ดอกส้มสีทอง(๔)


ทะเลาะกันเกือบทุกวัน คิดจะหย่ากับมันตั้งแต่แต่งงานได้สองสามปีแรก แต่กลัวลูกจะมีปมด้อย...ตอนนี้ลูกมีงานมีการทำหมดแล้ว ไม่ห่วงแล้วจะได้หย่ากับมันสักที....จ๊าก...ยาย

                นอกจากฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากเมียน้อยอย่างเรยาแล้ว รู้ไหมครับว่าในการฟ้องหย่านั้นจะต้องจัดการเรื่องอะไรกันอีก ไหนๆก็ไหนๆแล้วว่ากันให้หมดเปลือกเลยดีกว่า

        ถ้ามีลูกด้วยกัน เรื่องลูกเอาไงกันดี งั้นเรามาดูตามกฎหมายกันดีกว่า ว่ากฎหมายเขาเขียนไว้ว่ายังไง เขาว่าไว้อย่างนี้ครับ

        

“มาตรา 1520 ในกรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

        ในกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ให้ศาลซึ่งพิจารณาคดีฟ้องหย่านั้นชี้ขาดด้วยว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ในการพิจารณาชี้ขาดถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสนั้นได้ตามมาตรา 1582

ศาลจะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสและสั่งให้บุคคลภายนอกเป็นผู้ปกครองก็ได้ ทั้งนี้ ให้ศาลคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป็นสำคัญ”

 

        เห็นไหมครับเรื่องลูกนี่ก็มีความสำคัญนะครับ เขาดูกันที่ความสุขและประโยชน์ของลูกเป็นหลักนะครับ อ้อ...อย่าลืมนะครับเมื่อพูดถึงการใช้อำนาจปกครองบุตรก็ต้องหมายถึงว่าบุตรนั้นยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งมี ๒ อย่าง คอื บรรลุนิติภาวะเนื่องจากมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ กับบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายนะครับ(ซึ่งหมายถึงว่าอาจจะบรรลุนิติภาวะได้ตั้งแต่อายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เพราะการสมรสตามกฎหมายคู่สมรสจะต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ขึ้นไปครับ)

       

        พูดถึงการหย่าด้วยความยินยอมกัน บางคู่เขาอาจจะมีเรื่องระหองระแหงกันและยังมิได้หย่าขาดจากกันเพราะเหตุผลส่วนตัว

มีสามีภริยาคู่หนึ่งเดินจูงมือกันมาขอจดทะเบียนหย่า นายอำเภอถามว่าคุณตาคุณยายจะจดทะเบียนหย่าเหรอ อยู่กันมากี่ปีมีลูกกันกี่คนแล้วล่ะ

ยายตอบว่าอยู่กันมา ๕๐ กว่าปีแล้ว ลูกสิบคนทำงานทำการกันหมดแล้ว 

นายอำเภอก็สงสัยว่าลูกตั้งสิบคนและอายุก็มากแล้ว ทำไมถึงอยากมาจดทะเบียนหย่าตอนนี้ 

ยายบอกว่า โอ๊ย...ยายอยู่ไปก็ไม่มีความสุข อยากจะเลิกกับมันตั้งนานแล้ว...ทะเลาะกันเกือบทุกวัน คิดจะหย่ากับมันตั้งแต่แต่งงานได้สองสามปีแรก แต่กลัวลูกจะมีปมด้อย...ตอนนี้ลูกมีงานมีการทำหมดแล้ว ไม่ห่วงแล้วจะได้หย่ากับมันสักที....จ๊าก...ยาย

 

        คราวนี้เรามาดูกันต่อว่า คู่สมรสหย่าขาดจากกันมีสิทธิเรียกร้องอะไรกันได้บ้าง ขอแบ่งอะไรได้บ้าง

         “มาตรา 1533  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน”

 

        เอาละ สมมติว่าคุณสามีไปมีเรยา อยากหย่าขาดจากภรรยาผู้แสนดี คุยกันด้วยดีในฐานะเราเป็นภรรยาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมียหลวง เรามีสิทธิได้สินสมรสครึ่งหนึ่ง อยากหย่าใช่ไหม เอามา....อิอิ

        พอเขียนอย่างนี้ก็ต้องมีคนสงสัยว่าสินสมรสมันคืออะไร เพื่อจะให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ เราก็มาดูว่าทรัพย์สินของคู่สมรสมีอะไรบ้าง มีสองตัวครับ ตัวแรกเรียกว่า “สินส่วนตัว” ตัวที่สองเรียกว่า “สินสมรส” มาดูตามตัวบทกฎหมายกันเลยดีกว่า....

        มาตรา 1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

              (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

             (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย  หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (ขออธิบายหน่อยนึงครับ เครี่องใช้สอยส่วนตัว เช่น ipad2 iphone4 เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะ เช่นแหวนเพชร ๑ กะรัต สำหรับพ่อค้าแม่ค้าอาจจะเป็นเรื่องตามควรแก่ฐานะ  แต่ถ้าคู่สมรสเป็นกรรมกรผู้ใช้แรงงาน แหวนเพชร ๑ กะรัตก็ไม่ใช่เครื่องประดับตามควรแก่ฐานะแล้วละครับ และถ้าไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนสมรส ไม่ใช่ของหมั้น ไม่ใช่ของที่ได้รับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หาเฉพาะตัว ก็ไม่อาจถือว่าเป็นสินส่วนตัวถ้าหย่าขาดจากกันก็อาจจจะต้องแบ่งกัน ซึ่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงนะครับ)

             (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

             (4) ที่เป็นของหมั้น

 

             ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นแล้ว หรือเอาไปซื้อทรัพย์สินอื่นมา  หรือเอาไปขายได้เป็นเงินมา ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว ของใครก็ของมันว่างั้นเหอะ...

             นอกจากนี้สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว คู่สมรสจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้  ที่เล่าให้ฟังอย่างนี้เพราะมีประสบการณ์ที่คู่สมรสต้องการหย่า พอเรียกร้องสินสมรสสามีก็ต่อรองให้เอาทรัพย์สินทั้งหมดมาแบ่งกัน ภรรยามาปรึกษาว่าเป็นทรัพย์มรดกที่พ่อยกให้หลังแต่งงานจะต้องแบ่งให้สามีด้วยไหม หรือรถยนต์เก๋งที่พ่อซื้อให้เป็นของขวัญจะต้องแบ่งให้เขาด้วยไหม ตอบได้เลยครับว่า อย่าไปแบ่งให้นะ เพราะเขาไม่มีสิทธิมีส่วนใดๆในสินส่วนตัวของเรา

 

        คราวนี้เรามาดูว่าสินสมรสมันเป็นยังไง กฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ครับ

             มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

             (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

             (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

             (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว (ขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งครับ มีเงินสดส่วนตัวในธนาคารสิบล้าน ได้ดอกเบี้ย สองแสนบาท สองแสนนี่เป็นสินสมรสนะครับ ต้องเอามาแบ่ง แต่เงินสดสิบล้านยังเป็นของส่วนตัวของคู่สมรสคนนั้นอยู่ไม่ต้องแบ่งครับ)

             ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

       

                อ่านกฎหมายมากๆจะเพลียนะครับ ไว้แค่นี้ก่อน คืนนี้ดูเรยากันต่อ แล้วพรุ่งนี้ผมจะมาเล่าต่อว่าถ้าหย่ากันแล้ว จนลงกว่าเดิมจะเรียกร้องอะไรได้อีกไหม อิอิ

หมายเลขบันทึก: 438923เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

ในความเป็นจริงแล้วไม่อยากให้เกิดกรณีอย่างนี้ขึ้นไม่ว่าจะกับคู่ใครนะคะ

แต่ก็อยากจะศึกษาเอาไว้บ้างค่ะ

ขอบคุณมากนะคะคุณอัยการ(ที่ไม่ค่อยเห่อหลาน)

ขอบคุณครับครูกีร์

การเรียนรู้เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์มากอย่างน้อยในฐานะครูก็ไว้ให้คำแนะนำผู้ปกครองเด็กได้หากเขาเกิดปัญหา

การหย่าร้างกันล้วนแล้วแต่สร้างความเสียใจสะเทือนใจให้กับคู่สมรสอย่างน้อยก็ข้างหนึ่ง ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น แต่ชีวิตมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้มีรักก็มีพลัดพราก หากจากกันด้วยดีก็ดีไป แต่หากต้องฟ้องร้องกันก็ยิ่้งสร้างความร้าวฉานมากขึ้น บางครั้งถึงขนาดตัดสินกันด้วยชีวิต รังแต่จะเกิดทุกข์ครับ...

หลานไม่อยู่ก็เลยไม่ค่อยจะเห่อสักเท่าไหร่ อิอิ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วเพลียละเหี่ยใจ ต้องมองไปไกลๆ จะได้สบายใจ

ศิริวรรณค่ะ

เอ..ผมว่าผมตอบคุณศิริวรรณแล้วนะครับ ทำไมมันไม่ขึ้นล่ะ...

ผมว่าอย่าไปละเหี่ยใจกับมันเลย มันเป็นเรื่องที่จะต้องปรับความเข้าใจกัน การตัดสินของคู่สมรสว่าจะเลือกที่จะอยู่ต่อไป หรือเลือกที่จะเลิกกันมันเป็นเรื่องของคนสองคน ถ้าเลือกที่จะอยู่ด้วยกันก็ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเลิกกันไปแล้วหากคิดจะกลับมาอยู่ด้วยกันก็ต้องหันหน้ามาคุยกัน ก็แค่นั้นแหละ คนเราคงไม่มีใครทำผิดทั้งชาติหรอกนะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท