พุทธวิธีในการสอน ตอนที่ ๑


บ้านผมมีหนังสือกระจายอยู่ตามตู้ตามซอกต่างๆ รอบบ้านครับ และหนังสือหลายเล่มที่ครอบครัวผมเก็บสะสมมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีก็ถูกทับถมไปในซอบหลืบเหล่านั้น คล้ายเป็นขุมทรัพย์ที่ถูกซุกซ่อนรอวันค้นพบ วันหนึ่งคุณปลวกนึกอยากจัดงานแฟชั่นและงานสัปดาห์หนังสือแห่งบ้าน ก็เลยเริ่มแทะตู้เสื้อผ้าของผมลามไปถึงชั้นหนังสือธรรมะของคุณพ่อ หลังจากเราช่วยกันกระชับพื้นที่คุณปลวกไปเรียบร้อยแล้ว ผู้ปกครองทั้งสองท่านก็ร่วมมือกันเอาหนังสือที่วางกองพะเนินอยู่บนพื้นจัดเข้าตู้ใหม่และถือโอกาสคัดหนังสือเพื่อบริจาคไปด้วยเลย แต่มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่คุณแม่นำมายื่นให้กับมือผมโดยเฉพาะ เป็นหนังสือเล่มบางเพียงสี่สิบหน้า เขียนโดยคุณวศิน อินทสระ ชื่อว่า "พุทธวิธีในการสอน" ฉบับพิมพ์ครั้งที่สามเมื่อปี ๒๕๓๘

คุณวศิน ถือเป็นปุชนียบุคคลด้านพระพุทธศาสนาท่านหนึ่งของเมืองไทย เขียนหนังสือทางธรรมออกมาหลายเล่ม หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ คุณวศินเรียบเรียงเทคนิควิธีและแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการสอน พร้อมแสดงตัวอย่างเรื่องราวจากพระไตรปิฎก ผมอ่านด้วยความรู้สึกปลื้มปิติจากปกหน้าถึงปกหลัง เมื่ออ่านจบแล้วก็อยากบอกต่อและเปรียบเทียบกับวิธีการสอนที่อุตส่าห์ไปร่ำไปเรียนถึงเมืองนอกเมืองนา (แต่ไม่รู้ว่าบรมครูเราก็มีอยู่ใกล้ตัว)

คุณวศินแบ่งหนังสือออกเป็นสามตอนหลักดังนี้ครับ (๑) จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงสอน (๒) วิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอน และ (๓) ท่าทีที่พระพุทธองค์ทรงสอน เสียดายที่ตอนสุดท้ายนั้นสั้นไปนิด คุณวศินไม่ได้ยกตัวอย่างมากนัก ส่วนสองตอนแรกนั้นตัวอย่างเยอะและชัดเจนดี ผมเลยอยากจะเน้นแค่สองตอนแรกเท่านั้น

 

ตอนที่หนึ่ง จุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงสอน ๓ ประการ

(๑) อภิญญาธรรมเทศนา เพื่อให้ผู้ฟังรู้จริงเห็นแจ้งในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็น ข้อนี้หมายความว่าสิ่งที่ทรงรู้แต่ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นสำหรับผู้ฟังก็ไม่ทรงสอนสิ่งนั้น สิ่งใดที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ คือไม่เป็นเงื่อนไขแห่งระบบการครองชีวิตอันประเสริฐ (พรหมจรรย์) ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ความสงบ เพื่อคลายกำหนัด ตรัสรู้และนิพพาน ก็ทรงละไว้

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ข้อความในจุฬมาลุงกโยวาทสูตร พระมาลุงกยะถามเรื่องโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ก็ไม่ทรงแสดงธรรมเพราะเป็นปัญหาอภิปรัชญา ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ และทรงเปรียบเทียบว่า เมื่อบุคคลถูกลูกศรอาบยาพิษ ญาติมิตรได้หาแพทย์มา แต่บุคคลผู้นั้นขอทราบรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ยิง ศรมาจากไหน และศรทำด้วยอะไร เป็นต้นแล้วจึงจะยอมให้แพทย์รักษาผ่าตัด

ในหลักการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร (instructional design) นั้น การมีเป้าหมายที่ชัดเจนนั้นสำคัญมากครับ ทุกบทเรียนเราควรจะตอบให้ได้ว่า เราให้ผู้เรียนทำสิ่งนี้สิ่งนั้นเพื่ออะไร? และทักษะความรู้อะไรที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้? (need to know) ครูอาจารย์ที่รู้วิชามากนั้น ส่วนใหญ่มักมีความต้องการให้ผู้เรียนรู้มาก รู้อย่างที่ตนรู้ จึงพยายามใส่เนื้อหาที่น่ารู้ (nice to know) แต่หารู้ไม่ว่าผู้เรียนนั้นรับไม่ไหว จำได้ไม่หมด แถมยังทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในวิชาด้วย

ที่จริงแล้วในระดับอุดมศึกษา อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ทราบว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ แต่กล้าๆ กลัวๆ ที่จะตัดทอนเนื้อหา อาจเพราะว่าสอนจากในหนังสือ หรือเพราะสอนกันมาแบบนี้แต่ไหนแต่ไร กิจกรรม แบบฝึกหัด และบทเรียนมากมายที่มันไม่จำเป็นก็ไม่เอาออก ผมอยากให้ลองนึกกันให้ดีว่าจริงๆ มีเนื้อหาประเภท ศรยิงมาจากไหน ลูกศรทำจากอะไร อยู่ในวิชาหรือเปล่า?

(๒) สนิทานธรรมเทศนา เพื่อให้ผู้ฟังตรองตามแล้วเห็นจริงได้ ทรงแสดงธรรมอย่างมีเหตุผลที่ผู้ฟังพอตรองตามให้เห็นด้วยตัวเอง คือไม่ยากจนเกินไป ไม่ง่ายจนเกินไป อยู่ในขอบเขตที่ตรึกตรองขบคิดได้

ตัวอย่างหนึ่งในสิงคาลกสูตร เช้าวันหนึ่ง พระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ทอดพระเนตรเห็นสิงคาลกมานพผู้มีผ้าเปียก ผมเปียก (เป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า) กำลังไหว้ทิศทั้งหลาย จึงตรัสถามว่าทำอย่างนั้นเพื่ออะไร มานพกราบทูลว่าทำตามคำของบิดาสั่งไว้ก่อนสิ้นชีพว่าให้ไหว้ทิศทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเขาไม่นอบน้อมทิศกันอย่างนี้ดอก และทรงแสดงทิศ ๖ ในความหมายใหม่ซึ่งเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันคือ (๑) ทิศเบื้องหน้า มารดา บิดา (๒) ทิศเบื้องขวา ครูอาจารย์ (๓) ทิศเบื้องหลัง บุตร ภรรยา (๔) ทิศเบื้องซ้าย มิตร (๕) ทิศเบื้องต่ำ ทาศกรรมกร หรือคนในฐานะต่ำกว่า และ (๖) ทิศเบื้องบน สมณพราหมณ์ผู้มีศีล ปฏิบัติชอบต่อบุคคลประเภทต่างๆ ย่อมได้ชื่อว่าไหว้ทิศถูกต้องตามอริยวินัย สิงคาลกมานพก็ชื่นชมยินดี ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ทั้งนี้เพราะตรองตามด้วยเหตุผลแล้วเห็นจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน

การสอนโดยคำนึงถึงความยากความง่ายของเนื้อหาและระดับความสามารถของผู้เรียนนั้น ฝรั่งเขาเรียกว่า Zone of Proximal Development (ZPD) ซึ่งนักจิตวิทยาชื่อ Lev Vygotsky ให้นิยามว่าหมายถึง ช่องห่างระหว่างความสามารถที่จะแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองและศักยภาพที่ผู้นั้นสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการแนะนำหรือด้วยความร่วมมือของผู้อื่น

หน้าที่ของครูอาจารย์ก็คือการออกแบบบทเรียนให้อยู่ในพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้ของผู้เรียน เพราะถ้าบทเรียนยากไป ผู้เรียนก็เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย แต่ถ้าง่ายไปก็เกิดความเบื่อหน่าย ขาดความท้าทายเช่นกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง พื้นที่ ZPD นี้คือพื้นที่ที่ดึงดูดใจให้เกิดความต้องการหรือสร้างฉันทะกับผู้เรียนนั่นเองครับ ตัวอย่างในสิงคาลกสูตรก็แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงเทียบเคียงสิ่งที่สอนกับสิ่งที่มานพกระทำอยู่ จัดระบบความหมายใหม่โดยอ้างอิงระบบความหมายที่มีอยู่ ทำให้มานพเข้าใจได้ การออกแบบการเรียนรู้ก็ควรเป็นเช่นนั้น ค่อยๆ ต่อยอดความรู้ขึ้นไปทีละขั้น และมีการเชื่อมโยงความรู้ในส่วนต่างๆ ให้ผู้เรียนเห็นภาพของความต่อเนื่อง

มีอีกทฤษฎีที่ยืมมาจากทางภาคธุรกิจและพอจะเทียบเคียงได้กับหลักพุทธวิธีการสอนนี้คือทฤษฎี Just In Time (JIT) ที่หลายๆ คนคงเคยได้ยิน แต่เมื่อนำมาใช้ในการศึกษามันหมายถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ผู้เรียนควรมีในการต่อยอดความรู้ครับ อย่างเช่น เด็กต้องมีพื้นฐานศัพท์ และไวยากรณ์ก่อน ถึงจะเขียนประโยคได้ หรือเด็กต้องมีพื้นฐานด้าน syntax และ structure ก่อนจะเริ่มเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้

พูดอีกอย่างคือก่อนจะให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติอะไรสักอย่าง ต้องให้เครื่องมือเขาในเวลาที่พอเหมาะ เราคงไม่ค่อยจะให้เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ช้าเกินไปหรอกนะครับ (อาจารย์คงไม่สอนเขียนโปรแกรมก่อนสอน structure) แต่ปัญหาส่วนใหญ่คือเรามักจะให้เร็วเกินไปและมากเกินไป ลอกนึกดูว่า ถ้าให้เด็กท่องศัทพ์ร้อยกว่าตัว ให้เขาเรียนไวยากรณ์ตั้งมากมาย แต่ไม่ให้เขาลองเขียนประโยคเป็นย่อหน้า ผู้เรียนก็จะสับสน ตกใจว่ามันมีอะไรกันเยอะแยะ แล้วจะเอาไปใช้ยังไง หรือวิชาโปรแกรมมิ่ง เราก็ควรจะสอน structure ทีละตัว พอให้แบบฝึกหัด ก็บอกเขาว่าเขาต้องใช้ structure loop เท่านั้นนะ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปที่ structure ตัวอื่น โจทย์แบบฝึกหัดก็ยากขึ้นเรื่อยๆ และบอกใบ้ว่าต้องใช้ structure ตัวไหนในตอนแรก และลดคำใบ้ลงไปเรื่อยๆ

จริงๆ แล้วกลุ่มวิชาชีพที่เก่งที่สุดในเรื่อง JIT ก็คือนักพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ครับ ใครที่เคยเล่นเกม Role Playing Game (RPG) หรือ Action RPG หรือแม้แต่เกมแนววางแผนต่างๆ ที่ต้องผ่านฉากไปเรื่อยๆ ตัวผู้เล่นก็พัฒนาตัวละคร เก็บอาวุธต่างๆ ไปเรื่อยๆ ลองนึกตามนะครับว่าในฉากแรกนั้น เรามีแค่อาวุธง่อยๆ มีแค่ตัวละครง่อยๆ ก่อน พอเล่นไป ทักษะของตัวละครเราก็เพิ่มขึ้น เราอาจได้ตัวละครใหม่ที่เก่งกว่ามาช่วย ได้อาวุธที่ทรงพลังขึ้น เกมก็ยากขึ้นเป็นลำดับ แต่มันรักษา ZPD ไว้ตลอด และยังทยอยให้เครื่องไม้เครื่องมือมาเท่าที่เราต้องใช้ในแต่ละฉาก เพื่อจัดการกับศัตรูแต่ละตัว

ลองคิดดูว่าถ้าไปเจอเกมที่เปิดฉากแรกมาแล้วเรามีตัวละครเจ๋งๆ ครบทุกตัว มีเครื่องมือ อาวุธครบหมด เราคงจะงงเป็นไก่ตาแตกว่าจะใช้อะไรตอนไหน จริงไหมครับ? แต่ไอ้อารมณ์งงๆ แบบนี้แหละที่เราเจอในชั้นเรียนบ่อย

(๓) ทรงแสดงธรรมมีคุณเป็นอัศจรรย์ เพื่อให้ผู้ฟังเห็นผลแห่งการปฏิบัติตามสมควร สามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผลตามสมควรแก่กำลังแห่งการปฏิบัติของตน

ตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องของปาฏิหารย์ คุณวศินอธิบายปาฏิหารย์สามประการสั้นๆ ไว้ดังนี้ (๑) อิทธิปาฏิหารย์ การแสดงฤทธิ์ต่างๆ (๒) อาเทศนาปาฏิหารย์ คือการดักใจคนได้ รู้ใจคน (๓) อานุศาสนีปาฏิหารย์ การสั่งสอนให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ตามเป็นจริง ปาฏิหารย์สองข้อแรกนั้น พระศาสดาว่าเป็นเรื่องไม่ประณีต เป็นเรื่องเฉพาะตัว พระศาสดาตรัสว่า "เราเห็นโทษของอิทธิปาฏิหาร และอาเทศนาปาฏิหารย์อยู่อย่างนี้ จึงอึดอัด ระอา รังเกียจปาฏิหารย์ทั้ง ๒ นี้" ส่วนอานุศาสนีปาฏิหารย์นั้น คือการสั่งสอนให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น ทำสิ่งที่ควรทำทั้งกาย วาจา ใจ เป็นสิ่งประณีต มีประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

อีกเรื่องหนึ่งคือทรงเน้นการปฏิบัติ "เพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติ" ว่าเป็นการบูชาพระองค์อย่างยิ่ง ยิ่งกว่าการนำเครื่องสักการะมาบูชาพระองค์ ในมหาปรินิพพานสูตรนั้น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่าในอีก ๔ เดือนข้างหน้าพระองค์จะปรินิพพาน ภิกษุหลายพันรูปเที่ยวแวดล้อมพระองค์อยู่ แต่ภิกษุชื่อธรรมารามกลับปลีกตัวด้วยคิดว่าเรายังเป็นผู้มีราคะอยู่ เราจักพยายามเพื่อบรรลุอรหัตตผลในช่วงเวลาที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่เพื่อเป็นการบูชาพระองค์ ภิกษุหลายรูปกราบทูลพระศาสดาว่าพระธรรมารามมิได้มีความเยื่อใยพระองค์เลย พระศาสดาก็ทรงเรียกพระธรรมารามเข้าเฝ้า เมื่อทรงทราบเหตุผลก็ทรงอนุโมทนาสาธุว่าทำเช่นนี้เป็นการรักและเคารพพระองค์ ทรงประทานกำลังใจในการปฏิบัติธรรมพร้อมทรงแนะนำให้ภิกษุทั้งหลายเอาอย่างพระธรรมาราม

ในวงการศึกษานั้นคำว่า child-centered หรือการสอนโดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้วครับ แต่คนยังสับสนกันเหลือเกิน คิดเอาว่าให้เด็กเรียนรู้เอง คือไม่ต้องสอนใช่ไหม? ถ้าลองดูตามพุทธวิธีแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอน ทรงชี้แนะ ใช้ ZPD, JIT และทุกทฤษฏีการศึกษาที่เรารู้จักกันช่วยในการสอน แต่พระองค์ก็มุ่งที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกันกับการเรียนรู้ ผู้สอนหรือผู้ชี้แนะแนวทางจะต้องมีความรู้มากกว่าผู้เรียน ต้องเข้าใจว่าจะสอนด้วยวิธีอะไร (การสอนโดยไม่สอนก็คือวิธีหนึ่ง) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะโยนทุกอย่างไปให้เด็กโดยผู้สอนไม่เตรียมตัว เพราะ child-centered ไม่ใช่สักแต่บอกว่าให้ไปหาในอินเตอร์เน็ต เทคนิควิธีนี้จริงๆ แล้วยากกว่าและใช้เวลาเตรียมตัวนานกว่าการบรรยายเป็นหลายเท่าครับ

ผมขอยกตัวอย่างที่ผมเพิ่งค้นพบเมื่อเทอมที่แล้วนะครับ ตอนที่สอนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับไมโครซอฟออฟฟิศนั้น ผมทำวิดีโอสั้นๆ ให้ผู้เรียนดูตาม (เสียเวลาตัดต่อหลายวัน) ถ้าไม่เข้าใจก็กลับมาดูใหม่ได้ แล้วก็ให้แบบฝึกหัดเขาทำหลังจากดูวิดีโอจบ ซึ่งแบบฝึกหัดก็เป็นการต่อยอดจากวิดีโอ มีพลิกแพลงบ้างเล็กน้อย (เสียเวลาคิดแบบฝึกหัด และคิดเรื่องราวประกอบอีกหลายชั่วโมง) ลองคิดดูว่าถ้าผมแค่สอน มันจะง่ายกว่าเยอะ แค่เข้ามาพ่นๆ แล้วก็จบ จริงไหมครับ? บางคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่ให้ดูวิดีโอจากยูทูบเพราะในนั้นมีวิดีโอสอนไมโครซอฟออฟฟิศตั้งเยอะ คือส่วนใหญ่วิดีโอดีๆ จะเป็นภาษาฝรั่งนะครับ เด็กเพิ่งเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย (แม้แต่มหาวิทยาลัยนานาชาติ อย่างอัสสัมชัญ) ส่วนใหญ่ยังฟังฝรั่งพูดไม่ทันหรอกครับ ผมก็เลยต้องทำวิดีโอเอง แบบช้าๆ ชัดๆ แล้วใส่ caption ภาษาอังกฤษให้เด็กอ่านไปด้วย ทำทีละหัวข้อ เขาจะได้ไม่งงด้วย

แล้วทำไมถึงให้เด็กไปหาในอินเตอร์เน็ตเองไม่ได้? ก็เพราะผู้เรียนระดับพื้นฐาน ทักษะการค้นหาก็อาจจะน้อย การย่อยข้อมูลมหาศาลบนอินเตอร์เน็ตนั้นสับสนไม่ใช่เล่นนะครับ การให้เด็กไปหาในอินเตอร์เน็ตนั้น น่าจะเริ่มโดยการที่ผู้สอนให้ลิงค์ไปยังเว็บที่มีคำตอบอยู่แล้วก่อน หรือใช้ ZPD โดยผู้สอนแนะนำ (นี่ก็เสียเวลาหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เลือกดูว่าเว็บไหนจะเหมาะสมกับผู้เรียน ก็เสียไปเป็นชั่วโมงเหมือนกันครับ) แล้วค่อยๆ เพิ่มเว็บให้มากขึ้น สักสองสามตัวเลือกให้เด็กลองวิเคราะห์ว่าแบบไหนมีข้อมูลดีกว่ากัน แบบไหนง่ายกว่ากัน อย่างที่ผมสอนนี่หลายคนอาจจะคิดว่าเว็บอย่างเป็นทางการของไมโครซอร์ฟเขาก็มีข้อมูลครบถ้วนดี ทำไมถึงไม่ให้เด็กไปดูในนั้น เว็บนี้ถึงแม้ว่าจะข้อมูลดีแต่มันละเอียดมากครับ บางทีข้อมูลก็เกินความจำเป็นของผู้เรียนในระดับพื้นฐาน

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ในเรื่องจุดมุ่งหมายที่พระพุทธองค์ทรงสอนทั้ง ๓ ประการสามารถสรุปได้สั้น ๆ คือ (๑) สอนเท่าที่จำเป็น (๒) สอนให้ท้าทาย (แต่ไม่ยากเกินไป) และ (๓) สอนโดยมุ่งประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นเองครับ

 

ไว้เดี๋ยวจะเพิ่มเติมในเรื่องของวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอน และเทียบเคียงกับแนวคิด ทฤษฎีฝรั่งให้ฟังกันต่อครับ

อ่านบันทึกตอนที่สองได้ที่นี่ครับ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/468234)

 

อ้างอิง: วศิน อินทสระ (๓/๒๕๓๘) พุทธวิธีในการสอน สภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา



ความเห็น (12)

พี่อ่านบันทึกแล้วฉงนว่าพิมพ์ได้ยาว แอบเดาว่าคงพิมพ์ได้เร็วด้วย

แว้บไปอ่านประวัติ อืม.. ลูกชายของพี่โตขึ้นได้เป็นครูหรืออาจารย์บ้างถ้าจะดี;P

 

แอ๊ดบล็อกไว้แล้ว เขียนบันทึกเรื่อย ๆ นะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

พิมพ์แล้วมันติดลมไปหน่อยครับ อินกับสถานการณ์ ^^

ยินดีที่บล็อกน้อยๆ ใน gotoknow ของผมได้เข้าไปอยู่ในแพลนเน็ตเด็ดดวงมาลาฯ ของพี่ครับ

ขอรับบล็อกของพี่เข้ามาไว้ในแพลนเน็ตเช่นกันครับ

ขอบคุณครับ

เยาวภรณ์ หรูจิตตวิวัฒน์

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆเช่นนี้ค่ะ ขออนุญาตเผยแพร่นะคะ เผื่อจะเปนประโยชน์ต่อคุณครูหลายๆท่านค่ะ

ยินดีครับคุณเยาวภรณ์ ไว้คอยติดตามตอนที่สอง (ตอนสุดท้าย) เร็วๆ นี้นะครับ :)

แอบรับ Blog "แว้บคิด" เข้าใน Plannet "Education" ตั้งแต่วันที่ 14-15 พ.ค. แล้วล่ะค่ะ (ตอนนั้นอยู่ที่เกาะช้าง จ.ตราด ใช้ Aircard ไม่ได้ ทาง Resort บอกว่า ถ้าจะใช้ Internet ต้องใช้บริการของเขา คิดชั่วโมงละ 200 บาท 3 ชั่วโมง 450 บาทหยุดเวลาได้ และวันละ 450 บาทหยุดเวลาไม่ได้ ตกลงเลือกแบบหลังสุด ลูกสาวเริ่มใช้ก่อนในวันที่ 14 ตอน 2 ทุ่มถึงตี 1 แม่ใช้ต่อจากตี 1 ถึงตี 5 ของวันที่ 15 พอบ่ายสองใช้ไม่ได้แล้ว ลูกชายโทรไปถาม TOT ต่อจากนั้นใช้ได้จนถึงเช้าของวันที่ 16 พ.ค. ใช้กันคุ้มมาก ลูกสาวกลัวเขาขาดทุนมั้งเลยไปซื้อมาอีก 1 ชั่วโมง 200 บาท)

  

ตอนนี้กลับมาอ่านรายละเอียดในบันทึกเรื่อง "พุทธวิธีในการสอน ตอนที่ ๑" มีประโยชน์มากค่ะ ในประเด็น "ทักษะการสืบค้นหาข้อมูลตามข้อกำหนด" นั้น ไม่ใช่จะมีปัญหาเฉพาะในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานนะคะ แม้แต่ระดับอุดมศึกษาเอง นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 ที่ผ่านการเรียนวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "IT Literacy" มาแล้วก็ยังมีปัญหาการสืบค้น เวลามอบงานให้ไปสืบค้นเนื้อหาตามที่กำหนด ก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ตรงกับข้อกำหนดได้ มีปัญหาตั้งแต่การพิมพ์คำค้นแล้วล่ะค่ะ นักศึกษาปี 1 จำนวนไม่น้อยที่เพิ่งจบม.ปลายมา ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่คล่องเลย ดิฉันมีข้อมูลในเรื่องที่กล่าวถึง เพราะได้ทำวิจัย CAR เกี่ยวกับการพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาตรี (บันทึกที่ 1 ใน Blog "Learntoknow") ซึ่งมีการพัฒนาทักษะ IT เพื่อการเรียนรู้เป็นหนึ่งในสมรรถภาพที่พัฒนาค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  •  กำลังทำงานค้างอยู่กะจะให้เสร็จคืนนี้  แต่อดแอบเข้ามาใน G2K ไม่ได้  พอเข้ามาแล้ว ก็เลยตามกลิ่นหอมของ ดอกไม้มาจนถึงนี่  ก็ตั้งใจว่าจะแว้บมาแป้บเดียว   แต่ก็เผลออ่านตั้งแต่ต้นจนจบ  ก็เลยได้รับความรู้ "วิธีการและแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในการสอน" ซึ่งนำมาถ่ายทอดโดยคุณวศิน และเกิดความตระหนักเห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น เมื่ออาจารย์ได้นำมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนและเข้าใจง่าย  ถึงวิธีการและแนวทางดังกล่าว  ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเด็ก
  • ขอบคุณมากค่ะ  

"...ไว้เดี๋ยวจะเพิ่มเติมในเรื่องของวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอน และเทียบเคียงกับแนวคิด ทฤษฎีฝรั่งให้ฟังกันต่อครับ..."

Would you care to compare Buddhistic Teaching with recent (Western) approaches: like 'experiential learning', 'project based learning' and 'practical task learning'?

I refer - Prof. Vicharn Panich, "จาก teach สู่ task", http://www.gotoknow.org/blog/council/440006

สวัสดีครับ อาจารย์ ผศ. วิไล

ขอพระคุณที่แวะเวียนมาเยี่ยมในบล็อกน้อยๆ ของผม

เรื่อง Literacy ในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็น IT Literacy หรือ บางคนเรียก Information Literacy นั้นสนใจศึกษาและเอามาพูดคุยกันครับ ในบ้านเราการเรียนระดับมัธยมปลายนั้นมีความหลากหลายมาก ดังนั้นผู้เรียนที่จบมาบางคนใช้คอมพิวเตอร์คล่องแล้ว บางคนเคยใช้บ้าง บางคนเล่นแต่ BB กับ Facebook

อันนี้มันเหมือนเป็นความเชื่อผิดๆ เป็น Myth ว่าเด็กรุ่นใหม่ใส่ใจ IT นะครับ เพราะที่ใส่ใจน่ะ ก็แค่เทคโนโลยีที่เป็นที่นิยม ผมเคยให้นักศึกษาลองเช็คในเฟซบุ๊กดูว่ารู้จักการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไหม (ซึ่งมีอยู่สามระดับ) หลายคนไม่รู้จักการใช้ที่ถูกต้อง เปิดบ้านตัวเองให้ใครเข้ามาดูข้อมูลก็ได้ บางคนใส่เบอร์โทรศัพท์ ใส่ที่อยู่เอาไว้เสียเสร็จสรรพ (ผมว่าอย่าง gotoknow เราใส่ที่อยู่ที่ทำงาน เบอร์โทรศัพท์ไว้นี่ไม่น่ามีปัญหามาก เพราะด้วยบรรยากาศที่เป็นกลุ่มวิชาชีพ แต่ก็ไม่แน่ครับ ต่อไปใครอาจจะหัวใสนึกทำการตลาด (ด้านวิชาการ) ใน gotoknow ก็ได้)

กลับมาที่เรื่องการค้นหาข้อมูลนี่ ผมว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับการอ่านครับ การอ่านจับใจความ และการอ่านเร็ว (ไม่รู้เรียกแบบนี้หรือเปล่า?) นั่นก็กลับมาสู่ทักษะที่เราต้องปูพื้นกันตั้งแต่เด็ก การอ่านเขียน ไม่ว่าจะในยุคไหน ก็ยังมีความสำคัญอยู่เสมอ ว่าไหมครับ?

ผมได้คุยกับเพื่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยหนึ่ง และก็แลกเปลี่ยนกันว่าเราน่าจะหันมาสนใจและสอดแทรกเอาทักษะการอ่านเขียนเข้าไปไว้ในทุกวิชา เทอมหน้าผมก็เลยตัดสินใจว่าจะต้องมีการตรวจไวยกรณ์อย่างจริงจังสำหรับการบ้านทุกชิ้นในวิชาที่ผมสอน แม้ว่าจะเป็นวิชาเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ตาม

ปล. ขอบพระคุณอาจารย์ที่ฝากรูปทะเลและรีสอร์ทไว้ให้นะครับ ดูแล้วก็คิดถึงว่านานเท่าไรแล้วที่ไม่ได้เหยียบผืนทราย นี่ใกล้จะเปิดเทอม คงอีกนานกว่าจะได้มีโอกาส

สวัสดีครับอาจารย์อัมพร

ยินดีที่บันทึกผมมีประโยชน์ ไม่มากก็น้อยครับ ต้องกราบขอบพระคุณคุณวศิน ที่เรียบเรียงจัดหมวดหมู่เนื้อหาพระไตรปิฎกไว้อย่างน่าติดตาม คุณพ่อของผมท่านมีพระไตรปิฎกฉบับประชาชนไว้ที่บ้าน แต่คุณลูกก็ยังไม่กล้านำมาศึกษา ตอนนี้ก็ได้แต่ฟังเทศน์ อ่านธรรมะประเภทถามตอบไปพลางๆ ครับ ไว้ทำใจได้แล้วจะพลิกอ่านของจริงกับเขาบ้าง

ขอบพระคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนบล็อกน้อยหลังนี้ครับ

Dear sr,

Thank you for your suggestions. I myself am not familiar with the concept of performance task that Prof. Vicharn mentioned.

Being in scholastic circle, though, I think we ought not to jump into new theories too fast. My concern, since my undergrad when "re-engineering" emerged, is that most of these theories are very much a recycling from the old ones. As I mentioned in this post, sometime I get frustrated when I learned that many of these theories are right at home, yet I traveled thousand miles to learn.

Take any theory, make a little spin, then you get a new one. For instance, situated learning (around 1991) is similar to PBL. Critical thinking (been around for more than a century) can be found in myriads of theories. Even the notion of 21st century learning skills is a repackaging of various theories and concepts, focusing on "change." The list could go on and on... In my opinion, finding evident to support a theory is more important and this could take decades.

I know I'm being skeptical about these theories ;)

Well, I still don't have time to revisit the 2nd part of this blog post yet. The new semester is just around the corner and it's getting hectic. Hopefully I will have time soon and we can talk more.

In my humble opinion, I prefer Thai comments in this blog, mainly because we aim to create knowledge and share information for Thai netizen. I myself tried to translate terms and jargon into Thai, frankly it's difficult sometimes ...

Thanks again, for visiting my little blog.

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.วสะ บูรพาเดชะ

ยังมีหนังสือ พุทธวิธีในการสอน ที่เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

อีกเล่มหนึ่งนะครับ(ผู้เขียนอีกท่านหนึ่ง) ถ้าอาจารย์สนใจ

ผมไม่เก่งภาษาต่างประเทศ มีความนิยมชมชอบการเขียนของอาจารย์มาก

ที่มีการเทียบเคียงทฤษฎีของตะวันตก(ต่างประเทศ)เข้ากับทฤษฏีของตะวันออกได้ตามหลักที่ได้ศึกษามา

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่นำมาเผยแผ่(ทางศาสนาใช้)และถ่ายทอดสู่สังคมแห่งการเรียนรู้นะครับ

สวัสดีครับคุณพี่หนาน ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลหนังสือครับ ตามไปดูในข้อมูลสารบัญในเว็บของ SE-ED แล้วน่าสนใจมากเลยครับ ไว้ต้องไปหามาประดับชั้นหนังสือ และประดับสมองเล็กๆ ของผมเสียแล้ว ขอบคุณมากนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท