UN Day of Vesak 2011


เข้าร่วมงานวันวิสาชบูชาโลก ประจำปี 2554 ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 และเนื่องในโอกาสครบ 26 ศตวรรษแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในเรื่อง "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ" (Buddhist Virtues in Socio-Economic Development)" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

วันที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 19.00 – 21.00 น. มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจกับผู้นำเสนอบทความทางวิชาการและผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีพระศรีคัมภีรญาณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม พร้อมทั้งขอบคุณผู้เสนอบทความและผู้ดำเนินรายการที่ให้ความสำคัญกับงานนี้ จากนั้นพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ได้กล่าวถึงที่มาและการกำหนดหัวข้อการประชุม การแบ่งกลุ่มย่อย และกำหนดเวลาการนำเสนอของผู้นำเสนอแต่ละท่าน ตลอดถึงปัญหาการจัดการประชุมที่ผ่านมาเพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้เข้าใจและช่วยหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในปีนี้ ก่อนที่จะแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้ดำเนินรายการได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอน เวลา การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมซักถาม บทบาทหน้าที่ของผู้ดำเนินรายการแต่ละช่วง ตลอดถึงผู้จัดทำรายงานต่อคณะกรรมการจัดการประชุม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจได้ผลไม่เต็มตามความตั้งใจ ด้วยเหตุหลายประการที่อาจต้องได้รับการทบทวนเพื่อปรับปรุงในการจัดครั้งต่อไป เช่น การเริ่มประชุมที่ช้ากว่าเวลาที่กำหนด ผู้รับผิดชอบหลักอย่างพระอาจารย์คำหมาย ธมฺมสามี ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมตามกำหนดการประชุม

วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นวันเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดยภาคเช้าเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานในพิธี ก่อนพิธีหลายท่านได้วิจารณ์โลโก้ของงานที่อยู่ด้านหลังเวทีกนต่างๆนานา โดยมองเห็นรูปตาที่เห็นยังไม่อยู่ในอาการลืมตานั้นว่าเป็นรูปทุเรียน บ้าง กล้วยบ้าง มองรูปกลีบดอกบัวเป็นฟันบ้าง เมื่อพิธีเปิดเริ่มขึ้นหลังจากที่เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้กล่าวเปิดแล้วจึงถึงบางอ้อ เพราะเราเห็นเปลือกตาที่ปิดอยู่เริ่มเปิดขึ้น นัยน์ตาเป็นรูปธรรมจักรหมุนมีไฟส่องประกาย พร้อมทั้งมีแสงส่องส่วนที่เป็นกลีบดอกบัวทั้งสองข้างดูงามตาไม่น้อย ต้องชมการออกแบบพิธีเปิดที่ดูเรียบง่ายแต่มีความหมายลึกซึ้งทีเดียว มีความมายที่สะท้อนถึงการเฉลิมฉลอง 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือการเปิดดวงตาแห่งปัญญา นำมนุษยชาติออกจากความมืดบอดแห่งอวิชชา พัฒนาตนให้พ้นทุกข์ทั้งปวงได้

จากนั้นก็เป็นการกล่าวต้อนรับโดยพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ตอกย้ำถึงความสามัคคีของชาวพุทธในการรวมตัวกันเพื่อหาแนวทางในการจัดการปัญหาของโลกในปัจจุบัน

ปาฐกถาพิเศษเพื่อจุดประกายความคิดแก่ผู้เข้าร่วมประชุมในปีนี้เรื่อง “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” แสดงโดย ศาสตราจารย์ เลวิส ลังคาสเตอร์ ซึ่งท่านได้คาดการณ์ถึงความไม่แน่นอนของประชากร โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศที่ยากจน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งในศาสนาพุทธ ด้วยวิถีการปฏิบัติต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ในอดีตนั้นจะสามารถสนองตอบต่อปัญหาต่างๆได้ตรงประเด็นได้หรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนควรเข้าใจในแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาเพราะความรู้ความเข้าใจจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาด้วยสติ ปัญญา และความไม่ประมาท

จากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์โดยผู้นำทางพระพุทธศาสนาจากนานาชาติ ซึ่งสาระสำคัญของสารส่วนใหญ่ได้กล่าวแสดงความยินดีในการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันวิสาขบูชา และกล่าวเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา กระทั่งได้เวลาฉันภัตตาหารเพล

ภาคบ่าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จพระดําเนินเปิดการประชุม ได้พระดํารัสเปิดการประชุม จากนั้นเป็นการกล่าวสุนทรพจน์โดยผู้นำทางพระพุทธศาสนาจากนานาชาติ ซึ่งสาระสำคัญของสารส่วนใหญ่ได้กล่าวแสดงความยินดีในการจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันวิสาขบูชา และกล่าวเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา เช่นเดียวกัน

วันที่ 13 พฤษภาคม 2554 มีกิจกรรมการจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ซึ่งมีหัวข้อการสัมมนาเรื่อง "พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ" อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการค้นหาหลักการและรูปแบบการประยุกต์พุทธธรรมเพื่อแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้มีความเป็นอยู่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน

การสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย

กลุ่มที่ ๑ ภาวะผู้นําเชิงพุทธกับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ (Buddhist Leadership and Socio-Economic Development) ณ ห้องเธียเตอร์บีอาคารเรียนรวม

กลุ่มที่ ๒ พุทธธรรมกับกับการสร้างสังคมปรองดอง (Building a Harmonious Society) ณ ห้องเธียเตอร์ซีอาคารเรียนรวม

กลุ่มที่ ๓ พุทธธรรมกับการรักษา และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Environmental Preservation and Restoration) ณ ห้องเธียเตอร์ดีอาคารเรียนรวม

กลุ่มที่ ๔ พุทธิปัญญาเพื่อสังคมแห่งการตื่นรู้ (Wisdom for Awakening Society) ณ ห้องประชุม ๑ อาคาร มวก ๔๘ พรรษา

กลุ่มที่ ๕ สัมมนาเชิงปฏิบัติการ พระไตรปิฎกสากล (Common Buddhist Text-CBT Workshops) ณ ห้องประชุม ๒ อาคาร มวก ๔๘ พรรษา 

กลุ่มที่ ๖ พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ (Buddhist Virtues in Socio-Economic Development) สัมมนาภาษาไทย ณ ห้องเธียเตอร์เอ อาคารเรียนรวม

หมายเลขบันทึก: 439328เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2011 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการค่ะ

มาเยี่ยมค่ะ อาจารย์สบายดีนะคะ ได้ความรู้จากบทความอาจารย์ค่ะ

นมัสการท่าน กำลังรออ่านรายละเอียดต่อ อาจารย์ดิปตะ นำเสนอผลงานด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท