจริงจังนี้ สิ่งที่แต่ละคนสนใจในกันและกัน ไม่ใช่ว่าอ่านมากมากแค่ไหน เดินทางมามากแค่ไหน มีตำแหน่งอะไร แต่สนใจว่า “คุณกำลังถามอะไร” มากกว่า คนที่นี้สนใจว่าคนอื่นกำลังค้นหาคำตอบในเรื่องอะไร และพร้อมจะมา “ร่วมคิดร่วมสนทนา” ไปด้วยกัน การเชื่อมโยงกับ “โลก” คือการเชื่อมเพื่อค้นหาว่า สำหรับคำถามที่กำลังสนใจอยู่นั้น คนในโลกนี้ที่ “จริงจัง” กับคำถามแบบนี้เขาถามเขาคิดเขาตอบกันอย่างไร แล้วร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนกันด้วยการ ฟังอ่านพูดเขียน จนได้ “คำตอบใหม่” หรือ “คำถามใหม่” ที่ไม่เคยมีใครในโลกคิดมาก่อน ซึ่งสุดท้ายก็สามารถนำเอาไปใช้ สร้างวิธีการปฏิบัติแบบใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ (ถึงตรงนี้ฉันก็ยิ่งคิดถึงคำสอนหลักของสมเด็จพระราชบิดาเจ้าฟ้ามหิดลที่ว่า ความสำเร็จที่แท้ไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้ทางวิชาการ แต่อยู่ที่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติต่างหาก) การเชื่อมโยงกับ “โลก” จึงเป็นการเชื่อมโยงกับคนทั่วโลกที่จริงจังกับการคิดหาความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ “ทุ่มเทเวลาและชีวิต” เพื่อค้นหา โดยหวังว่าความรู้ความเข้าใจนั้นจะเป็นประโยชน์กับโลกได้จริง ๆ

 

ความรู้ความเข้าใจนี้คือ “วิชาการ” ที่ฉันได้มาค้นพบว่า นักวิชาการตายได้ แต่ “วิชาการ” ดูเหมือนจะยังมีชีวิตของมันอยู่เสมอ ความคิดที่มีประโยชน์อาจซ่อนอยู่ในหน้าหนึ่งของหนังสือนับล้านเล่มที่เก็บรวบรวมเอาไว้ในห้องสมุดมากมายที่นี่หรือที่อื่น ๆ ในโลก ที่สักวันหนึ่งรอใครสักคนไปจับมาปัดฝุ่น ฉันได้เห็นว่า “ความก้าวหน้าทางวิชาการ” ไม่ได้หมายถึงการคิดพูดเขียน “สิ่งใหม่” ที่ไม่เคยมีใครพูดถึงมาก่อน เพราะดูเหมือนกับว่า ทุกซอกมุมของโลกจะถูกสำรวจตรวจค้นมาแล้ว คำถามใด ๆ ที่เกิดขึ้น มักมีคำตอบแบบใดแบบหนึ่งอยู่แล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าได้ จะต้องเกิดจากการหมุนวนซ้ำ ๆ ของการ ฟังคิดถามเขียน อย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำอีก ในคำถามเดิม ๆ อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันบอกว่า สิ่งที่ท่านทำมาตลอดชีวิตคือการตั้งคำถาม ค้นคว้าแล้วเขียน แล้วอ่านและเขียนซ้ำๆ (Write and re-write) จนไม่สามารถจะเขียนได้ดีไปกว่านั้นได้อีกแล้ว (น่าจะตรงกับหลัก โยนิโสมนสิการ ทางพุทธศาสนา) ความก้าวหน้าทางวิชาการคือการ “ทำซ้ำๆ” นี่เอง คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เห็นของคนที่จริงจัง ที่นี่คือการ “วิพากษ์” (critique ที่ไม่ใช่ criticize) เป็นการสนทนากันแบบถอดมานะอัตตา แต่เอาตัวความรู้ล้วน ๆ มาคุยกันให้ “แตกฉาน” คุยกันจนหมดภูมิของแต่ละคน (อันนี้เป็นภาพแบบอุดมคติที่เห็นอาจารย์ผู้ใหญ่หลายคนเป็นและทำให้ดู แต่สำหรับ “นักวิชาการ” มือใหม่ อย่างอเมริกันชนหรือคนหลากหลายสัญชาติที่นี่ ต่างเต็มไปด้วยมานะอัตตาและคิดว่ากูแน่ จนทำให้วงสนทนาหลายครั้งน่าเบื่อหน่าย) ความก้าวหน้าทางวิชาการจำนวนมาก คือการอ่านซ้ำและตีความใหม่ ในสิ่งที่นักวิชาการรุ่นก่อน ๆ เคยคิดเคยเขียนไว้ (อย่างที่ Jacque Lacan อ่านงานของ Sigmund Freud แบบใหม่ หรือ Judith Butler อ่าน Friedrich Nietzsche หรือ Michel Foucault แบบใหม่) ซึ่งนี่คือการ “สนทนา” (conversation) ในโลกวิชาการกับนักวิชาการรุ่นก่อน ๆ ที่หลายคนก็ตายไปนานมากแล้ว การสนทนานี้คือการสืบสาวสายธารความรู้ (genealogy) แล้วเข้าไปร่วมคิดร่วมค้นหา โดยไม่ต้องติดว่า “ตัวฉัน” เป็นใคร อ่อนด้อยหรือเก่งกล้าแค่ไหน ชื่อเสียงที่โด่งดังในวันนี้ อาจถูกล้มล้างในวันหน้าหลังจากตัวเองตายไปแล้วก็ได้ (นี่เป็นการยืนยันในโลกธรรม มีสรรเสริญก็มีนินทา Claude Levi-Strauss ที่โด่งดังด้วย Structuralism ก็ถูกวิพากษ์จนยับเยินในช่วงท้ายของชีวิต ถ้าหวั่นไหวในโลกธรรมนี้ การตายด้วยวัยร้อยปีของแกก็คงไม่มีความสุข) และแน่นอนว่า ถึงแม้จะถูกก่นด่าหรือหลงลืมในวันนี้ไปแล้ว แต่ในวันหน้า อาจมีคนค้นพบว่า “ความคิดใหม่” ที่เคยเสนอเอาไว้นั้นมีประโยชน์

 

เมื่อเห็น “โลก” และเห็นว่า “วิชาการ” เป็นอย่างไรแล้ว ก็หันกลับเข้ามาดูที่ “ตัวเอง” ประสบการณ์ที่ผ่านมาในการเรียนปีแรกนี้ทำให้เห็นว่า โจทย์สำคัญที่ต้องค้นหาในการเรียน (Master, Doctor, Post Doctor, etc.) คือ ค้นหา “ตัวเอง” หาที่ทางของตัวเองว่า “อยากอยู่” และ “ควรอยู่” ตรงไหนในโลกนี้ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือจะต้องเอาตัวเองเข้าไปวางในบริบท (หรืออาจเรียกว่าเป็นการ contextualize ตัวเอง) เพราะเราไม่สามารถอยู่ในโลกวิชาการแบบลอย ๆ ในสุญญากาศได้ ฉันเห็นสิ่งที่นักวิชาการโดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาที่นี้ทำ คือติดป้ายให้กับตัวเองว่าสนใจ “หัวข้อ” (topics, issues, themes) อะไร และสนใจ “พื้นที่” (geographic regions) ที่ไหนในโลกนี้ ถึงแม้ว่าบางคนป้ายนี้จะเป็นรายการที่เขียนต่อเนื่องยาวมาก แต่ก็ต้องมีอยู่ดี ความยาวนั้นไม่ใช่ว่าสนใจอะไรก็ใส่ไปได้หมด แต่อยู่ที่ว่าจะเลือกใช้ช่วงเวลาของชีวิตสั้น ๆ ที่มี เรียนรู้ ตั้งคำถาม หาคำตอบ ฟังคิดพูดเขียน ในเรื่องอะไร ในพื้นที่ไหนของโลก อย่างจริง ๆ จัง ๆ บ้าง สำหรับฉัน ความเป็นหมอบ้านนอกจากเมืองไทย เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ฉันหวนกลับไปคิดไปตั้งคำถามอยู่เสมอ ๆ ว่า สำหรับชีวิตนี้ที่เหลือเวลาอยู่อีกไม่กี่สิบปี ฉันจะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่ที่สำคัญอีกอย่าง คือการค้นหาเข้าไปสู่โลกภายใน ตรึกตรองและเรียนรู้เพื่อจะไปถึงที่สุดแห่งความรู้ คือการรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง

 

วันนี้เป็นอีกครั้งที่ฉันจะเดินทางไปวัด ห้องเรียนอีกห้องหนึ่งที่สำคัญสำหรับการมาใช้ชีวิต เป็น “นักศึกษา” อยู่ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 439448เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท